‘มีชัย’ถือฤกษ์’13.39’เปิดร่างรธน.ฉบับสมบูรณ์279มาตรา ตอบประเด็นร้อน (คลิป)

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ถือฤกษ์เวลา 13 นาฬิกา 39 นาที วันที่ 29 มีนาคม เปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ จำนวน 279 มาตรา ที่พร้อมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการออกเสียงประชามติ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เป็นผู้นำสาระสำคัญและตอบข้อซักถามกับสื่อมวลชนด้วยตัวเอง

มีชัย ฤชุพันธุ์ ตอบร่างรธน.

ทั้งนี้นายมีชัยกล่าวว่า กรธ.พยายามทำร่าง รธน.ให้เสร็จก่อนตามกำหนดคือวันที่ 1 เม.ย.นี้ หากมีอะไรขาดตกบกพร่องจะได้มีการปรับแก้ไขได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและองค์กรต่างๆ โดย กรธ.ได้นำข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ มาพิจารณา ซึ่งเรื่องที่ได้มีการแก้ไขมากที่สุดคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ของรัฐ และเรื่องการปฏิรูป

นายมีชัยกล่าวอีกว่า การจัดทำร่าง รธน.ฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นสำคัญ โดยมุ่งให้ประชาชนใช้สิทธิทางการเมือง ที่ไม่ได้มุ่งไปให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง ส่วนเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็มีความเข้มข้นขึ้น ด้วยการกำหนดจริยธรรมและบทลงโทษที่ชัดเจน มีความรุนแรง และเรื่องการปฏิรูปได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ พร้อมกำหนดด้วยว่าถ้าหน่วยงานใดทำไม่สำเร็จ ให้หัวหน้าในหน่วยราชการนั้นพ้นจากตำแหน่งหน้าที่

Advertisement

พร้อมกล่าวถึงบทเฉพาะกาล ว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนั้น กำหนดให้ใช้ระบบการสรรหา ส.ว. โดยให้ คสช.เป็นผู้เลือก โดยมี 6 ตำแหน่งด้านความมั่นคงเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาเหล่าทัพ ผบ.ตร. และปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่ง ส.ว.สรรหามีหน้าที่ดูแลกฎหมายที่จะกระทบต่อการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม และดูแลเรื่องการปฏิรูป

นายมีชัยกล่าวว่า หลังจากนี้ กรธ.จะทำการชี้แจงข้อสรุปเพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปแจกจ่ายให้ประชาชนทำความเข้าใจ จากนั้น กรธ.จะลงพื้นที่เพื่อไปชี้แจง และในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ทาง กกต.ได้กำหนดให้มีการทำประชามติ โดยขณะนี้ กรธ.ได้จัดส่งร่าง รธน.ไปให้กับทางรัฐบาลและ คสช.เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายมีชัยได้ตอบข้อซักถามแก่สื่อมวลชนถึงกรณีนายกรัฐมนตรีคนนอก ว่า การที่ คสช.ให้เหตุผลว่าการประกาศรายชื่อ 3 ชื่อ ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ กรธ.บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่อาจเกิดข้อขลุกขลัก จนอาจส่งผลทำให้เรื่องนี้ไม่มีทางออกจึงให้ ส.ส. ขอมติที่ประชุมจากที่ประชุม ส.ส. กึ่งหนึ่งเพื่อส่งเรื่องให้ มีการเปิดประชุมร่วม 2 สภากับ ส.ว. เพื่อขอมติเสียง 2 ใน 3 จากที่ประชุมร่วมสองสภา ให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อได้ จากนั้นก็ส่งเรื่องกลับไปให้ ส.ส.ทำการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยใช้เสียงในการเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจำนวนกึ่งหนึ่ง โดยนายมีชัย ขออย่ากังวลและคาดเดาล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เดายาก

