‘ยศวัฒน์ ภูวรัตน์เลิศคุณ’ นายกเล็ก ‘เกล็ดแก้ว’ เมืองชล มุ่งพัฒนาท้องถิ่น พร้อมรองรับ EEC

‘คนเปลี่ยนเมือง’ พาไปพบอีกหนึ่งบุคคลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ท้องถิ่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม ส่งเสริมอาชีพ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดหนักก็สามารถป้องกันและรับมืออย่างเข้มแข็ง และยังเป็นเทศบาลตำบลแรกของอำเภอที่มีศูนย์พักคอยและแยกกักตัวชุมชน ควบคู่ไปกับสถานกักกันโรคท้องที่

ทั้งหมดเกิดจากการทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็น ‘นักพัฒนา’ ไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในหน่วยงานระดับสูง ผู้นำชุมชน หรือชาวบ้าน ต่างมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน หลังจาก ยศวัฒน์ ภูวรัตน์เลิศคุณ เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลเกล็ดแก้ว ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ชูแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 

ยศวัฒน์ ภูวรัตน์เลิศคุณ หรือที่ชาวบ้านเรียกอย่างรักใคร่สนิทสนมว่า ‘นายกต่าย’ เล่าถึงเทศบาลตำบลเกล็ดแก้วว่า มีพื้นที่ 58 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 13,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพข้าราชการทหารเรือ รองลงมาคือเกษตรกร นักธุรกิจ และลูกจ้างพนักงานธุรกิจเอกชนทั่วไป

Advertisement

“เป้าหมายของผม คือ ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เน้นคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพต่างๆ ในเทศบาล รวมถึงเกษตรกร ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรและบุคลากร เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

“ด้วยความที่บางเสร่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางไม่มากนัก มีแหล่งท่องเที่ยวอย่างหาดทรายแก้ว สวนนงนุช อ่างเก็บน้ำห้วยตู้ และวัดต่างๆ จึงได้คิดนำสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้มาหาเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว เพื่อมาต่อยอดพัฒนาพื้นที่”

Advertisement

ยศวัฒน์บอกว่า หาดทรายแก้ว เป็นชายหาดเล็กๆ ล้อมด้วยภูเขา แม้เป็นวันธรรมดาก็คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ด้วยจุดเด่นความสวยงามของพื้นทรายสีขาวละเอียดปนปะการังที่ทับถมกันมา รวมถึงลักษณะของหาดที่ไม่ลาดชัน เล่นน้ำได้สบายใจ น้ำทะเลใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา สภาพภูมิทัศน์โดยรอบก็สะอาด ขยะแทบไม่มีให้เห็น เนื่องจากเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของกองทัพเรือ และจากข้อบังคับที่กำหนด คือ จะมีบางวันในสัปดาห์ที่ไม่อนุญาตให้นำรถส่วนตัวเข้ามาที่หาด จึงช่วยเพิ่มรายได้เสริมให้ชาวบ้านเจ้าของรถโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยวในแถบนั้น

“สวนนงนุชก็ติดอันดับ 1 ใน 10 สวนสวยที่สุดของโลก นอกจากมีไม้ดอกไม้ประดับมากมายหลายร้อยพันธุ์แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบวงจร คนที่อยู่ในพื้นที่ก็มีรายได้จากการทำงานที่นี่ มีสถานปฏิบัติธรรมหุบเขาสวรรค์ และวัดทรงเมตตาวนาราม ซึ่งมีจุดชมวิวสวยงาม เรียกว่ามีสถานที่น่าสนใจหลายแห่ง ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้”

