สุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก แห่งสงขลา ‘ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ช่วยประชาสังคมเกิดสันติสุข’

‘คนเปลี่ยนเมือง’ ชวนล่องใต้ไปยังอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เมืองเศรษฐกิจสำคัญของชายแดนไทย-มาเลเซีย เปรียบเสมือนประตูสู่ประเทศไทยของชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นเมืองที่เฟื่องฟูและเงินสะพัดจากการเดินทางเข้า-ออก ของผู้คนในแต่ละวันโดยเฉพาะช่วงวันหยุด

ห่างจากพื้นที่ตำบลสะเดา เพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของตำบลเล็กๆ ที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ ภายใต้การดูแลของ ‘สุริยา ยีขุน’ นายกเทศมนตรีตำบลปริก อำเภอสะเดา บุคคลที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมน่าอยู่ ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน จากการยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา จนทำให้ประชาสังคมเกิดสันติสุขในพื้นที่

ทั้งหมดอยู่ภายใต้แนวคิดเชิงนโยบาย 7 ประการ ครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

ผู้นำที่เข้าถึงประชาชน

Advertisement

‘พี่ยา’ ของชาวบ้านในพื้นที่ ขยายความการยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เริ่มจากอาคารสำนักงานเทศบาลตำบลปริกในรูปทรงของสถาปัตยกรรมหลังคาโดมที่สวยงามและโดดเด่น เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการมอบโจทย์ให้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบอาคารหลังนี้ว่า เพราะได้เห็นสำนักงานของเทศบาลหรือท้องถิ่นทั่วไป มีรูปทรงการออกแบบที่เหมือนกันหมด ดังนั้น เมื่อจะสร้างอาคารสำนักงานแล้ว ก็อยากสะท้อนให้เห็นอย่างน้อย 3 มิติ มิติแรกคือความเป็นชุมชนท้องถิ่น มิติสองเป็นแนวคิดเรื่องสภาเมือง มิติที่สามคือความเป็นสากล 

            จะเห็นว่าสภาเมืองในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา แม้แต่อินเดีย จะมีรูปทรงคล้ายกันในลักษณะโดม เมื่อย้อนกลับไปถึงความเป็นชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นชาวมุสลิม 90% ย่อมมีความคุ้นชินกับรูปแบบทรงโดม ที่เกี่ยวข้องกับศาสนสถานหรือตัวมัสยิด

ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชาวตำบลปริก ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกร เขาจึงใช้แนวคิดออกแบบวิสัยทัศน์เทศบาลว่า จะอยู่อย่างพอเพียง แต่ร้อยเรียงวิถีชุมชน จากการใช้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา เพราะต้องการเห็นความเป็นประชาสังคมสันติสุข

Advertisement

จุดเน้นของเทศบาลจึงเป็นการพัฒนาการสร้างคน ผ่านกระบวนการจัดการศึกษา กระบวนการเรียนรู้ กระบวนการศึกษาใน-นอกระบบ และตามอัธยาศัย กระทั่งเป็นแหล่งรวมของผู้คนที่มีความรู้ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมที่เติบโตด้วยปัญญา ส่งผลให้ผู้คนเลือกประกอบอาชีพสุจริต โดยมีกรอบความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ”

การพัฒนาเมืองโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง นำมาสู่รางวัลชนะเลิศ ‘เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม’ ระดับประเทศ ประจำปี 2563 แต่ก่อนหน้านั้น เขาได้รับรางวัลธรรมาภิบาล หรือรางวัล ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี’ ปี 2561 และ 2562 โดยใช้เรื่องการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น เรียกว่า ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ เพื่อใช้ประโยชน์ในกระบวนการจัดการศึกษา ส่งเสริมพัฒนาการของน้องๆ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างพลเมืองตื่นรู้ด้วยการศึกษา

อย่างที่กล่าวว่า สุริยาให้ความสำคัญกับการพัฒนาการสร้างคน ผ่านกระบวนการจัดการศึกษา โดยเริ่มต้นจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สู่โรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม ล่าสุดเพิ่งเปิดสอนหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นปีการศึกษาแรก

“เรามีโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เป็นโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อส่งเสริมให้ลูกหลานในชุมชนที่ฐานะไม่ดีนัก เข้าถึงการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

“หลักสูตรแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เรียกว่า 8+4 มาจาก 8 สาระ ที่ถูกกำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ส่วน 4 มาจากหลักสูตรหรือสาระที่เกี่ยวกับท้องถิ่นอีก 4 วิชา ได้แก่ วิชาวิถีชุมชน วิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา วิชาพลังงานทดแทนและภัยภิบัติ และวิชาเศรษฐกิจพอเพียง”

ที่นี่ยังมีการเรียนวิชาศาสนา ทั้งอิสลามศึกษาและพุทธศาสนา เน้นให้เด็กเรียนรู้หลักธรรมของศาสนาตัวเองผ่านการปฏิบัติ และนำมาบูรณาการกับชีวิตจริง มีกิจกรรมโครงการที่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น วันฮารีรายอ  ค่ายวิถีอิสลาม วันเข้าพรรษา การบวชบรรพชา เป็นต้น

