อะไรไม่เอาไหนกันแน่

ระบบการศึกษาต้องผลิตคนตามความต้องการของประเทศ

ความคิดเช่นนี้ได้ยินมานานเต็มทีแล้ว นับตั้งแต่สมัยถนอม-ประภาสเป็นต้นมา คนที่ย้ำสูตรสำเร็จนี้มีทั้งนักการเมือง, คนในแวดวงการศึกษา, นักธุรกิจอุตสาหกรรม, และปัญญาชน

แต่มีใครรู้หรือว่า ประเทศต้องการคนที่มีทักษะประเภทไหนกันแน่ ต้องการสักเท่าไร, ต้องการไปอีกนานแค่ไหน, ทุกคนควรฝึกทักษะนั้น หรือบางคนฝึกก็พอ คนประเภทไหนที่ควรฝึก และประเภทไหนที่ไม่จำเป็น ฯลฯ

ผมคิดว่าไม่มีใครตอบได้หรอกครับ ไม่ว่าจะเรียนอะไรมาสูงแค่ไหน หรือไม่ว่ากิจการของเขาใหญ่และทำเงินได้มากปานใด แม้แต่เขาคือตัวแทนของคนส่วนข้างมากของสังคม ก็ไม่น่าจะตอบได้อยู่นั่นเอง

Advertisement

เพราะความต้องการของประเทศนั้นมาจากทุกคนที่เป็นเจ้าของประเทศนั้น คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวจึงตอบแทนทุกคนไม่ได้ ซ้ำหนักไปกว่านั้น แต่ละคนที่บอกความต้องการทักษะอะไร ก็จะบอกจากส่วนเสี้ยวเดียวในกิจการของตน

ยกตัวอย่างนักธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งบางคนบางกลุ่มกำลังต้องการแรงงานฝีมือที่สามารถทำงานร่วมกับเครื่องจักรเครื่องกลแบบใหม่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, หุ่นยนต์, เครื่องมือชั่งตวงวัดที่แม่นเป๊ะ (precision tools) ฯลฯ เขาบอกแก่นักข่าวทีวีว่า ความต้องการแรงงานที่มีทักษะประเภทนี้มีนับเป็นหลายหมื่นอัตราทีเดียว แต่ประเทศยังผลิตได้ปีหนึ่งไม่ถึงพัน ซ้ำที่ผลิตไปแล้วก็ยังใช้ไม่ได้เสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย

อาจจะจริงทั้งหมดเลยก็ได้ แต่นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของความต้องการของประเทศ เช่นพวกเขาไม่ได้พูดถึงนักสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ เพื่อทำให้ทั้งภาครัฐและภาคสังคมมีความเข้มแข็งและกระฉับกระเฉงที่จะควบคุมมิให้โรงงานของพวกเขาทำอันตรายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีทักษะที่จะแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมให้แก่โรงงานของเขาเองด้วย ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงนักกฎหมาย, นักบริหารภาครัฐ, นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีทักษะที่ประเทศน่าจะต้องการเมื่อก้าวเข้าสู่การผลิตที่ก้าวหน้าขึ้น ไม่น้อยกว่าทักษะของแรงงานในโรงงาน

Advertisement

แม้กระนั้น เราก็ยังพอหยั่งความต้องการของประเทศได้ ไม่ใช่จากการชี้ของผู้เชี่ยวชาญหรือคนเสียงดังประเภทต่างๆ ในสังคมเท่านั้น แต่หยั่งได้จากการฟังเสียงของทุกคน ซึ่งย่อมมีความต้องการที่ไม่ตรงกัน หรือถึงกับขัดแย้งเป็นตรงข้ามกันด้วย

หยั่งได้จากกระบวนการรับฟัง, ต่อรอง, ประนีประนอม ฉะนั้น จะได้มาซึ่งความต้องการของประเทศจึงต้องผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเท่านั้น แม้แต่ได้มาโดยผ่านกระบวนการเช่นนั้นแล้ว ก็อาจผิดหรือผู้คนอาจเปลี่ยนใจได้ทุกเมื่อ เพราะโลกไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ กระบวนการประชาธิปไตยจึงต้องเป็นกระบวนการที่สืบเนื่องอย่างไม่มีวันสะดุดหยุดลง เพราะทรรศนะที่มองว่าประเทศต้องการอะไรนั้น ไม่เคยสะดุดหยุดลงเหมือนกัน คงต้องเปลี่ยนต้องปรับไปเรื่อยๆ แต่ก็ปรับและเปลี่ยนโดยผ่านกระบวนการที่ทุกคนได้รับฟัง, ได้ต่อรอง และได้ประนีประนอมกัน