ดูแลใส่ใจทุกชีวิต

ดัวยความเป็นพุทธศาสนิกชน คนไทยชอบทำบุญทำทาน นอกจากโครงการสุขใจ ‘นายกพาไปเข้าวัด’ นำทีมข้าราชการและพนักงานไปทำบุญทุกวันพระแล้ว อีกการทำงานของยศวัฒน์ที่คนรักสัตว์จะต้องอิ่มเอมใจก็คือ ที่นี่มีสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนอย่างเกาะเกล็ดแก้ว ที่เต็มไปด้วยประชากรลิงแสมนับพันตัว ที่ผ่านมาจะมีนักท่องเที่ยวนิยมนั่งเรือมาให้อาหารลิงกันเกือบทุกวัน เจ้าจ๋อแสนรู้เมื่อเห็นเรือค่อยๆ มาเทียบ ก็จะรีบมายืนออที่ริมหาด เพื่อรอรับผลไม้และน้ำจืด 

“ช่วงโควิดนักท่องเที่ยวน้อยลง เทศบาลจึงได้ร่วมกับโรงเรียนชุมพลทหารเรือ นำผัก ผลไม้ และอาหารที่คนกินเหลือ มาให้ฝูงลิงเหล่านี้ รวมทั้งร่วมมือกับ อบจ. วางแผนควบคุมจำนวนประชากรลิงไม่ให้แพร่พันธุ์เยอะเกินไป เพื่อให้มีทรัพยากรที่เหมาะสม ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างมีความสุข ที่ทำอย่างนี้เพราะไม่ได้คิดดูแลเฉพาะคน แต่สัตว์ก็ต้องใส่ใจ ในอนาคตก็ยังมีแผนสร้างที่อยู่ให้สุนัขจรด้วย ตราบใดที่ผมยังทำงานอยู่ที่นี่ จะดูแลอย่างนี้ตลอดไป”

พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ชุมชน

มาถึงเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้าน ที่ผ่านมา ทางเทศบาลตำบลเกล็ดแก้วมีการสนับสนุนกิจกรรมอบรมฝึกอาชีพตามชุมชนต่างๆ แต่เมื่อโควิดระบาดจึงต้องหยุดชั่วคราว 

เมื่อยศวัฒน์เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้ลงมือพัฒนาทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น สนับสนุนให้ปลูกผักต่างๆ ไว้ประกอบอาหารในครัวเรือน นำศาสตร์พระราชาโคกหนองนา มาประยุกต์ใช้ในชุมชน สร้างฐานการเรียนรู้ต่างๆ ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารในโรงครัว เพื่อนำมาใช้ในแปลงผัก ส่วนหนึ่งก็แจกจ่ายชาวบ้าน ทำสวนสมุนไพรผสมผสาน ขยายพันธุ์ต้นกระชายและต้นฟ้าทะลายโจร ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการป่วยโควิด ให้ชาวบ้านนำไปปลูก

“พนักงานเทศบาลบางคนชอบเลี้ยงไก่ ผมก็ส่งเสริมให้เลี้ยงทั้งไก่ชน ไก่ไข่ และไก่ต่างประเทศพันธุ์สวยงามที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน ให้ขยายพันธุ์ไก่แล้วขายในเพจเฟซบุ๊ก มีโครงการ ‘ถนนกินได้’ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของกองสวัสดิการสังคม เป็นการปลูกไม้ยืนต้นและพืชสวนครัว ช่น สะเดา แค ขี้เหล็ก ถั่วฝักยาว ตะไคร้ ข่า พริก ฯลฯ ช่วยให้ชาวบ้านมีพืชผักไว้ทำอาหาร โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารตามวิถีพอเพียง”

ที่นี่ยังมีฟาร์มเห็ด สร้างทั้งรายได้จากการจำหน่าย และสร้างความอิ่มท้องอิ่มใจ เพราะส่วนหนึ่งนำมาประกอบอาหารที่ ‘ครัวเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว’ ซึ่งต่อยอดมาจากครัวสนาม ที่มีจิตอาสามาช่วยกันทำอาหาร 3 มื้อ เลี้ยงชุมชนที่เดือดร้อนจากโควิด ปัจจุบันครัวเทศบาลจะทำอาหารเที่ยงให้ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และพนักงานเทศบาล ร่วมวงอาหารพร้อมกัน รวมทั้งให้ชาวบ้านในแถบนั้นมานั่งกินด้วย

