ถอดรหัสการพัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิต แบบ ‘น้อย วงศ์วิทยานันท์’ นายกเล็ก เทศบาลเมืองปางมะค่า กำแพงเพชร 

เทศบาลเมืองปางมะค่า อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเทศบาลเมืองที่มีอาณาเขตถึง 325 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยชุมชน 24 หมู่บ้าน ต่างทำมาหาเลี้ยงชีพ และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ภายใต้การดูแลของ ‘น้อย วงศ์วิทยานันท์’ นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่า ที่อาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนให้กินดีอยู่ดี พึ่งพาตัวเองได้ มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว

“เดิมที่นี่เป็นเพียงองค์การบริหารส่วนตำบล แต่เนื่องจากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงทำให้งบประมาณที่ได้รับไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเพียงพอ จึงได้มีการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลเมืองตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2555” นายกฯ น้อย เล่าถึงที่มา

ทันที่ที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเทศบาลเมืองปางมะค่า น้อยได้คิดและวางแผนการบริหารจัดการเรื่องใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน หลายเรื่องที่ลงมือทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา สาธารณสุข สังคม การยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การสร้างสรรค์กลุ่มอาชีพ อีกทั้งการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอย่างแก่งเกาะใหญ่ให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้แก่คนในพื้นที่ให้มากขึ้น

จัดการศึกษา พัฒนาศักยภาพเด็กไทย

Advertisement

น้อย ‘นายกเล็ก’ เทศบาลเมืองปางมะค่า กล่าวถึง 4 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการหลัก เริ่มจากเรื่องการจัดการศึกษา มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองปางมะค่าโดยตรง มีโรงเรียนเทศบาลอยู่ในบริเวณเดียวกัน โดยเทศบาลได้จัดเตรียมงบสำหรับอาหารกลางวันน้องๆ และนมกล่อง อีกทั้งรถรับส่งฟรี เพราะต้องการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำไร่ทำนา

“การเรียนการสอนนอกจากเน้นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังได้เพิ่มเติมการเรียนภาษาอื่นๆ ทั้งภาษาจีน ภาษาอังกฤษ รวมถึงหลักสูตรภาษาไทยเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน เพราะสังเกตว่าเด็กไทยทุกวันนี้สะกดคำบางคำไม่เป็น”

การส่งเสริมการเรียนรู้และศักยภาพเด็กไทย ยังเห็นได้อย่างชัดเจนจากโครงการ ‘สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา’ ที่น้อยมุ่งหวังให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เขาพัฒนาสร้างสรรค์จนได้รับรางวัลจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อปี 2562 เขาบอกว่า

Advertisement

 “สนามเด็กเล่นเพื่อให้เด็กได้ออกกำลังกาย สร้างสระน้ำให้ได้รู้ว่าต้องระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้จมน้ำ เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า เวลาอยู่ในน้ำต้องทำอย่างไร มีการสอนการหัดพยุงตัวในน้ำ เป็นต้น ที่ภูมิใจมากเนื่องจากการสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาที่ประสบความสำเร็จนั้น ใช้เพียงเงินงบประมาณบางส่วนของเทศบาล ส่วนที่เหลือได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในพื้นที่ มีวัดและภาคเอกชนเต็มใจร่วมด้วย เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตลูกหลานเช่นเดียวกัน”

พัฒนากลุ่มอาชีพ ทอผ้าใยกล้วยไข่

 นอกเหนือจากเรื่องจัดการการศึกษา น้อยยังให้ความสำคัญเรื่องปากท้องประชาชนด้วยการประกอบสัมมาชีพ อย่าง ‘กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ชุมชนบ้านหนองแสง’ ก็ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมอาชีพ และได้รับความร่วมมือด้านองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร

“การทอผ้ามัดหมี่ของที่นี่จะแตกต่างไปจากที่อื่น เพราะทอมาจากต้นกล้วยไข่ชากังราว วัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร มีเส้นใยที่แข็งแรง เหนียวกว่าต้นกล้วยสายพันธุ์ทั่วไป โดยขั้นตอนการนำเส้นใยออกจากต้น มีกรรมวิธีค่อนข้างยาก ต้องขูดเส้นจากหยวกกล้วยอย่างประณีต มือต้องเบา เพื่อไม่ให้เส้นใยขาด นำมาปั่นผสมกับฝ้าย ทอเป็นด้ายก่อนเป็นผืนผ้า”

