‘กมล คงปิ่น’ พัฒนา ‘เชียงคาน’ เมืองท่องเที่ยวยอดฮิตริมโขง ในแบบเมือง 3 มรดก 1 เสน่ห์

เมื่อกระแสการท่องเที่ยวในแบบสโลว์ไลฟ์เริ่มบูม เมืองเล็กๆ ริมโขง อย่าง ‘เชียงคาน’ ก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาใช้ชีวิตวันหยุดแบบเรียบง่าย พักใจเอนกายอยู่กับธรรมชาติ ท่ามกลางวิถีชีวิตชุมชนที่สุขสงบ ตลอดจนวัฒนธรรมและขนบประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ และแตกต่างไปเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ

ก่อนเชียงคานจะติดชาร์ตแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ผู้ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนให้ที่นี่เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยทำให้ชีวิตผู้คนมีคุณภาพ บนพื้นฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญา และการอนุรักษ์ประเพณีแบบดั้งเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ก็คือ กมล คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

กมลเป็นหนึ่งในบุคคลเบื้องหลัง ที่ทำให้เชียงคานคว้ารางวัล ‘Sustainable Destinations TOP 100’ หรือ ‘สุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน’ เมื่อปี 2563 จากการคัดเลือกของหน่วยงาน Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก International Tourism Borse กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อประกาศว่า เชียงคานเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

จากอดีตเมืองท่าฯ สู่เมืองท่องเที่ยว

Advertisement

“เชียงคานก่อนปี 2518 เป็นเมืองท่าพาณิชย์ ที่เรือบรรทุกสินค้าจากเวียงจันทน์ต้องมาแวะพักที่นี่ ก่อนล่องไปหลวงพระบาง และเมืองต่างๆ ของประเทศลาว แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ไปมาหาสู่กันไม่ได้ ส่งผลให้ที่นี่แทบจะกลายเป็นเมืองร้าง” นายกฯ กมล เล่าให้ฟังถึงที่มาของเมืองเล็กมีเสน่ห์ริมโขง

อดีตเมืองท่าริมโขงถูกพลิกฟื้นให้กลับมามีชีวิตชีวาในรูปแบบของเมืองท่องเที่ยว จากเมื่อช่วงปลายปี 2552 ได้มีการจัดงานย้อนวันวาน ‘100 ปี เชียงคาน เมืองโบราณริมฝั่งโขง’ เพื่อนำวัฒนธรรมและวิถีแบบดั้งเดิมมาเผยแพร่ให้คนได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นประเพณีผีขนน้ำ การลอยผาสาด การแสดงของเผ่าไทดำ ฯลฯ ส่งผลให้เชียงคานเริ่มเป็นที่รู้จัก มีผู้คนเดินทางมาเที่ยวกันมากขึ้นเรื่อยๆ   

นายกฯ กมล บอกว่า มีการเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้พี่น้องชาวเชียงคานได้รับรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่บ้านเรามีอยู่นั้นเป็นของมีค่า พร้อมร่วมกันเปิดมุมมอง และช่วยกันบอกเล่าถึงของดีท้องถิ่นในแบบ ‘ของดีบ้านข้อย เมือง 3 มรดก 1 เสน่ห์’

Advertisement

 “เพราะมรดกคือของมีค่า เสน่ห์คือความหลงใหลในสิ่งดีงาม มรดกอย่างแรกคือมรดกทางวัฒนธรรม พิธีกรรมและความเชื่อ การแต่งกาย มีสำเนียงภาษาพูดวัฒนธรรมเหมือนกับเมืองหลวงพระบาง มีวัฒนธรรมการสะบัดข้าวเหนียว อาหารการกินอย่างข้าวปุ้นน้ำแจ่ว”

“อย่างที่สอง เป็นมรดกด้านสถาปัตยกรรมบ้านไม้เก่า เพราะในบรรดาจำนวนบ้านที่มีอยู่ 2,770 หลังคาเรือน มีบ้านไม้เก่ามาลงทะเบียนถึง 166 หลังคาเรือน จึงได้รับการยอมรับว่า เชียงคานเป็นเมืองอนุรักษ์บ้านไม้เก่าที่สำคัญ โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ประมาณการว่า มีมูลค่าถึงกว่า 2 แสนล้านบาท และยิ่งจะเพิ่มมูลค่าต่อไปเรื่อยๆ ส่วนมรดกที่สามคือธรรมชาติ เรามีแม่น้ำโขง มีทะเลหมอกบนภูทอก และมีโขดหินใหญ่ที่ทอดมาจากลาว”

