กฟน. ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หักเสาไฟฟ้า!! พร้อมเปิดตัว’ราชวิถีโมเดล’บูรณาการเจ๋ง โครงการ 300 วัน แต่ 40 วันเสร็จ!! (คลิป)

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่แหล่งชุมนุมนายทหารโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี การไฟฟ้านครหลวง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวการรื้อถอนเสาไฟฟ้าบริเวณถนนราชวิถี ตามโครงการเปลี่ยนระบบเสาไฟฟ้าอากาศเป็นเสาไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สร้างทัศนียภาพที่สวยงาม และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เป็นมหานครแห่งอาเซียน

นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ระบุว่า วันนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ คือการรื้อถอนเสาไฟฟ้าจากแยกตึกชัย ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี ทั้งการบริหารจัดการต่างๆ ที่ส่งผลต่อประชาชน ของ กทม. การดูแลเรื่องจราจร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ให้การสนับสนุนบริหารจัดการ กำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยมีบริษัท ทีโอที จำกัด มหาชน เป็นผู้รับผิดชอบ และยังเป็นโครงการต้นแบบในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหานครแห่งอาเซียน

ด้านพลตำรวจตรี อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า การนำสายไฟฟ้าลงดินเป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เป็นมหานครแห่งอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผ่านปัญหาได้เป็นอย่างดีในการดำเนินโครงการนำร่องที่ถนนราชวิถี ที่สามารถดำเนินงานได้ถึง 14-15 ชม.ต่อวัน ทุกหน่วยทำงานในไทม์ไลน์เดียวกัน และจบพร้อมกัน จากเดิมตั้งเป้าในพื้นที่นี้ 300 วัน เหลือเพียง 40 วัน จึงต้องการให้ราชวิถีโมเดล เป็นโมเดลการทำงานให้พื้นที่อื่นๆ ด้วย

ด้าน กสทช.ระบุว่า กสทช.จะดำเนินการด้านกฎหมายให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมต้องเอาสายลงดินด้วย เพื่อให้การทำงานสอดคล้องกัน

Advertisement

ขณะที่ทีโอทีพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล นำความสวยงามสู่ถนน และจะประสานงาน กฟน.อย่างใกล้ชิดในการดำเนินโครงการอื่นๆ ในอนาคต
ทั้งนี้ กฟน.ตั้งเป้าดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ในพื้นที่ที่ไม่ติดปัญหา ยกเว้นพื้นที่บางส่วนที่ทับซ้อนโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ส่วนพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการต่อจากถนนราชวิถี คือ ถนนราชปรารภ ศรีอยุธยา โยธี เพชรบุรี และพระราม 1

 

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image