เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พัฒนานครน่าอยู่สู่นครอัจฉริยะยั่งยืน

จากเมืองสองแควในอดีตที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม สู่ศูนย์กลางทางการค้าและการให้บริการของภาคเหนือตอนล่าง และเป็นหนึ่งในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนกระทั่งเมืองเกิดความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก็คือ ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 

หญิงแกร่งนักพัฒนาย้อนถึงภาพในอดีตของเมืองที่มีสภาพค่อนข้างเก่า บวกกับลักษณะทางกายภาพของเมืองที่ถูกแบ่งพื้นที่โดยแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมือง ทำให้ค่อนข้างมีอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งชุมชนต่างๆ  ถนน และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น 

แต่ในปัจจุบันนั้น เทศบาลนครพิษณุโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็น ‘นครน่าอยู่’ ปรับภูมิทัศน์เมืองให้สวยงาม มีสะพานใหญ่สำหรับสัญจรข้ามแม่น้ำถึง 4 สะพาน ทางข้ามทางรถไฟ ถนนต่างๆ สาธารณูปโภค การจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมๆ กับยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ 

ปรับภูมิทัศน์เมืองสวยงาม ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 

Advertisement

เมื่อกางแผนนโยบายในการทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตเทศบาลนครพิษณุโลกให้มีสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษต่างๆ จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจัดสร้างเป็นสวนต่างๆ อย่างเช่น ‘สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ’ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นอีกจุดที่สวยงามตามธรรมชาติ มีอากาศบริสุทธิ์ให้สูดหายใจได้อย่างเต็มปอด

“หลังจากทำสวนชมน่านฯ เสร็จแล้ว ก็อยากสร้างสวนสาธารณะเพื่อให้เป็นแหล่งนันทนาการ ซึ่งเวลานั้นมีมติ ครม.ให้กรมราชทัณฑ์มอบพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้แล้ว ให้ท้องถิ่นนำไปจัดสร้างเป็นสวน เราจึงได้ทำเรื่องขอกรมราชทัณฑ์สร้างขึ้นเป็นสวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีสวนกลางเมืองบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นอีกจุดที่สร้างความสวยงามให้เมือง ซึ่งกำลังจะพัฒนาให้เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับใจกลางเมือง”

Advertisement

สำหรับเรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนทันที เป็นเรื่องของการจัดการขยะและมูลฝอย น้ำเสีย และมลพิษในอากาศ จากก่อนหน้านี้ที่ขยะในแต่ละวันมีปริมาณเยอะมาก จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ภายใต้โครงการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน กระทั่งสามารถลดปริมาณขยะจาก 200 ตันเหลือเพียง 70-80 ตัน ส่วนปัญหาน้ำเสียมีองค์การกำจัดน้ำเสียเป็นผู้บริหารจัดการน้ำเสียทั้งหมด เนื่องจากมีบุคลากรและมีความรู้ความชำนาญกว่าท้องถิ่น ปัจจุบันมีการจัดการน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่เรื่องที่น่ากังวล ดร.เปรมฤดีบอกว่า เป็นปัญหาของฝุ่น PM2.5 ของพิษณุโลกที่หนักกว่าที่อื่น โดยเฉพาะปีนี้อยู่ในระดับสีส้มกับสีแดงเกือบตลอดเวลา มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 ในเมืองจำนวน 8 จุด และนำเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองอนุภาคของฝุ่นจิ๋วได้ 90% เวลานี้กำลังทดสอบ 2 จุด หน้าโรงพยาบาลพระพุทธชินราช กับบริเวณที่พักผู้โดยสารหลังวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช

พัฒนาสังคม ดูแลคุณภาพชีวิตคนทุกเพศทุกวัย

ผลจากการทำงานตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้สภาพบ้านเมืองสะอาดสวยงาม มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครอบคลุมหลากหลายมิติ ขณะที่เรื่องการดูแลประชาชนในพื้นที่ ดูแลสังคม เรื่องนี้ ดร.เปรมฤดีก็ผลักดันให้เกิดขึ้นในหลากหลายนโยบายเช่นกัน

“เทศบาลไม่ได้มีหน้าที่เพียงดูแลโครงสร้างพื้นฐานกับสิ่งแวดล้อม แต่ให้ความสำคัญคุณภาพชีวิตของประชาชนซึ่งแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม แต่เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เมื่อพี่น้องประชาชนเจ็บป่วยต้องไปที่โรงพยาบาล ซึ่งเรามีศูนย์ใกล้บ้านใกล้ใจ ศูนย์ดูแลสุขภาพประชาชน 4 แห่ง มีพยาบาลวิชาชีพอยู่ประจำศูนย์ ดูแลทั้งสุขภาพคนทั่วไปและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จากการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแล เช่น รัฐบาลจ่ายให้ 42 บาท เทศบาลก็เติมให้อีก 42 บาท”

