‘ไพซอล อาแว’ นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนเมืองด้วยการพัฒนา

ดินแดนสุดปลายด้ามขวานของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่ยังคงมีต้นไม้ขนาดใหญ่ อากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี และยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่แปรพระราชฐานในอดีตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในช่วงเดือนสิงหาคมและตุลาคมของทุกปี

“ใครที่ไม่เคยมาเยือนนราธิวาสหรือได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตผู้คนที่นี่จะรู้สึกกันว่าเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ ในความเป็นจริงแล้ว ประชากรมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสุขสงบ พี่น้องไทยมุสลิมและไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับในความแตกต่างของศาสนาและความเชื่อ” เป็นคำบอกเล่าของ ‘ไพซอล อาแว’ นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส 

ไพซอลเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่มีส่วนร่วมผลักดันให้ที่นี่เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน บนพื้นฐานต้นทุนทางสังคมที่ดี อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณีท้องถิ่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด 

Advertisement

ภายใต้อาณาเขตพื้นที่เทศบาลเมืองที่นายกฯ นักพัฒนาดูแลอยู่ แบ่งกว้างๆ ออกเป็น 3 เขต จำนวน 35 ชุมชน บริบทของแต่ละเขตแตกต่างกันอย่างชัดเจน เริ่มจากเขตที่หนึ่งผู้คนส่วนใหญ่ยึดอาชีพประมง ทุกเช้าวันใหม่จะต้องออกเรือกอและ ซึ่งเป็นเรือหาปลาเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และเป็นวิถีที่อยู่คู่ชาวนรามาอย่างช้านาน เขตที่สองเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เขตที่สามเป็นเขตการศึกษา

พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ

Advertisement

สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของนราธิวาสคือหาดนราทัศน์ ด้วยลักษณะชายหาดที่สวยงามยาวประมาณ 5 กิโลเมตร มีทิวสนร่มรื่นทอดยาว ชวนพักผ่อนหย่อนใจ จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในตัวจังหวัดและใกล้เคียง อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ถ้านับจากสนามบินก็ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที

“ถ้าเป็นวันหยุด โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่หรือช่วงที่มีวันหยุดยาว ที่นี่จะเต็มไปด้วยผู้คนมาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก แล้วเราก็พยายามเชิญชวนคนมาเที่ยวให้มากที่สุด มีการพัฒนาและปรับปรุงสถานที่ เช่น ทำทางเข้าออกให้สะดวก มีจุดสำหรับนักท่องเที่ยวจอดรถถ่ายรูปเช็คอินหรือลงไปเล่นน้ำ ปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบๆ ให้สวยงามมีระเบียบ ควบคุมระเบียบจราจร บริหารจัดการขยะอย่างเข้มงวดเพื่อความสะอาด ตั้งจุดค้าขายสำหรับพ่อค้าแม่ค้า ทำให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นได้อีกทาง”

นอกจากช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ความตั้งใจของไพซอลคือ ต้องการผลักดันและยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัด ทำให้หาดนราทัศน์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักเหมือนอย่างพัทยา

“การเดินทางมานราธิวาสถือว่าค่อนข้างสะดวก มีเครื่องบินขึ้น-ลงวันละ 2 ไฟลท์ แม้แต่ชาวมาเลเซียก็นิยมมาท่องเที่ยวที่หาดนราทัศน์ เพราะเดินทางไม่ไกล ด่านชายแดนอยู่ห่างออกไปเพียง 60 กิโลเมตร แล้วเราก็มีคำขวัญอยู่ว่า ‘ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ป่าโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน’ หาดนราทัศน์จึงเปรียบเป็นเพชรที่สามารถเจียระไนเพื่อสร้างมูลค่าได้มากกว่านี้”

ล่าสุดช่วงฤดูกาลมรสุม มีการจัดแข่งขันเซิร์ฟบอร์ด กีฬาเอ็กซ์ตรีมทางน้ำยอดฮิต ซึ่งประสบความสำเร็จช่วยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เขาจึงวางแผนที่จะจัดอีเวนต์กีฬาเซิร์ฟบอร์ดหลังจากนี้ รวมถึงการจัดกิจกรรม ‘นราเฟสติวัล’ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับเพิ่มสีสันให้เมืองนราธิวาส โดยเฉพาะวันนี้ไทยเปิดประเทศแล้ว ที่นี่ก็พร้อมที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน

จากการวางแผนอย่างมีเป้าหมาย เห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม ทำให้ไพซอลได้รับรางวัลสุดยอดผู้นำท้องถิ่น สาขาการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประจำปี 2565

พัฒนาการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ในโครงการเปิดห้องเรียนสาธิต (SME)

