‘วันชัย นารีรักษ์’ ผู้บริหารท้องถิ่นขวัญใจชาววังน้ำเย็น เปิดแผนพัฒนา 5 ด้าน สร้างเมืองน่าอยู่

แม้เป็นหนึ่งในพื้นที่ของจังหวัดเล็กสุดชายแดนตะวันออกฝั่งติดกับเพื่อนบ้านกัมพูชา ห่างจากกรุงเทพฯ 250 กิโลเมตร แต่ ‘วังน้ำเย็น’ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ก็มีบรรยากาศของความเป็น ‘เมือง’ ที่พัฒนาได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งถนนหนทางและเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกสบาย ธุรกิจการค้าเกิดขึ้นมากมาย แตกต่างไปจากในอดีตที่มีแต่พื้นที่การเกษตร

หากมีคำถามถึงคนในท้องที่ว่า อะไรที่ทำให้วังน้ำเย็นเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ก็คงได้รับคำตอบเดียวกันว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นผลงานของ วันชัย นารีรักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองวังน้ำเย็น ผู้ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาอย่างยาวนานถึงกว่า 30 ปี

กางแผนพัฒนา 5 ด้าน

ถ้ามีโอกาสไปที่สำนักงานเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น จะเห็นว่า ได้รับการออกแบบให้มีความโปร่งโล่งสบาย แต่ละจุดล้วนดูสบายตาน่านั่งทำงาน แตกต่างไปจากสถานที่ราชการทั่วไปที่มีแต่ความเคร่งขรึม

Advertisement

วันชัย หรือ ‘นายกฯ อ้อย’ บอกว่า ตั้งใจออกแบบเพื่อคนทำงานโดยเฉพาะ เนื่องจากการทำงานที่ต้องอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก หากพื้นที่นั้นสะดวกโปร่งโล่ง ดูแล้วไม่อึดอัด จะกระตุ้นให้คนทำงานได้อย่างแอคทีฟและราบรื่น พร้อมกับเล่าที่มาของวังน้ำเย็นว่า

“เดิมทีที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย มาระยะหลังถึงเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น ด้วยลักษณะของพื้นที่ตั้งอยู่ในโซนทางด้านทิศใต้ของสระแก้ว วังน้ำเย็นจึงได้รับโอกาสให้พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัด”

เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่จากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งวันชัยอธิบายอย่างภูมิใจว่า เขาลงมือพัฒนาเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะ 5 ด้านหลักๆ เริ่มจากการพัฒนาเมือง ประกอบไปด้วยโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้า สาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตและเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก

“ด้านที่สองคือ สังคมและสุขภาพ เพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เข้าถึงการบริการ  ด้านที่สามเป็นการศึกษา เพราะเมื่อตั้งโจทย์ให้วังน้ำเย็นเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องปูพื้นฐานด้วยการศึกษาอย่างเป็นระบบ ด้านที่สี่ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง สุดท้ายด้านที่ห้า เรื่องเศรษฐกิจ ถ้าวังน้ำเย็นเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ก็จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่”

เป็นเลิศด้านการศึกษา

เป้าหมายการพัฒนาโดยภาพรวมของนายกฯ อ้อย ถ้าจะพูดกันแบบง่ายๆ คือ ให้ความสำคัญกับปากท้องชาวบ้าน อยากให้ทุกคนกินดีอยู่ดี และอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันก็คือ ‘ความเป็นเลิศด้านการศึกษา’

“เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ จึงมุ่งเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่เดิมเราเป็นเพียงเทศบาลตำบลเล็กๆ ต่อมาในปี 2550 ได้รับถ่ายโอนโรงเรียนเทศบาลมิตรสัมพันธ์วิทยาที่มีเด็กนักเรียน 238 คน แต่วันนี้มีกว่า 2,100 คน”

