ธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี ชู 4 โมเดลพัฒนาสระบุรีเมืองน่าอยู่

เมืองเล็กๆ ที่เป็นทางผ่านระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ผสมผสานการเป็นเมืองเกษตรและมีโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญหลายแห่ง อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลายในแบบ Mixture Culture คนไทยทั้งเชื้อสายจีน ญวน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในแบบของเมืองน่าอยู่

นอกจากการเป็นเมืองน่าอยู่ สระบุรีกำลังจะก้าวไปอีกระดับ สู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ (Smart City) อย่างเต็มตัว ภายใต้การขับเคลื่อนของ ธีรรัตน์ จึงยิ่งเรืองรุ่ง นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี ที่ผู้คนเรียกขานกันว่า ‘นายกเชน ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการบริหาร และพัฒนาเทศบาลเมืองสระบุรี ด้วยวิสัยทัศน์ ‘ยกระดับคุณภาพคน ชุมชน เมือง เศรษฐกิจ และสังคม ให้ดีกว่าเดิมอย่างยั่งยืน’

“บนอาณาพื้นที่ 20.13 ตารางกิโลเมตร เทศบาลเมืองสระบุรีมีชุมชนอยู่อาศัยถึง 29 ชุมชน ต้องวางแผนการบริหารจัดการการดูแลตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายการสร้างเมืองน่าอยู่ กับการสร้างคนคุณภาพ ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์”

การสร้างเมืองน่าอยู่ ประกอบไปด้วยการพัฒนาเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชนและสังคม ดูแลเเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ต้องทำให้เมืองทันสมัยมีความน่าอยู่อาศัย สร้างความคึกคักให้ตลาดเทศบาลเมืองสระบุรีและตลาดอื่นๆ

Advertisement

ตลอดทั้งปีมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่ายใช้จ่าย เศรษฐกิจจะได้หมุนเวียน ส่วนการพัฒนาชุมชนและสังคม ถือเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับซึ่งเป็นหน้าที่ของเทศบาลเช่นกัน

ปั้นบุคลากรคุณภาพพัฒนาบ้านเกิด

นายกเชนย้ำถึงการให้ความสำคัญในเรื่องการสร้างคนคุณภาพมากที่สุด โดยยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดทั้ง 10 แห่งให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับยกตัวอย่างโรงเรียนเทศบาล 10 (อนุบาลเทศบาล) เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาคน มีการนำหลักสูตรโฟนิกส์ (Phonics) ซึ่งเป็นหลักสูตรสอนภาษาอังกฤษที่มีวิธีการออกเสียงตัวอักษรภาษาอังกฤษตามมาตรฐานสากลที่โรงเรียนนานาชาติใช้ รวมถึงโรงเรียนในต่างประเทศ

Advertisement

“เทศบาลนำคุณครูไปศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบของเทศบาลเมืองลำพูน ที่ประสบความสำเร็จด้านการเรียนการสอนเรื่องโฟนิกส์ พร้อมกันนี้ก็เชิญวิทยากรของเทศบาลเมืองลำพูนมาอบรมให้ครูของเรา เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กนักเรียนทุกคน ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก จนถึงโรงเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องเรียนทุกคนอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง ส่วนคุณครูไม่ว่าจะสอนวิชาไหนก็ต้องสอนโฟนิกส์ได้ทุกคน”

ในเดือนพฤษภาคมเปิดเรียนปีการศึกษา 2567 เขาวางแผนส่งเสริมโรงเรียนเทศบาล 9 วัดเขาคูบา นำร่องเกี่ยวกับความเป็นเลิศด้านกีฬา เปิดห้องพิเศษให้กับนักเรียนที่สนใจกีฬาฟุตซอล เซปักตะกร้อ เปตอง และวอลเลย์บอลชายหาด

“เหตุผลส่วนหนึ่งที่มุ่งเน้นด้านการศึกษาเป็นอันดับแรก เพราะมองว่า หากเด็กเลือกที่จะไปเรียนที่อื่น เมื่อเรียนจบเขาก็อาจจะไม่กลับมาบ้าน จึงต้องการสนับสนุนด้านนี้ เพื่อให้เด็กเรียนที่นี่พร้อมกับปลูกฝังจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เป็นการสร้างบุคลากรคุณภาพเพื่อมาพัฒนาบ้านเกิด”

