ราคาของอินเตอร์เน็ต คุณอยากได้เงินแค่ไหนเพื่อให้เลิกเล่นเฟซบุ๊ก? : โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ผมยังจำได้ ก่อนเดินทางไปเกาหลีเหนือเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว หนึ่งในสิ่งที่ผมกังวลอันดับต้นๆ คือการไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้อันที่จริง ผมเข้าใจว่าชาวเกาหลีเหนือ (แอบ) ใช้อินเตอร์เน็ตได้บ้าง หรือในโรงแรมที่เราไปพักก็มีบริการอินเตอร์เน็ต (ที่มีคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง) ให้ใช้ส่งอีเมล์ได้ (แต่แน่นอนว่าจะถูกตรวจตราอย่างเข้มข้นก่อนที่จะส่งอะไรออกไป เพราะข้อมูลทุกอย่างเซนซิทีฟหมด) แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็ดูไม่ใช่การใช้อินเตอร์เน็ตในโหมดปกติเลย ผมจะเล่นเฟซบุ๊กไม่ได้ ผมจะดูแผนที่ไม่ได้ ผมจะค้นหาคำตอบของคำถามง่ายๆ ไม่ได้
ผมจะค้นคว้าผ่านวิกิพีเดียไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดผมจะดูคลิปตลกๆ ผ่านยูทูบไม่ได้!

ด้วยความสงสัย ผมจึงถามเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาของเกาหลีเหนือคนหนึ่งว่า ในเมื่อใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้ แล้วเด็กๆ จะเรียนรู้ให้ทันโลกได้อย่างไร? พวกเขาจะค้นคว้าข้อมูลจากที่ไหน? พวกเขาจะสามารถเป็นเกาหลีเหนือ 4.0 ได้หรือเปล่า? (ต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่ ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กับคิม จอง อึน จะจับมือกันนะครับ)

เจ้าหน้าที่คนนั้นตอบอย่างตีขลุมว่า “อะไรที่มีประโยชน์บนอินเตอร์เน็ต เราก็ดูดมาไว้ในประเทศหมดแล้ว” ผมเข้าใจว่านั่นแปลว่าพวกเขาสูบข้อมูลวิกิพีเดียรวมถึงเว็บไซต์ในหน้าที่ไม่ “แข็งข้อ” ต่อรัฐบาลมาไว้ในระบบอินทราเน็ตภายใน ซึ่งนักเรียนจะสามารถเข้าถึงได้ในโรงเรียน และในศูนย์วิทยาศาสตร์

แต่นั่นก็ไม่ใช่อินเตอร์เน็ต และทำให้ผมเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราเคยชินกับความสะดวกสบายกันมากเกินไปไหม? เราแทบไม่ต้องจ่ายอะไรให้กับบริการบนอินเตอร์เน็ตเลย ตั้งแต่อีเมล์ แผนที่ การค้นหา ไปจนถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก (แน่นอนเราจ่ายให้บริการดูวิดีโออย่างเน็ตฟลิกซ์ แต่เราก็ยังไม่ต้องจ่ายอะไรให้กับยูทูบเป็นส่วนใหญ่) โมเดลธุรกิจส่วนมากของโลกเวิลด์ไวด์เว็บได้รับการสนับสนุนด้วยโฆษณา แต่นั่นก็ทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้วถ้าเราเอาโมเดลโฆษณาออกไปล่ะ? ผู้ใช้อย่างเราๆ จะยอมจ่ายเงินเท่าไร เพื่อให้มีสิทธิเข้าถึงบริการเหล่านี้?

Advertisement

นี่เป็นคำถามที่คล้ายกับคำถามที่เกิดขึ้นในใจของทิม ฮาร์ฟอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ในตอนที่เขาเดินทางไปยังประเทศจีน ถึงแม้ประชาชนจีนจะใช้อินเตอร์เน็ตกันได้ทั่วไป แต่ก็คล้ายกับเกาหลีเหนือ ที่บริการที่เราคุ้นเคยส่วนมากจะถูกบล็อกด้วย The Great Firewall, เราใช้เฟซบุ๊กไม่ได้ เราใช้ยูทูบไม่ได้ และอันที่จริง เราใช้บริการอะไรของกูเกิลไม่ได้เลย (ซึ่งนั่นก็คือครึ่งชีวิตการใช้อินเตอร์เน็ตเข้าไปแล้ว!) พอเป็นอย่างนั้น เขาก็เกิดคำถามขึ้นมาเช่นกันว่า “จะต้องมีคนจ่ายเงินฉันเท่าไร เพื่อให้ฉันเลิกเล่นเฟซบุ๊ก”

โชคดีที่มีงานวิจัยรองรับเรื่องนี้ไม่นานมานี้ สามนักเศรษฐศาสตร์จาก National Bureau of Economic Research สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยชื่อ “การทดสอบตอบคำถามเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพการใช้ชีวิตครั้งใหญ่” ในบทวิจัยมีส่วนที่น่าสนใจ คือต้องมีคนยอมจ่ายเงินคุณเท่าไร เพื่อให้คุณเลิกใช้บริการออนไลน์ต่างๆ โดยเขาแบ่งบริการออนไลน์เป็นหกด้านหลัก คือ อีคอมเมิร์ซ (อย่างเช่นการซื้อของผ่านอเมซอน) วิดีโอสตรีมมิ่ง (ซึ่งรวมทั้งเน็ตฟลิกซ์ ยูทูบ และบริการใกล้เคียงทั้งหมด อันที่จริงผมคิดว่านี่น่าจะรวมการดูหนังโป๊เข้าไปด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจนักเพราะในงานไม่ได้ระบุไว้) มิวสิกสตรีมมิ่ง เมสเสจ เซิร์ชเอนจิ้น อีเมล์ แผนที่ดิจิทัล และโซเชียลเน็ตเวิร์ก

พูดง่ายๆ คือ ในบริการแปดด้านที่กล่าวมานี้ คุณให้ค่ากับอะไรมากที่สุดและอะไรน้อยที่สุด และการให้ค่าของคุณนั้นตีเป็นมูลค่าได้กี่เหรียญสหรัฐต่อปี?