“เวลานี้กำลังทำโครงการจัดสร้างศูนย์บริการผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ที่สวนเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับบริการในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ นันทนาการ ฯลฯ อย่างใกล้ชิดธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีเรื่องคุณภาพชีวิตผู้คนในเขตเมือง เช่น มีการกำหนดนโยบายให้เทศบาลนครพิษณุโลกเป็น ‘นครปลอดโรคพิษสุนัขบ้า’ โดยมีศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด และการควบคุมประชากรสุนัขทำให้สุนัขจรจัดลดลง จนทำให้ไม่มีคนป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า”

ความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นอีกเรื่องสำคัญ โดยมีศูนย์ท้องถิ่นสำหรับดูแลการเกิดอุบัติเหตุในเขตเมืองตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด และเทศกิจช่วยดูแลทรัพย์สินและความปลอดภัย 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุฉุกเฉินเวลากลางคืนก็สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทันที

“สถานีดับเพลิงปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์บริการสำหรับรับแจ้งเหตุและช่วยเหลือ มีการติดตั้ง CCTV ครบทุกจุดพร้อมประสานงานและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำเรื่องของ Safety Zone ดังนั้นคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในทรัพย์สินซึ่งเป็นหน้าที่ของเทศบาลจึงเป็นสิ่งที่ทำกันเต็มที่”

พัฒนาการศึกษา ประเพณีและวัฒนธรรม

นโยบายด้านการพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องให้สำคัญเช่นกัน โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครพิษณุโลกมีจำนวน 5 โรงเรียน และ 2 ศูนย์เด็กเล็ก ทุกโรงเรียนเป็นไปตามนโยบายการจัดการด้านการศึกษาของเทศบาลนครพิษณุโลก ประกอบด้วย 3 แข็งแรง ได้แก่ ‘ด้านสุขภาพอนามัยแข็งแรง’ อาหารประจำมื้อจะต้องได้คุณภาพครบหมู่ ‘ด้านวิชาการแข็งแรง’ หากมีวิชาการด้านใดที่ยังอ่อน จะตั้งงบเพื่อสนับสนุนทันที 

และ ‘ด้านศิลปะวัฒนธรรมแข็งแรง’ ที่นอกจากมีการเรียนการสอนเรื่องศิลปะวัฒนธรรมแล้ว ยังเน้นการรำไทย  มีการเชิญครูวิทยาลัยนาฎศิลป์จากกรุงเทพฯ มาสอน จนเด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาลได้ชื่อว่ารำไทยได้อย่างสวยงาม รวมถึงส่งเสริมให้โรงเรียนสนับสนุนเด็กๆ ที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยตั้งป็นวง

เทศบาลยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยมีสำนักการศึกษาป็นผู้ดูแลในด้านวัฒนธรรมและศาสนา มีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนตลอดทั้งปี สนับสนุนทุกงานประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก ทั้งลอยกระทง แข่งเรือ เป็นต้น

พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ริมน้ำ

เพราะสายน้ำคือวิถีชีวิตคนไทยในอดีต เช่นเดียวกับ ‘สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ’ ส่วนหนึ่งของคำขวัญที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นเมืองสองแคว แต่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงไม่มาก โดยเทศบาลนครพิษณุโลกกำลังมีแผนฟื้นฟูวิถีชาวแพ พร้อมพัฒนาให้เป็นเรือนแพที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว

 รวมถึงวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำ จะได้รับการพัฒนาให้มีความสวยงาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบวิถีริมน้ำ เช่น วัดจันทร์ตะวันตกที่มีมหาวิหารสมเด็จองค์ปฐม มหาวิหารศักดิ์สิทธิ์ในรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมวิจิตรงดงาม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนของพิษณุโลก โดยต่อไปอาจมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ

พร้อมแล้วที่จะเป็น MICE Cities 

เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของเมืองที่มีความพร้อมจะเป็น MICE Cities หรือเมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ เทศบาลนครพิษณุโลกได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเฉพาะบริเวณสวนกลางเมืองซึ่งประกอบไปด้วยลานพลับพลาที่ประทับสีตลาภิรมย์ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และจุดอื่นๆ ที่จะได้รับการปรับปรุงให้เป็นเมืองที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเกิดขึ้น 

มีการสร้างแหล่งเศรษฐกิจ เช่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวในยามค่ำคืน ‘ไนท์พลาซ่า’ ซึ่งมีมากว่า 20 ปี ก่อนหน้านี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม กลายเป็นแหล่งมั่วสุม เวลานี้ได้รับการปรับปรุงให้ดูดีขึ้น มีลานเศรษฐกิจใหม่ บวกกับตลาดใต้ ตลาดเก่าแก่ของพิษณุโลก มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน และยังเป็นแหล่งที่มีวิถีวัฒนธรรมชุมชนชาวจีน ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่จนปัจจุบันนี้ ได้มีการจัดตั้งเป็น ‘ตลาดวัฒนธรรม ย่านตลาดใต้’

