ฟังให้หายสงสัย! ‘วสท.’ชี้กรณี SCB เครื่องทำงานอย่างไร-ทำไมคนถึงเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. แถลงข่าวถอดบทเรียน กรณีบริษัทผู้รับเหมาปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัย อาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ จากระบบแอโรซอล หรือไพโรเจน เป็นระบบก๊าซไนโตรเจนและเกิดขัดข้อง จนมีผู้เสียชีวิต 8 ราย เมื่อคืนวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา

ศ.สุชัชวีร์ระบุว่า จากการวิเคราะห์ เชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการขาดออกซิเจน แต่สูดสารดับเพลิงแอโรซอลซึ่งเป็นผงฝุ่นละเอียดสูง มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนเข้าไปในร่างกาย และสัมผัสสารนานกว่า 15 นาที ส่งผลให้ปิดกั้นระบบหายใจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน ออกซิเจนในสมองลดลงทำให้เสียชีวิต และจากข้อมูลการโฆษณาของบริษัทที่ผลิตระบบแอโรซอล พบว่าระบบนี้ไม่ได้กำจัดออกซิเจน ประกอบกับการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่าออกซิเจนภายในห้องยังมีเหลืออยู่ประมาณร้อยละ 18 ส่วนสาเหตุสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากฝุ่นที่เกาะสะสมอยู่ที่เครื่องตรวจจับควัน หรือ ฝุ่นที่เกิดขึ้นใหม่ไปเสริม ซึ่งอุปกรณ์ไม่สามารถแยกว่าเป็นควันหรือฝุ่นได้ จนทำให้ระบบป้องกันอัคคีภัยทำงาน และสำหรับอุปกรณ์ตรวจจับควันตามมาตรฐานจะต้องมีการทำความสะอาดและตรวจสอบอย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 1 ปี

Advertisement

ด้านนางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. ระบุว่ากลไกทำงานของระบบดับเพลิงแอโรซอลจะมีวงจรตรวจจับควันอย่างน้อย 2 วงจร หากอุปกรณ์ตรวจจับควันทำงานเพียง 1 วงจร จะไม่สั่งการให้ระบบฉีดพ่นสารดับเพลิง แต่จะมีสัญญาณแจ้งเตือน และเมื่ออุปกรณ์จับควันได้ครบ 2 วงจร จากนั้นสัญญาณจะดังขึ้น ก่อนเริ่มนับถอยหลัง ไม่เกิน 60 วินาที และหากต้องการขยายเวลาก็สามารถกดปุ่มหน่วงหยุดเวลา เมื่อเอามือออกจากปุ่มก็จะเริ่มนับใหม่ ก่อนระบบดับเพลิงจะทำงาน ซึ่งจากการตรวจสอบทางอาคารเอสซีบีก็ได้มีการติดตั้งระบบป้องกันต่างๆ ครบถ้วน

และที่เกิดเหตุยังพบร่องรอยการเจาะผนังและเพดาน คาดว่าอาจจะใช้เดินท่อระบบป้องกันอัคคีภัยใหม่ และการที่ระบบทำงานแสดงว่าไม่มีการปิดระบบก่อน รวมไปถึงที่เกิดเหตุก็ไม่มีการใช้ฝาครอบปิดเครื่องตรวจจับควันเพื่อป้องกัน และไม่มีร่องรอยการใช้งานระบบไพโรเจนด้วยมือ จึงเชื่อว่าระบบทำงานโดยอัตโนมัติ

ด้านนายวิเชียร บุษยบัณฑูร ที่ปรึกษาอนุกรรมการความปลอดภัยอัคคีภัย วสท. เห็นว่าการเข้าไปปรับปรุงระบบป้องกันอัคคีภัยจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัย ว่าจะต้องปิดระบบป้องกันอัคคีภัยทั้งหมดหรือเฉพาะบางพื้นที่ และอาจใช้ฝาครอบปิดอุปกรณ์ตรวจจับควันก่อนการทำงานได้ และตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ระบุว่านายจ้างจะต้องส่งเสริมสนับสนุนไม่ให้ลูกจ้างได้รับอันตราย และดำเนินการด้านความปลอดภัยในการทำงาน จัดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ นายวิเชียรแนะนำด้านความปลอดภัยในการติดตั้งระบบอุปกรณ์ดับเพลิง ซึ่งจะต้องติดตั้งสารดับเพลิงในพื้นที่ที่ไม่มีคนทำงานประจำ ควบคุมโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ มีมาตรการควบคุมก่อนเข้าปฏิบัติงาน ประตูต้องปลดล็อกอัตโนมัติ และมีปุ่มปลดล็อกใกล้ประตูทางออก รวมถึงจะต้องมีการซักซ้อมเหตุฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image