วิชิต ศรีชลา นักพัฒนานครระยองยุคใหม่ หัวใจคือประชาชน

จากการมุ่งมั่นทำงานภายใต้สโลแกน นครระยองยุคใหม่ หัวใจคือประชาชน เมื่อครั้งท้าชิงเก้าอี้นายกเล็ก พิสูจน์ด้วยผลงานที่ลงมือทำอย่างจริงจังจนครองใจพี่น้องชาวนครระยอง กระทั่ง วิชิต ศรีชลา นายกเทศมนตรีนครระยอง ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่สามารถเปลี่ยนเมือง พัฒนาสู่สังคมแห่งความสุขและปลอดภัยได้อย่างแท้จริง 

วิชิตเล่าภาพรวมของจังหวัดระยองที่มีจุดขายทั้งในด้านการเกษตร เป็นแหล่งผลิตทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ไทยที่สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก อาหารซีฟู้ดที่จับกันสดๆ จากทะเลไทย ด้านการท่องเที่ยวมีเกาะเสม็ดอันโด่งดัง ในด้านอุตสาหกรรมนอกจากเป็นที่ตั้งของโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งแล้ว ยังเป็นหนึ่งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC 

และในด้านวัฒนธรรม ด้วยการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และสมบัติพื้นถิ่นดั้งเดิม เช่น หนังใหญ่วัดบ้านดอน วัดลุ่มพระอารามหลวง ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน และอุทยานการเรียนรู้ เป็นต้น

ในส่วนพื้นที่การดูแลของเทศบาล หลังจากที่ทีมลูกระยองพัฒนาได้เข้ามาทำงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ประชาชนได้เห็นแบบจับต้องได้ก็คือ เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก บ้านเมืองสะอาด เหล่านี้เรายึดเป็นนโยบายหลัก ถนนเส้นไหนชำรุดทรุดโทรม เป็นหลุมบ่อ เร่งลงมือแก้ไขทั้งหมด หลอดไฟต่างๆ ก่อนหน้านี้เป็นหลอดนีออนก็เปลี่ยนมาใช้หลอดแอลอีดี เพิ่มความสว่างเพื่อความปลอดภัย จนมีคนบ่นว่า ทำไมสว่างเหลือเกิน (หัวเราะ)” 

Advertisement

อีกสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน เป็นความแตกต่างของถนนในเขตเทศบาลกับถนนอื่นๆ มาจากการออกแบบเลนพิเศษ (Emergency lane) สัญลักษณ์เส้นประสีแดง เพื่อลดปัญหาความล่าช้าของรถฉุกเฉินในการรับ-ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล รวมทั้งให้รถฉุกเฉินประเภทต่างๆ เช่น รถดับเพลิง รถอาสากู้ภัย รถภารกิจด่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สามารถวิ่งไปยังที่เกิดเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นที่แรกในประเทศไทย

และที่เขาย้ำคือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตประชาชน นายกเล็กนครระยองบอกว่า ไม่ว่าบ้านเมืองจะถูกพัฒนาให้เจริญรุดหน้าอย่างไร แต่ประชาชนต้องไม่อดอยาก ต้องสร้างงานให้มีรายได้ ช่วยคนในท้องถิ่นนำสินค้าพื้นบ้านหรือของดีมีอยู่ มาพัฒนาให้เป็นสินค้าโอทอป ช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ เพื่อให้ชาวนครระยองอยู่ดีกินดีกันถ้วนหน้า

Advertisement

ขยายปอดเมืองให้ชาวนครระยอง

‘สวนศรีเมือง’ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่มีคนมาใช้บริการแต่ละวันนับพัน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ มาออกกำลังกายเดินวิ่ง เต้นแอโรบิค รำกระบี่กระบอง มีเครื่องเล่นสำหรับเด็กๆ สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล ฯลฯ เขาสร้างความอุ่นใจให้แก่คนที่มาด้วยการติดตั้งไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง มีกล้องวงจรปิด 40 ตัว เช่นเดียวกับที่สวนสาธารณะแหลมเจริญ สวนสาธารณะโขดปอ และสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯ

และสถานที่สำคัญอย่าง ‘ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนพระเจดีย์กลางน้ำ’ หรือป่าชายเลนเมืองระยองที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนหน้านี้เป็นผืนป่าเสื่อมโทรม มีประชาชนบุกรุก เข้ามาตัดไม้ แต่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยต้นแสม ต้นป่าโกงกางต่างๆ ที่ปลูกเสริมขึ้นมา เป็นอีกแห่งที่อากาศดีมากๆ กลายเป็นปอดหรือแหล่งผลิตออกซิเจนให้ระยอง

“ปัจจุบันที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งมีความน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ได้ดูความสวยงามของธรรมชาติป่าชายเลน ให้เดินชมทัศนียภาพได้อย่างรื่นรมย์บนสะพานไม้ทอดยาวกว่า 4 กิโลเมตร มีหอชมวิวเฉลิมพระเกียรติ มองเห็นวิวเมืองได้อย่างเต็มตา ได้เห็นเจดีย์กลางน้ำซึ่งสร้างในสมัยพระยาศรีสมุทรโภคชัยชิตสงคราม อดีตเจ้าเมืองระยอง ทุกปีจะมีประเพณีห่มผ้า มองมุมสูงจะเห็นความสวยงามได้อย่างชัดเจน”

ให้ความสำคัญการศึกษาและสาธารณสุข

เทศบาลนครระยองมีโรงเรียนในสังกัด 6  แห่ง มีคุณครูต่างชาติประจำโรงเรียน วิชิตมีความคิดว่า ไม่ต้องการให้คนมองว่าโรงเรียนเทศบาลเป็นโรงเรียนรอง แต่ต้องการเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งที่ผู้ปกครองต้องเลือกเป็นแห่งแรก ก่อนไปเลือกโรงเรียนอื่น 