น้อยเล่าอย่างภูมิใจว่า ผ้าทอมัดหมี่กล้วยไข่ของชุมชนบ้านหนองแสง ถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ถักทอออกมาเป็นผ้าไทยสีสันสดใสลวดลายสวยงามตามแบบไทยๆ ทั้งลวดลายก็ประยุกต์ดัดแปลงจากความรู้ที่ได้รับ มีทั้งลายกล้วยไข่ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น และลายอื่นๆ ตามความต้องการของตลาด ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการอนุรักษ์การทอผ้าแบบเดิมๆ โดยการใช้กี่ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมผสมผสานกับการอนุรักษ์ไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

“นอกจากผ้าทอแล้ว ยังมีการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์กระเป๋าหลากหลายแบบ จำหน่ายในราคาย่อมเยา ช่วยเพิ่มรายได้ให้กลุ่มแม่บ้านได้อย่างดี โดยเทศบาลได้จัดหาวิทยากรมาแนะนำการขายผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียล วิธีถ่ายภาพสินค้าเพื่อให้น่าสนใจ แต่ต้องให้ความสำคัญด้านคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง”

เพิ่มคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง

เนื่องจากเทศบาลเมืองปางมะค่ามีอาณาบริเวณค่อนข้างมาก จึงมีจำนวนผู้สูงอายุถึงกว่า 3,000 คน และที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงก็มีกว่า 500 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการดูแลคุณภาพชีวิตชุมชนทุกกลุ่ม สร้างความอุ่นใจว่ามีหน่วยงานคอยดูแลและอยู่เคียงข้างไม่ทอดทิ้ง เทศบาลจึงได้ทำงานร่วมกับนักพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่สำรวจอย่างละเอียด เพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง

“จากที่เป็นเพียงผู้สูงอายุทั่วไป เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นก็ทำให้มีสภาพติดเตียง นโยบายของผมคือ หาทางช่วยเหลือให้ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์เซ็นรับรอง จะได้ออกบัตรผู้พิการ ทำให้รับค่าดูแลเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเบี้ยผู้สูงอายุ ช่วยแบ่งเบาภาระลูกหลานได้บ้าง”

การดูแลกลุ่มเปราะบางนั้น นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่าอธิบายว่า จากเดิมเคยขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล มาระยะหลังได้ให้เจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขกับนักพัฒนาชุมชนลงพื้นที่ ทำให้ได้รับรู้ชีวิตความเป็นอยู่ แล้วก็พยายามหาช่องทางช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด เช่น ขอการสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  บางครั้งช่วยกันจัดหาสิ่งของถุงยังชีพโดยไม่ได้ใช้งบเทศบาล แต่ได้จากการเชิญชวนให้คนมาบริจาค เพราะบางคนมีมากก็อยากแบ่งปันให้คนที่มีน้อยกว่า

“เทศบาลส่งคนไปอบรมเป็นนักบริบาลชุมชน เพื่อยกระดับการดูแลด้านสุขภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน นักบริบาลชุมชนเหล่านี้ได้เงินเดือนเพียง 6,000 บาท ต้องดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง แล้วกลับมารายงานผลการทำงาน ช่วงโควิดระบาดก็ยังต้องลงพื้นที่ตามปกติ”

แม้แต่ที่อยู่อาศัยจากเดิมที่มีสภาพไม่น่าอยู่ แต่ได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมชนิดแตกต่างเหมือนไม่ใช่หลังเดียวกัน เขาบอกว่า ต้องขอบคุณผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้าน เพราะเมื่อสำรวจแต่ละหลังแล้ว จะต้องหารือกับผู้ใหญ่บ้านก่อนว่า สามารถขอจิตอาสามาช่วยกันได้หรือไม่ เนื่องจากงบที่ได้เป็นเพียงค่าวัสดุก่อสร้างเท่านั้น เรียกว่าเป็นการร่วมแรงร่วมใจจากคนในพื้นที่อย่างน่ายกย่อง

แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้

    ที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติป่าชุมชนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ นโยบายของนายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่าด้านนี้คือ ต้องการสร้างอาชีพไกด์นำทางให้เด็กนักเรียน โดยการอบรมให้ความรู้ถึงพันธุ์ไม้แต่ละต้น มีการจัดทำโครงการเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติ 

    เขาเล่าถึงสภาพของป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จากเดิมจะมีแห้งแล้งบ้างตามฤดูกาล จนภายหลังได้มีการสร้างฝายมีชีวิต ทำให้ทุกวันนี้มีน้ำค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีจุดบริการบ้านพักและลานกางเต้นท์ จัดพื้นที่สำหรับกิจกรรมรอบกองไฟ พายเรือคายัก พร้อมกับสร้างเส้นทางปั่นจักรยานชมธรรมชาติ

