คอลัมน์วิเคราะห์ เลือกตั้ง ชัดขึ้น การเมือง ลับเขี้ยว เฟ้นกลยุทธ์ เอาชนะ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีไปสัญจรที่จังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ตะโกนเรียกร้องให้ชาวบ้านไปเลือกตั้ง

มีการหยอกล้อกับชาวบ้านที่เชียร์ให้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่ออีก 10 ปี ขณะที่ “บิ๊กตู่” ตอบแค่ให้ไปเลือกตั้ง

สะท้อนภาพของการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อย ระหว่าง กกต.-กรธ.และ สนช. โดยมีหัวข้อสำคัญเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อปฏิบัติของพรรคการเมือง และการปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมได้

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ที่ กกต.ห่วงว่าจะทำไม่ทัน

ผลสรุปคร่าวๆ ของการประชุมประกอบด้วย 1.ทำอย่างไรเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรทำได้หรือไม่ได้ 2.คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหัวหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้

3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการทำกิจกรรมทางการเมืองนั้นจะยอมให้ทำได้ขนาดไหน

Advertisement

และ 4.การบริหารจัดการเวลาต่างๆ อาทิ การประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ การเลือกตั้งท้องถิ่น การแต่งตั้ง กกต.ชุดใหม่

รวมถึงการ “คลายล็อก” ที่ไม่ใช่ “ปลดล็อก”

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นว่า ทุกฝ่ายกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ต่างออกมาแสดงไอเดีย

ล่าสุดบนเวทีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต่างแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกัน

นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการยกเลิกคำสั่ง คสช. หลังจากการเลือกตั้ง

แตกต่างจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ขอให้อดทนต่อไปอีก 5 ปี แล้วจะเห็นผล

คำอภิปรายบนเวทีในขณะนี้ของแกนนำพรรคการเมือง ได้กลายเป็นสัญญาประชาคมไปกลายๆ

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะมองว่า คำพูดของนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคเป็นเพียงแค่ “ความเห็นส่วนตัว” แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นทิศทางแกนนำของพรรคการเมืองเก่าแก่

ที่สำคัญคำสัญญาที่ประกาศออกไปในระยะหลัง ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องเลิกคำสั่ง คสช. เริ่มมีกองเชียร์หันมาปรบมือให้มากขึ้นเรื่อยๆ

จากเดิมที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ชูแนวทาง “ล้างมรดก คสช.” แล้วไม่มีเสียงสนับสนุน

ขณะนี้หัวข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเลิกคำสั่ง คสช. ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญ

เป็นไปได้ว่าประเด็นนี้จะเป็นประเด็นในการหาเสียงเลือกตั้ง

เป็นประเด็นความแตกต่างของกลุ่มพรรค

เพื่อให้ประชาชนเลือก หรือไม่เลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางฟากฝั่งของพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากพรรคของนายไพบูลย์ และพรรครวมประชาชาติไทยที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยืนเคียงข้าง

ยังมีพรรคที่มีข่าวมานานและเริ่มมีน้ำมีนวลขึ้นเรื่อยๆ คือ พรรคพลังประชารัฐ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐนี้ ได้ชักชวนอดีต ส.ส.พรรคต่างๆ เข้ามาร่วม

ชักชวนด้วยรูปแบบต่างๆ มากมาย แต่จะเป็นรูปแบบตามที่พรรคเพื่อไทยกล่าวหรือหรือไม่นั้น ยังไร้ผู้ยืนยัน

แต่การสัญจรของ ครม.ครั้งล่าสุดที่จังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ในคืนที่เชิญอดีต ส.ส.มาพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี

คืนนั้นได้ปรากฏชื่ออดีต ส.อบจ. อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว. มาร่วมพบปะสังสรรค์กันมาก

อาทิ นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคเพื่อไทยนายอนันต์ ผลอำนวย อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเพื่อไทย นางผ่องศรี ธาราภูมิ อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์

นายสำราญ ศรีแปงวงค์ อดีต ส.ส.กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์ นายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา นายนพดล พลเสน อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา

นายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย นางมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทยพัฒนา นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคชาติไทย และนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.

ในจำนวนนี้ นายอนุชาได้ให้ประเด็นน่าติดตาม

ภายในเดือนมิถุนายนจะมีข่าวดี

ในการพบปะกันครั้งนี้ นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้วยังมีรัฐมนตรีเข้าร่วมพูดคุยกับบรรดานักการเมืองเหล่านั้น

ในบรรดารัฐมนตรีที่พบปะกับกลุ่มนักการเมือง มีทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

การพบปะกันนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากกระแสข่าวก่อนหน้าที่ว่า กลุ่มมัชฌิมาของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นผู้รวบรวมรายชื่อ

และมีแนวโน้มว่า มีนักการเมืองทั้งอดีตนายกองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น อดีต ส.ส. อดีต ส.ว. เข้าร่วมกับพรรคใหม่ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์

โดยมีจำนวนที่พร้อมจะเข้าร่วมที่พอจะต่อสู้กับพรรคการเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเก่าต่างๆ นั้น ล้วนมีบาดแผลทั้งในด้านมืดและในด้านสว่างที่อาจจะทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับพรรคใหม่ที่แม้จะได้รับการตอบรับมากขึ้น แต่ก็มีปมที่ถูกจับยัดให้ไปยึดโยงกับกลุ่มทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอื่น

และเป็นประเด็นที่อาจทำให้สังคมเกิดความแคลงใจในการสนับสนุนได้

ยิ่งไปกว่านั้น จากประสบการณ์ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถือว่า คสช. ประสบความสำเร็จในการจูงใจคน ทำให้ผลการลงประชามติมีเสียงเห็นด้วยมาก

จำนวนผู้เห็นด้วยมากจนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องยอมรับ

คสช. หวังว่าบางทียุทธวิธีดังกล่าว เมื่อนำมาใช้ในการเลือกตั้งแล้ว จะช่วยให้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงมากขึ้น

ดังนั้น ยุทธวิธีที่จะไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองกลุ่มไม่เห็นชอบกับ คสช.

และยุทธวิธีของพรรคการเมืองกลุ่มหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ จึงน่าสนใจ

น่าสนใจทั้งสองฝ่ายจะใช้กลยุทธ์อะไรในการช่วงชิงเสียงจากประชาชน

และจะใช้วิธีการเยี่ยงไรจึงจะเอาชนะการเลือกตั้งได้

กลยุทธ์ดังกล่าวจะเป็นวิธีใด เป็นวิธีการที่สมกับการปฏิรูปการเมืองแล้วหรือไม่

หรือย้อนกลับไปใช้วิธีการดั้งเดิมที่สังคมไทยเคยรังเกียจ

และเรียกผู้ใช้วิธีการแย่งชิงอำนาจดังกล่าวว่า “นักการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image