‘ณรงค์ชัย คุณปลื้ม’ คนเปลี่ยน ‘เมืองแสนสุข’ สู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ คู่การพัฒนาท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

คนเปลี่ยนเมือง EP นี้ จะพาไปย้อนรำลึกบรรยากาศของชายทะเลยอดฮิตใกล้กรุงเทพฯ จากที่เคยเฟื่องฟูในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อน ไม่ว่าใครก็ต้องเคยไปพักผ่อนเล่นน้ำทะเลพร้อมห่วงยางที่ ‘บางแสน’ ก่อนจะกลายมาเป็นชายหาดที่นักท่องเที่ยวเมิน เพราะเต็มไปด้วยขยะ ร้านค้าก็ขายของกันแบบไร้ระเบียบ 

ล่าสุดกับการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องบอกว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่สำคัญคือน่าเที่ยวยิ่งกว่าเดิม โดยผู้ที่เนรมิตให้บางแสนกลายเป็นชายหาดที่สะอาด เต็มไปด้วยบรรยากาศชวนน่าพักผ่อนหย่อนใจ ขณะเดียวกันก็ยังคงเสน่ห์ของสตรีทฟู้ดริมหาด พร้อมกับร่มและเตียงผ้าใบสารพัดสีอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นผลงานของผู้บริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่ ‘ณรงค์ชัย คุณปลื้ม’ ซึ่งได้รับความไว้วางใจ ให้นั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี จนถึงปีนี้เป็นปีที่ 14 แล้ว

รักษาสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

Advertisement

ณรงค์ชัย หรือ ‘นายกตุ้ย’ ย้อนถึงความสำเร็จของการพลิกโฉมบางแสนว่า ด้วยความที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน จึงคิดแก้ปัญหาจากเพนพอยต์ มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค ก็มาคิดว่าจะนำอุปสรรคเหล่านี้มาทำให้เป็นนโยบาย และแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง

“ปัญหาที่ทุกคนพูดถึงบางแสนคือความแออัด ขยะ และความไม่เป็นระเบียบของพ่อค้าแม่ค้า ชายหาดไม่มีพื้นที่โล่ง จึงเริ่มจากการจัดระเบียบให้ชัดเจน แยกผู้ประกอบการบนชายหาด 8-9 กลุ่ม ออกมาเป็นหมวดหมู่ เช่น ร้านขายไก่ย่าง ให้เช่าเตียงผ้าใบ เช่าจักรยาน ฯลฯ แล้วก็เข้าไปบริหารจัดการในแต่ละหมวดหมู่ จนความแออัดหายไปบ้างเป็นบางจุด เพื่อคืนพื้นที่โล่งๆ ให้นักท่องเที่ยว พร้อมกับอนุรักษ์และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

ในอดีต ปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ เขาพยายามให้อาชีพคนในพื้นที่ ด้วยการแบ่งสันปันส่วนสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้าน โดยมีเทศบาลทำหน้าที่กำกับดูแลให้อยู่ในระเบียบ มาในระยะหลังมีการเพิ่มสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับชายหาดบางแสนให้มีความเป็นมาตรฐานอย่างดีที่สุด

Advertisement

“บางคนมองว่า แค่เรื่องบริหารจัดการชายหาดทำไมถึงยาก ในความเป็นจริงแล้วมีหลายองค์ประกอบและภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคนในพื้นที่ เรื่องนี้กำหนดไว้ตั้งแต่ยุคคุณพ่อ (นายสมชาย คุณปลื้ม) ผู้ที่จะมาประกอบอาชีพที่บางแสนได้ ต้องเป็นคนในพื้นที่เท่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่ในจังหวัดชลบุรี เพราะจะมีความรู้สึกรักและหวงแหนบ้านของตัวเอง ทำให้การพูดคุยแก้ปัญหาง่ายขึ้น”

ปัญหาที่หนีไม่พ้นของสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จำนวนมากก็คือขยะ นายกตุ้ยให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่องขยะไม่มีวันจบ หากต้นตอไม่ได้รับการแก้ไข

“ขยะในบางแสนมีทั้งมาจากทะเลวันละ 3-5 ตัน ด้วยลักษณะทางกายภาพพื้นที่ชายหาดกว้าง และเป็นโค้งกระทะ จึงรับขยะมาจากทุกที่ อีกประเภทคือขยะจากการท่องเที่ยว มีถังขยะวางไว้บริการ แต่ไม่นำขยะไปทิ้งในถัง เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกรักธรรมชาติ”

จุดพลุงานวิ่งมาราธอน สู่ ‘Sport City’

ผลจากการปรับปรุงพื้นที่ชายหาดบางแสน ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลมาท่องเที่ยวถึงปีละ 2 ล้านคน โซนที่เป็นชายหาดตั้งแต่วงเวียนจนสุดหาดมีพื้นที่ประมาณ 2.3 กิโลเมตร มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นคนไทย เนื่องจากลักษณะของชายหาดไม่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ณรงค์ชัยมองว่า ความเป็นโลคัลในแบบไทยๆ น่าจะดึงดูดชาวต่างชาติได้