พัฒนาทักษะและอาชีพ

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การส่งเสริมอาชีพของผู้คนในท้องถิ่น เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว จากการวางนโยบายเศรษฐกิจฐานรากใน 2 มิติ ได้แก่ ภาคการเกษตร มุ่งเน้นเรื่องการปลูกพืชผักปลอดภัย กับภาคอุตสาหกรรมในครัวเรือน ได้แก่ ผ้าบาติก หรือผ้าปาเต๊ะ งานหัตถศิลป์ที่มีถิ่นกำเนิดจากอินโดนีเซีย

หากใครมีโอกาสได้ไปศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพทำผ้าบาติกของเทศบาลตำบลปริก จะได้เห็นผ้าบาติกสารพัดลวดลาย หลากหลายสีสันสวยงาม จากฝีมือการทำของสมาชิกในกลุ่ม แขวนเรียงรายอวดผู้มาเยี่ยมชมอย่างภูมิใจ

เรามีครูผู้สอนซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นที่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้ แล้วมาถ่ายทอดให้คนในชุมชน เป็นการนำทักษะหรือภูมิปัญญามาต่อยอดให้เกิดประโยชน์”

ก่อนจะมาเป็นอาชีพทำผ้าบาติกในเทศบาลตำบลปริก สุริยาเล่าว่า ชุมชนมีความสนใจ และให้ความร่วมมือกับเทศบาลทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม เช่นเดียวกับการทำผ้าบาติก ที่เริ่มจากการพูดคุย ช่วยกันคิดหาแนวทาง ที่จะทำให้กลุ่มอยู่รอดอย่างยั่งยืน จะเรียกว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ด้านอาชีพก็ได้ หากมีเป้าหมายว่าจะลงมือทำกันอย่างจริงจัง จะช่วยสร้างรายได้ไม่น้อย

ด้วยพลังสามัคคี และความเชื่อมั่นในผู้นำ ทุกคนทำงานกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง ผลตอบรับที่ได้ก็คือ ออเดอร์ผ้าบาติกเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทั้งการสนับสนุนจากคนในพื้นที่เอง รวมถึงจังหวัดสงขลา บางช่วงได้รับออเดอร์ถึงขนาดผลิตไม่ทันกันทีเดียว

สำหรับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักในพื้นที่ เทศบาลได้ส่งเสริมการหารายได้อีกช่องทาง ด้วยการจัดตั้งโครงการ ‘คนปริก มีกิน มีใช้ อยู่ได้ด้วยความพอเพียง’ อาทิ ส่งเสริมให้เลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อเก็บน้ำผึ้งขาย การทำขนมแปรรูปจากกล้วยหิน หรือ บานาน่า สโตนส์ การปลูกผักยกแคร่ เป็นต้น

ดูแลคุณภาพชีวิตทุกกลุ่มทุกวัย

‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ คือความตั้งใจของนายกเทศมนตรีตำบลปริก เพราะมีการดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ คนป่วย คนพิการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ และคนที่ติดบ้านติดเตียง เขาพยายามช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้ 

เทศบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยือน ติดตาม และตรวจสุขภาพเป็นระยะ ผู้พิการที่มีอยู่ 158 คน ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องครบทุกคน พร้อมกับสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ มีอยู่ 15 ครอบครัว ที่เราต่อยอดกิจกรรมที่เขาเคยทำอยู่เดิม ใครที่ค้าขาย เทศบาลก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาเงินลงทุนให้

แม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ตระเวนไปในทุกบ้าน ก็ล้วนเป็นนักบริบาลที่ผ่านหลักสูตรอบรม 420 ชั่วโมง จำนวน 13 คน ทุกคนมีความตั้งใจจริง มีใจรักที่จะดูแลผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ จากเดิมที่มีกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องอยู่ติดบ้านติดเตียง 47 คน เมื่อได้กายภาพบำบัด ดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ปัจจุบันรักษาตัวจนหายดีแล้ว 30 คน

“ต้องยกให้เป็นผลงานของนักบริบาล อีกส่วนหนึ่งคือ ได้รับการสนับสนุนภายใต้กองทุนผู้พึ่งพิงระยะยาว (Long Term Care) ซึ่งได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  

จัดการขยะให้ถูกทาง สร้างพลังงานทดแทน

เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม นายกฯ นักพัฒนา ก็มีแนวทางจัดการได้อย่างน่าชื่นชม โดยมีการจัดการขยะ 3 ระดับ ระดับแรกเป็นการจัดการที่ต้นทาง ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจการคัดแยกขยะ

“เมื่อทุกคนรู้จักแยกขยะได้แล้ว จึงได้จัดตั้งกองทุนขยะมีบุญในมัสยิด เพื่อนำขยะที่ยังมีมูลค่าอยู่ไปขาย เป็นการจัดการขยะที่กลางทาง นอกจากนี้ ยังมีขยะอินทรีย์หรือขยะเปียก ที่สามารถแปรรูปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดปริมาณขยะออกสู่สาธารณะได้”

