‘เอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ’ นายกเล็กเมืองสุพรรณ เปิดภารกิจ 4 แนวทางขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ยั่งยืน

ถ้าพูดถึงจังหวัดที่เป็นเมืองหน้าด่าน และเป็นหนึ่งในเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำเกษตรกรรม อย่าง ‘สุพรรณบุรี’ หลายคนคงนึกถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างโดดเด่น ถนนเกือบทุกเส้นสร้างได้มาตรฐานและดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย 

ในความเป็นจริงแล้ว สุพรรณบุรีมีการพัฒนามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหลังจาก ‘พี่เบิร์ด-เอกพันธุ์ อินทร์ใจเอื้อ’ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน จากการทำงานอย่างให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมระหว่างท้องถิ่นกับภาคประชาชนมาตลอด

มุ่งมั่นขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

Advertisement

“สุพรรรณบุรีเป็นเมืองเล็กๆ ของภาคกลาง ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 100 กิโลเมตร มีแม่น้ำไหลผ่านตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทำให้ที่นี่เป็นดินแดนแห่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ในการทำงานของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีนั้น ดูแลทั้งหมด 16 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 9.013 ตารางกิโลเมตร มีทั้งผู้ประกอบอาชีพค้าขาย รับราชการ และเกษตรกร ที่นี่จึงเป็นทั้งแหล่งประวัติศาสตร์และแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่ สถานที่ท่องเที่ยวก็มีมากมาย และเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี”

เอกพันธุ์อธิบายถึงแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนด้วยการมุ่งเน้นให้ความสำคัญ 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ ‘สิ่งแวดล้อม’ เพราะภาวะโลกร้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้น ส่งผลกระทบในหลายด้าน เรื่องที่สองเป็น ‘การจัดการการศึกษา’ เขาบอกว่า เด็กเทศบาลได้รับโอกาสค่อนข้างน้อย จึงต้องดูแลเด็กๆ กลุ่มนี้เป็นพิเศษ

เรื่องที่สาม ‘ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน’โดยการทำโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ เรื่องสุดท้ายคือ  ‘การส่งเสริมอาชีพ’ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จาก  2-3 โครงการที่ทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดในระยะเวลากว่า 20 ปี 

Advertisement

เขาย้ำว่า ทั้งหมดนี้คือบริบทที่อยู่นอกเหนือหน้าที่ของเทศบาล เพราะไม่ต้องการดูแลเพียงน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก

แปรขยะเป็นทรัพย์สิน แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

“จากที่คุยกันว่าหนึ่งในภารกิจของเทศบาลคือการจัดการขยะ เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างมากในด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ขยะติดเชื้อ และศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจร โดยแบ่งการบริหารจัดการขยะออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นคลัสเตอร์ที่ 5 ที่ดำเนินการกำจัดขยะทั่วไป อีกส่วนคือขยะติดเชื้อ ที่นี่มีโรงกำจัดขยะติดเชื้อถึง 2 แห่ง แห่งที่ 2 สร้างเสร็จตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงพีคของโควิดรอบ 3 มีกำลังการเผาชั่วโมงละ 50 กิโลกรัม ตกวันละ 3 ตันเศษ”

สำหรับขยะทั่วไป เอกพันธุ์บอกว่า เริ่มมองเห็นปัญหามาหลายปีแล้ว หากต้องการให้บ่อขยะใช้ได้นานขึ้น มีวิธีการเดียว ต้องลดปริมาณขยะ จึงได้ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน มีความร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อเชิญชุมชน หน่วยงานของรัฐ-เอกชน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มารับรู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือในการที่จะให้ทุกคนช่วยกันคัดแยกขยะ

เพียง 2 ปีนับจากวันแรกที่ลงมือทำ ขยะก็ลดลงจากวันละ 50-55 ตัน เหลือเพียง 30-33 ตันจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งของขยะที่หายไป สามารถแปลงเป็นรายได้ให้คนในพื้นที่ จากการคัดแยกขยะผ่านกระบวนการ 4 แยก เริ่มจากขยะในครัวเรือน คัดขยะชิ้นที่สร้างมูลค่าได้ขึ้นมา แยกที่ 2 คัดโดยผู้ประกอบการค้าของเก่าหรือซาเล้ง

แยกที่ 3 เจ้าหน้าที่เทศบาลซึ่งรวบรวมขยะจากแต่ละที่ จะแยกขยะชิ้นที่ทำให้มีรายได้ ก่อนจะนำส่งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ ชั่งน้ำหนักก่อนนำลงบ่อขยะ มาถึงแยกที่ 4 ก็คือ พี่น้องประชาชนกลุ่มที่มีรายได้น้อย ขอมาเก็บของเก่าในบ่อขยะที่เขาคิดว่าขายได้

เอกพันธุ์ยังได้ส่งเสริมให้น้องๆ นักเรียนรู้จักการทำธนาคารขยะในโรงเรียน รวมถึงธนาคารขยะของชุมชน มีโครงการขยะแลกไข่ โครงการทอดผ้าป่าขยะเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส

สร้างโอกาสการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ

เทศบาลเมืองสุพรรณบุรีมีโรงเรียน 4 แห่ง และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 ศูนย์ มีเด็กนักเรียนรวมทั้งหมด 3,000 คนเศษ โดยเทศบาลมีการจัดการที่เกี่ยวกับการศึกษา 2 เรื่อง ได้แก่ การสร้างโอกาสแก่เด็กนักเรียน และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพราะเป็นการให้โอกาส ยกตัวอย่างโรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนในลักษณะพิเศษ ดูศักยภาพของเด็กเป็นสำคัญ คัดเลือกเด็กจำนวนหนึ่งมาเล่นกีฬาวอลเล่ย์บอล เพราะต้องยอมรับว่าพื้นฐานของเด็กที่มาเรียนโรงเรียนในสังกัดเทศบาล ส่วนใหญ่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน จึงอยากให้โอกาสเด็กๆ เหล่านี้ให้มากที่สุดโดยผ่านโครงการ ‘ปั้นดินให้เป็นดาว’ เพื่อให้มีโอกาสเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา”

นายกฯ คนเก่งเมืองสุพรรณฯ เล่าอย่างภูมิใจว่า โรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส เพิ่มการเรียนการสอนจนถึงระดับมัธยมปลายจนจบไปแล้ว 3 รุ่น ช่วยให้น้องๆ ที่เรียนจบมัธยม 6 ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาทุกคน

“สำหรับโรงเรียนเทศบาล 1 วัดประตูสาร เน้นด้านศิลปวัฒนธรรม ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและของจังหวัดสุพรรณบุรี โรงเรียนอีกแห่งคือโรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง จัดการศึกษาในแบบเรียนรวม มีการรับเด็กพิเศษต่างๆ เข้าเรียนรวมกับเด็กปกติ ทำให้ได้รับรางวัลจากสถาบันพระปกเกล้าในประเภทการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

เขาบอกว่า ต้องทำให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เข้าใจและยอมรับในการเรียนรวมกันระหว่างเด็กปกติกับเด็กพิเศษ ทำให้เด็กๆ มีความเอื้ออาทรกัน นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีการจัดการศึกษารูปแบบอิงลิช โปรแกรม โดยได้รับความร่วมมือจากบรรดาศิษย์เก่า จึงไม่ต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง ทำให้นักเรียนมีคุณภาพเทียบเท่านักเรียนในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

โรงเรียนเทศบาล 4 วัดศรีบัวบาน ก็เป็นอีกโรงเรียนที่พัฒนาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เน้นด้านวิชาการ ปีนี้เป็นปีการศึกษาแรกที่มีอิงลิช โปรแกรม โดยโรงเรียนได้ทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีคุณครูชาวแคนาดามาสอน

“เพราะการศึกษาไม่ได้ลงมือทำวันนี้ แล้วพรุ่งนี้ก็เห็นผล แต่ต้องใช้เวลา 10-15 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน แต่เราต้องอดทน” เขาย้ำ

อีกความภาคภูมิใจของการพัฒนาการศึกษาทั้งในด้านหลักสูตรและกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมทางด้านกีฬาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีคุณภาพและสามารถใช้การกีฬาพัฒนาไปสู่อาชีพ ตัวอย่างแห่งความสำเร็จก็คือ ศิษย์เก่าของโรงเรียนเทศบาล 3 วัดไชนาวาส ชัชชุอร โมกศรี’ นักกีฬาลูกตบหญิงทีมชาติไทย ซึ่งฉายแววโดดเด่นความสามารถทางด้านกีฬา จนได้รับคัดเลือกเข้าในโครงการส่งเสริมความสามารถพิเศษทางด้านกีฬาของกองการศึกษา เทศบาลเมืองสุพรรณบุรี โดยทางโรงเรียนได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันในรายการวอลเลย์บอลทั้งระดับกีฬาท้องถิ่น ระดับภาค ระดับประเทศ อย่างต่อเนื่อง เธอยังได้กลายมาเป็นไอดอลและแรงบันดาลใจในการฝึกซ้อมแก่น้องๆ อีกด้วย

แม้แต่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดปราสาททอง ก็มีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีถึง 2 ท่านเป็นศิษย์เก่าของที่นี่

ใส่ใจสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน

ใครมีโอกาสเยี่ยมชมห้องแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดของเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีคงแปลกใจกับจำนวนจอที่มีเยอะ เนื่องจากมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเกือบ 400 ตัวใน 16 ชุมชน นายกฯ เมืองสุพรรณบุรี เล่าถึงเหตุผลที่ต้องติดตั้งจำนวนมาก เพราะมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่สู้ดี จนมีคดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น

“ถ้าปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว การที่จะดูแลพี่น้องประชาชนก็อาจทำได้ยากขึ้น จึงได้เสนอปัญหาดังกล่าวผ่านคณะกรรมการชุมชนพร้อมกับทำประชาคม ได้ฟังเสียงจากประชาชนว่าต้องการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อช่วยกันดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน”