สำหรับหนึ่งเสน่ห์ในความหมายของนายกฯ กมล ก็คือ ความมีไมตรีจิตและน้ำใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากในสังคมปัจจุบัน ชาวเชียงคานทุกคนมีสัญญาใจในการเป็นเจ้าของบ้านที่ดีร่วมกัน เห็นได้จากข้อความต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ว่า ‘เชียงคานยินดีต้อนรับผู้มาเยือนเสมือนญาติ’ เป็นลูกหลานเป็นพี่เป็นน้องก็ว่าได้

‘เชียงคาน’ เมืองแห่งการอนุรักษ์และพัฒนา

“เทศบาลตำบลเชียงคานมีพื้นที่ 2.7 ตารางกิโลเมตร มีแนวคิดกันว่า ต้องการทำเป็นเมืองอนุรักษ์และเมืองพัฒนาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ถนนศรีเชียงคานทั้งหมดจะเป็นเมืองพัฒนา ส่วนถนนชายโขงหรือคนนคนเดินจะเป็นเมืองอนุรักษ์ เป็นทางเลือกให้คนมาท่องเที่ยว ใครชอบความทันสมัยก็ต้องไปถนนเชียงคาน ที่เป็นฝั่งจังหวัดเลย แต่ถ้าอยากเที่ยวแบบชิลล์ๆ ก็ต้องไปถนนคนเดิน”

นายกเทศมนตรีนักพัฒนาย้ำว่า เทศบาลได้มีการออกเทศบัญญัติควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่ เพื่ออนุรักษ์รูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ เช่น ในเขตพื้นที่อนุรักษ์จะอนุญาตให้ตัวอาคารมีความสูงไม่เกิน 10 เมตร รวมทั้งสีของหลังคา แบบของประตูและหน้าต่าง จะต้องยึดแบบแปลนที่เป็นของเก่าโบราณ ใครที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ จะต้องทำความเข้าใจว่า ทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้

“จากการที่ได้รับเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวหลายคนว่า ที่นี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่รู้สึกปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน ผมจึงได้ย้ำกับทุกคนว่า พวกเราจะต้องช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ เริ่มจากการยินดีต้อนรับผู้มาเยือนเสมือนญาติ เรียกว่าเป็น ‘เชียงคานนิยม’ ตามมาด้วย ‘เชียงคานศึกษา’ ต้องเล่าเรื่องเมืองเชียงคานได้ทุกคน 

“นอกจากผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังส่งทอดไปถึงโรงเรียนในเขตเทศบาล เด็กๆ ไม่ได้เรียนเพียงวิชาการความรู้ตามหลักสูตรที่กำหนดเท่านั้น แต่จะมีเรื่องท้องถิ่นสอดแทรกให้เด็กได้เรียนรู้ มีการจัดเวทีให้ทุกคนได้ฝึกซ้อมกันอย่างสม่ำเสมอ ต้องจำให้ขึ้นใจว่า ‘ของดีบ้านข้อย’ มีอะไรบ้าง”

ชูแหล่งท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติและฝีมือมนุษย์

นอกจากธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว เชียงคานยังมีสีสันความทันสมัยอย่างสกายวอล์ค ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องไม่พลาดเช็คอิน สกายวอล์คที่นี่ออกแบบให้เห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของแม่น้ำโขงได้เกือบ 360 องศา เป็นจุดที่ได้เห็นแม่น้ำโขงที่ไหลจากจังหวัดเชียงรายมาตกที่เชียงคานเป็นแห่งแรกของภาคอีสาน และยังเป็นจุดที่จะได้เห็นแม่น้ำ 2 สี ก็คือ แม่น้ำเหืองกับแม่น้ำโขง ซึ่งกั้นระหว่างชายแดนไทย-ลาว

“สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามอื่นๆ เช่น หาดนางคอย ตำนานของหญิงสาวที่มายืนคอยคนรัก และแก่งคุดคู้ ก้อนหินที่ทอดยาวมาจากประเทศลาว เกือบกั้นแม่น้ำโขง มีภูทอกที่ผู้คนนิยมขึ้นไปชมทะเลหมอกช่วงพระอาทิตย์ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำเลนรถจักรยานให้ปั่นจากบริเวณชุมชนบ้านไม้เก่า ไปถึงแก่งคุดคู้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งได้ออกกำลังกาย แล้วก็เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแบบปลอดมลพิษไปในตัว” 

การทำเกษตรริมโขงตามแบบดั้งเดิม เป็นอีกจุดที่นักท่องเที่ยวสนใจ พื้นที่ชายตลิ่งริมแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 1,800 เมตร ได้รับการส่งเสริมให้ทำ ‘เกษตรอินทรีย์ วิถีริมโขง’ จากเดิมที่ปลูกเพื่อแบ่งปันกันกิน แต่หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เยอะขึ้น เกษตรกรก็มีการรวมกลุ่มเพื่อจำหน่ายหารายได้ในแบบวิสาหกิจชุมชน เช่นเดียวกับการทำประมง นักท่องเที่ยวหลายคนสนใจการล่องเรือ และอยากมาสัมผัสวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน

การจับปลาของชาวเชียงคานยังอยู่บนความเชื่อและยึดปฏิบัติกันมาตลอดว่า เมื่อหาปลาตัวแรกมาได้ หากเป็นปลาตัวใหญ่ที่เรียกว่าปลาหัวหม้อ จะยังไม่นำไปขาย แต่ต้องเอามาแบ่งปันกัน ไม่อย่างนั้นรอบต่อไปจะหาปลา ‘ไม่หมาน’ คือจะไม่ค่อยได้

อิ่มอร่อยเมนูเด็ดพื้นบ้าน 

อีกสิ่งที่นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคานภูมิใจนำเสนอคือ เมนูอาหารพื้นบ้านต่างๆ ซึ่งใครที่เคยไปสัมผัสเชียงคานแล้ว คงรู้ว่า ‘ลาบปลาคัง’ ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำโขง เป็นหนึ่งในเมนูเลิศรสประจำถิ่น และอาหารประจำมื้อเช้าอย่าง ‘ข้าวปุ้นน้ำแจ่ว’ ที่หากไม่ได้กิน ถือว่ายังไปไม่ถึงเชียงคาน หน้าตาดูแล้วละม้ายกับขนมจีน แตกต่างเพียงเติมเนื้อหมูและเครื่องใน

อีกอาหารพื้นบ้านที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น และผู้มาเยือนนิยมซื้อกลับไปเป็นของฝากก็คือ ‘แหนมหมูห่อใบตอง’ เอกลักษณ์ของแหนมหมูเชียงคานจะต้องห่อด้วยใบตองก่อนมัดด้วยตอก แต่จะไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เพราะไม่ใส่สารกันบูดหรือสารกันเชื้อรา นอกจากนี้ ยังมี ‘มะพร้าวแก้ว’ จากฝีมือกลุ่มแม่บ้านชาวเชียงคาน เป็นของกินที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ทำกันเป็นเกือบทุกบ้าน เป็นสินค้าขายดีของร้านจำหน่ายของกินของฝากทุกร้าน 

ประเพณีของดีมีอยู่ ช่วยส่งเสริมอาชีพ

เชียงคานมีประเพณีพื้นบ้านอย่าง ‘ผีขนน้ำ’ ที่ชาวบ้านละเล่นกันมานาน ตามความเชื่อที่ว่า เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลเมื่อถึงเวลาแห่งการเพาะปลูก นอกจากรุ่นผู้ใหญ่แล้ว เด็กๆ ก็ต้องรู้จักที่มาและความหมายของประเพณีนี้ ต้องฝึกทำหน้ากากผีขนน้ำให้เป็น มีการทำเป็นของฝากของที่ระลึก เช่น ขวดน้ำ พวงกุญแจ เพื่อสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง

และอีกพิธีกรรมความเชื่อโบราณ ที่ทำสืบทอดต่อกันมานับร้อยปี เรียกว่า ‘ผาสาดลอยเคราะห์’ ชาวเชียงคานสมัยก่อนเชื่อว่า หากผู้ใดเห็นสิ่งไม่ดี สิ่งไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบเคราะห์ร้ายถึงแก่ชีวิต ให้ทำการลอยผาสาด เพื่อลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป จะทำให้ชีวิตมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา

“หลังจากลอยสิ่งไม่ดีไปกับแม่น้ำโขง จากนั้นถึงมาพิธีผูกข้อต่อแขน บายศรีสู่ขวัญ เพื่อเรียกให้ขวัญนั้นกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ถือเป็นมรดกประเพณีที่สืบทอดกันมานานแล้ว โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้า เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาพิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ วัฒนธรรมวิถีเชียงคาน” นายกเล็กแห่งชียงคานเล่า 

อยากให้ภาครัฐเห็นความสำคัญของท้องถิ่น

ในฐานะการเป็นองค์กรพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งดูแลเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา นายกฯ กมล มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลว่า ในปี 2562 ก่อนที่จะมีโควิด จังหวัดเลยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเกือบ 3 ล้านคน แต่สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เป็นต้นว่า ถนน สถานีรับส่งผู้โดยสาร สถานีดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์ เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งติดขัดด้วยงบประมาณ จึงอยากให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานท้องถิ่นด้วย ที่สำคัญ พื้นที่เทศบาลเชียงคานเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว แต่ไม่มีหน่วยงานการท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่เลย

กางแผนพัฒนาเทศบาลตำบลเชียงคาน

แม้หลายอย่างอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการประสานงาน แต่นายกฯ กมล ก็พร้อมเดินหน้าสร้างเชียงคานให้เป็นเมืองน่าอยู่ เช่น การจัดการปัญหาขยะ เป็นต้น

“การเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้ตามมาด้วยปัญหาขยะ ปริมาณขยะเดิมของตำบลเชียงคานจะมีวันละ 3-5 ตัน แต่ถ้าเป็นฤดูท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 25-30 ตัน จึงต้องหาทางลดปริมาณขยะ ส่งเสริมให้แต่ละครัวเรือนมีการลดขยะ 

“ถ้าเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเยอะอย่างถนนคนเดิน เทศบาลต้องขอความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ค้า ให้เปลี่ยนภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับของกินจากถุงพลาสติกมาเป็นใบตอง ถ้ามีเศษขยะพลาสติกก็ไม่ต้องไปทิ้งที่อื่น ให้รวบรวมไว้ที่ถนนคนเดิน ประมาณตี 3 ก็จะมีรถขยะมาเก็บ

“นอกจากนี้ ต้องนำภาคีเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่มาจับเข่าคุยกัน เช่น ในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างขยะ น้ำเสีย หากมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกัน” 

นายกฯ นักพัฒนา ย้ำอย่างหนักแน่นว่า เขาวางแผนจะทำให้เชียงคานเป็นเมืองน่าศึกษาและน่าเรียนรู้ ให้คนที่มาแล้วได้ไอเดียว่า จะกลับไปทำให้บ้านของตนเป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างไร โดยเทศบาลกับชุมชนได้จับมือเป็นสัญญาใจ พร้อมช่วยกันสร้างเชียงคานให้เป็นเมืองที่หากใครอยากรู้เรื่องการท่องเที่ยวต้องมาที่นี่

“เมื่อปลูกฝังจิตสำนึกหรือเชียงคานนิยม ให้คนในพื้นที่รู้สึกภูมิใจในแผ่นดินเกิด มีมรดกจากวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ช่วยให้มีรายได้ โดยเฉพาะการได้รับรางวัล ‘สุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน’ ได้สร้างความภาคภูมิใจให้คนในพื้นที่ว่า สิ่งที่พวกเขามีอยู่นั้นจะต้องช่วยกันรักษาไว้ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของการท่องเที่ยวโลก 

“มั่นใจอย่างยิ่งว่า พวกเราจะทำให้ ‘เชียงคาน เมือง 3 มรดก 1 เสน่ห์’ เป็นเมืองที่ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยือนสักครั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image