นายกต่ายใจดียังได้สร้างแลนด์มาร์กเล็กๆ เอาไว้ เขาบอกว่า ต้องการให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องมาเฉพาะติดต่อราชการเท่านั้น แต่มาเช็คอินถ่ายรูปได้ด้วย มีกระท่อมหลังน้อยสร้างจากไม้ไผ่ ให้เด็กๆ ได้รู้จักว่าเป็นวิถีชีวิตของคนไทยในอดีต และกำลังจะเปิดมุมกาแฟเพื่อหารายได้ให้กองสวัสดิการสังคมในเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว เพื่อจะได้มีกำลังใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

ป้องกัน-รับมือโควิดอย่างเข้มแข็ง

ในพื้นที่เทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว มีศูนย์พักคอยและแยกกักตัวชุมชน (Community Isolation) อยู่ที่หมู่ 7 จัดตั้งขึ้นช่วงโควิดระบาดหนักปีที่ผ่านมา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบนโยบายให้ท้องถิ่นต่างๆ ช่วยกันจัดตั้งขึ้น 

จากเดิมบริเวณนี้เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่มีเฉพาะโครงหลังคา ยศวัฒน์ก็ลงมือปรับปรุงใหญ่ เริ่มต้นเป็นจุดบริการตรวจคัดกรองโควิดและสถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine) ก่อนจะร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโค้งวันเพ็ญ และหน่วยงานในท้องถิ่น พัฒนาศูนย์พักคอยควบคู่กันไป

“ยอมรับว่าเหนื่อยมากช่วงที่โควิดระบาด กลัวกันทุกคน บางคนติดแต่ไม่ยอมกักตัว หนีกลับบ้าน แล้วในบ้านก็มีสมาชิกหลายคน เพื่อนบ้านก็กลัวติดไปด้วย ผมต้องสวมชุดพีพีอีเข้าไปเจรจาหว่านล้อมให้ไปรักษาหรือกักตัว ที่ต้องทำอย่างนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ทีมงานว่า นายกยังไม่กลัวเลย 

“แล้วเราก็ยังเป็นเทศบาลตำบลแรกของสัตหีบ ที่เปิดศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม รวมถึงมีการตรวจโควิดเชิงรุก หากเจอว่าเป็นจะนำรถไปรับตัวทันที กระทั่งในพื้นที่สัตหีบขอความร่วมมือให้เทศบาลตำบลเกล็ดแก้วไปช่วยท้องที่อื่น ผมออกนโยบายให้ทีมงานเลยว่า เราจะไม่ดูแลเฉพาะพี่น้องประชาชนพื้นที่เทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว แต่รวมถึงอำเภอสัตหีบด้วย”

ศูนย์พักคอยและแยกกักตัวชุมชนของเทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว ยังมีอุปกรณ์ของใช้เหมือนอยู่บ้าน มีทีวีให้ดู ติดตั้งกล้องวงจรปิด อาหารแต่ละมื้อก็คัดสรรอย่างดี แสดงถึงความใส่ใจจริง มีบริการตัดผมเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง

“ขยะล้น เก็บไม่ทัน คนก็ยิ่งกลัว เพราะมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งขยะ ก็คือหวาดระแวงกันไปหมด ผมก็ทำตามสูตรเดิม สวมชุดพีพีอีไปลุยเอง แก้ไขปัญหาให้ดูเป็นตัวอย่าง อย่างขยะก็จัดเก็บเป็นช่วงเวลาต่างๆ สับเปลี่ยนให้เหมาะสม รณรงค์ให้นำขยะติดเชื้อทิ้งในจุดที่เตรียมไว้ให้ ทั้งลูกน้องและประชาชนพอเห็นอย่างนี้ เขาก็จะมีความรู้สึกไม่กลัว”

ยกระดับคุณภาพชีวิตพนักงานและประชาชน

ไม่น่าแปลกใจที่นายกต่ายเป็นที่รักใคร่ของลูกน้องและคนในชุมชน เพราะใส่ใจทุกอย่างแม้กระทั่งสนับสนุนให้พนักงานและชุมชนออกกำลังกายและเล่นกีฬา ด้วยการจัดสร้างสนามเปตอง วอลเลย์บอล แบดมินตัน รณรงค์ให้หลังเลิกงานชวนกันเล่นกีฬา พร้อมจัดการแข่งขันกีฬาสีประจำปี

