ลดขยะ สร้างเมืองน่าอยู่ เพิ่มคุณภาพชีวิต แบบ ‘วิชิต แซ่ลิ่ม’ นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง จ.สตูล 

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความคึกคักของการค้าขาย คือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มี วิชิต แซ่ลิ่ม นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง เป็นเบื้องหลังในการขับเคลื่อน ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการเห็นประชาชนอยู่ดีกินดี มีรอยยิ้ม และมีความสุข

ไม่เพียงส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ด้วยการสนับสนุนการทำมาค้าขายเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญอีกอย่างคือ ‘การลดขยะ’ ที่เทศบาลตำบลกำแพงเดินหน้าอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนทุกวันนี้สามารถลดปริมาณขยะจากเดิมลงได้ถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว! 

ขวดพลาสติกที่เตรียมนำไปรีไซเคิล

Advertisement

แก้ปัญหาขยะ เพื่อเมืองน่าอยู่

“ละงู มาจาก ลากู เป็นภาษามลายู แปลว่า ซื้อง่ายขายคล่อง เพราะเราเป็นเมืองหน้าด่านของการค้าขาย” วิชิตเล่าถึงที่มาของชื่ออำเภอ

ความมีชีวิตชีวาของการค้าขายกระจายอยู่ทั่วละงู รวมถึงตำบลกำแพง ที่ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลตำบล มีประชากรที่เป็นมุสลิม 80% พุทธ 18% และผู้นับถือศาสนาอื่นๆ อีก 2% ทั้งหมดอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ มีอาชีพหลัก คือ ค้าขาย 50% เกษตรกร 40% และประมงพื้นบ้าน 10% เนื่องจากมีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบ และสามารถออกสู่ทะเลได้ 

Advertisement

นอกจากเป็นเมืองหน้าด่านการค้าขาย ที่นี่ยังเป็นเมืองหน้าด่านการท่องเที่ยวอีกด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขยะปริมาณมหาศาลต่อวัน นายกเล็กแห่งเทศบาลตำบลกำแพงจึงต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้ท้องถิ่นเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

“เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอย มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็เกิดปัญหาขยะมากถึง 60-80 ตันต่อวัน จำนวนนี้มีทั้งขยะในตำบลกำแพง และขยะจากนอกพื้นที่ ที่นำเข้ามาทิ้งในเขตเทศบาล เกิดกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของพี่น้องประชาชน เราจึงต้องหาวิธีแก้ไข ซึ่งต้องไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ แต่ต้องแก้ปัญหาโดยอยู่บนพื้นฐานการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน”  วิชิตเล่า 

ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ พื้นฐานสำคัญในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การแก้ไขปัญหาขยะก็เช่นกัน ประชาชนในพื้นที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมพัฒนา วิชิตจึงสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีบทบาทร่วมเสนอความคิดเห็น  และเสนอแนะแนวทาง นำสู่การสร้าง ‘ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร’ 

“ตอนแรกพื้นที่ตรงนี้มี 6-7 ไร่ เอาไว้ทับถมขยะอย่างเดียว แต่เมื่อมีการระดมความเห็น เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างจริงจัง เราก็ซื้อพื้นที่เพิ่มรวมเป็น 70 กว่าไร่ มีการประชุมประชาคม และทำเอ็มโอยูร่วมกับพื้นที่รอบข้าง เพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราเริ่มทำปี 2547 ได้งบประมาณปี 2554 จากนั้นก็เดินเครื่องในปี 2556”

ลบภาพโรงงานกำจัดขยะที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรงออกไปได้เลย เพราะศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เทศบาลตำบลกำแพง มีพื้นที่กว้างขวาง แม้จะมีกลิ่นขยะแต่ก็ไม่ชวนเวียนหัว มีการจัดตารางเวลาเข้าออกของรถขยะทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ช่วยให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

ถังคัดแยกขยะ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่เทศบาลตำบลกำแพง 

แต่ที่มากไปกว่าการมีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร คือ ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ ที่ทำการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ขวดน้ำ ถุงพลาสติก ฯลฯ แยกไว้เป็นขยะรีไซเคิล ขยะเปียกแยกไว้ทำปุ๋ย ขยะบางอย่าง เช่น ซองกาแฟ กระป๋องนม แยกไปทำเป็นกระเป๋า สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะได้อีก 

ขณะเดียวกัน เทศบาลตำบลกำแพง ก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล เรื่องการพัฒนานวัตกรรมจัดการขยะมูลฝอยชุมชนแบบครบวงจรอีกด้วย

“ตั้งแต่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรเดินเครื่อง ถ้าไม่นับรวมขยะจากเกาะหลีเป๊ะ ก็ตกวันละ 25 ตัน แต่ถ้ารวมจะอยู่ที่ 40-45 ตันต่อวัน ถือว่าน้อยกว่าเดิมราวครึ่งหนึ่ง ส่วนขยะที่เหลือจากกระบวนการกำจัดขยะ เราก็เอาไปฝังกลบ และตัวที่เราต่อยอดอยู่ตอนนี้ คือ ปุ๋ยหมัก ซึ่งแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนนำไปใช้ประโยชน์ โดยเราส่งตรวจคุณภาพปุ๋ยทุก 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นปุ๋ยหมักคุณภาพดี” นายกเทศมนตรีตำบลกำแพง บอก