“ถือว่าประสบความสำเร็จ เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมแล้วก็สามารถเข้าเรียนต่อในโรงเรียนประจำจังหวัดได้ ซึ่งเราก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาหรือพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ มีการจัดอบรมทั้งในและนอกสถานที่ตลอดทั้งปี”

เช่นเดียวกับการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเป็นที่ตั้งของคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งรองรับประชาชนในแต่ละวันได้พอสมควร ช่วย แบ่งเบาภาระให้โรงพยาบาลระดับจังหวัด แม้ไม่มีบริการผู้ป่วยใน แต่มีบุคลากรที่พร้อมสรรพทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด แพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนไทย บริการฝังเข็ม เครื่องเอกซเรย์ 

“คลินิกชุมชนอบอุ่นให้บริการอย่างเท่าเทียม มีการออกแบบทางเดินและรถเข็นเพื่อผู้สูงวัยและผู้พิการ หรือคนที่ไม่สามารถเดินทางได้ ก็มีการส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปรักษาที่บ้าน มีรถฉุกเฉินจัดเตรียมไว้ ตั้งใจว่า ในอนาคตข้างหน้าถ้างบประมาณเพียงพอจะขยายเพิ่มเฟส 2 เพราะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้รักษาเฉพาะประชาชนในเขตเทศบาลเท่านั้น แต่รักษาคนนอกเขตด้วย”

ทีมงานเทศบาลนครระยองทำงานกันแบบเชิงรุก  ส่งเสริม สนับสนุน และป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย โดเยฉพาะช่วงหน้าฝน ที่นี่มีการระบาดของไข้เลือดออกติดอันดับ 4 ของประเทศ เทศบาลทั้งรณรงค์ และส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปแต่ละบ้าน ดูว่ามีภาชนะสิ่งของอะไรบ้างที่ทำให้น้ำขัง เพราะจะกลายเป็นที่เพาะพันธุ์ลูกน้ำ ทั้งพ่นฉีดยาพ่นยุง และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ช่วงนี้ต้องระมัดระวังให้มากที่สุด

ท่องเที่ยวช่วยสร้างรายได้คนในพื้นที่

เมื่อพูดถึงจังหวัดระยอง ส่วนใหญ่อันดับแรกจะนึกถึงทะเลและหาดทรายสวย เป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องมาเยือน นอกจากเกาะเสม็ดอันโด่งดังแล้ว ที่นี่ยังมีหาดแหลมเจริญ สถานที่ท่องเที่ยวที่พักผ่อนของคนในพื้นที่ แม้แต่คนกรุงเทพฯ ก็เริ่มมาเที่ยวช่วงวันหยุดกันอย่างคึกคัก

“ก่อนหน้านี้หาดแหลมเจริญมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม หลังจากเข้ามาบริหารก็ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามสะอาดตา พร้อมๆ กับช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนในบริเวณนั้น ปัจจุบันกลายเป็นอีกหนึ่งหาดยอดฮิตของระยอง ในวันหยุดจะเนืองแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าว่า เทศบาลยินดีให้เปิดร้านค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ต้องรักษาความสะอาด และคงสภาพพื้นที่ไว้ ต้องเก็บขยะอย่าปล่อยทิ้ง ช่วยกันดูแลเหมือนเป็นบ้าน” 

ยึดมั่น ‘ประชาชนคือเจ้านาย’

ที่ทำการเทศบาลนครระยอง เป็นสถานที่ที่พร้อมให้บริการพี่น้องประชาชนด้วยไมตรีจิต ครบครันด้วยห้องทำงานของสำนักและกองงานต่างๆ โถงบริการประชาชน พร้อมติดตั้งระบบสาธารณูปโภคและดูแลภูมิทัศน์รอบๆ อาคาร บุคลากรเองก็ทำงานอย่างมีความสุข มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ พร้อมรับใช้ประชาชน เขาบอกว่า ยึดหลักบริหารจัดการภายใต้ธรรมาภิบาล เพราะส่วนหนึ่งมาจากการนำภาษีของประชาชนมาใช้ จึงได้ย้ำกับเจ้าหน้าที่ทุกคนตลอดเวลาว่า ประชาชนคือเจ้านาย ต้องทำงานโดยใช้หลักนิติธรรมและคุณธรรม

“ในการทำงานของเทศบาล ต้องพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ หากมีงบประมาณจะรีบทำทันทีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ตรงนี้อยากจะฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้สนับสนุนงบประมาณตามที่กฎหมายกำหนด ก็คือ 35% เพราะที่ผ่านมาได้รับเพียง 27-28% ไม่เพียงพอกับงบพัฒนา อีกเรื่องคือบุคลากรขาดแคลน ยกตัวอย่างตำแหน่งวิศวกรซึ่งมี 2 คน แต่ปริมาณงานแต่ละปีมีเป็นร้อยโครงการ เมื่อทำไม่ทัน งบประมาณจะตกเป็นเงินสะสม ชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์”

“คำว่ากระจายอำนาจ จะต้องให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริการจัดการเอง ทั้งเรื่องการสอบคัดเลือกบุคลากรที่จะบรรจุเป็นข้าราชการ คิดว่าเรื่องนี้หากรัฐบาลต้องการทำอย่างจริงจัง ต้องทำให้เต็มรูปแบบ ซึ่งสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทยกำลังผลักดัน เพราะได้รับผลกระทบประเทศ แล้วมีผลไปถึงคุณภาพชีวิตประชาชน ยิ่งท้องถิ่นได้รับงบประมาณ ก็ยิ่งพัฒนาได้มากขึ้น” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image