กิติศักดิ์ วัฒนสิงห์ดำรงค์ นายกฯ หนองม่วง นักพัฒนาเมืองผู้ยึด ‘ประชาชนต้องมาก่อน’

“อยากทำเมืองหนองม่วงให้เป็นเมืองน่าอยู่ ควบคู่กับการศึกษาเยาวชน รักษาประเพณี รวมทั้งการจัดการบริหารที่ดีขององค์กร แต่ที่ชูเมืองน่าอยู่เป็นเรื่องแรก เพราะถือว่าประชาชนมีความสำคัญอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องการศึกษานั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอะไรก็ตาม ต้องพัฒนาคนก่อน ต้องให้การศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการพัฒนาคนในพื้นที่”

เป็นคำบอกเล่าของ กิติศักดิ์ วัฒนสิงห์ดำรงค์ นักพัฒนาคนสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในพื้นที่มาหลายสมัย ด้วยสร้างการเปลี่ยนแปลงของตำบลเล็กๆ อย่างตำบลหนองม่วง อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี ให้เป็นเมืองน่าอยู่ ภายใต้แนวคิดเชิงกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ ‘พัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้า สร้างการศึกษา และรักษาวัฒนธรรมประเพณีให้ยั่งยืน’

“ที่นี่ได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลตำบลหนองม่วงในปี 2542 การจัดตั้งสุขาภิบาลยุคก่อนจะอยู่ในเขตชุมชนหนาแน่น เมื่อปรับเป็นเทศบาล จึงยกเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่หนาแน่นของสุขาภิบาล พื้นที่เพียง 2 ตารางกิโลเมตร แต่ประชากรเกือบ 5,000 คน ส่วนใหญ่ค้าขายและการเกษตรเป็นอาชีพหลัก”

ที่ผ่านมา ปัญหาของพื้นที่อย่างถนนหนทางซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้รับการพัฒนา ไม่มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเครือข่ายองค์กรชาวบ้านเพื่อพัฒนากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ หลังจากที่เขาเข้ามาบริหารแล้ว จึงได้ลงมือเปลี่ยนแปลงเมืองให้มีความน่าอยู่ เช่น จากถนนลูกรังเป็นถนนคอนกรีต หรือราดแอสฟัลติกคอนกรีต ให้ประชาชนใช้ประโยชน์และสะดวกสบายขึ้น จนถึงปัจจุบัน

นายกเทศมนตรีตำบลหนองม่วง ย้ำอย่างภูมิใจว่า ถนนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลตำบลหนองม่วงปรับปรุงไปได้ 99% ส่วนไฟส่องสว่างตามทางก็ติดตั้งสมบูรณ์ 100% ครบทุกซอย เป็นแผงไฟโซลาร์เซลล์ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้

ADVERTISMENT

ดูแลตั้งแต่เด็กเล็กถึงวัยโต

เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของอนาคต เขามอบนโยบายให้ผู้บริหารและคณะครูของโรงเรียนจะต้องหมั่นหาความรู้วิชาการใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาการศึกษาให้เกิดประโยชน์ พร้อมกับกำชับคุณครูผู้สอนว่า นักเรียนทุกคนของโรงเรียนเทศบาลตำบลหนองม่วงอย่างน้อยจะต้องอ่านออกเขียนได้ จากนั้นถึงปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญู เสริมด้วยหลักสูตรนอกห้องเรียน ฝึกปลูกพืชผักสวนครัวซึ่งเป็นฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

แม้แต่หนูน้อยปฐมวัย ที่นี่ก็มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กช่วยดูแลโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเด็กในชุมชนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ไม่มาก ประสานงานกับกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลเพื่อให้หนูน้อยได้รับวัคซีนที่จำเป็นครบตามอายุ

ปากท้องอีกเรื่องต้องช่วยกัน

‘ศูนย์ผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มแม่บ้าน’ เป็นที่จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำด้วยมืออย่างสวยงามบรรจงจากฝีมือกลุ่มแม่บ้านหลังเสร็จจากงานหลัก อาทิ ตะกร้าถักจากเชือกมัดฟาง ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ที่สวยงามแปลกตานอกจากได้รับวิชาความรู้จากวิทยากรที่ทางเทศบาลสนับสนุนแล้ว ยังมาจากความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาแม่บ้านชาวหนองม่วงอย่างน่าทึ่ง ที่สำคัญช่วยสร้างรายได้เสริมในแต่ละเดือนได้ไม่น้อย

มีตลาดประชารัฐให้ชาวบ้านนำสินค้ามาจำหน่าย ทุกศุกร์มีตลาดนัดชุมชน แม้จะไม่ใหญ่แต่ก็สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับพื้นที่ได้เช่นกัน

