‘กสทช.’​ ให้เวลา ‘กรุงเทพธนาคม’​ เสนออัตราอ้างอิง ก่อนกำหนดค่าเช่าท่อร้อยสาย ยันไม่กระทบ ปชช.(ชมคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จำนวน 6 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูไนเด็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวน์ จำกัด, บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน), และบริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เรื่องการนำสายสื่อสารลงดินในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า จากกรณีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม จำนวน 6 ราย ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบและพิจารณาการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร ของบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้บริการท่อร้อยสายจาก กสทช. เป็นเวลา 15 ปี พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมยังได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. ด้วย เพื่อให้มีการพิจารณารายละเอียด

นายฐากร กล่าวว่า ขอให้บริษัท กรุงเทพธนาคม ดำเนินการตามประกาศ กสทช. คือต้องเป็นผู้ประกอบกิจการสร้างท่อร้อยสายด้วยตนเอง จากนั้นให้จัดทำข้อเสนอต้นทุนเพื่อกำหนดอัตราอ้างอิงในการเปิดให้บริการถึง กสทช. เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิแห่งทาง พิจารณากำหนดอัตราอ้างอิงในการเช่าใช้ท่อร้อยสาย ต่อมาจะประกาศอัตราอ้างอิงลงบนเว็บไซต์ของ กสทช. และบริษัท กรุงเทพธนาคม และเปิดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่สนใจเช่าใช้ท่อร้อยสายได้ ดังนั้น การเช่าใช้ท่อร้อยสาย จึงเป็นการเช่าตรงกับบริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งระยะเวลาในการเช่า และอัตราค่าบริการ ขึ้นอยู่กับบริษัท กรุงเทพธนาคม และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตกลงกัน

Advertisement

“เมื่อ กสทช. ประกาศกำหนดอัตราค่าเช่าใช้ท่อร้อยสายแล้ว จะตรวจสอบว่า เดิมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม มีอัตราค่าเช่าเสาไฟฟ้าเพื่อพาดสายสื่อสารเท่าไร ซึ่งหากกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องนำสายสื่อสารลงดิน กสทช. ต้องมีการหารือร่วมกับผู้ประกอบกิจการ อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบกิจการ กสทช. อาจพิจารณาสนับสนุนค่าเช่าส่วนต่าง ซึ่งยืนยันว่า ประชาชนจะไม่ได้รับผลกระทบเรื่องค่าบริการ เนื่องจากการผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีค่าใช้จ่ายในการนำสายสื่อสารลงดิน” นายฐากร กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image