‘โชคชัย พนมขวัญ’ ยกระดับเมืองแพร่ พัฒนาท้องถิ่นอย่างรอบด้าน

ถึงเป็นเพียงจังหวัดเล็กๆ ของภาคเหนือ แต่ ‘แพร่’ ก็อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่บริสุทธิ์สวยงาม เป็นเมืองเก่าที่มากมายไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ทั้งวัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดพระธาตุช่อแฮ่ วัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จนมีคำกล่าวว่า หากมาเยือนที่นี่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่

ในขณะเดียวกัน ดินแดนตอนใต้สุดของอาณาจักรล้านนาแห่งนี้ ก็ได้รับการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจปากท้องพี่น้องประชาชน ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมืองแพร่ในทุกระดับ

โชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแล และพัฒนายกระดับพื้นที่แห่งนี้อย่างรอบด้าน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้านต่างๆ 

ประชาชนใส่บาตร

Advertisement

ของดีพื้นถิ่นและเมืองเก่า มรดกล้ำค่า

“ที่นี่เป็นเมืองเก่าที่มีอัตลักษณ์ ยึดถือประเพณีวัฒนธรรมของตัวเอง เรามีกำแพงเมืองยาว 4 กิโลเมตรค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งคูเมือง มีวัดหลายแห่ง ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่สามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนแพร่ได้ตลอดทั้งปี แล้วก็มีรถรางพาเที่ยวชมตามจุดต่างๆ เป็นต้นว่า ท่องเที่ยววิถีชุมชนเมืองเก่า ผ่อบ้าน แอ่วเวียง” โชคชัยเริ่มต้นเล่าถึงของดีเมืองแพร่

เขาบอกว่า อีกผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นอย่างผ้าม่อฮ่อม บ้านทุ่งโฮ้งเป็นแหล่งผลิตผ้าม่อฮ่อมที่ใหญ่ที่สุด เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทพวนบ้านทุ่งโฮ้งมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งรูปแบบและเทคนิคมากมาย

Advertisement

“นอกจากผ้าม่อฮ่อมแล้ว เทศบาลกำลังส่งเสริมการพิมพ์ผ้าโดยใช้ ECO Print เป็นการใช้ใบไม้มาทับบนผ้า ทำเป็นลวดลาย ทุกผืนจึงเป็นเอกลักษณ์ตามแต่จินตนาการของคนทำ จากนั้นก็นำมาทำกระเป๋า ผ้าพันคอ เสื้อผ้าต่างๆ ฯลฯ เป็นการสร้างสรรค์จากวัตถุดิบตามธรรมชาติ และมีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เวลานี้กำลังเพิ่มช่องทางร้านค้าออนไลน์ ช่วยให้ชาวบ้านมีตลาดเพื่อรองรับการผลิต สามารถดึงเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชน”

และอีกประเพณีที่น่าชื่นชมอย่างการตักบาตรบนเมกทุกวันพุธ คำว่า ‘เมก’ หมายถึงกำแพงเมืองโบราณของเมืองแพร่ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี และมีเสียงพ้องกับคำว่าเมฆที่อยู่บนท้องฟ้า การตักบาตรบนเมก นายกเมืองแพร่บอกว่า เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ได้ทั้งบุญ กุศล และคติธรรม เป็นประเพณีที่ชาวเมืองแพร่พร้อมใจกันสืบทอดมาหลายสิบปีแล้ว

มุ่งมั่นขับเคลื่อนเมือง แก้ไขปัญหาอย่างจริงใจ

“แพร่เป็นเมืองเก่าอายุกว่าพันปี ชาวบ้านมีความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ใช้ชีวิตสุขสงบแบบ Slow Life ปัญหาหลักเวลานี้เป็นเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ มีประชากรกลุ่มประมาณ 24% ที่ต้องดูแลโดยเฉพาะ แล้วเราก็ดูแลแก้ไขเรื่องของเศรษฐกิจปากท้อง ปัญหาใหญ่คือเด็กเรียนจบแล้วจะเลือกไปทำงานที่ต่างจังหวัด ทำให้เหลือประชากรวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุ”

ปัญหาจากลักษณะทางกายภาพของจังหวัด เช่น แม่น้ำยม ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม มาจากสาเหตุต่าง เช่น ฝนตกแล้วระบายไม่ทัน แต่ทุกวันนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีเรื่องของน้ำป่า ด้วยภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบ เมื่อฝนตกหนักในป่า น้ำจะทะลักเข้าสู่เมือง ซึ่งแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง และถ้าฝนตกในปริมาณหนักที่พะเยา ปริมาณน้ำที่ค่อนข้างสูงจะต้องผ่านแพร่ แต่เวลานี้ก็ได้เตรียมระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ ในอนาคตแล้ว

ถนนเจริญเมืองกำลังดำเนินการปรับภูมิทัศน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณช่วงปลายปีนี้ ถนนจะไม่มีสายไฟฟ้ารกรุงรัง เรื่องของแสงสว่างจะมีการเปลี่ยนหลอดไฟแบบเดิมที่สว่างน้อยเป็นหลอด LED

