เป็นอีกครั้งที่ ‘คนเปลี่ยนเมือง’ พาล่องใต้สุดแดนสยาม ไปชมเมืองการค้าชายแดนสำคัญ รุ่มรวยธรรมชาติสวยงาม มีระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ควบคู่ไปกับการจัดวางผังเมืองโดดเด่น ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนของ สุชาดา พันธ์นรา นักบริหารท้องถิ่นที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวสุไหงโก-ลก ให้ดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลายสมัย
นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เล่าความเป็นมาในอดีตของที่นี่ว่า เป็นปลายทางของสถานีรถไฟ และเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชื่อว่า ปาจันตุหลี มีพื้นที่ 22.5 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีประชากรกว่า 40,000 คน มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย และเมื่อเป็นปลายทางของสถานีรถไฟ จึงมีผู้คนมากมาย บรรยากาศคึกคัก เพื่อนบ้านก็ข้ามมาซื้อของทั้งผลผลิตทางการกษตรกับของใช้เบ็ดเตล็ด
“เพราะเป็นทั้งเมืองชายแดนและเมืองเศรษฐกิจของภาคใต้ ผู้คนเข้ามาได้หลายด้าน จึงต้องส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การมาเยือนของผู้คนและนักท่องเที่ยวทำให้เศรษฐกิจเติบโต ก็ต้องขยายการพัฒนาไปหลายด้าน ประกอบกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยพื้นที่มีจุดเด่นด้านธรรมชาติอยู่แล้ว เป็นเมืองสีเขียว ก็ต้องทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย”
เป็นนโยบายหลักการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เน้นในเรื่องถนนหนทาง สะดวกสบาย และปลอดภัย มีระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้ง CCTV เกือบทุกเสาไฟฟ้า ต้องการให้คนที่มาแล้วรู้สึกว่าจะเดินทางไปแต่ละจุดก็สะดวก กลางคืนจะไปไหนก็ไม่น่ากลัว
จากวันแรกที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ ตั้งใจพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต้องการจับมือประชาชนให้ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ปูพื้นฐานการเรียนและภาษา
เมืองสุไหงโก-ลก เป็นสังคมที่มีประชาชนอาศัยอยู่รวมกัน 3 วัฒนธรรม ไทยมุสลิม ไทยพุทธ และไทยเชื้อสายจีน ภาษาที่แตกต่างจึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่อยู่คู่กับพื้นที่ เพราะพื้นฐานเด็กไม่เหมือนกัน เด็กที่เกิดในครอบครัวมุสลิม จะพูดภาษามลายู เวลามาเรียนแรกๆ จะมีปัญหาการสื่อสารบ้าง จึงให้เรียนภาษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล
“เรามีโรงเรียนในสังกัดเทศบาล 4 แห่ง แต่ละแห่งแตกต่างกันเพื่อเป็นทางเลือกให้เยาวชน เช่น โรงเรียนเทศบาล 3 วิมุกตายนวิทยา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนกว่า 1,700 ชีวิต จึงมีหลากหลายวัฒนธรรม โดย 80% เป็นพี่น้องมุสลิม ที่นี่มุ่งเน้นในด้านภาษา เริ่มจากภาษาไทยที่เป็นพื้นฐาน ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามลายูกลาง นักเรียนจะได้เรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างของการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งคือเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย เด็กๆ ควรมีพื้นฐานเรื่องภาษาเพื่อรองรับในด้านนี้”
นอกจากนี้ยังพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน ส่งเสริมให้คุณครูอบรมความรู้วิชาการเพิ่มเติม ทำงานประสานกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เชิญมาทำงานร่วมกับบุคลากรการศึกษาของเทศบาล
อีกทั้งรณรงค์ให้เยาวชนห่างไกลยาเสพติด ด้วยการเป็นโรงเรียนสีขาว ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาเป็นพี่เลี้ยง อบรมให้ความรู้ ใช้เครือข่ายชุมชนและ อสม. ทำกิจกรรมในช่วงปิดเทอม สร้างความตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติด รวมถึงบุหรี่ ทินเนอร์ มีสารวัตรนักเรียนคอยตรวจสอบ และมีเครือข่ายภาคชุมชนช่วยกันดูแลสอดส่องอีกทาง
เศรษฐกิจ- ค้าขายดี
แมกเน็ตที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้นอกเหนือไปจากธรรมชาติที่สวยงามก็คือ ผ้าปาเต๊ะ เครื่องแต่งกายที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก นับเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่และเป็นอาชีพดั้งเดิม ปัจจุบันก็ยังมีชื่อเสียงทั้งสร้างรายได้ไม่น้อย จึงได้มีการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มจัดทำผ้าปาเต๊ะของชุมชนในเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
การค้าขายก็เป็นอีกอาชีพหลัก มีตลาดหลายแห่ง เช่น ตลาดอาหารที่มีอาหารหลากหลายตามเชื้อชาติ ตลาดเสื้อผ้า ตลาดผัก-ผลไม้ คนมาเลเซียนิยมมาซื้อวัตถุดิบที่นี่โดยเฉพาะปลา นอกจากนี้ยังมีตลาดวัฒนธรรม แต่ละปีจะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และการสร้างถนนสายวัฒนธรรมเพื่อสร้างจุดเด่นให้พื้นที่
