‘สุรพล เธียรสูตร’ นายกเทศมนตรีเมืองน่าน สร้างเมืองน่าอยู่ สู่นครแห่งความสุข 

‘น่าน’ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดจุดหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นิยมเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่าย และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน ซึ่งเป็นจุดเช็กอินยอดฮิต เพราะเป็นที่ตั้งของวัดภูมินทร์ ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ‘ปู่ม่านย่าม่าน’ อันงดงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนไม่ขาดสายตลอดปี

แม้จะคึกคักด้วยจำนวนนักท่องเที่ยว แต่เทศบาลเมืองน่านก็มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ยังคงอัตลักษณ์ของตนไว้ได้ ทั้งยังเป็นเมืองที่สะอาด ปลอดภัย ขาดไม่ได้คือการเป็นเมืองแห่งความสุข ซึ่งทั้งหมดมี สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน เป็นแรงหลักในการผลักดัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด 

เมืองที่มีพลังของทุกคน

Advertisement

เมืองจะน่าอยู่และเป็นเมืองที่มีความสุขได้ ต้องเป็นเมืองที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่นที่สุรพลบอกว่า ได้น้อมนำศาสตร์พระราชทานของพระเจ้าอยู่หัวคือ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ มาพัฒนาคน สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมือง 

“ก่อนที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแต่ละครั้ง เราจะนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ให้คนแต่ละกลุ่ม ทั้งประชาชน นักอนุรักษ์ นักธุรกิจ เอ็นจีโอ ส่วนราชการ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ และเราพยายามให้ทุกคนได้ลองยืนในจุดยืนและมุมมองของคนอื่น เมื่อมีข้อมูลแล้วก็จะเข้าสู่การตัดสินใจ ดังนั้นเมืองจึงมีพลังของทุกคน เพราะได้มีส่วนร่วมกันทั้งหมดในการเปลี่ยนแปลงเมือง” นายกเล็กแห่งเทศบาลเมืองน่านบอก 

Advertisement

คงอัตลักษณ์เมืองเก่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย 

การเดินทางที่รวดเร็วถึงกันมากขึ้น รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาจทำให้หลายคนเป็นห่วงว่าความเป็นตัวตนของน่านจะหายไป แล้วจะเรียกกลับมาลำบาก ทั้งเรื่องอาหารการกิน ภาษาพูดที่มีสำเนียงแตกต่างจากชาวเหนือในถิ่นอื่น มีผู้คนมากถึง 16 ชาติพันธุ์ หลากหลายแต่เกื้อกูลกัน มีการแต่งกายทั้งผ้าทอ ผ้าปัก มีศิลปวัฒนธรรมที่ขึ้นชื่อ อย่างซอล่องน่าน ฟ้อนล่องน่าน ฯลฯ

สุรพลเผยว่า คนในชุมชนร่วมกันปกป้องอัตลักษณ์ของน่าน ด้วยการรับรู้และเลือกรับวัฒนธรรมต่างถิ่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมเดิม โดยพยายามให้กลมกลืนมากที่สุด เด็กและเยาวชนที่แม้เติบโตในยุคสมัยใหม่ๆ เมื่อเห็นคนในครอบครัว เห็นคนรอบข้าง รักและดูแลเมืองให้น่าอยู่ รักษาศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ ก็ซึมซับ เกิดเป็นความรักความผูกพัน และอยากให้สิ่งเหล่านั้นคงอยู่ 

ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลยคือ โบราณสถานในพื้นที่เทศบาลเมืองน่าน เป็นไฮไลต์ที่ไม่ว่าใครไปใครมาก็ต้องแวะชมความงดงาม เช่น วัดภูมินทร์ อายุกว่า 400 ปี ซึ่งวิหารวัดภูมินทร์ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2545 วัดพระธาตุช้างค้ำ อายุกว่า 600 ปี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ที่อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นหอคำของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ไม่นับอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ ที่บ่งบอกถึงสถาปัตยกรรมยุคเก่าๆ อีกไม่น้อย 

“ปี 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดเขตพื้นที่เมืองเก่าน่านเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ซึ่งการเป็นเมืองเก่า ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์หรือซากโบราณสถาน แต่เป็นเมืองเก่าที่ยังมีการใช้งานอยู่ กรมศิลปากรรักษาอาคาร แต่วัด พระคุณเจ้า ชาวบ้าน ยังใช้งานอยู่ เพราะฉะนั้นคุณค่าของโบราณสถานจึงเป็นจุดแข็งหนึ่งที่คนน่านเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ เป็นการแปลงวัฒนธรรมให้เป็นทุน

“การที่พี่น้องประชาชนได้ใช้พื้นที่และร่วมกันดูแลอนุรักษ์โบราณสถานเป็นอย่างดี ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวเจริญขึ้นมา มีที่พัก โรงแรม เกิดขึ้น ท่ามกลางการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชนที่มีอยู่เดิม ที่นี่จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต” สุรพลบอกอย่างภาคภูมิใจ 

เมืองสะอาด เน้นจัดการขยะ เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง 

“เราตั้งเป้าหมายให้น่านเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในไทย ซึ่งเรามีพันธกิจอย่างน้อย 6 ด้านที่ทำ เพื่อให้เมืองนี้ตอบโจทย์ความเป็นเมืองน่าอยู่ เช่น เมืองต้องสะอาด เพราะเมื่อสะอาด สวยงาม อยู่แล้วก็มีความสุข เมืองต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เมืองต้องมีความปลอดภัย เป็นต้น