ประกอบกับในเวลานั้น เมืองแสนสุขตั้งเป้าหมายเป็น ‘Healthy City’ จึงเป็นที่มาของการจัดแข่งขันวิ่งมาราธอน ‘บางแสน21’ เป็นอีเวนต์แรกเมื่อปี 2558 ซึ่งนอกจากส่งผลให้คนไทยได้รู้จักกับภาพลักษณ์ใหม่ของบางแสนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยังได้รับการโหวตจากเหล่านักวิ่งว่า เป็นงานวิ่งที่ดีที่สุดในประเทศไทย

    “ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลงานเฉพาะเทศบาลเมืองแสนสุข แต่มาจากผู้จัด ก็คือ บริษัท ไมซ์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ทั้งยังเป็นผู้จุดประกายให้ ‘บางแสน21’ เป็นรายการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนรายการเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับรองมาตรฐานระดับโลก World Athletics Elite (Gold) Label Road Race จากสมาพันธ์กรีฑานานาชาติ และเป็น Top 5 งานวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ดีที่สุดในเอเชียอีกด้วย”

    ไม่ได้มีเพียงงานแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอนระดับโลกเท่านั้น แต่ยังมีการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ ‘บางแสน กรังปรีซ์’ ผ่านการรับรอง FIA Grade 3 อย่างเต็มตัว เทียบเท่ากับการแข่งขันที่สนามมาเก๊า จัดมาอย่างต่อเนื่องกว่าสิบปี จนถึงการแข่งขันไตรกีฬาก็ได้แบรนด์ IRONMAN มาใช้ เรียกว่าเป็นมาตรฐานโลกทั้งหมด

    “ภูมิใจมาก จากเมืองรองในอดีต วันนี้กลายเป็นเมืองชั้นนำด้าน Export Tourism City แม้จะส่งผลกระทบเวลาที่จัดงานแล้วต้องปิดถนน แต่พี่น้องชาวเมืองแสนสุขเข้าใจดีว่า ช่วยระดมเม็ดเงินเข้ามาในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล ที่สำคัญคือวันนี้เราสามารถยกระดับเมืองด้านการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัดเจน”

จับเทคโนโลยีพัฒนา ‘SAENSUK SMART CITY’ 

    นับเป็นความโชคดีของคนในพื้นที่ ที่มีนายกเล็กผู้มีวิสัยทัศน์ดีเยี่ยม สามารถบริหารจัดการเมืองจากสภาพหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่จึงได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์แบบ

    ณรงค์ชัยเล่าว่า ช่วงที่เขาเริ่มเป็นผู้บริหารท้องถิ่น คำว่า ‘Smart City’ หรือ  ‘เมืองอัจฉริยะ’ เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้ว ประกอบกับไปดูงานด้าน Smart Security ที่ประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นการดูแลพื้นที่และการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ ประเทศไทยเองก็เตรียมขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีจากการประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ยังมองไม่เห็นว่าท้องถิ่นอย่างเทศบาลจะทำ Smart City ได้อย่างไร เพราะมีอำนาจหน้าที่ไม่มากนัก

    “แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ ได้เห็นความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้มีความคิดว่า ต้องการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุในเทศบาลตำบลแสนสุขที่เริ่มมีมากขึ้น จึงร่วมมือกับหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาระบบ ‘Smart Living’ ช่วยจับความเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุในบ้าน มีการติดตั้งอุปกรณ์และแอปพลิเคชันที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ทันทีในกรณีฉุกเฉิน พัฒนาออกมาหลายเวอร์ชัน

    “ล่าสุดออกแบบดีไวซ์ขนาดเล็ก ห้อยคอได้ มี GPS ในตัว เวลาที่ผู้สูงอายุออกไปข้างนอกแล้วหน้ามืดเป็นลม ก็สามารถกดปุ่มฉุกเฉิน สัญญาณจะส่งผ่านซิมการ์ดเข้าไปที่ศูนย์ดับเพลิงของเทศบาลกับศูนย์ของบริษัทที่ดูแลด้านนี้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า เกิดเหตุจริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปที่เจ้าของเครื่อง ถ้าไม่มีผู้รับ ก็จะแจ้งไปที่ญาติสนิทว่ามีสัญญาณขอความช่วยเหลือมาจากผู้สูงอายุท่านนี้ หากยังติดต่อไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะรีบไปช่วยเหลือ หรือนำรถไปรับตัวเพื่อส่งโรงพยาบาลทันที”

    ณรงค์ชัยกล่าวอย่างภูมิใจว่า ตั้งแต่เริ่มทำเฟสแรก สามารถช่วยชีวิตผู้สูงอายุไปแล้ว 3 ราย ไม่รวมกับเคสผู้ป่วยทั่วไป เช่น หน้ามืด หัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่ออยู่บ้านเพียงลำพังก็หวาดกลัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็รับไปส่งโรงพยาบาลก่อน เพราะไม่รู้ว่าร้ายแรงขนาดไหน