การแก้ไขปัญหาขยะอย่างจริงจัง กระทั่งประสบผลสำเร็จ ทำให้ในปี 2562 เทศบาลตำบลกำแพงได้รับรางวัลชนะเลิศเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 

ปั้นขลิบไส้ปลา อีกหนึ่งของอร่อยในพื้นที่ 

หนุนกลุ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ 

หากใครไปเยือนบ้านชาวบ้านในเทศบาลตำบลกำแพง อาจได้กลิ่นหอมชวนกินของขนมต่างๆ ที่กลุ่มแม่บ้านต่างตั้งใจทำสุดฝีมือ ทั้งขนมเทียนหรือขนมนมสาว ปั้นขลิบไส้ปลา ที่ล้วนแต่มีรสชาติอร่อย ชวนให้ซื้อกลับไปฝากคนที่รัก

ในบทบาทนายกเทศมนตรีตำบลกำแพง วิชิตสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่อิงจากความชอบ หรือต่อยอดจากวัตถุดิบหรือของที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากอาชีพหลัก 

วิชิตขณะลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มชาวบ้านทำขนมเทียนหรือขนมนมสาว

อย่างกลุ่มทำขนมพื้นบ้าน ที่มีทั้งขนมเทียนหรือขนมนมสาว จุดเด่นอยู่ที่ไส้เยอะ แป้งน้อย หรือปั้นขลิบไส้ปลา ที่ใช้วัตถุดิบเป็นปลาในพื้นที่ละงู กัดแล้วได้รสชาติความอร่อยเต็มคำ

“เราคิดจากประชาชนก่อนว่า เขาอยากทำอะไร ไม่จำเป็นต้องสร้างกลุ่มใหญ่ เอากลุ่มเล็กก็ได้ แล้วค่อยต่อยอด เราส่งเสริมทุกอาชีพ อย่างกลุ่มนี้อยากทำขนม กลุ่มนั้นอยากเลี้ยงแพะ อยากเลี้ยงปลาในกระชัง อยากปลูกผักในแปลงยกพื้น เทศบาลฯ ก็สนับสนุนเต็มที่ ทั้งการให้ความรู้ และการส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้าท้องถิ่นกระจายไปถึงคนทั่วประเทศ” 

สนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงโลกดิจิทัล

เข้าถึงโลกดิจิทัล 

เทศบาลตำบลกำแพงสนับสนุนการศึกษาของลูกหลานพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เช่นที่นายกเล็กบอกว่า มีทั้งในระบบและนอกระบบ 

ในระบบมีศูนย์พัฒนาเด็กเทศบาลตำบลกำแพง และโรงเรียนอนุบาลละงู ซึ่งเทศบาลฯ สนับสนุนนมและอาหารกลางวัน ส่วนนอกระบบมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู ที่เทศบาลฯ สนับสนุนเงินทุนก่อสร้างอาคารจัดแสดง 2 หลัง ไว้จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องมือต่างๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน และศูนย์ไอซีที ซึ่งมีจัดหลักสูตรการขายออนไลน์ ให้ชาวบ้านเข้ามาเรียนรู้

ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนบุคลากรในสำนักงานเทศบาลตำบลกำแพง ให้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ มีทั้งที่เทศบาลฯ จัดอบรมเอง และที่ให้บุคลากรไปรับการอบรมภายนอก ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะนำความรู้นั้นๆ มาถ่ายทอดให้บุคลากรคนอื่นได้ฟังอีกทอดหนึ่ง

“ส่วนการให้บริการ เราก็นำเทคโนโลยี เช่น คิวอาร์โค้ด บาร์โค้ด มาใช้ ทั้งการจ่ายภาษี จ่ายค่ากำจัดขยะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน จะได้ประหยัดเวลาไม่ต้องเดินทางมาเทศบาล”  วิชิตบอก 

มุมร่มรื่นไว้พักผ่อนหย่อนใจ

สวนสวยส่งเสริมสุขภาพ

อยากออกกำลังกาย หรืออยากพักผ่อนหย่อนใจ ในพื้นที่ก็มี ‘สวนสาธารณะเทศบาลตำบลกำแพง’ ให้ทุกคนเข้ามาใช้งาน ภายในร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ มีศาลากลางน้ำให้นั่งเล่นชมวิว 

“เมื่อก่อนเราต้องซื้อปุ๋ยมาดูแลต้นไม้ในสวนสาธารณะ แต่เมื่อมีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เราก็เอาปุ๋ยหมักจากที่นั่นมาใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายของเทศบาลฯ ได้ทางหนึ่ง ส่วนดอกไม้สวยๆ ที่เห็น เราก็เพาะเอง เวลาจัดงานเทศกาลที่ต้องการไม้ดอกสวยๆ ก็เพาะที่นี่” นายกเทศมนตรีตำบลกำแพงบอก

ความที่สวนสาธารณะเทศบาลตำบลกำแพงสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี แต่ละวันจึงมีผู้มาใช้บริการ 300-400 คน ช่วยส่งเสริมสุขภาพของทุกคนให้แข็งแรงยิ่งขึ้น 

 

ความสำเร็จของเทศบาลตำบลกำแพง อ.ละงู จ.สตูล ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อให้เกิด ‘เมืองน่าอยู่’ อย่างแท้จริง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image