“วัดวาอารามที่สวยๆ งามๆ เราทำรั้วเตี้ยให้มองเห็นจากภายนอกได้ สายไฟที่รกรุงรังก็เอาลงใต้ดิน สำคัญสุดคือความสะอาด หน้าบ้านเป็นระเบียบ สะอาดเรียบร้อย เราพยายามเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง สร้างพลเมืองขึ้นมาให้มีความสามารถในการจัดการตนเอง ตอนนี้มีหมื่นคนเก็บ หมื่นคนกวาด หมดคนทิ้ง”  นายกเทศมนตรีเมืองน่านเผย 

แล้วเล่ารายละเอียดว่า ที่นี่ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องขยะแต่ละประเภท และมีการกำหนดเวลาเก็บ อย่างขยะพวกกิ่งไม้ ใบไม้ เทศบาลกำหนดเก็บวันจันทร์ ดังนั้นเสาร์อาทิตย์ชาวบ้านก็จะตัดกิ่งไม้ ใบไม้ พอวันจันทร์รถของเทศบาลก็มาเก็บ แล้วส่งต่อไปย่อยเป็นปุ๋ย กิ่งไม้ก็เป็นไม้ฟืน หากเป็นขยะติดเชื้อหรือขยะอันตราย จะมีตู้เก็บขยะอันตรายประจำชุมชน แล้วเทศบาลก็ไปเก็บ รวมถึงที่โรงพยาบาล คลินิก สถานรักษาสัตว์ ด้วยเช่นกัน แล้วนำไปเข้าเตาเผาขยะติดเชื้อ 

ส่วนขยะรีไซเคิล หรือขยะที่สามารถขายได้ ชาวบ้านจะแยกใส่ถุงเก็บไว้ รอวันนัดหมาย แล้วเทศบาลก็จะมาเก็บขยะ รวมทั้งมี ‘ขยะออมบุญ’ มีบริษัทมารับซื้อ นำเงินมาเป็นเงินกองทุน ลูกหลานหรือญาติใครเสียชีวิตก็มีเงินกองทุน 2,000 บาทให้

เทศบาลเมืองน่านยังมีระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียจากคนในชุมชนจะมาที่โครงการบำบัดน้ำเสีย มีระบบบ่อผึ่งก่อนปล่อยลงแม่น้ำน่าน เพราะฉะนั้นน้ำก็จะมีคุณภาพดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เรื่องอากาศและสิ่งแวดล้อมก็สำคัญ เช่นที่สุรพลบอกว่า มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับภาครัฐ มีการจัดการที่ดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตด้วยการประกอบอาชีพที่ใช้ป่าน้อยลง และสนับสนุนการปลูกพืชที่มีรายได้สูง เช่น กาแฟ ชา ช่วยให้สิ่งแวดล้อมทางอากาศของน่านดีขึ้น

ความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย นอกจากช่วยให้น่านเป็นเมืองน่าอยู่ สะอาด มีความสุข ตามความตั้งใจแล้ว ยังได้รับการรับรองด้านสิ่งแวดล้อม ASEAN Clean Tourist City Standard 2018-2020 อีกด้วย 

‘น่าน’ เมืองปลอดภัย 

สุรพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเมืองปลอดภัยว่า เริ่มแรกเทศบาลเมืองน่านทำเรื่องโรงเรียนปลอดภัย กับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 

พอทำงานด้วยกันเรื่อยๆ ศูนย์ฯ ก็แนะนำว่า ลองพัฒนาต่อยอดเป็นชุมชนปลอดภัยไปเลยดีไหม เทศบาลเมืองน่านจึงรุกเรื่องนี้อย่างจริงจัง มี International Safe Community Certifying Centre (ISCCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) มาประเมินความปลอดภัย และได้รับการรับรองว่าเป็นชุมชนปลอดภัยมาตรฐานอาเซียน (International Safe Communities) ปี 2563 

“ถ้าเราอยากให้เมืองของเราเป็นเมืองของคนอายุยืน ก็ต้องป้องกันเรื่องอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิต เราเลยบอกว่า วิสัยทัศน์ของเทศบาลเมืองน่านต้องทำให้คนปลอดภัย 

“ตัวชี้วัดของ ISCCC มีหลายอย่าง บางเรื่องคุณหมอที่โรงพยาบาลจะแจ้งมาว่า มีคนจมน้ำตายนะ อายุค่าเฉลี่ยตกลงไปนะ เราต้องป้องกันยังไงดี ก็เอาเด็กมาสอนว่ายน้ำ กั้นเหล็กไม่ให้เด็กตก ต้องไม่ให้มีหลุมน้ำอยู่ในพื้นที่ใต้น้ำ เรื่องความปลอดภัยสายไฟ กล้อง CCTV เราก็สนับสนุน ดังนั้นการท่องเที่ยวที่นี่ก็ปลอดภัย”

พื้นที่เทศบาลเมืองน่าน จึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่สามารถสร้างความอุ่นใจให้ทั้งประชาชนผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอย่างไม่ขาดสายในแต่ละปีได้เป็นอย่างดี 

นอกจากดูแลพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่ดีมีสุขแล้ว ในบทบาทนายกเทศมนตรีเมืองน่านที่ต้องบริหารจัดการเทศบาล ก็ดูแลเจ้าหน้าที่ทุกคนด้วยเช่นกัน พร้อมสนับสนุนการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้การทำงานของเทศบาลเมืองน่านสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้สูงสุด 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image