ไขรหัสการเปลี่ยนวิถีเมือง ‘เกาะคาน่าอยู่’  กับ ‘เพ็ญภัค รัตนคำฟู’ นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา เขลางค์นคร

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมืองเล็กๆ ชื่อเดียวกับอำเภอเกาะคา ของจังหวัดลำปาง มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีในหลายมิติ ทั้งระบบเศรษฐกิจ การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม และการสร้างระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

สิ่งที่น่าทึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดตั้งต้นจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ก่อนนำมาสู่นโยบายการวางแผนพัฒนาและการขับเคลื่อนของ เพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา 

นักพัฒนาหญิงคนเก่งและแกร่งที่ได้รับความไว้วางใจยาวนานถึง 4 สมัย เล่าว่า ตำบลเกาะคามีลักษณะของเมืองกึ่งชนบท มีพื้นที่ 4.4 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรเพียง 5,000 คน ธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณ์ มีทั้งภูเขา แม่น้ำ 

“ความเป็นเมืองน่าอยู่ของตำบลเกาะคา มาจากการสร้างจิตสำนึกการเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม ตั้งแต่เรื่องการสร้างอาชีพในชุมชน  สิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และโครงสร้างพื้นฐาน ชุมชนจะเลือกกันเองว่าอยากทำอะไร จนทำให้เกิดระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล”

Advertisement

ส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 

มีหลายอาชีพของชาวตำบลเกาะคาที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากเทศบาล โดยมีที่มาจากการสำรวจความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็ง เช่น กลุ่มประดิษฐ์ดอกไม้จากกระดาษสา กลุ่มประดิษฐ์ของเหลือใช้จากขยะ กลุ่มจักสาน โดยมีกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีบ้านผึ้ง เป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วยแม่บ้าน ผู้สูงอายุ และคนที่ว่างงานก่อนหน้านี้

Advertisement

นอกจากการสนับสนุนรวมตัวก่อตั้งกลุ่มอาชีพแล้ว เทศบาลยังส่งเสริมด้านองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง มีการจัดฝึกอบรม ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น ขณะเดียวกัน ก็เติมความคิดในการเป็นจิตอาสา สร้างสังคมสาธารณะด้วยการแบ่งปันผลกำไรนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

“เทศบาลไม่ได้สนับสนุนเพียงการสร้างรายได้อย่างเดียว แต่ต้องการให้เกิด สังคมครอบครัวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มสตรี กลุ่มเปราะบาง เราต้องไม่ทอดทิ้งกัน ความสุขของกลุ่มอาชีพจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรวมกลุ่มสร้างความสามัคคี มีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แล้วก็ยังทำให้เกิดการต่อยอดไปสู่เครือข่ายการทำงานเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างเมืองที่เข้มแข็ง พิสูจน์ว่า ชุมชนเป็นฐานของการพัฒนาอย่างแท้จริง”

การศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด

การศึกษาคือการสร้างคน คนที่มีคุณภาพจะส่งผลต่อการเป็นเมืองที่มีคุณภาพ  ‘เพ็ญภัค’ ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาของเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย

“เด็กคือทรัพยากรที่มีคุณค่าของท้องถิ่น หากมอบการศึกษาที่ดีตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ปลูกฝังให้รักเรียนและใฝ่รู้ อนาคตจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แล้วที่นี่ก็ยังเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด เพราะการศึกษาไม่ได้ขึ้นกับวัย แต่ขึ้นกับ ‘ใจ’ เกาะคาจึงมีโรงเรียนผู้สูงอายุ ให้มารวมตัวกันทุกวันพุธ ทำกิจกรรมร่วมกัน พร้อมกับนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียน กลับไปถ่ายทอดให้คนอื่นๆ วิธีนี้ทำให้เกิดการขยายผลต่อไปเรื่อยๆ ผู้สูงอายุก็เกิดความมั่นใจว่า ตัวเองยังมีคุณค่า”