    ภายใต้วิสัยทัศน์ของพ่อเมืองฯ ‘ณัฐพงศ์ ศิริชนะ’ ที่เคยประกาศทิศทางการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสในอนาคต ด้วยการตั้งเป้าพัฒนาทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรทางธรรมชาติสู่ตลาดโลก พร้อมส่งเสริมเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ ด้วยโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ เปลี่ยนนราธิวาสสู่ศตวรรษใหม่

    เรื่องการศึกษาจึงเป็นอีกหัวข้อที่นายกเทศมนตรีเมืองนราธิวาสให้ความสำคัญอย่างมาก เขาบอกว่า จะผลักดันให้โรงเรียนเทศบาลที่มี 6 แห่งได้รับการยอมรับ เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ภายในจังหวัดสำหรับผู้ปกครองและนักเรียน

    เทศบาลเมืองนราธิวาสจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ พัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดห้องเรียนสาธิตชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (SME) โรงเรียนเทศบาล 1 ถนนภูผาภักดี ณ อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส (TK Park) เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ภายใต้รูปแบบการสอนที่ทันสมัยโดยอาจารย์ผู้สอนชาวต่างชาติ

เริ่มต้นเปิดรับเพียง 20 คนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เกณฑ์การคัดเลือกแบ่งออกเป็นนักเรียนทั่วไปใช้การสอบ 14 คน และมีการสอบสัมภาษณ์ประเภทโควต้าอีก 6 คนที่เป็นนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 1-6 สังกัดเทศบาลเมืองนราธิวาส เพียงปีแรกก็ได้รับผลตอบรับดีมาก มีน้องๆ นักเรียนมาสมัครสอบถึง 300 คน

“เราเปิดรับนักเรียนทั่วทุกเขต ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาศัยในเขตเทศบาล เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เช่นเดียวกับในห้องเรียนทุกวันนี้ที่มีทั้งนักเรียนไทยพุทธและไทยมุสลิม ได้ใช้ชีวิตเรียนรู้ร่วมกันในแบบของพหุวัฒนธรรม”

สำหรับอุทยานการเรียนรู้ของที่นี่ ทันสมัยไม่แตกต่างไปจากที่อื่นๆ โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ออกแบบเพื่อเยาวชนได้เรียนรู้การแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ในสังคม รวมถึงการส่งเสริมทักษะทางด้านต่างๆ ประกอบไปด้วยห้องสมุดมีชีวิต ห้องสมุดเด็ก มีหนังสือให้อ่านกว่า 20,000 ปก มีห้องเธียเตอร์จุได้ 100 คน เปิดฉายหนังหมุนเวียนทุกสัปดาห์ 

“และที่กำลังจะเปิดเร็วๆ นี้  คือห้องสำหรับเล่นบ้านบอล เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก ระหว่างนั้น ผู้ปกครองจะได้หยิบหนังสือมาอ่าน แม้จะเป็นผู้ใหญ่ก็ช่วยสร้างนิสัยรักการอ่านได้”

นายกเล็กเมืองนราฯ ย้ำถึงความมุ่งหวังในการพัฒนาการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศว่า “ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มองโรงเรียนเทศบาลในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้รับรู้ถึงระบบการศึกษา วันนี้เราอยากจะยกระดับการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลให้อยู่ในระดับแถวหน้า จะพัฒนาให้มีโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสให้ได้”

พัฒนาเมืองเพื่อก้าวสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City)

อีกหนึ่งผลงานแห่งความภูมิใจของไพซอลคือ ที่นี่เป็นเพียงเมืองเดียวของจังหวัดนราธิวาสที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’

“ด้วยความต้องการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้อยู่อย่างมีความสุข ภายใต้แนวคิด ‘นราน่าอยู่’ เพื่อให้สามารถดำเนินการขอจัดสรรงบประมาณต่างๆ มาต่อยอดได้ ประการสำคัญคือ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ฐานสมาร์ทซิตี้ได้”

ไพซอลบอกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจนับเป็นอีกนโยบายที่เขาพยายามจะทำให้ได้มากที่สุด เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ให้’ แต่จะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ตะกร้าเศรษฐกิจของเทศบาลเมืองนราธิวาสมีเม็ดเงินเข้ามา เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ก็ย่อมส่งผลดีถึงปากท้องของคนในชุมชน

“เทศบาลเมืองนราธิวาสยังได้ให้ความรู้ประชาชนพ่อแม่พี่น้องถึงความสำคัญของการเป็นเมืองอัจฉริยะ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีใกล้ตัวเรามากๆ ที่เทศบาลกำลังดำเนินการอยู่คือ Smart Pole หรือ เสาไฟอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ให้สามารถทำงานได้หลากหลาย ตั้งแต่ให้แสงสว่าง มีเครื่องวัดมลพิษ และมีหน้าจอแสดงผลต่างๆ”

รวมไปถึงโครงการสายไฟฟ้าเคเบิลลงดิน เริ่มจากถนน 2 สาย ไฮไลต์สำคัญที่จะทำให้เป็นถนนที่สวยงาม น่าเดินเที่ยวที่สุดในจังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ก็จะมีระบบรักษาความปลอดภัยโดยการติดตั้งกล้อง CCTV ทั่วทั้งเมืองนราธิวาส