“ในส่วนตลาดของเทศบาลมีทั้งหมด 5 ตลาด พัฒนาให้เป็นตลาดสดน่าซื้อ มีถนนคนเดิน ถนนอาหารสุขภาพ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งก็ได้รับการพัฒนาด้วย เพื่อให้เป็นเมืองทันสมัย สอดรับกับวิถีคนท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในวันข้างหน้า บวกกับการที่พิษณุโลกจะเป็น MICE Cities  ก็จะต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนารูปแบบการบริการพี่น้องประชาชนด้วย”

จากนครน่าอยู่สู่นครอัจฉริยะยั่งยืน

การบริหารงานที่จะผลักดันให้เทศบาลนครพิษณุโลกเป็นนครอัจฉริยะยั่งยืน หรือ Smart City นั้น หญิงแกร่งนักพัฒนาเผยว่า ประกอบไปด้วยการส่งเสริมให้องค์กรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน กับการนำเทคโนโลยีมาใช้บริการประชาชน เช่น การทำให้สวนสาธารณะเป็น Smart Garden ติดตั้งสัญญาณขอความช่วยเหลือ SOS ติดตั้งกล้อง CCTV สัญญาณไวไฟ ที่จอดรถอัจฉริยะ ที่พักผู้โดยสารอัจฉริยะติดตั้งเครื่องกรองอากาศ และกำลังจะติดตั้งสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ

ต้องกระจายอำนาจเพื่อให้ก้าวไปไกล

นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นแบบรวมศูนย์ ทำให้อำนาจของท้องถิ่นไม่มีอิสระ ขณะที่คำว่าการกระจายอำนาจหมายถึงการกระจายงบประมาณ บุคลากร งาน และการตัดสินใจ 

“ถ้าองค์กรท้องถิ่นไม่ต้องการพัฒนาเมือง ทำงานกันแบบเช้าชามเย็นชามก็ได้ แต่ด้วยความหวังของคนในพื้นที่ แล้วเราเป็นผู้แทนประชาชน เป็นคนพิษณุโลก ก็ตั้งใจให้ที่นี่ก้าวไปไกลกว่านี้ แต่ติดขัดที่อำนาจและงบประมาณ จากที่ได้รับจากรัฐบาล ส่วนใหญ่ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องการให้ทำอะไรบ้าง เช่น เงินเดือนครู อาหารกลางวัน ผู้สูงอายุ จึงทำให้เทศบาลไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ขอให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณท้องถิ่นมากกว่านี้ หรือบางเรื่องรัฐบาลควรจะต้องทำเอง”

แม้แต่งานบริหารบุคคล วันนี้รัฐบาลพยายามเน้นอำนาจในการบริหารงานบุคคลข้าราชการของท้องถิ่นไปอยู่ในมือตัวเอง การแต่งตั้งบุคลากรที่ทำงานดีหรือต้องการให้เติบโตในสายงานที่นี่ จึงไม่สามารถทำได้ เพราะอำนาจการดูแลตรงนี้ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง

“อีกเรื่องคือกรอบอำนาจกฎหมาย ปัญหาในการทำงานส่วนใหญ่ไม่มีใครท้อ แต่อำนาจตามกฎหมาย และงบประมาณบางครั้งไม่เพียงพอต่อการดูแลประชาชน เราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกือบหมดแล้ว ต่อไปคือการดูแลรักษา อย่างถนนคอนกรีตอาจใช้ระยะเวลานานกว่าจะต้องซ่อมแซม แต่ท่อระบายน้ำต้องหมั่นลอกท่อ หรือต้นไม้ถ้าไม่ดูแลรักษาก็ต้องตาย สวนต่างๆ ที่ทำขึ้นแล้วต้องดูแลไปตลอด ที่สำคัญคือต้องเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนให้สะดวกสบายมากขึ้น”

“ด้านการเปลี่ยนแปลงทั้งเมือง รูปแบบการค้าขาย เศรษฐกิจ การขยายการเติบโตของเมือง ไปจนถึงวิถีชีวิตผู้คน ช่องว่างระหว่างวัยของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เริ่มมากขึ้น จึงเป็นภาระที่ต้องคิดทบทวนเช่นกันว่า จากจุดนั้นมาถึงจุดนี้ แล้วจากจุดนี้ไปข้างหน้าต้องทำอย่างไรเพื่อให้เมืองคงความเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ เป็นศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน แล้วเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค ภาคเหนือ ทั้งหมดนี้คือโจทย์ที่เทศบาลยังคงต้องคิดต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image