แหล่งการจัดการขยะที่ปลายทาง อยู่ที่ศูนย์การจัดการขยะ หรือศูนย์จัดการสิ่งแวดล้อม ในลักษณะ ‘ศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง’ ซึ่งสุริยาเล่าว่า บริเวณที่ตั้งศูนย์ แต่เดิมเป็นบ่อขยะขนาดใหญ่ ก่อนถูกปรับพื้นที่ ถมดิน เพื่อทำเป็นแปลงสาธิตการปลูกผักการเกษตร

            ปัญหาขยะเป็นดัชนีตามตัว ยิ่งประชากรมาก ขยะก็จะเพิ่มขึ้นตาม แต่ถ้าสามารถจัดการก่อนได้ ก็จะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ เรื่องการจัดการตั้งแต่ต้นทางถือเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงที่เริ่มจัดการขยะในระยะแรก ได้เชิญชาวบ้านมาล้อมวงพูดคุยกัน นำขยะที่ชาวบ้านทิ้งในถังมาเทให้ดู คัดขยะที่สามารถรีไซเคิลหรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ อย่างเช่นขวดพลาสติก ทุกคนก็จะเรียนรู้ได้เองว่า ต่อไปถ้าจะทิ้งควรเลือกทิ้งขยะที่ไม่จำเป็นจริงๆ”

ผลตอบรับนั้นเป็นไปตามที่คาด จากเดิมที่ตำบลปริกมีปริมาณขยะ 10 ตันต่อวัน แต่เมื่อมีการจัดการขยะแล้ว ทำให้เหลือขยะเพียงวันละ 5 ตัน

นายกเทศมนตรีตำบลปริก ยังได้นำพลังงานแสงแดดมาผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับใช้ในพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ฯ ตอบโจทย์เรื่องการส่งเสริมการเลือกใช้พลังงานสะอาด ทำโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตน้ำประปา ช่วยลดรายจ่ายของคนในชุมชน และยังนำไปต่อยอดได้อีกหลายอย่าง เช่น การพัฒนาองค์ความรู้ชุดความรู้ตามหลักสูตรบวกสี่ ในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ เด็กนักเรียนได้รับการฝึกให้ประกอบแผงโซลาร์เซลล์ เรียกว่าไฟฟ้าที่มีใช้ตามถนน และในโรงเรียน มาจากฝีมือน้องๆ นี่เอง

3 พลังสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อชุมชน

นายกเทศมนตรีนักพัฒนา กล่าวย้ำว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเทศบาลตำบลปริก มีจุดเริ่มต้นจากการประยุกต์ทฤษฎีระเบิดจากข้างในของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เรื่องการพัฒนาคน ด้วยการเตรียมความพร้อมบุคลากรของเทศบาลให้รับรู้และเข้าใจในบทบาทหน้าที่การเป็นบริกรสังคม ก็คือการทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน

“เทศบาลตำบลปริกแบ่งกลุ่มคนทำงานออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งได้แก่ผู้อำนวยการกอง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานมาอย่างยาวนาน กลุ่มที่สองเรียกว่าพี่หนุนพี่นำ เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับกลาง ทำหน้าที่รับนโยบายจากผู้บริหาร ผู้อำนวยการกอง ไปสู่การปฏิบัติลงมือทำงาน กลุ่มสุดท้ายเป็นพนักงานจ้าง  ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เราเรียกว่า ภูมิปุตรา ทั้งหมดรวมกันเป็น 3 พลังช่วยกันขับเคลื่อนพัฒนาองค์กรของเทศบาล เพื่อเป็นองค์กรที่ให้บริการที่ดีแก่พี่น้องประชาชน”

สำหรับหลักคิดในการบริหารจัดการท้องถิ่น เขาอธิบายว่า มีหลักคิดกว้างๆ 2 ประการ ประการแรกเป็นการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ใช้ความรู้เป็นเครื่องมือนำการเปลี่ยนแปลง และสร้างสมดุลการเปลี่ยนแปลงที่มีทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปในแนวโน้มในระดับโลก ก็คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งใน 17 ข้อของเป้าหมาย เทศบาลตำบลปริกได้นำมาปรับใช้กับนโยบายการทำงานแต่ละด้านที่มีอยู่

“อีกส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ มาจากการได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณ ทั้งงบอุดหนุนเฉพาะกิจ และงบอุดหนุนตามรายหัว แม้จะไม่เพียงพอ ต้องมาช่วยกันคิดต่อว่า จะหาแหล่งทุนหรืองบประมาณจากไหน หรือหาผู้สนับสนุนงบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น

“อย่างไรก็ตาม คิดว่า การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน จะต้องให้ความสำคัญเรื่องการอยู่ร่วมกันทางสังคม คน 3 วัยต้องมีพื้นที่ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หรือมาทำกิจกรรมด้วยกัน เรียกว่าศูนย์สามวัย หรือสวนสนุกปริก ทำให้เกิดมีความสนุก มีกิจกรรมเรียนรู้กันไป ก่อเกิดเป็นกัลยาณมิตรในชุมชน อีกทั้งตอบโจทย์วิสัยทัศน์ของเทศบาลทั้งหมดได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประชาสังคมสันติสุข”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image