อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ หนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์จากการเคยเป็นสนามบินของกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนถูกปรับให้เป็นฐานทัพทางอากาศหรือกองบิน 4 จนกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยทหารอเมริกัน
แม้เศรษฐกิจการค้าและความคึกคักในยุคนั้นอาจจะมากกว่าเมืองตาคลีในปัจจุบัน แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงก็คือ ตาคลีวันนี้เป็นเมืองที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ มีคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในทุกๆ ด้าน จากความร่วมแรงร่วมใจระหว่างประชาชนและหน่วยงานบริหารท้องถิ่น ช่วยกันผลักดันให้ตาคลีเป็น ‘เมืองแห่งความสุขอย่างยั่งยืน’
ภายใต้การขับเคลื่อนการสร้างนโยบายและสานต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ของ ‘เพลินพิศ ศรีภพ’ นายกเทศมนตรีเมืองตาคลี
สนับสนุนการศึกษา-อาชีพทางเลือก
นายกฯ เพลินพิศ เล่าว่า พื้นที่ในเมืองตาคลีดั้งเดิมมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มาก อาชีพส่วนใหญ่จึงเป็นการค้าขาย แต่ถ้าเป็นบริเวณรอบๆ เมือง เป็นการทำการเกษตรพืชไร่ หลังจากที่ได้มีเข้ามาบริหารงานเทศบาลเมืองตาคลี ได้วางนโยบายภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ เป็นต้นว่า การศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี สังคมและคุณภาพชีวิต โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
“ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนเทศบาลตาคลี (ขุนตาคลีคณะกิจ) เทศบาลเป็นผู้ก่อตั้งโดยเริ่มตั้งแต่ขอรับงบประมาณเพื่อจัดสร้าง ยุคแรกมีเพียงอาคารเดียว แต่ปัจจุบันมีหลายอาคารแล้ว เปิดสอนจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมี 2 แห่ง แห่งแรกคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนเทศบาลตาคลีฯ กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศฯ บ้านโพนทอง”
เทศบาลพร้อมสนับสนุนงบประมาณทั้งในด้านจัดหาสถานที่อาคารต่างๆ อย่างเหมาะสมเพียงพอ ดูแลเรื่องสวัสดิการของนักเรียน เช่น จัดหางบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันให้น้องๆ ชั้นโต
ในด้านวิชาการมีการจัดการอบรมให้กับุคลากรและครูทุกระดับชั้นอย่างเนื่อง ที่สำคัญมีการจ้างคุณครูต่างชาติมาสอนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม ตลอดจนจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์นอกเวลาเรียน เช่น เสริมทักษะด้านอาชีพช่างเชื่อม ดนตรีไทย กลองยาว ฯลฯ ให้เป็นอีกอาชีพทางเลือกสำหรับน้องๆ ที่สนใจ
วิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจชุมชนก็คึกคัก
ผลิตภัณฑ์ของดีหนึ่งตำบลฯ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นจุดเด่นของที่นี่ คือ ‘งานหัตถกรรมเครื่องประดับจากกะลามะพร้าว’ ในนามกลุ่มร่มเกล้าหัตถกรรมเทศบาลเมืองตาคลี จากการรวมตัวของชุมชนหัวเขาตาคลี แต่เดิมทำเพียงสร้อยคอ ต่อมาเทศบาลได้เข้ามาสนับสนุนสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมพัฒนาสร้างรายได้ให้มากขึ้น ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบ กระทั่งต่อยอดเป็นเครื่องประดับหลากรูปแบบอย่างน่าภูมิใจ เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
“ในอีกด้านหนึ่งก็มีส่วนช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะหากไม่นำมาต่อยอด กะลามะพร้าวจะต้องถูกเผาเป็นถ่าน ก่อให้เกิดมลภาวะ แต่เมื่อนำมาสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องประดับ และเป็นของใช้ในบ้านอย่างโคมไฟ กรงเลี้ยงแมว ทำให้ช่วยลดการเผาและเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชน”
ยังมีโครงการที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินในท้องถิ่น อย่าง ‘ถนนคนเดินเมืองตาคลี’ (Takhli Walking Street) จากจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนาเมือง และกำหนดใช้พื้นที่เมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เป็นแหล่งแสดงออกในด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและรวมจุดสนใจต่างๆ ไว้ในที่เดียวกัน ในแบบเดินเท้าชม ชิม ช้อป
คุณภาพชีวิตแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เทศบาลเมืองตาคลีพร้อมดูแลพี่น้องประชาชน ด้วยการตั้งศูนย์ช่วยเหลือ รับเรื่องสำหรับคนที่ต้องการขอความอนุเคราะห์ หรือสงเคราะห์ในเรื่องต่างๆ มีการส่งเสริมคุณภาพชีวิตบรรดาสมาชิกสูงวัยผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุ โดยเป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทั้งเรื่องส่งเสริมอาชีพในรูปแบบการฝึกพับดอกไม้ ช่วยบริหารนิ้วมือ บริหารสมองด้วย
‘สนามกีฬาเทศบาลเมืองตาคลี’ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกวัย เป็นลานกีฬาเอ็กซ์ตรีมเพื่อให้เยาวชนที่แต่เดิมไปเล่นสเก็ตบอร์ดตามสถานที่เอกชน หลังสร้างเสร็จแล้ว ในช่วงเย็นเกือบทุกวันจะมีเด็กๆ รวมกลุ่มกันมา บ้างก็มากับผู้ปกครอง มาเล่นสเก็ตบอร์ด จักรยานขาไถ ในบรรยากาศสนุกสนาน
