เปิดแนวคิดนักพัฒนาคนรุ่นใหม่ ‘ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์’ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม

หากมีคำถามว่า คนรุ่นใหม่คือพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเจริญทัดเทียมอารยประเทศได้จริงหรือไม่  ‘เก่ง-ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์’ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ก็คือหนึ่งในบุคคลที่สามารถตอบคำถามนั้น ด้วยการเป็นนักบริหารท้องถิ่นแนวคิดใหม่ วางแผนพัฒนาตอบโจทย์บริบทของเมืองปัจจุบันที่มีผู้คนจำนวนมากอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายทำให้เป็นสังคมน่าอยู่ มีเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และรักษาวัฒนธรรมไว้ได้ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Learning and Happiness City เมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนมีสุข’

ประชากรคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมือง

“ภาคอีสานประกอบไปด้วย 20 จังหวัด มีมหาสารคามเป็นศูนย์กลาง เป็นที่มาของคำว่า ‘ดินแดนแห่งสะดืออีสาน’ รวมถึงชื่อ ‘ตักสิลานคร’ ที่มีความหมายถึงการเป็นเมืองการศึกษาในแขนงต่างๆ โดยในปี 2479 ที่นี่มีโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นแห่งแรกของภาคอีสาน ใครอยากมีอาชีพครูต้องมาเรียนที่นี่ ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งการศึกษาของชาวอีสานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา” 

นายกฯ เก่ง เล่าว่า ปัจจุบันเมืองมหาสารคามมีจำนวนประชากร 45,000-46,000 คน ถ้าเป็นช่วงเปิดเทอมจะมีนักศึกษาโอนย้ายที่อยู่ จำนวนประชากรก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน เพราะมีมหาวิทยาลัยถึง 3 แห่ง อีกทั้งวิทยาลัยพยาบาล นอกจากนี้ก็ยังมีประชากรแฝงอีกประมาณ 20,000 คน ส่วนโรงเรียนภายใต้สังกัดเทศบาลเมืองมีจำนวน 8 แห่ง

Advertisement

ด้วยบริบทของเมืองที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในฐานะนายกเทศมนตรีที่วางไว้ก็คือ ต้องตั้งต้นจากพื้นฐานประชากร ซึ่งส่วนใหญ่ทำพาณิชย์ค้าขายเป็นหลัก เพราะเป็นเมืองที่มีนักศึกษาจำนวนมาก รองลงมาเป็นข้าราชการ อาจารย์ นักวิชาการ สำหรับเกษตรกรนั้นมีจำนวนไม่มาก 

เขาได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 4 ด้าน เริ่มจากการส่งเสริมการศึกษาเป็นหลัก แล้วก็ยังโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าการศึกษาเด่น ใครๆ ก็ต้องสนใจมาเรียนที่นี่ ถือเป็นแม่เหล็กของมหาสารคาม

“เรื่องที่สอง คุณภาพชีวิตต้องดีด้วย คนมาอยู่ที่นี่ต้องปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เรื่องที่สามเป็นการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน ท้ายสุดคือการบริหารจัดการเมือง เทศบาลต้องมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างดีที่สุด”

Advertisement

ปรับโฉมใหม่การศึกษา ได้ไอเดียจากสิงคโปร์

นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคามอธิบายถึงโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลมีทั้งหมด 7 โรงเรียน ล้วนมีความโดดเด่นและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน เช่น ‘โรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคาร’ มุ่งเน้นความพร้อมในการเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย มีการสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการศึกษา 

โรงเรียนอื่นๆ เน้นเรื่องกีฬา ขณะที่บางโรงเรียนชูการรักษาและสืบทอดศิลปวัฒนธรรม หรืออีกโรงเรียนก็มุ่งเน้นการสอนทำธุรกิจเพื่อสร้างเถ้าแก่น้อย เป็นต้น

“การบริหารจัดการโรงเรียนจะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นเลิศ เป็นแนวคิดที่ได้มาจากการทำงานตลอดปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้มาจากลูกชายที่ไปศึกษาต่อสิงคโปร์ ทำให้ได้เห็นความแตกต่างระหว่างระบบการศึกษาไทยกับต่างประเทศ เราจึงได้มาผนวกและประยุกต์ใช้ 

“เรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานของมหาสารคามนั้นมีความต้องการที่แตกต่างกันไป สิ่งที่มองเห็นคือ บางครั้งเด็กไทยยังไม่สามารถค้นหาตัวเองได้ ก็ต้องมีโปรแกรมช่วยพิจารณาตัดสินใจว่าจริงๆ แล้วชอบด้านไหน เรามีนักจิตวิทยามาช่วยทำตรงนี้ ซึ่งกำลังจะเริ่มในเทอมที่ 2 เป็นการค้นหาตัวเองสำหรับน้องๆ นักเรียนที่อยู่ชั้นมัธยม 1-2 ว่ามีความชอบอย่างไร โตขึ้นต้องการเป็นอะไร”

อีกเรื่องที่นายกฯ เก่ง ให้ความสำคัญคือ เทคโนโลยีเบื้องต้นกับภาษาอังกฤษ มีการจ้างครูชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า 

“ผมมีมุมมองว่า เด็กที่มาเรียนที่มหาสารคาม ต้องมีความรู้ด้านภาษาเป็นเบื้องต้น สามารถสนทนาและเขียนได้ตั้งแต่จบการศึกษาระดับชั้นประถม ด้านการเรียนพื้นฐานต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนสำหรับมัธยมต้นและมัธยมปลาย ต้องค้นหาว่าเด็กต้องการอะไร หรือผู้ปกครองมุ่งหวังให้เด็กไปในทิศทางใด จะได้ไม่เสียเวลาเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้ชอบหรือลองผิดลองถูก”

เขาย้ำว่า แม้การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่ยังดำรงตำแหน่งอีก 3 ปี ก็น่าจะมีโอกาสได้เห็นว่า เด็กที่ได้เรียนจะมีการพัฒนาด้านภาษา เทคโนโลยี และได้รับรู้ว่าตัวเองชอบและต้องการศึกษาต่อด้านใด เพราะวันนี้ทุกอย่างเริ่มเดินไปตามแผนแล้ว

“วันนี้ได้ดำเนินการในเรื่องขั้นตอน เตรียมความพร้อมแต่ละโรงเรียน ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและเยาวชนถึงทิศทางการศึกษาของเมืองมหาสารคาม ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี เข้าใจตรงกัน ด้านบุคลากรมีครูต่างชาติเพิ่มขึ้น โค้ชหรือนักกีฬาทีมชาติที่จะมาเป็นครู ก็ได้ทำการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องสถานที่ก็ติดตั้งระบบแล้วเสร็จ วางแผนเข้าโครงสร้างการจัดหางบประมาณ น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมประมาณ 1-2 ปี”

ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษายุคใหม่ของนายกเทศมนตรีไฟแรงแห่งเมืองมหาสารคาม ยังรวมไปถึงการศึกษานอกระบบ สนับสนุนและส่งเสริมโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศด้านอาชีพเกษตรอัจฉริยะ ดนตรี และศิลปวัฒนธรรม (Smart farming music and cultural arts)  อย่างเช่น ‘โรงเรียนเทศบาลบ้านค้อ’ มุ่งเน้นดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับเบื้องต้น จากการส่งประกวดที่กระทรวงวัฒนธรรม ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับรางวัลชมเชยในระดับประเทศ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี  

“น้องๆ มีพรสวรรค์ด้านหมอลำซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้าน เพราะถ้าพูดถึงศิลปวัฒนธรรมดนตรีที่ขึ้นชื่อที่สุดของมหาสารคามคือหมอลำ เราได้รับเกียรติจาก ดร.ราตรี ศรีวิไล ศิลปินแห่งชาติ มาเป็นที่ปรึกษาให้โครงการ รวมถึงศิลปินดนตรีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน ก็มาร่วมสนับสนุนด้วยเช่นกัน”