เป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างสถานีตำรวจภูธร เมืองสุพรรณบุรี กับเทศบาล ในการทำโครงการ ‘Smart Safety Zone 4.0’ ใน 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนตลาดใหม่ กับชุมชนพระพันวษา ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของเทศบาล โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กล้องวงจรปิดของเทศบาล ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจตามจุดต่างๆ และในอนาคตจะมีการติดตั้งจุดแจ้งเหตุ วางตามพื้นที่ต่างๆ ในเขตเทศบาล หากมีเหตุด่วนเหตุร้ายสามารถแจ้งได้ทันที

แม้เศรษฐกิจไม่เป็นใจ แต่คุณภาพชีวิตประชาชนต้องดี 

จากผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจ เรื่องของปากท้องประชาชนจึงเป็นอีกเรื่องที่เอกพันธุ์พัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

“มาคิดว่า จะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่โควิดก็มาซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็เลยทำหลาย โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาชีพใหม่ๆ การสนับสนุนงบประมาณในการเรียนการสอนวิชาชีพแต่งผม-เสริมสวย และสตรีทฟู้ด เพื่อส่งเสริมให้ร้านอาหารแผงลอยมีพื้นที่ขายเพิ่มขึ้น

“เราจุดประกายมาจากนายกสมาคมเสริมสวยสุพรรณบุรีที่มีแนวคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีช่างตัดผมกลุ่มหนึ่งเปิดร้านเพื่อสอนผู้ที่สนใจอยากทำอาชีพนี้ แล้วก็มาหารือกับอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีซึ่งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน แต่ติดขัดเรื่องพื้นที่สำหรับสอนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก่อนจะมาขอใช้พื้นที่ของเทศบาล ปัจจุบันสอนจบไปแล้วเกือบ 60 รุ่น จำนวนนักเรียนประมาณ 2,000 คน มีทั้งคนจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง”

เอกพันธุ์ให้ความเห็นว่า ช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คนตกงานมากมาย แต่อาชีพช่างตัดผมก็ยังอยู่ได้ เพราะอย่างไรคนก็ต้องตัดผม คุณครูที่สอนก็จบมาจากโรงเรียนเสริมสวยชื่อดังในกรุงเทพฯ มาช่วยกันถ่ายทอดวิชาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ทุกวันนี้ช่างตัดผมกว่า 80% ในเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีล้วนเรียนจบมาจากสมาคมทั้งนั้น

“เทศบาลยังส่งเสริมชมรมร้านอาหาร สมาคมแผงลอย ในรูปแบบของการจัดงานมหกรรมอาหารอร่อยและของดีเมืองสุพรรณ เนื่องมาจากปี 2540 จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ การจัดการสุขาภิบาลอาหารจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องให้ความรู้ร้านอาหาร-แผงลอย จึงถือโอกาสจัดงานนี้เป็นครั้งแรกในปี 2542 และจัดต่อเนื่องทุกปี สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดได้อย่างมาก”

ให้ความสำคัญทั้งนอกบ้านและในบ้าน

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน การขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ต้องเตรียมพร้อมทั้งนอกบ้านและในบ้าน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี จึงเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญ มีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น หรือโครงการต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานนำเสนอเข้ามา

“เรื่องของการบริการพี่น้องประชาชน มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการชำระภาษีต่างๆ หรือแจ้งเหตุ-ร้องเรียน เช่น ไฟฟ้าดับ สามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา การแก้ไขปัญหาให้พื้นที่ต้องพิจารณาจากหลายมิติ ดูปัญหาในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร จะต้องดูงบประมาณเพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหา แล้วจึงจะมาเป็นแผนพัฒนา หรือแผนดำเนินการประจำปี หรือแผนระยะยาว 5 ปี”

“ในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้น แผนงานที่วางไว้ อำนาจหน้าที่ แม้แต่คนที่จะเข้ามาร่วมมือกับเทศบาล จะต้องทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพนักงานเทศบาล พี่น้องประชาชน แม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อคืนประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่”

นายกฯ เมืองสุพรรณบุรี เผยถึงแผนงานที่จะพัฒนาต่อยอดอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเตาเผาขยะติดเชื้อ การติดตั้งกล้องวงจรปิดก็จะทำให้ครอบคลุมยิ่งกว่านี้ และการป้องกันอุทกภัยที่ยังเป็นเพียงการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้

“ปัญหาของเทศบาลมีอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่เป็นด่านหน้า จึงใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ในการทำงานจึงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราพร้อมลงมือทำ เพียงติดขัดด้วยเรื่องระเบียบข้อกฎหมาย นับเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งในการทำงาน ต้องฝากถึงส่วนกลางให้เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจ”

“เทศบาลคือด่านหน้าที่จะพบพี่น้องประชาชน หากทุกองคาพยพของเทศบาลมีความพร้อม เราสามารถดูแลพี่น้องประชาชนซึ่งฝากความหวังไว้กับท้องถิ่นเป็นลำดับแรก หากส่วนกลางกระจายอำนาจ แก้ไขกฎหมายระเบียบที่ยังล้าหลัง และให้อิสระกับท้องถิ่นในบริบทของแต่ละพื้นที่ จะช่วยทำให้ท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้มากกว่านี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image