 จะมีการปรับปรุงฟุตบาทให้คนพิการใช้งานได้อย่างสะดวก มีกล้อง CCTV ของตำรวจเชื่อมหากันกับกล้องของเทศบาล เน้นความปลอดภัยของถนนหนทางต่าๆ ในเมือง คอนเซ็ปต์คือ ผู้หญิงเดินคนเดียวในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย

ใส่ใจดูแลประชาชนเสมือนญาติมิตร

นายก ทม.แพร่ เล่าถึงงานบริการประชาชน ดูแลครอบคลุมตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนคลอดเป็นทารก ให้คำแนะนำวิธีดูแลคุณแม่และลูกน้อย ควรกินอาหารชนิดไหนที่เป็นประโยชน์ คลอดแล้วก็ดูแลว่าต้องฉีดวัคซีนอะไรบ้าง เมื่อเติบโตอยู่ในวัยเรียนก็มีโรงเรียนเทศบาล หรือหากไม่ใช่โรงเรียนสังกัดเทศบาล แต่อยู่ในพื้นที่ก็จะมีเจ้าหน้าที่เทศบาลช่วยดูแล

สำหรับผู้สูงอายุ อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า เป็นประชากรกลุ่มต้องดูแลโดยเฉพาะ พยายามไม่ให้เป็นผู้ป่วยติดเตียง มี ‘ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุกลางวัน’ หลักสูตรกิจกรรมในแต่ละวัน ประกอบด้วย การปฏิบัติธรรม การฝึกทักษะทางสมอง ดนตรีบำบัด และนันทนาการ อบรมให้ ความรู้ด้านกฎหมาย และความรู้ด้านสุขภาพ เป็นต้น 

“แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ แล้วลูกหลานต้องไปทำงานที่ไกลๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ไปช่วยทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าปูที่นอน มอบสิ่งของไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเทศบาลจะทำงานแบบประสานกับพัฒนาสังคม ตรวจเยี่ยมแบบใกล้ชิดเหมือนญาติพี่น้อง หรือถ้ามีอะไรต้องซ่อมแซม เช่น บันไดผุพัง ก็ส่งเจ้าหน้าที่กองช่างของเทศบาลไปปรับปรุงช่วยเหลือ”

“อีกอย่างหนึ่งที่เน้นคือ การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ต้นเหตุ เพราะทุกวันนี้จะรักษากันที่ปลายเหตุ อย่างโรคไม่ติดต่อ NCDs ที่คนไทยเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก 3 อ. ออกกำลังกาย อารมณ์ อาหาร เราจึงนำเครื่องออกกำลังกายมาตั้งให้บริการประชาชนทั้งที่ริมฟุตบาท ตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ก้าวออกจากบ้านแค่ 3 ก้าวก็ออกกำลังกายได้เลย มีการแข่งขันกีฬาแบบต่อเนื่อง ออกกำลังกายวันละครึ่งชั่วโมง สะสมไปเรื่อยๆ ใครสะสมได้สูงสุด ก็ได้รางวัล เป็นการสนับสนุนให้ออกกำลังกาย”

ความใส่ใจดูแลประชาชน ยังสะท้อนถึงบริการในยามที่เจ็บป่วยแล้วต้องไปโรงพยาบาล ตรวจเสร็จต้องรอรับยา ใช้เวลารอไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง เทศบาลจึงร่วมมือกับโรงพยาบาลแพร่ ให้ตรวจเสร็จกลับบ้านได้เลย จะมีเจ้าหน้าที่ไปรับยาแล้วนำไปส่งให้ที่บ้าน ช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลได้ด้วย

“หลายคนเรียนจบแล้วไปทำงานที่อื่น อยากกลับมาอยู่บ้านแต่ติดขัดด้วยไม่มีอาชีพ ก็มาคิดว่าแพร่มีกาดหลายแห่งที่เป็นตลาดชุมชน ถนนคนเดิน อย่างกาดฮิมเมก กาดสามวัย กาดพระนอน-กาดกองเก่า ก็มาจัดสรรเปิดพื้นที่ให้สำหรับคนมีไอเดียขายสินค้าสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือเป็นสินค้าที่ต่อยอดจากของกินท้องถิ่นได้ ตลอดจนคิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เที่ยวได้ทั้ง 7 วัน เป็นการส่งเสริมและสร้างต้นทุนให้พี่น้องประชาชนในเรื่องปากท้องได้อีกทางหนึ่ง” 

โรงเรียนและเยาวชนคนรักษ์โลก

เทศบาลเมืองแพร่มีโรงเรียนในสังกัด 5 แห่ง แบ่งเป็นมัธยมศึกษา 1 แห่ง ประถมศึกษา 4 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะ 1 แห่ง รวมถึงยังมีอีก 4 ศูนย์ที่อยู่ในโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนนอกสังกัดเทศบาล มีทั้งโรงเรียนระดับประถมและโรงเรียนระดับมัธยม