แม้แต่กีฬาต่างๆ ที่สามารถสร้างเป็นอาชีพ เช่นฟุตบอล มวย ว่ายน้ำ เปตอง ที่นี่ก็มีโค้ชที่ประสบความสำเร็จในการปั้นนักกีฬาไปแข่งในระดับโลกหรือนานาชาติมาเป็นครูผู้สอน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ ให้เด็กๆ รู้จักนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือควบคุมการปลูกผักผลไม้ ทำให้มีความรู้ติดตัว สามารถนำไปประกอบอาชีพได้

ดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

เพราะเมืองจะมีความน่าอยู่ได้ต้องมีพื้นฐานโครงสร้างที่ดี การพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน จึงเป็นอีกยุทธศาสตร์การดูแลความเป็นอยู่ประชาชนของนายกฯ เก่ง ตั้งแต่ปรับภูมิทัศน์เมืองให้ดูดี มีการนำสายไฟฟ้าลงดินในโครงการ ‘1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ’ ระยะทางประมาณ 2.2 กิโลเมตร ภายใต้ความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงพื้นผิวใหม่ทั้งเส้น ทำฟุตบาทใหม่ ซึ่งเป็นโครงการอยู่ภายใต้การดูแลของโยธาจังหวัด โดยเทศบาลเมืองมหาสารคามได้รับงบประมาณมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีโครงการป้องกันน้ำท่วม โครงการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเฟส 1-2 รับน้ำได้ประมาณ 40% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยกำลังวางแผนจัดทำเฟสสุดท้าย เพื่อให้รับน้ำได้อีก 60% ก็น่าจะได้งบประมาณในรอบถัดไป และโครงการติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มความปลอดภัยให้ชุมชนจำนวน 100 จุด อยู่ระหว่างคัดเลือกผู้ดำเนินการติดตั้ง น่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2567

“ทั้งหมดเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังมีภาพใหญ่ในเรื่องผังเมือง เนื่องจากรอบข้างเทศบาลเมืองเป็นสีเขียวทั้งหมด ทำให้การขยายเมืองเป็นไปด้วยความยากลำบาก จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปรับผังเมืองใหม่หมด เพื่อให้เมืองสามารถขยายและเจริญเติบโตได้ในอนาคต”

ส่งเสริมของดีประจำถิ่น เพิ่มรายได้

ใครมีโอกาสมาเยือนมหาสารคาม แน่นอนว่าต้องมีของติดไม้ติดมือกลับไปฝากที่บ้านอย่าง ‘ข้าวเม่า’ ของกินอัตลักษณ์ประจำเมือง โดยเฉพาะข้าวเม่าของชุมชนคุ้มวัดโพธิ์ศรีที่เลื่องชื่อ เนื่องจากสืบทอดขั้นตอนกรรมวิธีการทำจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษในชุมชน เทศบาลได้มีการส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เพิ่มช่องทางจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์

และสุดยอดของดี ‘ปลาร้าบอง’ ขึ้นชื่อว่าแซ่บนัวจนติดอันดับของฝากมหาสารคาม โดยชุมชนข้างวัดมหาชัย เทศบาลก็ได้ส่งเสริมเพื่อยกระดับด้วยเช่นกัน 

ยกระดับการบริการ คู่สำนักงานยุคดิจิทัล

ความมุ่งมั่นของผู้บริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่ ยังครอบคลุมไปถึงการบริการพี่น้องชาวมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ทุกคนของสำนักงานเทศบาลถือเป็นด่านหน้าที่ต้องพบประชาชนอยู่ตลอดเวลา หัวใจสำคัญของการทำงานคือการบริการที่ดี บุคลากรต้องมีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจพร้อมให้บริการอย่างเต็มร้อย พูดง่ายๆ คือ มีเซอร์วิสมายด์ให้มากที่สุด

“อยากให้ข้าราชการทุกคนที่ทำงานในเทศบาลเมืองมหาสารคาม เข้าใจถึงบริบทในการบริการประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของภาษีที่นำมาเป็นเงินเดือนให้พวกเรา”