การไปตั้งความต้องการของประเทศไว้ล่วงหน้า 20 ปี เป็นความเพ้อฝัน ทั้งเพ้อฝันอย่างไร้เดียงสาเสียด้วย

นับตั้งแต่เริ่มจัดการศึกษามวลชนขึ้นในประเทศไทย เรามักไปตั้งเป้าจะฝึกคนให้ได้ตามความต้องการของคนอื่น ไม่ใช่ของผู้เรียนเอง เช่นให้เด็กไปโรงเรียนเพื่อรักชาติ เพื่อให้เป็นพลเมืองที่เชื่อฟัง เพื่อเป็นข้าราชการ เพื่อทำงานให้เถ้าแก่ และตอนนี้เพื่อเป็นแรงงานด้านดิจิทัลให้เถ้าแก่

หากเอาผู้เรียนเป็นตัวตั้ง การศึกษาก็ควรมีจุดหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคนให้บรรลุขีดความสามารถสูงสุด ส่วนทักษะที่ผู้เรียนแต่ละคนพัฒนาขึ้นในการศึกษา ต้องสามารถนำไปรับใช้ชีวิตของผู้เรียนได้ก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงช่องทางให้ได้เงินเดือนเท่านั้น แต่ยังสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีกมากแก่ตัวเขาเอง

ในโลกที่ไม่แต่เพียงความรู้เท่านั้น แต่การผลิตและกระจายสินค้า-บริการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การฝึกทักษะแคบๆ อย่างหนึ่งอย่างใดกลับมีอันตราย เพราะทักษะนั้นอาจตกยุคไปแล้วเมื่อจบการศึกษา ถึงยังใช้หาเลี้ยงชีพได้ระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดทักษะแคบๆ นั้นก็หมดอายุการใช้งานในเวลาไม่นาน

ทักษะอาชีพจึงไม่ใช่ทักษะที่สำคัญที่สุดในการศึกษา แต่ควรเป็นทักษะที่คนสมัยปัจจุบันควรมีเหมือนๆ กัน คือสามารถปรับทักษะที่ตนมีอยู่เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้เสมอ-จะเป็นประโยชน์ในทางอาชีพการงาน หรือประโยชน์ในการสร้างสรรค์ หรือแม้แต่ประโยชน์ในการหาความบันเทิงส่วนตัวก็ตาม-และด้วยเหตุดังนั้น ทักษะที่สำคัญกว่าจึงควรเป็น

เรียนรู้เองเป็น จากแหล่งความรู้ที่เหมาะสมซึ่งมีหลากหลายมาก

คิดอย่างมีเหตุผล แต่ต้องประกอบด้วยข้อมูลความรู้

ไม่ยึดติดกับข้อสรุปมูลฐานในการสร้างระเบียบการคิดใดๆ ซึ่งเรียกกันว่า “กระบวนทรรศน์” (paradigm) ข้อนี้มีความสำคัญมากในโลกปัจจุบัน เพราะความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อกระบวนทรรศน์ต่างๆ มาก การไม่ยอมเปลี่ยนไปถึงระดับกระบวนทรรศน์อาจทำให้ถึงกับต้องปิดหูปิดตาตัวเอง ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงใหม่ๆ เพราะไม่รู้จะเอาข้อเท็จจริงเหล่านั้นไปวางไว้ตรงที่ใดในความรู้ความเข้าใจของตน

“เข้า” คนได้เก่ง (ผมเลี่ยงคำว่า “มนุษยสัมพันธ์ที่ดี” เพราะภาษาไทยใช้ในความหมายที่แคบเกินไป จนเกือบกลายเป็นคำสอนด้านศีลธรรม) รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองใน “องค์กร” เพราะในการทำ “งาน” ของโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นงานรับจ้าง, งานส่วนตน, หรืองานส่วนรวม ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือกับคนอื่นในรูปเครือข่าย, องค์กร, กลุ่ม, สมัชชา, ฯลฯ