ปัจจุบันในเขตพื้นที่วังน้ำเย็นมี 8โรงเรียน นักเรียนมีทั้งเด็กในพื้นที่และจากอำเภอรอบนอก รวมแล้วกว่า 8,000 คน กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 5 แห่ง จุดเด่นคือมีการทำหลักสูตรปฐมวัยร่วมกับโรงเรียนอนุบาล เพื่อเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเด็กที่จะขึ้นอนุบาล การมีส่วนร่วมระหว่างเด็กกับคุณครู เด็กจะมีความคุ้นเคย และเรียนรู้ได้อย่างเต็มใจ นอกจากนี้ ยังมีการสอนแบบอิงลิช โปรแกรม (EP) ตั้งแต่ชั้นอนุบาล เฟ้นหาเทคโนโลยีต่างๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ มีครูพิเศษมาสอนเพิ่มเติมทุกวันศุกร์-เสาร์โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นมีต้นทุนทางการศึกษาที่ดีตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก

“เนื่องจากวังน้ำเย็นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหรือเมืองที่มีอัตลักษณ์ความโบราณที่คนต่างถิ่นต้องนำเม็ดเงินมาใช้ แต่เป็นเมืองเกิดใหม่ ระบบการศึกษาจึงเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ เพราะหากมีระบบการศึกษาดี เด็กมาเรียนเยอะ ก็จะมีผู้ปกครองเข้ามาด้วย ทำให้เกิดมีการใช้เงินจับจ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง”

‘ห้องสมุดมีชีวิต’ ภายในโรงเรียนมัธยมเทศบาลเมืองวังน้ำเย็น ก็เป็นอีกสถานที่ที่บ่งบอกถึงความใส่ใจพัฒนาให้ที่นี่มีทุกอย่างเช่นเดียวกับเมืองทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตกแต่ง หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อให้น้องๆ ท่องโลกอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญคือมีหลักสูตรพระราชาให้เรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

นอกจากโรงเรียนทั่วไป ที่นี่ยังมีโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้ว เรียนจบไปแล้ว 4 รุ่น รูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรแบ่งเป็น 2 ปีแรกเรียนในชั้นเรียน สัปดาห์ละ 1 วัน พอครบ 2 ปีจะต้องทำ ‘ภูมิปัญญาศึกษา’ อีก 6 เดือน หมายถึงการบันทึกอาชีพที่เคยทำ เพื่อให้ลูกหลานได้เก็บไว้ หรืออาจจะเก็บไว้ที่ห้องสมุดในชุมชน คนรุ่นหลังหากมาเปิดอ่านแล้วสนใจ สามารถประกอบอาชีพได้เลย

พัฒนาสู่เมืองน่าอยู่

จากโจทย์การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ พี่น้องประชาชนมีรายได้ เพื่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นอกเหนือไปจากการทำเกษตรเพาะปลูก ส่วนหนึ่งของพื้นที่เทศบาลเมืองวังน้ำเย็นยังได้รับการสนับสนุนให้ทำฟาร์มเลี้ยงโคนม และเป็นส่วนหนึ่งของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น แหล่งผลิตน้ำนมใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ

“ในเขตเทศบาลเมืองมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมพร้อมสหกรณ์ประมาณ 1,000 ราย ผลิตน้ำนมได้ประมาณวันละ 100 ตัน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ มีการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งลำคลอง ห้วย หนอง รวมทั้งฝาย เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับน้ำทำการเกษตร อีกส่วนหนึ่งใช้สำหรับบริโภคในครัวเรือน”

นอกจากเป็นพื้นที่ของแหล่งผลิตน้ำนมใหญ่แล้ว ที่นี่ยังมีการปลูกผักชีจนเป็นแหล่งส่งออกสำคัญ อีกทั้งผลไม้เศรษฐกิจ เป็นต้นว่า ลำไย ทุเรียน ขนุน ฯลฯ รวมถึงมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ส่งออกไปยังจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น วันชัยมองว่าพืชผลไม้เหล่านี้อายุถึงเกือบ 40 ปี ดังนั้น ลูกหลานชาววังน้ำเย็นที่เพิ่งเรียนจบ ก็อาจเลือกเป็นเกษตรกรสานต่ออาชีพของครอบครัวได้

แม้แต่เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน มีการปรับปรุงซ่อมแซมเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรบรรทุกผลผลิตการเกษตรเข้าเมืองได้ไม่ลำบาก