สูงวัยในแบบสุขกันเถอะเรา

นอกจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของเมืองสระบุรี นายกเชนยังไม่ละเลยบรรดาผู้สูงอายุที่ในเทศบาลเมืองสระบุรีมีจำนวนกว่า 20% ของประชากร เขาจัดส่งทีมงาน อสม.เข้าไปดูแลผู้สูงอายุตามชุมชนต่างๆ ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ มีโครงการสุขกันเถอะเรา พัฒนาสุขภาพกาย-ใจ ชวนผู้สูงอายุออกมาร่วมกิจกรรมสันทนาการ ร้องเพลงกันอย่างสนุกสนานมีความสุข แล้วการมีสังคมก็ยังมีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้าอีกด้วย

ในอนาคตเทศบาลเมืองสระบุรีมีแผนสร้างศูนย์เดย์แคร์เพื่อดูแลและรับฝากผู้สูงอายุช่วงกลางวัน ส่วนใครที่มีกำลังเพียงพอ ทางเทศบาลยังเป็นสะพานบุญเชิญร่วมกันบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อนำไปแจกจ่ายผู้มีภาวะพึ่งพิงตาม 29 ชุมชน ช่วยให้เกิดเป็นสังคมแบ่งปันที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ชู 4 โมเดลพัฒนาเมืองน่าอยู่

ภายใต้นโยบายการสร้างเมืองน่าอยู่ วางรากฐานความสะดวกให้กับคนในชุมชน เขาได้กำหนดออกมาเป็น 4 โมเดล เริ่มจาก ‘ปากเพรียวปลอดภัย’ ติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่างทางสาธารณะให้ครอบคลุมพื้นที่ ปรับปรุงทางเท้าให้สะดวกปลอดภัย ถนนปราศจากหลุมบ่อ

‘ปากเพรียวสะอาด’ มีการบริหารจัดการระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอย พัฒนาระบบประปาเพื่อให้น้ำประปาสะอาด ไหลดี มีใช้ตลอดทั้งปี ปรับปรุงระบบให้สามารถบำบัดน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกำลังจะมีการปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อให้เทศบาลเมืองสระบุรีเป็นเมืองที่น้ำประปาดื่มได้ 

และที่ต้องถูกใจคนรักน้องหมาเป็นพิเศษ เพราะที่นี่มีศูนย์พักพิง-ช่วยเหลือสุนัขจรจัด จัดตั้งหน่วยพิทักษ์หมาแมว คอยสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนว่า บรรดาเด็กๆ สี่ขาก็อยู่ร่วมกันกับคนได้โดยที่พวกเขาจะไม่เป็นพิษภัยหรือสร้างความเดือดร้อนใดๆ เลย

“เราลงมือทำตามที่ให้คำมั่นเมื่อครั้งหาเสียงก่อนจะมานั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรี จากการฟังเสียงพี่น้องประชาชนที่สะท้อนว่า จะทำอย่างไรให้หมาแมวที่ไร้เจ้าของได้รับการดูแล”

ต่อมาคือ ‘ปากเพรียวทันสมัย’ พัฒนาแอปพลิเคชั่นการบริการของเทศบาล ให้ข้อมูลข่าวสาร และรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชน มีแอดมินรับเรื่องแล้วส่งต่อให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่ต้องเสียเวลาเข้ามาเขียนคำร้องหรือต้องผ่านขั้นตอนแบบเดิมๆ ขั้นตอนต่อไปกำลังจะทำจราจรอัจฉริยะ ด้วยการนำภาพจากกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ทั่วเมือง มารวบรวมแล้วแสดงผลในแอปพลิเคชั่น เมื่อเปิดแอปแล้วจะได้รู้ว่าบริเวณไหนที่การจราจรติดขัดเพื่อเลี่ยงไปใช้ทางอื่น

สุดท้ายคือ ‘ปากเพรียวน่าอยู่’ นำพื้นที่ว่างเปล่าที่รกร้างมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับกีฬา ดนตรี สันทนาการต่างๆ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเทศบาลเมืองสระบุรี ปรับปรุงผังเมืองเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองในอนาคต 

พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนวัดดาวเสด็จ

แม้ว่าเมืองจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยเป็นเมืองน่าอยู่แล้ว ในด้านเศรษฐกิจปากท้องพี่น้องประชาชนก็เป็นสิ่งที่นายกเชนให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

‘ชุมชนวัดดาวเสด็จ’ เป็น 1 ใน 29 ชุมชนภายใต้เทศบาลเมืองสระบุรีที่ได้รับการส่งเสริมให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการปลูกพืชผักสวนครัว โดยนายกเชนได้ช่วยต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ให้ความรู้การสร้างแบรนด์เพื่อหาตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อ

“ต่อไปเราจะทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีถนนคนเดิน จัดตั้งร้านค้าสวัสดิการชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านนำพืชผักสวนครัวเกษตรอินทรีย์มาจำหน่ายที่นี่ นักท่องเที่ยวก็ซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีจุดขายน่าสนใจอย่างพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำป่าสัก ในอดีตมีประวัติศาสตร์การสัญจรและค้าขายทางน้ำ เป็นชุมชนไทยญวนที่มีเมนูอาหารสืบทอดกันต่อๆ คิดว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอย่างมาก”