Advertisement

ส่วนการที่ กรธ.ให้มี ส.ว.จากการสรรหา ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย นายมีชัยกล่าวว่า ได้บัญญัติให้ ส.ว.มากจากการสรรหา 200 คน มาจาก คสช. ส่วนอีก 50 ขอลองวิธีเลือกใหม่ อีกทั้งเหตุผลที่ คสช.เสนอมา เพราะบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย การปฏิรูปยังไม่ครบถ้วน จึงต้องการดำเนินการต่อจึงต้องมี ส.ว.รับช่วงในการปฏิรูป เร่งรัด และท้วงติง หากสามารถปฏิรูปได้ทางด้านต่างๆ

ส่วน ส.ว.โดยตำแหน่งที่มาจาก ผู้นำเหล่าทัพ ผบ.ตร. และปลัดกระทรวงกลาโหม จะทำให้ผู้ที่ไม่ชื่นชอบรัฐประหารลงคะแนนไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า เสียง 6 ใน 250 เสียง ไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่มาดูแลในเรื่องความมั่นคง ซึ่งหากมีปัญหาก็จะสามารถชี้แจงปัญหาต่อ ส.ส. และ ส.ว.ได้ ส่วนเรื่องการทำประชามติเชื่อว่าหากอธิบายให้เข้าใจอย่างทั่วถึง ก็ไม่มีเหตุอะไรที่ขัดข้อง

สำหรับขอบเขตอำนาจที่ให้ ส.ว. ให้ดูแลกฎหมายที่กระทบกวนการยุติธรรมไปพร้อมกับ ส.ว. นายมีชัยกล่าวว่า กฎหมายที่จะทำให้การดำเนินการยุติธรรมผิดเพี้ยนไปจากที่เป็นอยู่สองสภาต้องเห็นชอบร่วมกัน ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ดี คิดว่า ส.ว.คงเห็นด้วย ทั้งนี้ขอให้วางใจคนที่มาทำหน้าที่ ส.ว. พอสมควร เพราะไม่ได้ยึดโยงพรรคการเมือง ซึ่งคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไว้ใจได้เพียงแต่หากกระทำเพื่อมุ่งหวังอะไรบางอย่างก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้

เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหาก ส.ส.ต้องการแก้ไข แต่หาก ส.ว.ไม่เห็นด้วยจะทำได้หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดจึงควรได้รับความเห็นชอบร่วมกัน และเชื่อว่าหากการแก้ไขเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล ส.ว.ก็จะเห็นด้วย

นอกจากนี้นายมีชัยกล่าวถึงกรณีบทเฉพาะกาล ที่ถูกมองสืบทอดอำนาจ จะมีผลต่อประชามติหรือไม่ ว่า หากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างทั่วถึงจะได้รับการตอบรับ และหากทำความเข้าใจที่ถูกต้องจะได้ลดความกังวล ซึ่งการเห็นต่างในแนวทางที่ถูกต้อง สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เห็นต่างด้วยการบิดเบือน พร้อมย้ำถึงเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอกว่าบุคคลที่เป็นนายกขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่จะเลือกใคร

เมื่อถามว่าบทเฉพาะกาลได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ไม่ได้กำหนด ก็เป็นไปตามธรรมชาติตามสภาพของเหตุการณ์ คนในสภาเป็นคนตัดสินใจเองยกเว้นแต่จะไม่ใช่คนในรายชื่อ หรือจะเอาคนนอกหรือคนใน

ส่วนช่วงที่ ส.ส.ยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้ คสช.จะมีอำนาจอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา แต่นายมีชัยคิดว่าจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ล้มการเลือกตั้งอย่างแน่นอน และส่วนตัวคิดว่าแม้จะมีผลการเลือกตั้ง แต่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ พรรคการเมืองก็จะมีความอิสระในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม นายมีชัยกล่าวด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญไม่มีแผนการปฏิรูปด้านกองทัพ เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกองทัพเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง แต่การปฏิรูปตำรวจเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image