“ในที่ทำการเทศบาลติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่หญิง รวมถึงมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในความคิดของผม…การพัฒนาองค์กรเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าองค์กรไม่มีประสิทธิภาพ จะออกไปช่วยเหลือประชาชนลำบาก ลำดับแรกต้องสร้างบ้านหรือที่ทำงานให้น่าอยู่ จากระยะเวลา 8 เดือนที่เข้ามา ได้ปรับปรุงพื้นที่ ห้องต่างๆ ห้องน้ำต้องสะอาด ทั้งความเป็นอยู่หรือสวัสดิการของพนักงาน ก่อนหน้านี้เทศบาลมีตำแหน่งว่างเยอะ แต่ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ย้ายเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นถึง 45 คน เพราะที่นี่เป็นเหมือนกับบ้านที่สวยงามน่าอยู่”

หลังจากพัฒนาองค์กรไปแล้ว ยศวัฒน์ก็ได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้น สำหรับเป็นช่องทางให้ประชาชนขอรับบริการต่างๆ หรือร้องเรียน 24 ชั่วโมง ถ้าเป็นผู้สูงวัยบางคนอาจไม่ชำนาญการใช้ ก็จะมีทีมงานช่วยแนะนำวิธีการใช้ พยายามให้ทุกคนใช้งานให้ได้

แผนงานในอนาคต พร้อมรับ ECC

ยศวัฒน์กางแผนงานในอนาคตให้ดูว่า หลังจากได้งบประมาณจากจังหวัดแล้ว ก็จะติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับความปลอดภัย หากเกิดเหตุอะไรก็จะมองเห็นจากห้องควบคุมได้ทันที และกำลังจะสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐาน ประกอบไปด้วยสนามฟุตบอล ลู่วิ่ง มีที่นั่งชมและเชียร์พร้อมสรรพ

“เทศบาลตำบลเกล็ดแก้วพร้อมรองรับ EEC ในอนาคต โดยกำลังลงมือสร้างโรงเรียนอนุบาลสองภาษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของอำเภอสัตหีบ หลังจากแล้วเสร็จในปี 2566 จะทำการสอนเพื่อปูพื้นฐานด้านภาษา โดยคุณครูต่างชาติ สำหรับผู้สูงอายุก็ไม่ทิ้ง ได้เตรียมสร้างอาคารเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุให้มาทำกิจกรรมต่างๆ”

สถานที่สำคัญอีกแห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยตู้ ใช้สำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกร ปัจจุบันมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม นายกต่ายกำลังดำเนินการขออนุมัติใช้พื้นที่จากกรมชลประทาน เพื่อพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กแหล่งท่องเที่ยว ทำเป็นลู่วิ่งรอบๆ สร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน จัดแข่งขันกีฬาทางน้ำ และจัดงานประเพณีต่างๆ เช่นเดียวกับสวนสาธารณะชุมพลทหารใหม่ หรือสวนร่วมใจ ซึ่งดำเนินการเขียนแบบแล้ว และจำเป็นต้องใช้งบประมาณพอสมควร ก็จะพัฒนาให้มีลู่วิ่งออกกำลังกายเช่นกัน

“นอกจากการหารายได้จากแหล่งท่องเที่ยวตามที่เล่าไว้ตอนต้น เรายังได้รับความร่วมมือร่วมใจจากบุคลากรในพื้นที่ ประชาชน งบประมาณส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ชลบุรี แต่ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการพัฒนา จึงอยากให้ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เทศบาลตำบลเกล็ดแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเขต EEC ในอนาคต ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ หรือส่งบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมพัฒนา ก็จะทำให้ที่นี่เติบโต มีโอกาสเป็นเมืองที่พัฒนาได้อย่างยั่งยืนต่อไป” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image