‘เทพพร จำปานวน’ นักบริหารท้องถิ่นผู้คว้ารางวัลบริหารจัดการดีเด่น ‘น้ำประปาดื่มได้’

แม้เป็นเมืองบนพื้นที่เล็กๆ 7.63 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ 32 กิโลเมตร แต่ตำบลอาจสามารถ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังจะก้าวไปสู่ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart City 

ภายใต้การขับเคลื่อนของ ‘เทพพร จำปานวน’ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการวางนโยบายและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิผล ที่สำคัญ ได้รับการยืนยันเป็นเสียงเดียวจากชาวอาจสามารถว่า ที่นี่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นับจากนักบริหารท้องถิ่นคนรุ่นใหม่ท่านนี้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ

ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา คุณภาพชีวิต ตลอดจนการบริหารจัดการเปลี่ยนโฉมของเมืองไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นลำดับขั้นตอน

เป็นนักบริหารคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เพราะนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีสมัยแรกได้เพียง 3 ปี แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานตามความฝันที่อยากให้บ้านเกิดพัฒนา ซึ่งต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่โครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า ประปา จนถึงเรื่องคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่อย่างการศึกษา และการพัฒนาตลาดสด

Advertisement

จากน้ำประปาสีแดงขุ่น สู่น้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะ

เทพพรเริ่มต้นเล่าถึงเรื่องที่เทศบาลประสบความสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจก็คือน้ำประปา โดยเทศบาลตำบลอาจสามารถได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการดีเด่นประจำปีงบประมาณ 2566 จากนายกรัฐมนตรี รางวัลที่ 1 ในประเภทโดดเด่นจากนโยบาย ‘โครงการน้ำประปาดื่มได้’ คว้าเงินรางวัล 3,200,000 บาท

ที่มาของความตั้งใจพัฒนาโครงการน้ำประปาดื่มได้ เพราะในอดีตที่นี่มีสภาพน้ำประปาสีแดงขุ่น ไม่สามารถใช้อุปโภค-บริโภคได้ เป็นปัญหาของพื้นที่มาอย่างยาวนาน ช่วงที่หาเสียง เขาได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนนี้จากประชาชนเกือบทุกหลังคาเรือน และถูกฝากความหวังว่า หากได้มีโอกาสบริหารงานเทศบาลตำบล ขอให้ช่วยแก้ปัญหาน้ำประปาเป็นอันดับแรก

Advertisement

“ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ธงหรือโจทย์แรกที่ตั้งใจทำจึงเป็นเรื่องน้ำประปา เราประกาศต่อสื่อและสาธารณชนว่า จะพัฒนากระบวนการผลิตน้ำประปาให้ดื่มได้ภายใน 99 วัน ซึ่งทำได้ตามนั้นจริงๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นสูบน้ำจากแม่น้ำชีสู่ระบบผลิตน้ำประปา กระทั่งใสสะอาด สามารถดื่มได้ ผ่านค่ามาตรฐานทุกตัวชี้วัด”

และได้รับการรับรองจากกรมอนามัยให้เป็นน้ำประปาดื่มได้ ทุกวันที่โรงผลิตน้ำประปาอาจสามารถจะต้องมีการตรวจมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ พร้อมกับนำสถิติการวัดค่าน้ำประปาเผยแพร่แสดงผลทางเว็บไซต์เทศบาลให้ประชาชนเห็นด้วยตัวเอง

โจทย์ต่อมาที่เขาใช้ขับเคลื่อนพัฒนาการบริหารในพื้นที่ก็คือ เรื่องของเมืองอัจฉริยะ เริ่มจากยกระดับน้ำประปาดื่มได้ เป็น ‘น้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะ’ ทำให้ทุกอย่างเชื่อมประสานด้วยระบบ IoT ทั้งมิเตอร์ทั่วไป จากที่ต้องใช้พนักงานเดินจดมิเตอร์แต่ละบ้าน ออกบิล แล้วนำใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาไปหย่อน แต่วันนี้เปลี่ยนมาเป็นสมาร์ท มิเตอร์ ส่งเก็บข้อมูลบนระบบคลาวด์ สำนักงานเทศบาลสามารถเรียกดูได้แบบเรียลไทม์

แม้แต่การปรับปรุงซ่อมแซมถนนสัญจรไป-มา ที่นี่เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีเพียง 5 หมู่บ้าน งบประมาณจึงมีจำกัด แตกต่างจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีหลายหมู่บ้าน เขาจัดทำโครงการขอปรับปรุงถนนลูกรังซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 สาย เขียนเป็นแผนส่งถึงทางหลวงชนบทเพื่อขึ้นทะเบียน ทยอยปรับปรุงให้เป็นถนนคอนกรีต จนถึงวันนี้เหลือถนนลูกรังที่ต้องปรับปรุงไม่ถึง 10 สาย

ปูรากฐานการศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย

เมื่อระบบเมืองถูกพัฒนาจากโครงสร้างพื้นฐานเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่ง อีกนโยบายสำคัญต่อมา เป็นการวางรากฐานการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดอุบลบรทิพย์ สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลอาจสามารถ จากเดิมเรียกกันว่าโรงเรียนวัด มีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม รวมถึงเนื้อที่มีจำกัด เนื่องจากก่อสร้างตั้งแต่ปี 2518

“เพราะคอนเซ็ปต์ของเราคือต้องการให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นสถานที่มอบทั้งความสุขและความรู้ ขณะที่ศูนย์เดิมสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่งของท้องถิ่น ส่วนใหญ่บริหารไปตามงบประมาณที่ได้รับ ยิ่งเปรียบเทียบกับโรงเรียนเอกชนที่มีการพัฒนาการเรียนการสอนไปไกลก็ยิ่งแตกต่างกันมาก”

