ฎีกาชาวบ้าน : รถยนต์ชนรถไฟ-รถไฟชนรถยนต์…ใครประมาท?

กรณีที่รถยนต์กับรถไฟชนกันที่บริเวณจุดตัดทางรถยนต์และทางรถไฟที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น การจะตัดสินว่าใครประมาท ใครเป็นฝ่ายผิดต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป

ดังเช่น หากบริเวณจุดตัดนั้นมีเครื่องกั้นโดยพนักงานการรถไฟ แต่พนักงานประจำเครื่องกั้นหลับ หรือเมา ไม่ทำหน้าที่จนเกิดอุบัติเหตุขึ้น พนักงานขับรถเห็นรถติดคร่อมทางรถไฟอยู่ แต่ยังขับมาด้วยความเร็วสูง ลักษณะนี้อาจเป็นได้ว่า ฝ่ายรถไฟเป็นฝ่ายประมาท

แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไป เช่น แม้ไม่มีแผงกั้น แต่มีป้ายเตือนให้หยุดรถ แต่ฝ่ายรถยนต์ฝ่าฝืนป้ายหยุด แถมขับตัดหน้ารถไฟในระยะกระชั้นชิด กรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าฝ่ายรถยนต์เป็นฝ่ายประมาท

Advertisement

ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2534

“ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุมีป้ายจราจรติดตั้งไว้ 2 ป้าย ป้ายแรกเขียนว่า ให้ “ระวังรถไฟ” และอีกป้ายหนึ่งเขียนว่า “หยุด” แต่จำเลย (ขับรถยนต์) ไม่ได้หยุดรถ และเมื่อเห็นรถไฟแล่นมาขณะอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร จำเลยเร่งเครื่องยนต์เพื่อขับข้ามทางรถไฟให้พ้น แต่ไม่ทัน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนกับรถไฟ

ดังนี้ จำเลยละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร กลับฝ่าฝืนและเสี่ยงภัยอย่างชัดแจ้ง ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยขับรถด้วยความประมาทอย่างร้ายแรง แม้การรถไฟแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่มีแผงกั้นทางขณะรถไฟแล่นผ่านที่เกิดเหตุ ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย แต่เป็นความประมาทของจำเลย ฝ่ายเดียว”

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และ น.ส.เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image