เมืองแห่งความสุขคนทุกวัย
สุชาดาเล่าถึงประชากรสูงอายุในนราธิวาสมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 12% แล้ว ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ครอบครัวก็มีความสุขตามไปด้วย มีการเปิดเวทีประชาคมฟังเสียงประชาชน จนได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมมากมาย
“เราทำตามความต้องการผู้สูงอายุ อยากทำอะไรจัดให้หมด เช่น อยากฝึกสานตะกร้า ก็จัดหาครูผู้สอน สนใจการดูแลสุขภาพแบบแพทย์แผนไทย ก็ส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีประคบสมุนไพร มีกิจกรรมออกกำลังกายแบบเบาๆ เช่น เปตอง ยืดเหยียด
เพื่อให้เป็นที่ที่มีความสุข ได้ผ่อนคลาย”
รวมไปถึงการสร้างลานกีฬาให้กับเด็กและผู้ใหญ่ บางลานอยู่ตามพื้นที่สาธารณะซึ่งมีหลายแห่ง ในด้านกีฬามีการสนับสนุนให้เป็นเมืองที่มีกีฬาเป็นเลิศ ส่งเสริมกีฬาหลายประเภทโดยเฉพาะปันจักสีลัตที่สามารถเข้าไปสู่ทีมชาติได้ นอกจากนี้ก็ยังผลักดันให้มีการจัดการแข่งขันกีฬาหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นมวย วิ่ง ปั่นจักรยาน เพาะกาย และเทกวนโด
จัดการสิ่งแวดล้อมเด่น
ปัญหาของเมืองใหญ่ที่ไม่สามารถจัดการได้อย่างครบวงจรก็คือสุนัขจรจัด แต่ที่นี่สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้ด้วยแนวทางที่วางแผนและลงมือทำต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างครอบคลุม ควบคุมปริมาณสุนัขและแมวในพื้นที่โดยวิธีการผ่าตัดทำหมันเพื่อลดการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว
จากนั้นนำพวกเขาไปอยู่ในพื้นที่อาคารกักสัตว์เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อควบคุมและดูแลสุนัขเหล่านี้ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่ ประชาชนที่รักสุนัขก็สบายใจ
ส่วนเรื่องของขยะมีการให้ความรู้ตั้งแต่เยาวชน ครอบครัว ผู้ประกอบการ รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้มีส่วนร่วมในการลดขยะด้วยกัน มีการคัดแยกเป็นขยะอินทรีย์ ส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นปุ๋ย น้ำ EM เชิญผู้ที่มีความชำนาญในด้านนี้มาจัดการให้ความรู้ที่ถูกต้อง
ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ส่งผลให้มีนกจำนวนมาก บ้างก็มาอยู่ในเมืองเกาะตามเสาไฟ ขับถ่ายอุจาจาระจนถนนหนทางไม่สวยงาม ทางเทศบาลมิได้นิ่งนอนใจ หาทางแก้ไขด้วยวิธีต่างๆ เช่น นำนวัตกรรมเครื่องยิงแสงเลเซอร์พร้อมขอความร่วมมือจากคนในเมืองมาช่วยกันยิงไล่ แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้สมบูรณ์แบบ ระหว่างนี้กำลังทดสอบการใช้โซลาร์เซลล์โดยคาดหวังว่าน่าจะได้ผลดีกว่าวิธีเดิม
แนะรัฐบาลหนุนท้องถิ่นบริการประชาชนรวดเร็ว
แม้ความภูมิใจล่าสุดของเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก คือการได้รับโล่รางวัลหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุด กลุ่มเทศบาลเมือง ด้วยคะแนน 99.67 คะแนน ระดับผ่าน ‘ดีเยี่ยม’ ในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ปี 2567 จากสำนักงาน ป.ป.ช.
แต่ภายใต้บทบาทหน้าที่นายกเทศมนตรี สุชาดายังคงต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคในการทำงานนับจากวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งจนถึงวันนี้ นายกฯ หญิงเก่งบอกว่า ตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อ 17 ปีที่แล้ว มีการลงพื้นที่ตลอด ได้เห็นปัญหาอุปสรรคของพื้นที่ แก้ปัญหาโดยอาศัยทีมงานเครือข่ายทั้งของเทศบาล และประชาชน
“โชคดีที่คนในพื้นที่เข้าใจ และอยากจะพัฒนาร่วมกัน ซึ่งเราก็ต้องบอกตลอดเวลาว่า เทศบาลทำเองไม่ได้ หากประชาชนในพื้นที่ไม่ให้คำแนะนำหรือไม่ร่วมมือ จะทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่พี่น้องประชาชนเข้าใจจนนำไปสู่การพัฒนาเมืองร่วมกัน”
สำหรับบางปัญหาที่เกิดขึ้น เทศบาลแก้ไขด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับราชการไม่ว่าจะเป็นระเบียบข้อบังคับกฎหมาย ไม่มีอำนาจแก้ไขได้ หลายครั้งที่ต้องการไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด เช่น เวลาที่เกิดอุทกภัย แต่ก็ติดขัดเรื่องระเบียบขั้นตอน คิดว่าตรงนี้ควรปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย
“ฝากถึงรัฐบาลขอให้ทบทวนเรื่องระเบียบต่างๆ เพื่อให้ท้องถิ่นบริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นก็ได้รับนโยบายมาจากจังหวัดผ่านมาที่เทศบาล บางส่วนใช้เงินของเทศบาลได้ หากอยู่ในแผนพัฒนา แต่บางโครงการไม่ได้อยู่ในแผน แล้วเราก็ไม่สามารถรองรับนโยบายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว จึงอยากให้กระจายอำนาจมาที่ท้องถิ่น และสนับสนุนอย่างครอบคลุมในทุกๆ ด้าน”