ประเสริฐ บุญประสพ นายกเล็ก ‘นครสุราษฎร์ธานี’ กางแผน ‘9 นคร’ ยกระดับคุณภาพชีวิต-สร้างความสุขให้ประชาชน

‘สุราษฎร์ธานี’ เป็นจังหวัดที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงาม ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกให้มาเยือน แม้ช่วงโควิด-19 การท่องเที่ยวจะซบเซา แต่ปัจจุบันก็ค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมามีลมหายใจอีกครั้ง 

หนึ่งในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ช่วยขับเคลื่อนสุราษฎร์ธานีให้เดินหน้า ควบคู่กับการสร้างเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทุกด้าน คือ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ภายใต้การบริหารของ ประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ที่ชาวบ้านเรียกขานกันติดปากว่า ‘นายกแป๊ะ’ นั่นเอง 

    คนเปลี่ยนเมือง (City Changer) พบนายกเล็กแห่งเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ที่บึงขุนทะเล ตั้งอยู่ในเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ที่นี่โดดเด่นด้วยพื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งสัตว์น้ำและนกนานาชนิด เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวสุราษฎร์ธานี ตกเย็นจะมีประชาชนมาออกกำลังกายกันอย่างคึกคัก ทั้งยังมีกิจกรรมพายเรือคายัค แต่งเติมให้บึงขุนทะเลมีชีวิตชีวามากขึ้น 

ประเสริฐบอกว่า เขากำลังพัฒนาให้บึงขุนทะเลเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วางแผนให้เกาะต่างๆ ของบึงขุนทะเลสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มากางเตนท์ หากทำได้ก็จะเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด

Advertisement

    “ความตั้งใจของผมคือต้องการให้ประชาชนในพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เลยกำหนดเป้าหมายเป็นสโลแกนว่า ‘เพื่อชีวิตที่ดีกว่า จับมือและก้าวไปด้วยกัน’ จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พวกเราชาวเทศบาลเลยทำงานกันอย่างเต็มที่ พัฒนากันสุดความสามารถ” 

เปิดนโยบายพัฒนา ‘9 นคร’ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุราษฎร์ธานี 

Advertisement

    เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเสริฐและทีมงานจึงช่วยกันคิดนโยบายพัฒนา กระทั่งออกมาเป็น ‘9 นคร’ ได้แก่

    นครน่าเที่ยว ต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนาบึงขุนทะเลคือตัวอย่างหนึ่ง รวมทั้งติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อทำการท่องเที่ยวรูปแบบ วัน เดย์ ทริป จัดทริปท่องเที่ยวภายใน 1 วัน เช่น เขาสก, สวนโมกขพลาราม, เขื่อนเชี่ยวหลาน ฯลฯ และต่อไปอาจไปได้ถึงเกาะเต่า โดยใช้สุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลาง 

นครเลิศรส พัฒนาปรับปรุงคุณภาพร้านอาหาร โดยใช้หลักการ ‘คลีน ฟู้ด กู๊ด เทสต์’ เมื่อผ่านตรงนี้ได้ก็เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมาช่วยพัฒนาให้อาหารมีรสชาติน่ารับประทาน ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทางหนึ่ง 

นครสะอาด จัดการภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีให้สวยงาม และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับมาดีดังเดิม 

นครสะดวก พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางคมนาคม และเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมกับพื้นที่ใกล้เคียง

นครสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง จัดบริการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคเชิงรุกในชุมชนและสถานศึกษาอย่างทั่วถึง

นครมีสุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เสริมสร้างองค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสในชุมชน

นครปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นครของโอกาส ส่งเสริมการศึกษาเด็กและเยาวชน โดยพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณแก่สถานศึกษา ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

นครประเพณีดีงาม อนุรักษ์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และเปิดให้เยาวชนได้เรียนรู้ประเพณี ควบคู่กับการร่วมอนุรักษ์ตามทิศทางของสังคม

สร้างโอกาสทางการศึกษา พร้อมเน้น ‘เทคโนโลยี-กรีน เอ็นไวรอนเมนต์’

    ‘การศึกษา’ เป็นเรื่องที่ประเสริฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในปี 2564 จึงเดินหน้าเรื่องนี้อย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมการศึกษาในประเด็นเทคโนโลยี และกรีน เอ็นไวรอนเมนต์ เพราะมองว่า เป็นแนวโน้มสำคัญในโลกอนาคต หากปูทางให้เด็กและเยาวชนแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยเสริมความแกร่งได้เร็วขึ้น 