ส่งเสริมสังคมสุขภาพดี

อีกปัจจัยของการจะเป็นเมืองน่าอยู่ได้ พลเมืองต้องมีสุขภาพที่ดี จึงสนับสนุนให้ตำบลเกาะคามีโรงเรียนเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรลดใช้สารเคมีปลูกพืชผักผลไม้ มีโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพชุมชนสำหรับคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs อย่างเบาหวาน ความดัน

“ในมิติการส่งเสริมสุขภาพ เราแบ่งประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนทั่วไป กลุ่มสองคือคนที่มีความเสี่ยง ส่วนกลุ่มสามมีสถานะเป็นผู้ป่วยแล้ว ต้องทำให้ทั้ง 3 กลุ่มได้มีกระบวนการเรียนรู้ดูแลตัวเอง เช่น มีการประกวดบุคคลต้นแบบสุขภาพดี ให้ความรู้เรื่องของสุขภาพกับชุมชน แล้วก็ส่ง อสม. หรือกลุ่มจิตอาสาไปดูแลให้ความรู้ในแต่ละชุมชน”

โครงสร้างพื้นฐานจากความต้องการชุมชน 

แน่นอนว่าการพัฒนาเมืองไม่สามารถเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องควบคู่กันทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ‘เพ็ญภัค’ เชื่อว่า คนจะอยู่ดีมีความสุขได้ จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและการอยู่อาศัย ที่นี่จึงพยายามเน้นโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับคนในชุมชน และมาจากความต้องการของคนในชุมชนจากลานระดมความคิด ‘เวทีข่วงผญ๋า’ ทุกโครงการ

“การที่ชุมชนรู้สึกว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี เมืองที่อยู่อาศัย ถนนดี น้ำไหล ไฟสว่าง ฯลฯ ทุกอย่างคือองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก่อนหน้านี้ เกาะคาก็มีปัญหาเหมือนกับทุกเมือง แต่สิ่งที่เติมเต็มโครงสร้างพื้นฐานคือ การใช้เวทีข่วงผญ๋าทำแผนชุมชน” 

ด้วยงบประมาณที่จำกัด จึงต้องหาวิธีทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องรู้ว่า ปัญหาอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนมากที่สุด จึงมีการจัดทำเวทีโหวตกันว่า โครงการไหนที่ควรต้องทำ และเมื่อทุกโครงการเกิดขึ้นจากชุมชน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า เขามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และช่วยกันดูแลรักษา

ร่วมมือคนละนิด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

มีคำกล่าวกันว่า ‘ธรรมชาติคือชีวิต’ ตำบลบ้านคาจึงถูกวางให้เป็นเมืองแห่งสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติยั่งยืน พื้นที่สวนสาธารณะใจกลางมีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ส่วนหนึ่งแบ่งเป็นลานกิจกรรมและลานกีฬา

ตัวอย่างที่น่าชื่นชมคือ ‘ป่าชุมชน ไม้ผลกินได้’ แทบไม่น่าเชื่อว่าภาพความเขียวขจีที่ชาวเกาะคาได้สัมผัสกันในวันนี้ แต่เดิมเป็นเพียงพื้นที่ว่างทั่วไป มีต้นไม้ต้นหญ้าอยู่บ้าง แต่หลังจากที่มีการปรับแต่งวางแผนให้เป็นพื้นที่สีเขียวมากยิ่งขึ้น

มีกิจกรรม ‘ทอดผ้าป่าต้นไม้’ เพื่อเชิญชวนให้นำต้นไม้มาบริจาคและปลูก จนกลายมาเป็นต้นไม้มีชีวิต มีทั้งป้ายชื่อต้นไม้และผู้ปลูก ชุมชนเองก็แบ่งหน้าที่ดูแล  ตั้ง ‘จิตอาสาสิ่งแวดล้อม’ และแบ่งปันผลผลิตอย่างเป็นธรรมในแต่ละบ้าน

และยังเป็นกุศโลบายของนายกเมืองเกาะคา ที่ต้องการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม บอกว่า การพัฒนาเป็นสิ่งที่ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคือความยั่งยืน

