‘ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์’ ผู้มุ่งมั่นพัฒนา ‘เทศบาลนครขอนแก่น’ สู่สมาร์ท ซิตี้

หากพูดถึงจังหวัดที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของภาคอีสาน ต้องมีชื่อ ‘ขอนแก่น’ ติดเข้าไปด้วย เพราะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก และความเจริญครบครัน จนได้รับการยกย่องให้เป็น ‘มหานครของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’

กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ การพัฒนาเมืองต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ที่ต้องการมุ่งเน้นให้เมืองพัฒนาไปสู่ ‘สมาร์ท ซิตี้’ ควบคู่ไปกับความสุขมวลรวมของผู้คนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นนโยบายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองภายใต้วิสัยทัศน์ ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’ 

วางรากฐานการศึกษาให้ทุกคน  

ธีระศักดิ์ให้ความสำคัญเรื่องการวางรากฐานทางการศึกษาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านวิชาการ ด้านกีฬาอาชีพ และการพัฒนาทักษะชีวิต เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล คือ โรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมรอบด้าน 

Advertisement

ภาพมุมสูงของโรงเรียนอนุบาลสาธิตเทศบาลนครขอนแก่น

 

Advertisement

อาทิ การออกแบบอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยทั่วทั้งโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเต็มที่ มีสระว่ายน้ำ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกว่ายน้ำเอาชีวิตรอด หากเกิดการจมน้ำ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายที่สูงมากนัก เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาประสิทธิภาพของครูผู้สอน เราดึงเอาครูที่สอนในระดับชั้นอนุบาลจาก 11 โรงเรียน มาอบรมและพัฒนาศักยภาพ จนมั่นใจได้ว่า ปัจจุบันครูของเรามีขีดความสามารถที่สูงมาก นักเรียนในขณะนี้มี 320 กว่าคน เรามีครูอยู่ 43 คน ห้องเรียนแต่ละห้องมีนักเรียน 25 คน โดยมีครู 2 คน เพื่อดูแลเด็ก ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า มีความปลอดภัย และประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนก็มีขีดความสามารถสูงสุด” ธีระศักดิ์กล่าว

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นพบปะนักเรียนและคุณครูตามโรงเรียนต่างๆ

 

ด้านกีฬาอาชีพ ทางเทศบาลนครขอนแก่นได้มุ่งเน้นให้นักเรียนได้เล่นกีฬาอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งผลักดันให้เป็นนักกีฬาอาชีพอย่างเต็มตัว โดยมีผู้ฝึกสอน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ครบครันอยู่ภายในโรงเรียน

ส่วนการพัฒนาทักษะชีวิต โรงเรียนจะมีส่วนสำคัญในการฝึกทักษะด้านความคิดในบริบทที่มีความหลากหลาย เพื่อให้เด็ก ๆ มีการเรียนรู้ และมีความเข้าใจมากขึ้น สามารถวางแผนการศึกษาในอนาคต พร้อมทั้งได้รู้ถึงความถนัด และความชอบของตนเองในภายหน้า เหตุนี้เอง การศึกษาจึงเป็นกลไกที่มีส่วนสำคัญ ที่ทางเทศบาลนครขอนแก่น ต้องการยกระดับเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งภาคอีสาน

โครงสร้างพื้นฐาน นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองพัฒนาทั้งแง่เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนายกเทศมนตรีนครขอนแก่นเน้นพัฒนาศักยภาพด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เพื่อรองรับการเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สมกับการเป็นสมาร์ท ซิตี้ 

หนึ่งในโครงการที่เทศบาลนครขอนแก่นให้ความสำคัญ คือ ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ (Smart Mobility) ที่เทศบาลฯ มีแนวคิดพัฒนาระบบขนส่งทางราง ให้สามารถผลิตได้ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ และอะไหล่จากต่างประเทศ  อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศ สามารถวิจัย พัฒนา และออกแบบการผลิตขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ 

ด้วยเหตุนี้ เทศบาลนครฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ส่งมอบรถไฟฟ้ารางเบา LRT เพื่อให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้ศึกษาระบบการเดินรถ การบริหารจัดการ และการซ่อมบำรุง พร้อมทั้งร่วมมือกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ในการออกแบบ และผลิตชิ้นส่วนขบวนรถไฟฟ้า ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รถไฟฟ้ารางเบา LRT ที่เทศบาลนครฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น มอบให้กับทางเทศบาลนครขอนแก่น

 

ธีระศักดิ์กล่าวถึงเหตุผลที่ใช้รถไฟฟ้ารางเบา LRT ว่า “ที่กรุงเทพฯ จะเป็นรถไฟฟ้าแบบโมโนเรล ส่วนเทศบาลนครขอนแก่นจะเป็นแบบรางเบา LRT ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ความเร็วน้อยกว่า และความจุผู้โดยสารน้อยกว่า แต่การบำรุงรักษา และการสร้างจะง่ายกว่า รวมทั้งขีดความสามารถในการรับผู้โดยสารก็เหมาะสมกับต่างจังหวัด ดังนั้นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่รูปแบบของรถสวยงามแน่นอน” 