“ในด้านคนทำงาน เทศบาลมีบุคลากรทั้งหมด 800 คน ทุกคนพร้อมที่จะทำงานรับใช้ประชาชน และพร้อมที่จะนำพาเทศบาลเมืองนราธิวาสมุ่งไปข้างหน้าด้วยกัน อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชั่นเป็นเครื่องมือช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ทั้งความปลอดภัย บรรยากาศความเป็นอยู่ ด้วยการดาวน์โหลดเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่น ขยะล้น ไฟฟ้าดับหน้าบ้าน ฯลฯ ผ่านช่องทางนี้เข้ามาได้ เรามีกระบวนการติดตามตรวจสอบการให้บริการพี่น้องประชาชนตั้งแต่ชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่อง ระยะเวลา”

พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลเมืองนราธิวาส แบ่งออกเป็น 4 ศูนย์ย่อย มีคลินิกเด็ก คลินิกทันตกรรม บริการฉีดวัคซีน และการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น รวมทั้งหมด 4 แห่ง ให้บริการ 4 แนวทาง เริ่มตั้งแต่ ‘ส่งเสริมสุขภาพ’ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ‘ป้องกัน’ ในยามเกิดโรคภัยต่างๆ เบื้องต้นสามารถป้องกันได้ทันท่วงทีโดยยังไม่ต้องไปถึงโรงพยาบาล ‘รักษาพยาบาล’ สำหรับคนที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บริการสุดท้ายคือ ‘ฟื้นฟู’ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ประสบภัยอุบัติเหตุต่างๆ

“ช่วยที่โควิดแพร่ระบาด มีการทำงานทั้งรับมือและเชิงรุก เพราะนราธิวาสเป็นจังหวัดแรกๆ ในประเทศไทยที่พบเชื้อโควิด เราจึงเร่งลงพื้นที่ เพื่อให้ความเข้าใจประชาชนในการป้องกันไม่ให้แพร่ระบาด สื่อสารอย่างชัดเจนว่าต้องฉีดวัคซีนป้องกัน พร้อมกับตั้งเป้าหมายการฉีดในแต่ละชุมชน”

ในช่วงเวลาปกติ มีการจัดทีมส่งเสริมให้ความรู้แต่ละโรงเรียน ร่วมมือกับ อสม. ดูแลผู้ป่วยติดเตียงตามชุมชนต่างๆ มีการรายงานการทำงานว่า แต่ละชุมชนมีผู้ป่วยสูงอายุจำนวนกี่คน เทศบาลจะบันทึกเพื่อเก็บเป็นข้อมูล นำยาไปให้ถึงบ้านด้วย

ใส่ใจผู้คนในชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ท่ามกลางความหลากหลายของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แม้มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามถึง 70% และไทยพุทธ 29%  นายกเล็กเมืองนราฯ นับเป็นผู้นำที่มีบทบาททางสังคมได้อย่างครบถ้วน ยึดหลักส่งเสริมการจัดกิจกรรมในทุกศาสนา เช่น จัดตลาดรอมฎอนในเดือนรอมฎอน หลังจากนั้นมีการจัดละหมาดวันฮารีรายอ อ่านคุตบะห์ สอนอ่านเทศนา

สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมของชาวไทยพุทธ เช่น งานวันเข้าพรรษา การจัดสวนมนต์หมู่ ถ้าเป็นคนไทยเชื้อสายจีนก็ส่งเสริมประเพณีลุยไฟที่ศาลเจ้า เป็นต้น

แผนพัฒนาเมืองในอนาคต

    ไพซอลย้ำถึงสิ่งที่อยากทำที่สุดในเวลานี้ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากพัฒนาเสร็จสิ้นจนครบ จะสามารถต่อยอดทำอะไรได้อีกมากมาย

    “เรื่องการศึกษาก็วางแผนอยากให้มีโรงเรียนเพิ่มอีกแห่ง ถ้าเป็นการท่องเที่ยว อยากให้มีการนำสายไฟลงดินมากกว่านี้ ปัจจุบันทำเฟสแรกเสร็จสิ้นแล้ว กำลังจะทำต่อเป็นเฟสที่สอง อยากให้มีหอชมเมือง ตั้งอยู่บริเวณที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ได้เห็นทั้งปากอ่าวและวิถีเรือประมง”

“ที่สำคัญ อยากให้รัฐบาลสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจ ให้การปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง รวมถึงอยากให้สนับสนุนเรื่องการศึกษาให้มากกว่านี้ เพราะถือว่ายังอยู่ในอันดับท้ายๆ ของ 77 จังหวัด สังเกตได้ว่าเมืองที่พัฒนาแล้ว ประชากรจะมีการศึกษาสูง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image