บนเขายังมีสนามฟุตซอล สนามฟุตบอล และลู่วิ่งยาว สำหรับน้องๆ รุ่นโต และผู้ใหญ่มาเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ช่วยให้สุขภาพพลานามัยแข็งแรง เรียกว่าใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อย่งางเต็มที่ รุ่นใหญ่ก็ได้จับกลุ่มสังสรรค์ออกกำลังกาย สุขภาพใจก็ดีตามมา
อีกแห่งคือ ‘สวนสาธารณะสระทะเล’ จัดสร้างขึ้นภายใต้นโยบายโครงสร้างพื้นฐานของเทศบาลเมืองตาคลี เดิมเป็นหนองบึงในเขตชุมชนเก่าแก่ ได้รับงบประมาณพัฒนาตั้งแต่ผู้บริหารเทศบาลยุคก่อน เมื่อถึงปัจจุบันก็ได้ใช้งบประมาณปรับปรุงให้สวยงามยิ่งขึ้น จนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในเขตเทศบาลเมืองตาคลี
กวาดรางวัลการันตีผลงาน
ความภูมิใจอย่างยิ่งของนายกฯ เพลินพิศ และเทศบาลเมืองตาคลี คือการร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันสู่การเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส ITA สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้รับการประ เมินเกณฑ์ ‘ผ่านดี’ และล่าสุดในปีงบประมาณ 2567 คว้ารางวัลอันดับ 1 ประเภทเทศบาลเมือง ของจังหวัดนครสวรรค์
นอกจากการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีแล้ว การจัดการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอีกเรื่องที่เทศบาลเมืองตาคลีให้ความสำคัญเช่นกัน โดยได้รับพระราชทานรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศประจำปี 2559 รวมถึงได้รับรางวัลชมเชยการประกวดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ประเภทโดดเด่น ประจำปี 2566 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และรางวัลท้องถิ่นดิจิทัลประเภทดีเด่น ประจำปี 2566 ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จากผลงานการพัฒนาระบบบริการประชาชนในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Smart-Takhli) ‘แจ้งทุกข์/แจ้งเหตุ’ จากเดิมที่ประชาชนต้องแจ้งเหตุหรือความเดือดร้อนทางโทรศัพท์กับเดินทางมาที่เทศบาล ปัจจุบันสามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชั่นซึ่งมีการเก็บข้อมูลและรวบรวมสถิติปัญหาที่คนแจ้งเข้ามามากที่สุด เพื่อให้เทศบาลนำข้อมูลไปจัดทำแผนพัฒนาต่อไป ส่วนผู้แจ้งก็สามารถติดตามเรื่องได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร
เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีในหลายด้าน จากปัญหาเดิมนำมาสู่การพัฒนาให้เป็นผังเมืองใหม่ เช่น เมื่อชุมชนขยายตัว มีคนใช้น้ำมากขึ้น ขณะที่ท่อระบายน้ำเล็กมาก จึงต้องแก้ไขให้ท่อระบายน้ำใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการระบายน้ำ เปลี่ยนโคมไฟฟ้ามาเป็นแอลอีดีเพื่อประหยัดค่ากระแสไฟ ขณะเดียวกันก็ให้แสงสว่างเพิ่มมากขึ้น ในปีหน้าได้เตรียมงบประมาณเพื่อเปลี่ยนโคมไฟเป็นแอลอีดี อย่างน้อยครึ่งเมืองก็ยังดี”
“หรืออุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอย่างกล้อง CCTV ถือว่าสำคัญมาก เทศบาลจัดงบประมาณดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องประชาชน แม้แสงสว่างจะทำให้โจรผู้ร้ายหยุดชะงัก แต่กล้อง CCTV เป็นผู้ช่วยสร้างความอุ่นใจได้อย่างดีกว่า หากเกิดเหตุแล้วก็ยังเปิดกล้องตรวจจับหาคนร้ายได้ ในเขตเทศบาลตาคลีมีติดตั้งเกือบ 200 ตัว มีโครงการทำเป็นวอร์รูม นำ CCTV ทั้งหมดมาเข้าที่วอร์รูม แล้วใช้ระบบดิจิทัลเพื่อทำให้ CCTV ของเราเป็นกล้องอัจฉริยะ”
นายกฯ เพลินพิศย้ำถึงการจัดสรรงบประมาณว่า พยายามให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ละโครงการมีการจัดทำประชาคมทั้ง 22 ชุมชน รับข้อเสนอเข้ามาในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยบอกกับชุมชนทุกครั้งว่า รับข้อเสนอทั้งหมด แต่จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด บางเรื่องไม่สามารถตอบสนองได้ทุกชุมชน แต่จะเลือกทำในโครงการที่เป็นประโยชน์ และเป็นเรื่องที่ชุมชนเดือดร้อนมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารท้องถิ่นจะมีปัญหานอกเหนือที่จะต้องแก้ไขอยู่ตลอด หากเป็นปัญหาในพื้นที่ ก็จะได้รับความร่วมมือจากชุมชน อสม. ตลอดจนพี่น้องประชาชน เพราะต้องทำความเข้าใจ โดยยึดถือปฎิบัติกันมาตลอดว่า เทศบาลรู้อะไร ประชาชนต้องรู้เท่ากัน เพราะจะช่วยให้ปัญหาลดน้อยลง พร้อมกับทิ้งท้ายว่า
“เป้าหมายสำคัญในเวลานี้ก็คือ เมืองตาคลีกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ’ ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา ฯลฯ หากมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการ จะช่วยตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้น นอกจากการพัฒนาในเรื่องของพื้นฐานทั่วไปแล้ว เราจะต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประสานกับในทุกมิติ เพื่อให้การบริการหรือเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น”