ซอฟต์เพาเวอร์ในพื้นที่กระตุ้นท่องเที่ยว

ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของเมืองสระบุรี นายกเชนส่งเสริม 6 กิจกรรมหลักในรูปแบบอีเวนต์เพื่อนำทั้ง 29 ชุมชนเข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีตามเทศกาลต่างๆ เช่น ตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ รดน้ำดำหัวเทศกาลสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ลอยกระทง ฯลฯ

“ในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกของการจัดเทศกาลตรุษจีนปากเพรียว ชวนพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีนออกมาจับจ่ายใช้สอย เราวางแผนว่าในกิจกรรมต่อๆ ไปที่เทศบาลสามารถจัดได้ เพื่อให้ชาวสระบุรีได้สืบสานประเพณีอันดีงาม ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมต่างๆ”

มีสถานที่อันซีนอย่าง‘วัดเชิงเขา’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด มีพระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโกที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา บนยอดสุดของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อแก้วปางประทานพรองค์ใหญ่ที่ชาวสระบุรีนิยมมาเคารพสักการะกราบไหว้ขอพร

เทศบาลเมืองสระบุรีสานต่อนโยบาย ‘บวร’ หรือบ้าน วัด โรงเรียน จากกระทรวงมหาดไทย ต้องทำให้วัดเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน มีโรงเรียนเทศบาล 6-วัดเชิงเขา เป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรม

เผยแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

นายกเชนย้ำถึงเป้าหมายการพัฒนาเมืองสระบุรีให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ ว่า ด้วยความที่เมืองสระบุรีขยายตัว มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก แต่ละชุมชนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันไป เราต้องศึกษาอย่างชัดเจนว่าจะพัฒนาไปในทางด้านไหน จึงได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อวิจัยศึกษาว่า เทศบาลเมืองสระบุรีมีศักยภาพด้านไหนที่โดดเด่น จะสามารถพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางใด

“เริ่มจาก 4 โครงการนำร่อง ได้แก่ การปรับปรุงสถานีขนส่ง เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง, ปรับปรุงอาคารวไลยอลงกรณ์ อาคารเก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ภายใต้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองสระบุรี, ปรับปรุงหอประชุมหลังเดิมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี ซึ่งเทศบาลได้รับถ่ายโอนการดูแลมาแล้ว เพื่อทำเป็นเอ็กซ์ฮิบิชั่น ฮอลล์ ใช้ประโยชน์สำหรับหน่วยงานราชการที่มีโรงเรียนในสังกัดจำนวนหลายแห่ง จัดงานนิทรรศการต่างๆ และโครงการปรับปรุงตลาดสดเทศบาล”

ย้ำพี่น้องประชาชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี

จากวันแรกของการทำงานจนถึงวันนี้ แม้ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่ในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี ที่มีความมุ่งมั่นให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม นายกเชนจึงไม่เคยถอดใจแม้แต่วันเดียว

นายกเชนยกตัวอย่างโรงเรียนเทศบาลมี 10 แห่ง แต่เวลานี้บุคลากรครูยังไม่เพียงพอ ยังไม่สามารถที่จะสอบครูในพื้นที่ ต้องใช้วิธีจ้างเหมาเป็นลูกจ้างรายชั่วโมง ยังขาดบุคลากรที่จะมาช่วยในด้านการศึกษา ตรงนี้ขอให้ผู้ใหญ่ได้พิจารณา อยากให้เห็นถึงความสำคัญด้านการศึกษาของเด็กไทย พร้อมกับย้ำว่า

“ทุกคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน จะทำอย่างไรให้เขาพอใจ ในภาพรวมบางคนได้ประโยชน์ แต่บางคนเสียประโยชน์ เราต้องมองส่วนรวมเป็นหลัก หากเกิดปัญหาในบางกลุ่มบางส่วน จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจว่าเทศบาลจะจัดการแก้ไขปัญหาให้อย่างไร” 

“ในภาพกว้าง ภารกิจที่ได้รับมอบหมายยังไม่สัมพันธ์กับงบประมาณ รวมถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นปัญหาใหญ่ที่เทศบาลอาจจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็พยายามทำตามที่ได้รับมอบหมายนโยบายจากรัฐบาลอยู่แล้ว แม้หลายอย่างทำได้ช้า ก็ต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป เทศบาลเมืองสระบุรีจะนำงบประมาณต่างๆ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image