    ประเสริฐพาไปเยี่ยมชมโรงเรียนเทศบาล 3 (ตลาดล่าง) พร้อมเล่าให้ฟังว่า นักเรียนส่วนใหญ่มาจากชุมชนที่ค่อนข้างแออัด คุณครูจึงพยายามหากิจกรรมให้เด็กๆ ทำ เพื่อให้เด็กๆ ค้นพบความชอบหรือศักยภาพของตัวเอง เป็นการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ 

    “โรงเรียนเทศบาล 3 จัดกิจกรรมและหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านอาชีพหลายอย่าง ให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความถนัด อย่าง ดนตรีไทย ดนตรีสากล รำไทย การทำอาหาร เสริมสวย ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เป็นต้น รวมทั้งมีกิจกรรมเต้น ซึ่งนักเรียนได้เข้าร่วมการประกวดเต้นในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน และได้รางวัลเป็นประจำ เทศบาลจึงต่อยอดเป็นโครงการ Summer to the Wold ให้เด็กๆ ไปร่วมการแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับโลกกลับมาได้ สร้างความภูมิใจให้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก” ประเสริฐบอกด้วยความภาคภูมิใจ 

    ช่วงโควิด-19 เด็กหลายคนมีปัญหาการเรียนออนไลน์ เพราะอุปกรณ์ไม่พอ ประเสริฐจึงปรึกษาทีมงาน เพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว และเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนได้ในระยะยาว จึงออกมาเป็นหลักสูตรวิชาโค้ดดิ้ง (Coding) เติมเข้าไปในชั้นเรียน ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 และจัดหาคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แทบเล็ต ส่วนกลาง ให้เด็กๆ ใช้เรียน จากนั้นจะได้เรียนภาษาสแครทช์ (Scratch) และภาษาไพธอน (Python) ตามชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป

    “เรื่องเทคโนโลยี และกรีน เอ็นไวรอนเมนต์ เรานำเสนอในทุกโรงเรียนของเทศบาล ถ้าถามผม เงินส่วนหนึ่งนำไปซ่อมถนน กับเอาเงินมาให้เด็กเรียนหนังสือ ผมยอมโดนด่าว่าเอาเงินมาให้เด็กเรียนหนังสือก่อน

    “ตอนนี้ผลสัมฤทธิ์ที่เราทำยังไม่ออก เพราะเริ่มไปได้เพียงปีกว่า และเราเริ่มที่ ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4 รออีก 3 ปีก็จะได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ได้ชัดเจนขึ้น ผมอยากเห็นเด็กๆ ของเราเติบโตไปมีอาชีพ มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ สมกับเป็น ‘นครของโอกาส’ และผมคิดว่า เรายังได้สร้างโอกาสอื่นๆ ให้เด็กๆ อีกหลายเรื่อง ทั้งกีฬา การประกอบอาชีพพื้นฐาน รวมทั้งภาษาจีน ที่มีในหลักสูตรด้วย” 

ปักหมุดช่วยกลุ่มเปราะบาง

    ความที่ประเสริฐให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี เขาจึงนำเรื่องนี้มาปรับใช้กับการดูแลภาคประชาชนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ขาดโอกาสเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ สอดคล้องกับนโยบาย 9 นคร ในประเด็น ‘นครมีสุข’ 

    เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีมีโครงการ ‘เอกซเรย์ชุมชน (เคาะประตู เยี่ยมบ้าน เยี่ยมใจ)’ ซึ่งประเสริฐย้อนความให้ฟังว่า โครงการนี้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย เช่น กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), ประธานชุมชน โดยมีกองสวัสดิการสังคมเป็นแม่งาน ใช้เทคโนโลยี GPS ปักหมุดที่อยู่ของผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ลงบนกูเกิล แมป เพื่อให้กลุ่มงานอื่นได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกพิกัดและรวดเร็ว 

    “ตัวอย่างเช่น คุณลุงคนหนึ่งที่เราลงพื้นที่สำรวจ ก่อนหน้านี้ไม่มีใครเข้ามาดูแล แต่พอเราปักหมุดแล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ก็ได้เข้ามาดูแล มีหมอมาตรวจ และออกใบรับรองว่าเป็นผู้พิการ ก็ได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนจากรัฐ ทำให้ความช่วยเหลือไปตรงจุดมากขึ้น” 

นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานีบอกอีกว่า ปัจจุบันตัวเลขของกลุ่มเปราะบาง (ผู้ป่วยติดเตียง, ผู้พิการ) ในพื้นที่ มีประมาณ 2,000 คนที่อยู่ในแพลตฟอร์มของเทศบาล ส่วนผู้สูงอายุมีเกือบ 8,000 คน ในอนาคตวางไว้ว่า อยากให้มีรถฉุกเฉิน เมื่อเกิดปัญหาตรงไหนก็ปักหมุด แล้วให้รถฉุกเฉินไปส่งสถานพยาบาลใกล้ๆ 

การนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้จริง ทำให้โครงการเอกซเรย์ชุมชน (เคาะประตู เยี่ยมบ้าน เยี่ยมใจ) ได้รับรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี 2564 สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศ ในระดับยอดเยี่ยม สร้างความภาคภูมิใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง 

เสริมทักษะอาชีพ ปั้นรายได้เข้าชุมชน 

    เรื่องปากท้อง การกินดีอยู่ดี ไม่ว่าใครก็มองข้ามไม่ได้ เช่นเดียวกับนายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ที่สนับสนุนประชาชนให้ฝึกทักษะอาชีพ เสริมรายได้ช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างชุมชนสหกรณ์ครู ที่มีผ้าปาเต๊ะสวยๆ ร้อยลูกปัดสีสันสดใสละลานตา ให้เลือกซื้อเลือกหากันอย่างจุใจ 

เมื่อผู้ซื้อชื่นชอบ สินค้าก็ขายดียิ่งขึ้นจนผลิตแทบไม่ทัน ทั้งยังใช้โลกออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ ช่วยขยายช่องทางการจำหน่าย จนมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

    “จุดเด่นของผ้าปาเต๊ะที่นี่คือสีสันสวยงาม แต่เท่านั้นไม่พอ เพราะเราใส่ลูกปัดเพิ่มเข้าไปให้สวยงามยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และยังนำไปทำเป็นเข็มขัดและกระเป๋าได้ด้วย ใครไปใครมาก็ชอบ ซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝาก ผลิตจนทำไม่ทัน เคล็ดลับคือการเขียนลายสวยๆ จากนั้นอัดแป้ง ต่อมาคือคนร้อยลูกปัด พอร้อยเสร็จก็ออกแบบตัดเย็บ ตามด้วยฝ่ายขาย ฝ่ายการตลาด เท่ากับกระจายรายได้ไปหลายคน

“เรามีฝึกอาชีพสร้างรายได้ ซึ่งกองสวัสดิการส่งเสริมอาชีพเข้ามาช่วยจุดนี้ ที่สำคัญคือสินค้าได้รับการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นนอกจากสวยและมีคุณค่าแล้ว ยังมีคุณภาพและมาตรฐานอีกด้วย” ประเสริฐเล่า

พัฒนาองค์กร สู่การพัฒนานครสุราษฎร์ธานี

    การพัฒนาองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย สำนักงานเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีก็เช่นกัน โดยประเสริฐอธิบายว่า ภายในอาคารทำการหลังใหม่ เน้นการให้บริการประชาชนด้วยแนวคิด ‘สมาร์ท ซิตี้’ ใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดำเนินการ อาทิ นัดหมายผ่านช่องทางออนไลน์ ติดตามเอกสารต่างๆ ด้วยบาร์โค้ด เป็นต้น 

    แม้การพัฒนาเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเดินหน้าไปด้วยดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่นที่ประเสริฐบอกว่า การจัดเก็บภาษี ที่ท้องถิ่นจัดเก็บ 10% ตามคำสั่งรัฐ ทำให้รายได้ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีหายไป 300 ล้านบาท หรือการที่หลายหน่วยงานภาครัฐตัดถนนเข้ามาในพื้นที่เทศบาล ไม่สอดคล้องกับภูมิทัศน์ ทำให้ส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่ หรือการขยายเมือง ฯลฯ

    “พอเมืองโตขึ้น การคมนาคมต้องสะดวกขึ้น ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงสำคัญ เพราะสิ่งที่ผมหวังคือประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อยู่ดีมีสุข มีชีวิตที่ดีกว่า โดยทุกคนต้องจับมือช่วยกัน ทำงานร่วมกัน แก้ไขปัญหาร่วมกัน เป็นความตั้งใจที่ผมอยากทำให้ทุกคนมีความสุข” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image