Advertisement

เดาถูกไหมครับว่าคนส่วนใหญ่ให้ค่ากับอะไรมากที่สุด และอะไรน้อยที่สุด?

เฉลยนะครับ ที่น้อยที่สุดอันดับที่แปดคือการส่งข้อความ ($155 ต่อปี) และอันดับที่เจ็ดคือมิวสิกสตรีมมิ่ง ($168 ต่อปี)

ต่อมา ในอันดับที่หก คนส่วนใหญ่บอกว่าให้ค่าโซเชียลมีเดียน้อยกว่าห้าบริการที่เหลือ โดยถ้ามีคนเสนอเงินให้ $300 ต่อปี ก็จะเลิกเล่นถาวร (หลายคนอาจจะแปลกใจ เพราะจริงๆ แล้ว กลับเป็นโซเชียลมีเดียนี่แหละที่กินเวลาเราไปมากที่สุด!) ส่วนอันดับที่ห้าคือ อีคอมเมิร์ซ ถ้าได้เงิน $850 ต่อปีก็จะเลิกซื้อของบนเน็ต แล้วหันไปซื้อที่ร้านตามท้องถนนแทน

อันดับที่สี่คือวิดีโอสตรีมมิ่ง ถ้าเสนอให้ $1,150 จะเลิกดูวิดีโอออนไลน์แล้ว แต่จะไปดูแผ่นบลูเรย์ หรือดูภาพยนตร์แทน

จนถึงอันดับที่สี่ หนึ่งในสิ่งที่เห็นได้สม่ำเสมอคือเหล่านี้ต่างเป็นบริการที่ “ถ้าไม่มี ฉันก็แค่หาอย่างอื่นมาแทน” ถ้าไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีการส่งเมสเสจ ฉันก็โทรหาเพื่อนแทน ถ้าไม่มีอเมซอนหรืออีเบย์ ฉันก็ซื้อของตามร้านแทน ถ้าไม่มีสตรีมมิ่งก็ดูหนังในโรงแทนได้ แต่หลังจากอันดับที่สามเป็นต้นไปนี่แหละครับที่จะเริ่มเป็นอะไรที่ “ทดแทนได้ยาก” หรือ “ทดแทนไม่ได้เลย”

อันดับที่สาม ต้องให้เงินมากถึง $3,500 ต่อปี คนจึงจะเลิกใช้แผนที่ดิจิทัล (และต้องทนใช้แผนที่กระดาษแทน!) อันดับที่สอง ต้องจ่ายเงินมากถึง $8,500 ต่อปีให้กับคนเพื่อให้เลิกใช้อีเมล์ (แปลว่าต้องกลับไปใช้จดหมายแบบที่เรียกว่า Snail mail แทน!?) และอันดับสุดท้ายที่ครองแชมป์อยู่ คืออันดับหนึ่ง เซิร์ชเอนจิ้น งานวิจัยนี้พบว่าเราต้องให้เงินมากถึง $17,500 ต่อปีเลยทีเดียว เพื่อที่จะให้คนเลิกใช้กูเกิล (หรือบิง ฯลฯ)

แปลกใจไหมครับ? สำหรับผมแล้วแปลกใจในบางอันดับ แต่กับอันดับที่หนึ่งแล้วผมไม่แปลกใจเลย เพราะการค้นหาออนไลน์กลายมาเป็นการกระทำแบบที่เราแทบไม่ต้องใช้ความคิดไปแล้ว ถ้าสงสัยอะไร เราไม่ต้องเข้าไปที่ google.com ด้วยซ้ำ แต่เราก็แค่พิมพ์ที่เบราเซอร์ คำตอบก็จะออกมาทันที คล้ายกับว่าเรามี “สมอง” อื่นที่ฝากไว้บนโลกไซเบอร์ เราไม่ต้องจดจำทุกสิ่งอย่างเอง และสามารถใช้สมองที่เหลือไปกับการจดจำสิ่งที่อยากจะจำได้มากขึ้น จึงไม่แปลกที่การค้นหาออนไลน์จะมี “ราคา” หรือ “มูลค่า” ในใจผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าโซเชียลมีเดียถึง 58 เท่า

งานวิจัยนี้ยังมีข้อโต้แย้งได้อยู่บ้าง เช่นว่า เราอาจไม่รู้มูลค่าของอะไรจนเมื่อเราเสียมันไปจริงๆ (ทำไมดูโรแมนติก!) ผู้ตอบแบบสอบถามอาจประเมินมูลค่าของโซเชียลมีเดียผิดไป จนกระทั่งถูกห้ามใช้จริงๆ นั่นแหละ จึงรู้ค่าของมัน แต่อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ก็ถือเป็นการประเมินมูลค่าอย่างคร่าวๆ ของบริการบนอินเตอร์เน็ตที่เราใช้จนคุ้นชินได้ และในขณะเดียวกัน มันก็อาจใช้เป็นพื้นฐานให้กับรัฐในการวางนโยบายต่างๆ เพื่อควบคุมดูแลบริการออนไลน์ได้เช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image