สุขภาพดีเพราะออกกำลังกาย

ทั้ง 7 ชุมชนของเทศบาลตำบลหนองม่วงมีคนหลากหลายวัย นายกฯ หนองม่วง ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนออกกำลังกาย โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ควรมีสุขภาพที่แข็งแรง ห่างไกลจากยาเสพติด ด้วยการพัฒนาลานกิจกรรมชุมชนหนองม่วงให้เป็นจุดรวมตัวหลังเลิกเรียน แม้แต่ผู้ใหญ่วัยทำงานก็นิยมรวมกลุ่มมาออกกำลังกายที่นี่กัน มีไฟฟ้าส่องสว่างไสว เพิ่มความอุ่นใจให้กับคนที่เล่นกีฬาจนถึงดึก

รุ่นสูงวัยจะรวมกลุ่มเลือกกิจกรรมตามชอบ มีทั้งกลุ่มรำไท้เก๊ก กลุ่มรำไม้พลองวัดใหม่เจริญธรรม และกลุ่มผู้สูงอายุซอยเทศบาล 6 เป็นกิจกรรมเบาๆ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เริ่มสูญสลายตามวัย

สวนสาธารณะเทศบาลหนองม่วง ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับการปรับปรุง เดิมมีสภาพเป็นป่ารก เมื่อมีแนวคิดสนับสนุนให้ชาวบ้านสุขภาพแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย จึงปรับปรุงพื้นที่ส่วนหนึ่งมาสร้างฐานออกกำลังกายต่างๆ เช่น เดิน-วิ่งช่วงเช้าตรู่ ตกเย็นจะมีผู้คนมายืดเส้นยืดสายด้วยเครื่องเล่นสนามกลางแจ้ง ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบายจากต้นไม้ใหญ่ที่ยังคงรักษาไว้

บริหารจัดการขยะ Zero Waste 

“การกำจัดขยะถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ แต่ที่นี่มีการบริหารจัดการขยะเป็นศูนย์ เพราะเราลงมือทำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ด้วยพื้นที่บ่อขยะของเทศบาลมีเพียง 7 ไร่ ใช้งานตั้งแต่ยังเป็นสุขาภิบาล หากขาดการบริหารจัดการที่ดี ขยะคงสูงท่วมเป็นภูเขา”

นายกฯ หนองม่วง สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการมูลฝอย ทั้งลด คัดแยกขยะต้นทาง โลก ขณะเดียวกันก็เป็นตอบรับนโยบายจังหวัดสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยด้วยการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน 

กระบวนการคือนำเศษอาหารหรือขยะย่อยสลายได้ใส่ในถัง แล้วนำขยะอินทรีย์หรือขยะที่ย่อยสลายได้ใส่ถังปิดไว้ เพื่อย่อยสลายรวมกันไป ส่วนขยะที่เหลือบางส่วน เทศบาลขายเอกชนโดยผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งทำมากว่า 10 ปีแล้ว ส่วนที่เป็นขยะพลาสติกจะเข้ากระบวนการทำเป็น RDF แล้วขายให้โรงงานปูนซีเมนต์สระบุรีในราคาตันละ 30 บาท

ที่นี่จึงได้มีโอกาสต้อนรับผู้บริหารจากท้องถิ่นอื่นมาเยี่ยมชมรูปแบบและวิธีการบริหารจัดการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงอยู่หลายครั้ง

พร้อมสู่ ‘สมาร์ทซิตี้’ แต่ต้องกระจายอำนาจ

แม้เป็นเมืองเล็กๆ อยู่กันอย่างสงบสุข แทบจะไม่มีการลักขโมยหรือโจรกรรม แต่นายกฯ หนองม่วง ก็ตั้งเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เทศบาลตำบลหนองม่วงพัฒนาได้มากยิ่งกว่านี้

“เพียงอยากให้รัฐบาลกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีจะถูกกำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้จากรัฐบาลไว้แล้ว อย่างเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ นมโรงเรียน ค่าอาหารกลางวัน รวมอยู่ในก้อนงบประมาณที่ได้รับ แต่ท้องถิ่นต้องนำไปจัดสรรให้กับประชาชน ซึ่งไม่ควรนำมารวมในงบประมาณของเทศบาล ปัญหาอีกอย่างคือการขาดแคลนบุคลากรระดับปฎิบัติการ

แต่ถ้าเรามีความพร้อมทั้งงบประมาณและบุคลากร จะทำให้เทศบาลตำบลหนองม่วงมีโอกาสเป็นสมาร์ทซิตี้ได้”