“นอกจากเรื่องของการศึกษาแล้ว โรงเรียนของเทศบาลยังมุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การทำโครงการบอกลาแก้วน้ำ เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติก กับโครงการ Zero Waste เวลาทำอาหารจะให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด และที่เป็นความภูมิใจอย่างยิ่งก็คือ โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านเชตะวันได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน 1 อปท. 1 นวัตกรรม จัดการขยะชุมชน ปี 2562” 

“และโรงเรียนเทศบาลวัดสวรรคนิเวศ กับรางวัลโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ประจำปี 2565 จนถึงวันนี้ยังได้ดำเนินในเรื่องการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง สานต่อนวัตกรรมการจัดการขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์อย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำโครงการหนูน้อยปลูกผักรักษ์โลกเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”

พัฒนาทุกช่องทาง วางรากฐานให้เมืองแพร่

ไม่เพียงการพัฒนานอกบ้าน แต่ในบ้านหรือภายในสำนักงานเทศบาลเมืองแพร่ ยังมีการยกระดับบริการเพื่อพี่น้องประชาชน โชคชัยบอกว่า แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ด้านแรกคือบุคลากรที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว และจริงใจ การันตีงานบริการทะเบียนราษฎรด้วยการที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองแพร่ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ บุคลากรดีเด่นทางการทะเบียนประจำสำนักทะเบียนดีเด่นในปี 2562

อีกด้านเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย รวดเร็ว และถูกต้อง เพราะทะเบียนราษฎรเป็นงานสำคัญ มีการรณรงค์ให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตนและใช้งานแอปพลิเคชั่น Thai D เพราะสามารถขอรับบริการภาครัฐได้ทุกที่ทุกเวลา

“งานทะเบียนราษฎรดิจิทัลในเร็วๆนี้ กำลังดำเนินการให้ขอทะเบียนราษฎรผ่านออนไลน์ หรือบางคนเดินทางไม่สะดวก ก็ประสานงานกับงานทะเบียนของจังหวัด อำนวยความสะดวกในการทำบัตรประชาชนที่บ้านได้”

ที่ทันสมัยไม่แพ้เมืองใหญ่ เป็นการเปิดรับแจ้งเหตุผ่าน Traffy Fondue แพลตฟอร์มรับเรื่องให้ประชาชนแจ้งปัญหาที่พบเจอ เมื่อได้รับแจ้งหตุ เทศบาลจะประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลทันที

ส่วนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ เช่น งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ต้องช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว มีพนักงาน 24 ชั่วโมง มีการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น อบต. ซึ่งมีรถดับเพลิง เวลาเกิดเหตุที่เคยตัวใครตัวมัน วันนี้เราจับมือเซ็นเอ็มโอยู ถ้าเกิดเหตุ ให้ไปทันที คันที่ตามไปจะต้องช่วยเหลือส่งน้ำให้คันที่อยู่ใกล้เพลิงไหม้ที่สุด

การกระจายอำนาจ ลดอุปสรรคงานบริการประชาชน

นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ให้ความเห็นถึงการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานบริการประชาชนว่า อยากให้มีการกระจายอำนาจทั้งเรื่องคนและงบประมาณ ให้เป็นเงินสนับสนุนทั่วไป เพื่อให้เทศบาลคิดหรือทำอะไรตามความต้องการในท้องถิ่นได้ รวมถึงการคัดสรรบุคลากร ขอให้เป็นอำนาจภายใต้ท้องถิ่นจัดสรรบุคลากรเอง เพราะปัญหาทุจริตเกี่ยวกับเรื่องใช้งบประมาณมีเพียงส่วนน้อย ฝากถึงรัฐบาลใหม่ขอให้มีการกระจายอำนาจจริงๆ

“สำหรับแผนงานในอนาคตของเทศบาลเมืองแพร่ คิดว่าจะต้องเดินหน้าเรื่องการพัฒนาให้เป็นศูนย์ราชการสะดวก นอกจากทำงานด้วยใจ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยแล้ว การทำงานต้องเร็ว ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการจะมีความรู้สึกเป็นมิตร มีความสุข และการให้ความสำคัญการศึกษาของเยาวชน การทำงานของคนในพื้นที่ วัยทำงานต้องมีพื้นที่ให้เขามาค้าขายได้ ผู้สูงอายุจะมีการให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี” 

“การท่องเที่ยวของแพร่มีจุดขายสำคัญคือความเป็นเมืองศิลปะล้านนาที่ย้อนอดีตไปนับเป็นพันปี มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่น นอกจากเสื้อม่อฮ่อมแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ไม้สัก และภูมิปัญญาในการต้มสุราเพื่อใช้ในการดองยา มีคูเมืองหรือคลองซึ่งผู้ว่าฯ มีแนวคิดพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สนับสนุนให้มีร้านค้า กลางคืนก็มาเดินเล่น  จับจ่ายใช้สอย เป็นอีกเป้าหมายในการพัฒนาเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image