“ถ้าระบบสาธารณูปโภคไม่พร้อม จะส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อน จึงต้องจัดหาไว้ ในอนาคตเทศบาลยังมีแผนจัดทำผังเมือง โดยได้ประสานงานกับจังหวัดขอเป็นเจ้าภาพเรื่องการขอใช้งบประมาณท้องถิ่น หากลงผังสีได้ จะทำให้คนในพื้นที่มีงานทำ ไม่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น”

เมืองที่น่าอยู่นั้นจำเป็นต้องมีการส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน ที่นี่มีสวนสุขภาพเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เพื่อให้เป็นสถานที่ออกกำลังกายของคนทุกวัย ครบครันด้วยสนามฟุตซอล ลานแอโรบิก ทางเดิน เครื่องเล่นออกกำลังกายของเด็กกับผู้ใหญ่

“ต่อไปคือเรื่องคุณภาพชีวิต ผ่านระบบสาธารณสุขต่างๆ เทศบาลเมืองวังน้ำเย็นมีคอร์ทีมประกอบด้วย 8 กองงาน ลงพื้นที่ชุมชนแต่ละหมู่บ้าน ไปเก็บข้อมูลว่าชาวบ้านต้องการอะไร มีปัญหาอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงมาวางแผนพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญต้องทำให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงการบริการในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะผู้ติดเตียงหรือผู้สูงอายุ”

มุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

จากวิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองวังน้ำเย็นที่ว่า ‘เป็นเลิศด้านการศึกษา พัฒนาสู่เมืองน่าอยู่ มุ่งสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้’ นายกเล็กเมืองวังน้ำเย็น ย้ำว่า ณ วันนี้ ไม่ต้องไปเรียนรู้บริบทที่อื่น ให้คิดเพียงว่า ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเมื่อวางทุกอย่างได้เป็นระบบ ประชาชนมองเห็นถึงผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน ปัญหาการร้องเรียนก็ไม่เกิดขึ้น 

“ที่นี่เป็นที่แรกของประเทศไทย มีการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลกับเทศบาลตำบลด้วยกัน ในปี 2553 มีการยกระดับจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง สิ่งที่ได้มาคือการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เพิ่มขึ้นหลายเท่า

“ถ้าองค์กรมีความรักความสามัคคี ทำงานกันอย่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน จะนำพาให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การพัฒนาองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าง 8 กองงานของเทศบาล บุคลากรล้วนมีความรู้ความเข้าใจจากการส่งไปอบรมและดูงานตามที่ต่างๆ เพื่อกลับมาประยุกต์ใช้”

วันชัยเผยถึงแผนงานในอนาคตว่า จะทำเรื่องแผนที่ภาษีในระบบ โดยจะมีการออกสำรวจเพื่อให้ปัญหาการจัดเก็บต่างๆ จบไป และจะมีการจัดงบประมาณช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่น โดยงบประมาณส่วนหนึ่งมาจากทางภาครัฐ แต่การพัฒนาในแต่ละพื้นที่ เงินอาจจะไม่พอ ดังนั้น คนในพื้นที่ก็อาจจะต้องมาวางแผนร่วมด้วยช่วยกัน เพราะทุกคนเปรียบเสมือนสมาชิกครอบครัววังน้ำเย็น

“นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด จะวางผังเมืองของวังน้ำเย็น ให้เป็นโซนสีแดง ส้ม ชมพู เขียว และม่วง ซึ่งจะมีอุตสาหกรรมด้วย โครงข่ายคมนาคมก็จะถูกขยายในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้ามีครบหมดแล้ว ชาวบ้านก็จะมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวโดยไม่ต้องออกนอกพื้นที่”

กับคำถามสุดท้าย หากประเมินการพัฒนาพื้นที่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน คิดว่าประสบความสำเร็จมากน้อยระดับไหน ได้รับคำตอบจากนายกเทศบาลเมืองวังน้ำเย็นว่า ต้องให้พี่น้องประชาชน คนในชุมชนเป็นผู้ประเมิน จากการพิจารณาว่า เมื่อเขาเข้ามาในพื้นที่แล้วทำประโยชน์ให้ชาววังน้ำเย็นได้มากน้อยเพียงใด

“ถ้าพี่น้องชาววังน้ำเย็นมองเห็นว่า เมืองมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ประชาชนมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ มีความสุข เขาก็ต้องอยากให้เราเป็นนายกเทศมนตรีต่อไปเรื่อยๆ” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image