    อีกที่หนึ่งคือแก่งเกาะใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำตำบลปางมะค่า ลักษณะเป็นธารน้ำของลำน้ำแม่วงก์ มีน้ำสะอาดตลอดทั้งปีไหลผ่านลานหินขนาดใหญ่ ผลงานที่เป็นความสำเร็จของน้อย เป็นการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานในสังกัดภาครัฐ เพื่อสร้างบ้านพักจำนวน 2 หลัง นอกจากนี้ยังได้งบประมาณพัฒนาจังหวัด สร้างอาคารเอนกประสงค์ ห้องน้ำ บ้านพักบริเวณด้านใน เมื่อปี 2564 ได้รับเงินสนับสนุนเฉพาะกิจ เพื่อจัดทำแสงไฟฟ้าส่องสว่าง กับสร้างบ้านพักเพิ่มอีก 1 หลัง

บริหารจัดการขยะ ลดปริมาณเกินครึ่ง

ส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ที่สะอาดตาสำหรับเทศบาลเมืองปางมะค่านั้น มาจากการมีจำนวนถังขยะน้อยมาก

“แต่เดิมเทศบาลจัดซื้อถังขยะให้ทุกหมู่บ้าน แต่พอเห็นปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็มาคิดว่า ต้องหาทางแก้ไขตั้งแต่วันนี้ จึงได้มีการระดมสมองหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องขยะร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและผู้นำแต่ละชุมชน  เชิญนายอำเภอมาเป็นประธาน จนได้ข้อตกลง มีการทำเอ็มโอยูร่วมกันจัดการขยะต้นทาง เริ่มจากเก็บถังขยะตามหมู่บ้านห่างไกล มีเหลืออยู่เฉพาะบริเวณชุมชนหนาแน่นเท่านั้น”

น้อยบอกว่า หลังจากเก็บถังขยะแล้ว ก็จัดงบประมาณให้แต่ละหมู่บ้านนำไปจัดอบรมการจัดการขยะต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย รวมเป็น 4 อย่างตามรัฐบาลกำหนด แต่สำหรับเทศบาลเมืองปางมะค่าเพิ่มอีก 1 อย่างเป็นขยะติดเชื้อ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ให้ชาวบ้านทำเป็นถังขยะเปียก

“จากปริมาณขยะวันละ 4-5 ตัน หลังจากอบรมให้ความรู้ไปแล้ว ปริมาณขยะลดลงเกินกว่าครึ่ง มีการคัดตั้งแต่ที่บ้าน พอถึงรถเก็บขยะก็คัดกันอีกรอบ เพราะขยะบางอย่างยังเก็บขายได้ หากใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้จริงๆ จึงกำจัด”

จากที่ได้มีโอกาสศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นว่าถังขยะมีเพียงใบเล็กๆ วางตามย่านร้านค้า มี 3 สี คือ เขียว เหลือง แดง จากการสอบถามกับไกด์จึงได้รู้ว่าที่ญี่ปุ่นมีตารางเก็บขยะ 7 วัน แต่ละบ้านจะเก็บขยะใส่ถุงมาวางไว้ให้ตรงวันเก็บ เขารู้สึกทึ่งว่าชาวญี่ปุ่นมีวินัยในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเก็บขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับนำสิ่งที่พบเห็นมาถ่ายทอดเพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการจัดการขยะในเทศบาลให้ดียิ่งขึ้น

“เป็นอีกเรื่องที่ภูมิใจ เพราะองค์กรท้องถิ่นมักถูกเพ่งเล็งว่า เวลาไปดูงานต่างประเทศเหมือนไปเที่ยว ไม่ได้ความรู้กลับมา เหมือนแค่ไปเที่ยว แต่เราก็ไปเก็บสาระต่างๆ มาปรับใช้ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

ยึดหลักการมีส่วนร่วม กุญแจแห่งความสำเร็จ 

    ตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ 20 ปี ชาวปางมะค่าต่างเห็นถึงความพยายามของนายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่าในการขับเคลื่อนให้ที่นี่เป็นเมืองที่น่าอยู่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

เขาบอกว่า ยึดหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน อย่างเช่นในหมู่บ้าน ต้องให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่เป็นแกนหลัก ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้ได้ เทศบาลเป็นเพียงผู้วางนโยบายเท่านั้น

    “อีกประการคือ เทศบาลเมืองปางมะค่าเป็นเทศบาลไม่ใหญ่ไม่เล็ก การบริหารงานต้องรู้หลักว่า จะลงมือทำงานอย่างไรให้สำเร็จครบทุกจุด เวลานี้เราอยากให้ภาครัฐมาสนับสนุนบางอย่างที่ยังขาด โดยทิศทางในอนาคตจะเน้นหนักเรื่องการศึกษาเป็นอันดับแรก เพราะเป็นพื้นฐานปัจจัยหลักของการพัฒนาประเทศ ต่อมาคือเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุเริ่มเพิ่มมากขึ้น สามคือแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ สี่คือการจัดสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ สุดท้ายคือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image