ชาวสองล้อเฮ! ตร.พักจับกุม’จยย.’ขึ้นสะพาน-ลงอุโมงค์ กรมทางหลวงยันไม่ได้ออกแบบให้(คลิป)

รอง ผบช.น.เผยพักการตรวจจับ จยย. ชั่วคราวจนกว่าได้ข้อยุติ ยันผลสำรวจ ปชช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่ให้ จยย.ใช้สะพาน-อุโมงค์ ด้านตัวแทน กรมทางหลวง กทม. ประสานเสียง สะพาน-อุโมงค์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ จยย. ยันขยายผิวจราจรไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ชี้แจงกรณีตามที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครชั่วคราวว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 ซึ่งประกาศในวันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปมีกำหนดระยะเวลา 90 วันซึ่งภายหลังจะมีการออกประกาศข้อบังคับดังกล่าวได้มีกลุ่มจักรยานยนต์ออกมาคัดค้านและรวมตัวเพื่อยื่นฟ้อง บช.น., กรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงต่อศาลปกครองโดยระบุว่าข้อบังคับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า การออกข้อบังคับดังกล่าวเป็นการออกตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 139 ที่กำหนดอำนาจให้เจ้าพนักงานจราจร มีอำนาจออกข้อบังคับห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดินในเส้นทางใดได้ ถ้าเห็นว่าเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร สืบเนื่องจากที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้รับร้องเรียนจากประชาชนว่ามีรถจักรยานยนต์ขี่ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์มักเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา จึงได้สั่งการให้ 88 สน. ไปตรวจสอบว่ามีสะพานหรืออุโมงค์ใดที่ยังไม่ได้ออกข้อบังคับ ตรวจพบว่าได้มีการออกไปแล้ว 27 สะพานตั้งแต่ปี 2538 และยังคงมี 52 สะพานและ 10 อุโมงค์ที่ยังไม่ได้มีการออกข้อบังคับ

Advertisement

พล.ต.ต.อดุลย์ ยืนยันว่าตามพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มิได้กำหนดว่าจะต้องออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนจะมีผลบังคับใช้แต่อย่างใดแต่ทั้งนี้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ส่งข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย และภายหลังออกข้อบังคับแล้วได้มีการประเมินผล 3 ส่วน ประกอบด้วยความคิดเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนกว่า 2,000 ราย ส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและอุโมงค์ และเห็นว่าการให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและอุโมงค์ไม่ปลอดภัยและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งการที่จะให้รถจักรยานยนต์วิ่งบนสะพานและอุโมงค์ได้ควรมีการกำหนดแบ่งช่องทางการจราจรให้ชัดเจนเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ และผลสำรวจที่ออกมาก็สรุปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ทั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานด้านวิศวกรรม และหน่วยที่เกี่ยวข้องมาหารือ อาทิ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรุงเทพมหานคร

ด้านตัวแทนของกรมทางหลวงระบุว่า ในทางวิศวกรรมสะพานและอุโมงค์ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นช่องทางสัญจรและเป็นไปเพื่อการแก้ปัญหาจราจรซึ่งใช้ในการระบายรถขนาดใหญ่ให้ออกจากผิวการจราจรให้เร็วที่สุดไม่ใช่รถจักรยานยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบให้มีไหล่ทาง ซึ่งการที่จักรยานยนต์ ไปขับขี่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง อีกทั้งเห็นว่าในอุโมงค์มีแสงสว่างที่ไม่เพียงพอโดยเฉพาะเสี้ยววินาทีของการเปลี่ยนจากถนนปกติลงอุโมงค์ จะมีผลกระทบต่อการมองเห็นและการปรับการรับแสง ซึ่งจังหวะนี้เองจะกระทบต่อภาวะการมองเห็นซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุถึงชีวิตได้

ขณะที่ตัวแทนจากกรมทางหลวงชนบทกล่าวว่า สะพานพระราม 3 และสะพานภูมิพลที่มีการห้ามให้รถจักรยานยนต์ขึ้นเนื่องจากสะพานดังกล่าวถูกออกแบบให้สูงกว่าสะพานข้ามแม่น้ำสะพานอื่นๆ ซึ่งมีความสูงกว่าแม่น้ำถึง 50 เมตร ความลาดชัน และทางขึ้นยาวนับกิโล ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรถจักรยานยนต์ และจากข้อมูลพบว่ากว่าร้อยละ 20 ของรถจักรยานยนต์ ที่ขึ้นสะพานดังกว่าจะเกิดอุบัติเหตุอันตราย

Advertisement

ขณะที่ตัวแทนจากสำนักงานจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร ระบุว่ารถจักรยานยนต์มีสมรรถนะที่จำกัดและเป็นอันตรายโดยเฉพาะการลงจากสะพานซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วการที่มีการเรียกร้องให้เพิ่มผิวหรือช่องทางการจราจรเป็นปัญหาทั้งด้านกายภาพไม่สามารถกระทำได้ โดยความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับตัวแทนทางสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร ซึ่งยืนยันว่าไม่สามารถขยายช่องทางในสะพานและอุโมงค์ได้

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.อดุลย์ ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวซึ่งจากการที่ประชุมกับสน. ในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมที่ผ่านมาตัวแทนส่วนมากเห็นด้วยที่จะให้มีการออกข้อบังคับแบบถาวรจะมีเพียงบางส่วนที่ยังต้องไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมคืออุโมงค์รามคำแหง-พัฒนาการ เนื่องจากสน.ที่รับผิดชอบแจ้งว่าหากไม่อนุญาตให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ใช้จะต้องไปกลับรถเป็นระยะทางมากกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งยังต้องหารืออีกครั้ง  จึงสรุปได้ว่าในช่วงนี้ จะพักการตรวจจับ ไม่มีการกวดขันจับกุมดังกล่าว จนกว่าจะได้ข้อสรุปยุติ โดยจะมีการเชิญตัวแทนกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ มาร่วมพูดคุยกับคณะทำงาน ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีความยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และขออย่าให้มีการนัดรวมตัวเพื่อประท้วงกดดัน ซึ่งเชื่อว่าการหารือจะได้ทางออกที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image