นายกฯ เทพพร ลงมือพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งใหม่โดยย้ายจากพื้นที่เดิม สร้างในรูปแบบอาคารทันสมัยเหมือนโรงเรียนทั่วไปในปัจจุบัน พร้อมทั้งปรับระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ให้แตกต่างไปจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งอื่นๆ จากการนำความรู้ต่างๆ และประสบการณ์ที่เคยไปศึกษาดูงานที่เดนมาร์กกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของเด็กเล็ก ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง มาปรับเป็นแนวทางสอน และมีการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษามาสอนเด็กๆ โดยเฉพาะ

พัฒนาตลาดสดโฉมใหม่ ตั้งใจให้น่าเดินเลือกซื้อ

เรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ที่เป็นเรื่องสำคัญอยู่ในชีวิตประจำวันก็คือตลาด ตลาดสดในเทศบาลตำบลอาจสามารถมีเพียงแห่งเดียว รองรับผู้คนทั้งในตำบลอาจสามารถและใกล้เคียง ผู้ค้ามีจำนวนกว่า 200 แผง สร้างมาแล้วหลายสิบปี ทำให้มีสภาพทรุดโทรม หลังคาผุพัง

เขามีแนวคิดพัฒนาให้เป็นตลาดสดน่าซื้อ ชวนเดินเลือกของอย่างเพลิดเพลินมีความสุข ด้วยการเตรียมรีโนเวตครั้งใหญ่ เช่น ซ่อมแซมหลังคา ยกพื้นสูง วางระบบท่อน้ำประปาใหม่ ห้องน้ำใหม่ ติดไฟส่องสว่างในทุกจุด น้ำที่เคยเฉอะแฉะเปียกขังจะมีการพัฒนาให้ระบายได้ดีขึ้น ฯลฯ 

ปัจจุบันแบบของ ‘โครงการพัฒนาตลาดสดเทศบาลตำบลอาจสามารถ’ เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยเป็นที่ทรัพย์สินกรมธนารักษ์ จึงต้องใช้เวลาขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ แต่เขามั่นใจว่าทันทีที่ได้รับอนุญาตจะทำ TOR ประมูลการก่อสร้างภายใน 2-3 เดือน และจะสร้างเสร็จภายใน 6 เดือน 

“เชื่อว่าไม่มีใครไม่อยากได้ตลาดใหม่น่าซื้อน่าขาย แล้วก็ยังเป็นโครงการที่ให้คนในพืนที่มีส่วนร่วม มีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนว่าต้องการได้แบบไหน เทศบาลเขียนไว้ให้เลือกหลายแบบ ประชาชนก็สนใจช่วยกันเลือกแบบที่ตัวเองชอบ แล้วถ้ายังปล่อยให้อยู่ในสภาพนี้ก็มีแต่ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ แต่ถ้าพัฒนาให้ทันสมัย จะมีคนมาซื้อของมากขึ้น คนค้าขายก็ขายของได้มากขึ้น ส่งผลถึงเศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นตามมา” 

มุ่งมั่นไม่ย่อท้อ นักพัฒนาตัวจริง

นายกฯ เทพพร ย้อนถึงความภาคภูมิใจจากการเป็นเทศบาลตำบลแห่งแรกที่เข้าประกวดนวัตกรรมการบริหารน้ำประปา ทุกครั้งที่มีท้องถิ่นอื่นๆ มาศึกษาดูงาน ก็ยิ่งภูมิใจ  เพราะสะท้อนถึงการที่ท้องถิ่นให้ความสำคัญกับน้ำประปาดื่มได้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ยิ่งมีแรงผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการบริหารจัดการมากกว่านี้

“รางวัลที่ได้รับ ทางเทศบาลตำบลได้นำไปต่อยอดเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ เช่น ติดโซลาร์เซลล์โรงผลิตน้ำประปาเพื่อลดค่ากระแสไฟฟ้า จากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนละกว่า 3 หมื่นบาท ก็ลดลงเกินเท่าตัว เท่ากับลดต้นทุนด้วยเงินที่ได้จากการบริหารจัดการที่ดี ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณของเทศบาล”

“เงินรางวัลก้อนนี้มีความสำคัญมาก เพราะทุนบริหารจัดการของแต่ละท้องถิ่นมีความไม่เสมอภาค อย่างเทศบาลตำบลอาจสามารถที่มีประชากรเพียง 4,000-5,000 คน ได้รับงบประมาณปีละ 50 กว่าล้านบาท แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับ อบต. หรือเทศบาลที่มีการจัดเก็บภาษีได้เยอะ แล้วแต่ละปีการขอยื่นงบประมาณจากกรมปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ อาจจะได้รับหรือไม่ได้รับ เพราะคนที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจนั้นไม่ได้เป็นคนในพื้นที่ จึงไม่รับรู้ถึงความสำคัญ ขณะที่ผู้ยื่นของบประมาณพยายามจะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ดีที่สุดกับพี่น้องประชาชน”

เป็นตัวอย่างของผู้นำท้องถิ่นที่น่าจับตา เชื่อว่าเขาจะพิชิตอุปสรรคการจัดการบริหารเรื่องของงบประมาณมาพัฒนาบ้านเมืองได้ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น เช่นเดียวกับที่เปลี่ยนแปลงเทศบาลตำบลอาจสามารถภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image