มุมมอง”นักวิชาการ”วงเสวนา”ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคสช. 2.0″(คลิป)

เสวนา “ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคสช. 2.0” “สมชาย”มองอภิชนค้ำอำนาจรัฐประหาร ทวงถามใครจะตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ “ใบตองแห้ง”เปรียบทำประชามติตีเช็คเปล่า เทียบจุดต่างร่าง”มีชัย-บวรศักดิ์” ด้าน”พนัส”ห่วงรัฐธรรมนูญหมกอะไรไว้ ชี้อำนาจตุลาการเหนือบริหาร-นิติบัญญัติ

วงเสวนา

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เวทีเสวนา “ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคสช. 2.0” ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งนำเสวนาโดย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นายอธึกกิจ แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง พิธีกรและคอลัมนิสต์ อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุศดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยากร ม.ธรรมศาสตร์

รศ.สมชาย กล่าวว่า หลักการเบื้องต้นของรัฐธรรมนูญ คือ ความพยายามสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันการล่วงอำนาจของรัฐ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐและรัฐกับรัฐ ดังนั้นจะเขียนอะไรลงไปไม่ได้อย่างเดียว ยึดลงไปตามใจชอบไม่ได้ เพราะจะเป็นสภาวะมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศเมียนมา

Advertisement

รศ.สมชาย กล่าวว่า ด้านสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐ โดยหลังรัฐธรรมนูญ ปี2540 ได้มีการเคลื่อนไหวทางสังคม มีการรับรองสิทธิลงไปจำนวนมาก มาจากผลักดันของสังคมทั้งหมด ต่อมารัฐธรรมนูญปี2550 ไม่กล้าเอาออก แต่ในร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัยกลับทำให้หลักการพื้นฐานด้านสิทธิเสรีภาพถูกทำให้น้อยลง กลายเป็นสิทธิและหน้าที่ไปแทน อีกทั้งสิทธิบางอย่างหดแคบลงกลายเป็นภารกิจของรัฐไป โดยต่างประเทศมองสิทธิเสรีภาพมากกว่าเพราะเป็นรากฐานประชาธิปไตย

รศ.สมชาย กล่าวถึงสถาบันทางการเมือง ว่า โครงสร้างทางการเมืองที่อยู่ในหลายหมวดของร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นใหญ่2-3ประเด็น ที่ลดทอนอำนาจสถาบันทางการเมืองที่มาจากประชาชน เช่น ระบบเลือกตั้งและรัฐสภา ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่เกิดขึ้น ประเด็นการเลือกตั้งใช้บัตร1ใบเลือกแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ จากที่ใช้บัตร2ใบไม่เคยเป็นปัญหาเพราะเลือกมาตั้งแต่ปี2540 หลังกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกลัวประชาชนสับสน ซึ่งตนมองว่าไม่สมเหตุสมผล ทำให้สถาบันทางการเมืองไม่เป็นกลุ่มก้อนได้ เกิดอำนาจนอกระบบจะเข้ามาโดยง่าย ความสามารถรัฐสภาของส.ส.และส.ว.จะลดต่ำลง และส.ว.มาจากการเลือกกันเองของ 20กลุ่ม ทำให้ลำพังพรรคการเมืองจะผ่านกฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้น พร้อมสถาปนาอภิชน คือ กลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม โครงสร้างทางการเมืองผ่านองค์กรต่างๆในรัฐธรรมนนูญ เช่น นักวิชาการจะไปอยู่ในศาลและองค์กรอิสระ นักการเมืองประชารัฐ คือกลุ่ม สนช. สปท. ส.ว. ที่กลับไปมาในตำแหน่งเหล่านี้ เป็นฐานของระบบรัฐประหาร ถือเป็นระบบการเมืองอีกชุดที่เข้ามากำกับการเมืองกับการเลือกตั้ง

Advertisement

รศ.สมชาย กล่าวถึง ศาลรัฐธรรมนูญถึงสภาวะการเป็นตุลาการภิวัฒน์และการเล่นการเมืองของผู้พิพากษา กระบวนการคัดเลือกและความอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีสิทธิเสรีภาพของประชาชนและคดีทางการเมือง ที่สำคัญคือ”ใครจะตรวจสอบ คนทำหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ” พร้อมย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหลุดลอยไปจากประชาชนไม่ได้ ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจศาล

ด้าน นายอธึกกิจ มองว่าการทำประชามติจะทำให้เกิดความชอบธรรรมต่อการทำกฎหมายลูกอีก 10ฉบับ ถือเป็น”ประชามติตีเช็คเปล่าให้ไปเขียนกฎหมายลูก” ในประเด็นที่ไม่มีการบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ และรับรองมาตรา44 ให้มีความชอบธรรม เพราะมีอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ อยู่จนกว่ามีรัฐบาลใหม่

นายอธึกกิจ ยังได้เปรียบเทียบความแตกต่างร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า นายบวรศักดิ์เขียนเป็นระบบมากกว่า เพราะมีระบบคิดที่รับกัน ส่วนของนายมีชัยมีอะไรก็ใส่ลงไป แต่ซ่อนอะไรได้ลึกกว่าและย้อนกลับไปเหมือนรัฐธรรมนูญปี2534 เช่น 5 มาตราแรกของร่างปัจจุบัน อีกทั้งนายบวรศักดิ์ จะเน้นการดึงภาคประชาสัมคมเข้ามา ซึ่งตนมองว่าคิดกว้างแต่ลงตัวได้ยาก แต่นายมีชัยไม่นำมาใช้ จึงตัดสมัชชาชุมชนออกไปจากร่างปัจจุบัน

ด้าน อาจารย์พนัส มองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หมกสิ่งใดไว้หรือไม่ ในหมวดหน้าที่ของรัฐที่บัญญัติไว้ใหม่ หากไม่ปฏิบัติตามก็จะทำให้นักการเมืองพ้นจากตำแหน่งโดยให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตัดสินโดยไม่ต้องให้ส.ว.พิจารณาถอดถอนอีก และการส่งเรื่องนักการเมืองทุจริตให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการตัดสินว่าทุจริตจริง ก็จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาถอดถอนจากตำแหน่งได้ จึงมีความเป็นตุลาการภิวัตน์ที่ให้อำนาจรัฐกว้างขวาง ไม่ชัดเจนทางกฎหมายผ่านเรื่องมาตรฐานจริยธรรม เพื่อนำไปสู่การถอดถอนนักการเมืองที่ง่ายขึ้น ทำให้อำนาจรัฐสภาอยู่ภายใต้อำนาจตุลาการ และมองว่าการบัญญัติสรรหาตุลาการเข้าไปทำหน้าที่มาจากคนกลุ่มเดียวทางวิชาการและอาชีพ “อำนาจตุลาการตามร่างรัฐธรรมนูญมาถึงขึ้นอำนาจสูงสุดเหนือองค์กรด้านนิติบัญญัติและบริหาร จะถูกครอบงำควบคุมทั้งหมด”

อาจารย์พนัส ยังกล่าวถึงระบบการเลือกส.ว.ที่มาจากสาขาวิชาชีพ 20สาขา เลือกกันเองที่ไม่ทราบมีสาขาใดบ้าง เพราะการเลือกตั้งส.ว.โดยตรงก็เกรงการเมืองแทรกแซง การสรรหาก็เกรงว่าจะเป็นปัญหาแบบในอดีต จึงเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม แยกเป็น 20 กลุ่ม เช่น การบริหารความมั่นคง การต่างประเทศ กระบวนการยุติธรรม การเงินการคลังงงบประมาน การศึกษาวิจัย สาธารณสุข วิทยาศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม กสิกรรมป่าไม่ ลูกจ้าง คุ้มครองผู้บริโภคภาคสื่อสารมวลชน ภารการค้าการธนาคาร สิ่งแวดล้อมผังเมือง เป็นต้น ซึ่งยากที่ประชาชนจะเข้าไปได้ทั้งหมด เพราะเป็นสาขาอาชีพที่เป็นเฉพาะกลุ่ม แม้จะให้เลือกกันเองมาตั้งแต่ระดับล่าง ให้มีการเลือกกันเองระดับอำเภอ ต่อมาให้ผู้สมัครแต่ละด้านชิงระดับจังหวัด และส่งไปตัวแทนระดับประเทศรวม 200คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image