ต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาของเทศบาลนครขอนแก่น

 

พัฒนาคุณภาพชีวิต ต่อยอดสร้างอาชีพ 

คุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่เทศบาลนครขอนแก่น ถือเป็นปัจจัยหลักที่ธีระศักดิ์เห็นว่า ต้องมีการพัฒนา เพื่อให้เกิดความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมุ่งเน้นเรื่องการศึกษานอกระบบเพิ่มเข้าไปด้วย เกิดเป็น ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนบ้านเรา เทศบาลนครขอนแก่น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยสอน และชี้แนะแนวทางให้ผู้เรียน 

ภายในศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนบ้านเรา มีกิจกรรมการสอนที่หลากหลาย อาทิ การเลี้ยงปลา, เลี้ยงกบ, การซ่อมแซมรถ และการถักเชือกเทียนโบราณ ซึ่งล้วนแต่เป็นอาชีพที่สามารถนำไปต่อยอดหารายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในชีวิตได้ทางหนึ่ง 

บรรยากาศการสอนภายในศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชน ของเทศบาลนครขอนแก่น

 

ส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณี ดึงรายได้เข้าพื้นที่ 

จังหวัดขอนแก่นอาจไม่ใช่เมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวมากนัก แต่จะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ คำตอบคือ ชูจุดเด่นเรื่องอัตลักษณ์งานเทศกาลประเพณีต่างๆ 

“หนึ่งในจุดเด่นของประเพณีวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น คือ ประเพณีสงกรานต์ ภายใต้ชื่อ สุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูณเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว มีคนมาเที่ยวหลายแสนคน ขณะเดียวกัน สิ่งที่ไม่ละทิ้งก็คือ เรื่องบุญ เรื่องประเพณี ที่มีการฟื้นฟู การต่อยอด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาระสำคัญ ที่ทางเทศบาลนครขอนแก่นยังคงทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของเรา และเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือน” 

ให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาเมือง

เมื่อประชาชนคือผู้อาศัยในพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เช่นที่เทศบาลนครขอนแก่นให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิด ในสิ่งที่แต่ละชุมชนต้องการ อาทิ การติดตั้งกล้องวงจรปิดในชุมชน หรือการปรับปรุงถนน หรือเมื่อทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ประชาชนเสนอแผนพัฒนาของแต่ละชุมชนออกมา เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

ยกตัวอย่างแผนพัฒนาชุมชน อย่าง ‘ชุมชน 95 ก้าวหน้านคร’ เกิดจากประชาชนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ ได้รับผลกระทบจากการขยายทางรถไฟเป็นทางคู่ ทำให้ประชาชนต้องการเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน 95 ก้าวหน้านครเป็นจำนวนมาก 

แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัด หลายภาคส่วนจึงต้องกำหนดกลุ่มคนที่สามารถเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชน 95 ก้าวหน้านครแห่งนี้ โดยต้องเป็นคนที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟ และกลุ่มครอบครัวขยาย กล่าวคือ บางครอบครัวมีสมาชิกจำนวนมาก แต่ที่อยู่อาศัยไม่รองรับ คณะทำงานก็จะคัดกรองกลุ่มคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัย เพื่อความโปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นสำรวจชุมชน 95 ก้าวหน้านคร

 

แต่การจะเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ ก็ยังมีเงื่อนไขอีกประการ คือ ต้องมีการออมเงิน โดยต้องออมเงินให้ได้ 10% ของราคาก่อสร้าง จึงจะมีสิทธิ์ในการซื้อ ซึ่งการบริหารจัดการดำเนินการโดย สหกรณ์เคหสถานแก่นนคร เป็นฝ่ายบริหารเรื่องหนี้สิน และกรรมการชุมชน บริหารเรื่องโครงสร้าง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายนี้จะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือประชาชนให้อยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข

กระจายอำนาจ เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

อาจกล่าวได้ว่า ขอนแก่นเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคอีสานที่มีความหลากหลาย อาทิ ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ ระบบการคมนาคม  การประชุมและสัมมนา การศึกษา และศูนย์กลางทางราชการ ซึ่งล้วนก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่ โดยทางเทศบาลนครขอนแก่นมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมกับต้องมีการปรับตัวให้ทันตามกระแสของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

ธีระศักดิ์ ฝากทิ้งท้ายถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองขอนแก่นว่า “สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคมาก คือ ระบบวิธีคิดเรื่อง การกระจายอำนาจ อยากให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง คือ ให้แต่ละพื้นที่สามารถจัดการกับปัญหา ภายใต้ความต้องการของชุมชนได้ ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดที่มีอยู่อย่างหลากหลาย อยากจะฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเคลียร์ในเรื่องเหล่านี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image