ส่วน ‘ขยะ’ อีกเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของทุกพื้นที่ รวมถึงเกาะคาที่เคยประสบปัญหานี้อย่างรุนแรงเมื่อปี 2547 ด้วยปริมาณขยะวันละเกือบ 10 ตัน ‘เพ็ญภัค’ ต้องพูดคุยกับชุมชนว่า ถ้าไม่หาทางแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง อีกไม่นานขยะจะต้องล้นเมือง

“แนวทางแก้ไขเริ่มจากการคัดแยกขยะจากต้นทาง แบ่งเป็นประเภทขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะขายได้ และขยะอันตราย สำหรับขยะเปียกให้ทำปุ๋ยและเลี้ยงไส้เดือน ถ้าเป็นขยะแห้ง เทศบาลจะให้นำมาแลกปุ๋ยแลกต้นไม้ พร้อมกับนำไปทำเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ส่วนขยะขายได้ มีการส่งเสริมเป็นกิจกรรมขยะออมบุญ”

เป็นกระบวนการที่เกิดจากชุมชนลุกขึ้นมาจัดการร่วมกัน โดยเทศบาลมีหน้าที่จัดคิวรถขยะแบ่งเก็บขยะเปียกและขยะแห้ง สลับกันทุกวัน มีการจัดประกวด ‘ครัวเรือนต้นแบบ บ้านน่าอยู่น่ามอง’ บ้านที่จะได้รับรางวัลต้องมีการคัดแยกขยะ และปลูกผักปลอดสารพิษ

จากปริมาณยะมหาศาลในแต่ละวันก็ก็ค่อยๆ ลดลงจนเหลือไม่ถึง 3 ตัน ตอกย้ำแนวความคิดที่ว่า หากสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ก่อเกิดการเปลี่ยนวิถีของเมืองในที่สุด

เดินหน้าสร้างเกาะคาเมืองน่าอยู่

“การจะพัฒนานอกบ้านให้สำเร็จ ต้องเริ่มจากในบ้านเป็นสำคัญ คนในองค์กรต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง มีเป้าหมายการให้บริการประชาชน สร้างสังคมน่าอยู่ จากนั้นก็ต้องทำงานกันอย่างเข้มแข็งเป็นทีมเวิร์ค ที่สำคัญต้องทำงานอย่างโปร่งใส เพราะนำมาซึ่งความศรัทธาน่าเชื่อถือ” นายกหญิงเก่งย้ำ

เทคโนโลยีทันสมัยถูกนำมาเป็นเครื่องมือให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วทันใจ มีการเปิดรับแจ้งเหตุผ่าน Traffy Fondue และการใช้ Google Earth สำรวจพื้นที่อาศัยของกลุ่มเปราะบาง ทำให้เมื่อมีเหตุร้ายก็เข้าถึงพื้นที่ได้ทันที รวมถึงช่องทางสื่อสารสองทางผ่านไลน์และเฟซบุ๊ก

“เราจะทำให้ประชาชนเห็นว่า ภาษีทุกบาทที่เขาจ่าย เทศบาลพร้อมทำงานตอบแทนอย่างคุ้มค่า  ให้เกิดผลพัฒนาในชุมชนจริงๆ” 

ด้วยความร่วมมือของชุมชนและทุกภาคส่วน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมด้านความโปร่งใสในการดำเนินงานของเทศบาล จนเป็นที่มาของการได้รับรางวัลพระปกเกล้าเป็นครั้งที่ 7 ยืนยันการเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

“เทศบาลตำบลเกาะคา พร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชน ทำให้เกาะคาเป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการพัฒนาในทุกด้านดังเช่นที่กล่าวมา แต่ต้องยอมรับว่า หน่วยงานท้องถิ่นมีงบประมาณไม่เยอะ จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการอย่างแรกคือ ขอให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาในพื้นที่ คนที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชนคนท้องถิ่น ไม่ใช่ใครอื่น

งบประมาณกับงานก็ควรต้องชัดเจนด้วย เพราะบางครั้งกระจายงานให้ท้องถิ่นแต่ไม่มีงบประมาณ ยอมรับว่า ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเราทำงานลำบาก สุดท้ายคือ มั่นใจอย่างยิ่งว่า หากการเมืองท้องถิ่นดี จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศที่เข้มแข็ง จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image