    นอกจากอุปกรณ์ช่วยดูแลผู้สูงอายุแล้ว เทศบาลเมืองแสนสุขยังมี ‘Smart Security’ ติดตั้งเสาอัจฉริยะบริเวณจุดท่องเที่ยว ประกอบไปด้วยระบบ CCTV หรือกล้องวงจรปิดพร้อมเทคโนโลยี AI สามารถตรวจจับการละเมิดความเป็นเขตปลอดบุหรี่และห้ามดื่มแอลกอฮอล์ นอกเหนือไปจากการเป็นกล้องวงจรปิดดูภาพรวมความปลอดภัย เสาอัจฉริยะตัวนี้ยังสามารถวัดค่าอากาศได้ ส่งเสียงผ่านลำโพงได้ เช่น เมื่อเห็นการทำผิดระเบียบ มีบุคคลภายนอกมาเร่ขายของ ก็ส่งเสียงออกมาได้

    “เทศบาลเมืองแสนสุขมีแอปพลิเคชันมาตอบโจทย์ให้ประชาชนทั่วไปที่จะมาใช้บริการ ไม่ว่าจะทำบัตรประชาชน จองคิวสระว่ายน้ำ สนามแบดมินตัน หรืออื่นๆ ที่เทศบาลมีให้บริการ กระทั่งการขอใบอนุญาตต่างๆ การชำระค่าเก็บขยะ นอกจากนี้ เรากำลังนำระบบเทศบาลอัจฉริยะมาใช้ สามารถอนุมัติเรื่องต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ คลิกเป็นลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล การขอรับบริการทุกอย่าง สามารถจองคิวผ่านออนไลน์ได้”

    ในอนาคต เทศบาลเมืองแสนสุขยังมี Smart Environment ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาชุด Smart Kit ตรวจสอบอาหารทะเลที่มีการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลีน เพื่อส่งเสริม Food Safety นอกจากนี้ จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งสัญญาณเตือนหากสภาพน้ำไม่ดี และอีกโครงการก็คือ ‘Smart Mobility’ การจัดการจราจร เนื่องจากบางแสนในวันหยุดจะมีปัญหาการจราจรค่อนข้างหนัก ระบบจะรายงานสภาพการจราจรผ่านแอปพลิเคชัน ถ้าจะมาบางแสนชั่วโมงนี้ การจราจรเป็นอย่างไร ควรใช้เส้นทางไหน มีบริการจอดรถพร้อมรถรับส่งด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

ต้องอาศัยการสนับสนุนภาครัฐ-เดินหน้าให้ความสำคัญทุกมิติ

    หากพูดถึงผลงานความสำเร็จจากการทำงานตลอด 14 ปีว่า มีความพอใจมากน้อยเพียงไหน เขาตอบอย่างถ่อมตัวว่า เพียง ‘ผ่าน’ เพราะน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ มีหลายเรื่องที่เป็นอุปสรรค หรืออาจยังใช้ความพยายามไม่เพียงพอ หรือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้

    “ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น อยากให้ภาครัฐสนับสนุนด้านการกระจายอำนาจหน้าที่ที่จำเป็น และคิดว่าท้องถิ่นสามารถทำได้จริง เพราะในหลายเรื่องมีการรวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลางมากเกินไป ทำให้ท้องถิ่นขาดอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ 

“ยกตัวอย่างปัญหาจากการบูรณาการเรื่อง Smart City ที่เทศบาลเมืองแสนสุขทำมาได้ไกลขนาดนี้ ก็ต้องต่อสู้มาอย่างหนักหน่วง เพราะเราเป็นองค์กรท้องถิ่น อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย  แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเป็น Smart City ก็ต้องทำเรื่องกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่าต้องผ่านหลายด่าน ดังนั้น การจะทำงานได้อย่างราบรื่น ต้องมีการกระจายอำนาจในส่วนที่ท้องถิ่นต้องการใช้ดูแลประชาชนให้มากที่สุด”

นายกคนรุ่นใหม่ยังทิ้งท้ายถึงเรื่องดีๆ ที่เขาจะลงมือทำเพื่อชาวตำบลแสนสุขว่า เมื่อสร้าง Smart City ไปแล้ว ก็ยังจะเดินหน้าพัฒนาต่อไป แต่การดูแลปากท้องประชาชนไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือ การพินิจพิเคราะห์ และการบูรณาการกับหลายฝ่าย 

    “การพัฒนาหลายอย่างจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาเทศบาลเมืองแสนสุข ใช่ว่าจะทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องเป็นเมืองแห่งการศึกษาเพราะมีมหาวิทยาลัยบูรพา ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมเพราะมีธุรกิจประมงพื้นถิ่น ดังนั้น การจะทำให้เมืองเดินหน้าเพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกอาชีพอยู่ดีกินดีมีความสุข จะต้องให้ความสำคัญในทุกมิติ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image