โลกปัจจุบันและโลกข้างหน้าไม่ค่อยมีพื้นที่ให้แก่บารมีหรือกฤษฎาภินิหารส่วนบุคคลเสียแล้ว (ขอให้สังเกตว่าประวัติมหาบุรุษในภาษาไทยมักไม่พูดถึงเครือข่ายของมหาบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคานธี, แมนเดลลา, หรือมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ความล้าหลังในข้อนี้ของสังคมไทยน่าจะเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าเสียยิ่งกว่าการศึกษาไม่ได้ฝึกคนตามความต้องการของตลาดงาน)

ด้วยทักษะเช่นนี้ต่างหากที่ทำให้ไม่มีวันล้าสมัย เพราะผู้คนสามารถเรียนรู้ใหม่ได้ ซ้ำยังเรียนรู้ตลอดเวลา คนไทยอาจไม่รวยเท่าคนสิงคโปร์ แต่เราจะลื่นไหลไปตามกระแสธารแห่งความรู้ของโลกปัจจุบัน ซึ่งแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่ถูกภูเขาอัลไตเสียบปักไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ไปไหน

ทําไมคนจึงตกงานหรือหางานได้ยากขึ้นเรื่อยๆ การศึกษาก็มีส่วนอย่างปฏิเสธไม่ได้ (แต่ไม่ใช่เพราะไม่ตอบสนองตลาดงานจ้าง) การชะงักงันของเศรษฐกิจสืบเนื่องมาหลายปีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และคงยกสาเหตุให้ได้อีกหลายปัจจัย แต่ผมคิดว่าปัจจัยเฉพาะหน้าที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลไทยกระทำสิ่งหนึ่งสืบเนื่องมานาน โดยเฉพาะรัฐบาลทหาร นั่นคือร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ กระหน่ำซ้ำเติมธุรกิจรายย่อยของคนไทยทั่วไปให้พังพินาศไปตลอดมาหลายสิบปี นับตั้งแต่ธุรกิจบนทางเท้าไปจนถึงโรงงานเล็กๆ ที่ต้องใช้แรงงานฝีมือมาก แหล่งจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดจึงหมดกำลังในการจ้างงานลงไปเรื่อยๆ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น แทนที่ธุรกิจขนาดใหญ่จะแข่งขันกันเองในวิถีทางทุนนิยม กลับใช้การวิ่งเต้นเส้นสายทางการเมือง เพื่อชิงความได้เปรียบจนถึงขนาดผูกขาดในเชิงปฏิบัติ เมื่อทุกฝ่ายต่างลงทุนทางการเมืองเหมือนๆ กัน จึงไม่สามารถเอาเปรียบกันเองได้ ต้องหาทางเอาเปรียบสังคมและคนเล็กคนน้อยทั่วไปแทน ยิ่งภายใต้รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ก็ยิ่งสะดวกแก่นายทุนเหล่านี้ที่จะเข้าไปใช้การเมืองเพื่อเอาเปรียบคนอื่น เพราะคณะรัฐประหารไม่สามารถหาความชอบธรรมจากใครได้ จึงต้องโอนอ่อนอย่างสิ้นท่าต่อนายทุนซึ่งให้การสนับสนุนตนมา

การแข่งขันด้วยอำนาจทางการเมือง แทนที่จะเป็นการแข่งขันในวิถีทางการค้าที่เป็นธรรม จึงทำให้ธุรกิจของพวกเขาไม่ได้ขยายตัวไปในทางที่จะดึงเอาความรู้ความสามารถใหม่ๆ ของผู้คนเข้าไปร่วมงาน ในขณะที่ใช้แรงงานไร้ฝีมืออย่างเอารัดเอาเปรียบยิ่ง ตลาดจึงไม่มีกำลังซื้อ ยิ่งทำให้พวกเขาต้องกดค่าแรงและผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อนำไปแข่งในตลาดโลก ซึ่งมีคู่แข่งจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำกว่า กลายเป็นวงจรแห่งความเสื่อมที่ไม่มีวันเงยหัวได้

ภายใต้รัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมทางการเมือง นายทุนไทยก็ยิ่งอยู่สบายโดยไม่ต้องแข่งขันในเชิงธุรกิจอย่างเป็นธรรม แต่กุมการตัดสินใจทางเศรษฐกิจไว้ในมือ เพื่อเอารัดเอาเปรียบสังคมไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ตราบเท่าที่รัฐบาลยังขาดความชอบธรรม ก็ไม่มีหนทางใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ได้แต่ลอกคำศัพท์จากนิตยสารฝรั่งมาปลอบใจคนตกงานไปวันๆ เช่นเศรษฐกิจ 4.0 หรือสตาร์ตอัพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image