ที่นี่ยังได้ชื่อว่าเป็นออฟฟิศยุคใหม่ มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการบริการ เช่น รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ผ่านไลน์โอเอ คล้ายๆ กับแพลตฟอร์มทราฟฟีฟองดูว์ ของผู้ว่า กทม. โดยปัจจุบันสามารถโอนชำระภาษีได้แล้ว ต่อไปจะเพิ่มช่องทางชำระในระบบไลน์โอเอ รวมถึงการติดต่อขอทำธุรกรรมต่างๆ ต่อไปจะให้จองคิวผ่านไลน์โอเอเป็นหลัก

“ตั้งใจยกระดับให้เป็น Smart People ต้องรู้และเข้าใจถึงกฎระเบียบต่างๆ ให้ประชาชนเรียนรู้ไปพร้อมกับเทศบาล ส่วนระบบ Paperless ก็ลงมือทำแล้ว เพื่อช่วยประหยัดกระดาษพร้อมกับลดโลกร้อน มีการติดตั้งแท็งค์น้ำเพื่อลดการใช้ขวดพลาสติก แล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำดื่มที่เป็นขวดไปด้วย”

กางแผนงานอนาคต ชุมชนต้องมีส่วนร่วมออกแบบเมือง

จากวิสัยทัศน์สร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนมีสุข ซึ่งเป็นความคิดพื้นฐานที่จะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ หลายเรื่องที่เขาได้ลงมือทำไปแล้ว เพียงรอติดตามผลสำเร็จ แต่ก็ยังมีเรื่องที่ต้องการพัฒนาขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ให้ครบทุกด้าน

นายกฯ เก่ง เล่าว่า ก่อนลงสมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรี เขาวางแผนงานไว้ประมาณ 6-7 ข้อ หลักๆ คือ การย้ายสำนักงานเทศบาลจากที่เดิมซึ่งค่อนข้างคับแคบ บริการพี่น้องประชาชนได้ไม่เต็มที่ ที่จอดรถก็ไม่เพียงพอ

“นี่คือเรื่องที่ให้คำสัญญากับประชาชนไว้ เมื่อย้ายไปที่ใหม่ได้แล้ว สำนักงานเดิมก็จะให้ศูนย์แพทย์บูรพาซึ่งคับแคบเช่นกัน ย้ายมาอยู่ที่นี่แทน จะรีโนเวทให้เป็นสถานที่ดูแลประชาชนในเขตเทศบาลเมือง เป็นเฮลท์แคร์เพื่อผู้สูงอายุด้วย นอกจากนี้ อาจจะทำแลนด์มาร์คใหม่ของเมืองโดยการออกแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเป็นรูปกลองยาว เครื่องดนตรีอีสานที่เป็นวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมเดิม เคยประกวดแข่งขันจนได้รางวัลระดับประเทศ เชื่อมโยงไปกับจังหวัดเพื่อนบ้าน ร้อยเอ็ดมีหอคอยรูปโหวดซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นทรงกลม ขอนแก่นเป็นรูปแคน กาฬสินธ์เป็นโปงลาง อาจทำให้เกิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่มีสัญลักษณ์เครื่องดนตรีอีสานใน 4 จังหวัด”

รวมไปถึง ‘Smart City’ องค์ประกอบที่จะทำให้เมืองมีความทันสมัยนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

ในความคิดของนักบริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่  เขายังมองไปถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจ เพราะช่วยให้ท้องถิ่นและประชาชนร่วมกันออกแบบการพัฒนาชุมชนหรือบ้านเมืองของตนเองได้อย่างตอบโจทย์

“อยากให้ส่วนกลางสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ถึงแม้ว่าเวลานี้เรื่องของบประมาณจะดีขึ้นหากเทียบกับที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ในเรท 35% ตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้  อีกประการคือหากประชาชนร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ก็จะตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเรื่องการศึกษา สาธารณูปโภค และคุณภาพชีวิต ได้ชัดเจนกว่าการรับคำสั่งจากส่วนกลางมาให้ทำตามขั้นตอน ชุมชนน่าจะมีอำนาจตัดสินใจได้ว่าอยากพัฒนาบ้านหรือเมืองที่อยู่อาศัยนั้นให้ออกมาเป็นอย่างไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image