คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 “คำถามพ่วง” โดย จำลอง ดอกปิก

ไม่แปลกอะไรหรอก

ที่ สนช.รับลูก นำคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ สปท.มาใช้เป็นหลัก

สปท.และ สนช.แม่น้ำ 2 สายนี้ มาจากการแต่งตั้งของ คสช. สมาชิกล้วนแต่นิยมชมชอบ ศรัทธาระบบแต่งตั้ง มีความคิด ความเชื่อทางการเมืองเหมือนกัน

ยิ่งรู้ว่าเป็นความต้องการของ คสช.เคยเป็นถึงระดับเปเปอร์ ในบทเฉพาะกาลมาแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่าจำเป็น ต้องจัดให้สถานเดียว

Advertisement

เมื่อ สนช.มีข้อสรุปชัดเจน ตั้ง 1 คำถามพ่วง-ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ

คำถามในวันออกเสียงประชามติ จากเดิมที่มีเพียงข้อเดียว คือจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

มีเพิ่มอีก 1

Advertisement

การมีอีก 1 คำถาม เพิ่มอำนาจ คสช.ที่มีบทบาทแต่งตั้ง 250 ส.ว. ในการกำกับการเลือกผู้นำฝ่ายบริหาร จะส่งผลต่อร่างหลักอย่างไร

ประเด็นนี้ น่าสนใจ เพราะการเพิ่ม 1 คำถาม ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างชัดยิ่งกว่าชัด

มองจากพื้นฐานการแบ่งฝักฝ่าย

คำถามที่มุ่งต่อยอดอำนาจนิยม น่าปลุก ประชาชนออกมาลงคะแนนมากขึ้น

เสียงฝ่ายสนับสนุน คสช. มีแต่จะอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะที่ก็เพิ่มแรงปฏิเสธให้กับอีกฝ่าย

ฝ่ายหนุน คสช. และโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นกำลังหลัก รับคำถามพ่วง

และเสียงไม่รับคำถามพ่วง แน่นอนว่า หนีไม่พ้นกลุ่มไม่รับร่าง

คำถามก็คือว่า

การเพิ่มคำถามพ่วง จะทำให้เสียงที่ไม่ใช่ทั้ง 2 ฝ่ายนี้ (หากจะมี) เอียงข้างทางไหนมากกว่ากัน

นักการเมืองบางคน วิเคราะห์ว่า การเพิ่มคำถามนี้ จะปลุกประชาชนออกมาใช้สิทธิสูง อาจถึงขั้นถล่มทลาย

แต่จะเทไปทางใด น่าคิด?

ทั้งนี้หากนำเอาคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย วัดจากฐานจำนวน ส.ส.เป็นตัวตั้ง

แนวโน้ม การออกเสียงไม่รับอาจมากกว่า

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ประชาชนจะตื่นตัว ขนาดนั้นจริงหรือไม่

แม้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ คอขาดบาดตาย

แต่เมื่อย้อนไปดู ประชามติปี 2550 จะเห็นความจริงอีกด้าน

ครั้งนั้น ประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อยมากแค่57%

ครั้งนี้ยิ่งน่าห่วง การมีกฎเหล็กคุมเข้ม ข้อจำกัดการรณรงค์

ล้วนแต่ไม่หนุนส่ง ก่อให้เกิดบรรยากาศ คึกคัก-ตื่นตัว

ปี 2550 ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกโค่นล้มไปในคราวรัฐประหาร 2549 คะแนนนิยมมากกว่าเพื่อไทยขณะนี้ด้วยซ้ำมีส.ส.ถึง377ที่นั่ง

แต่ฐานเสียงที่เคยเลือก ส.ส.ไทยรักไทยถล่มทลาย ก็มิได้ออกมาแสดงพลัง ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญชนิดถล่มทลาย

เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

และเมื่อไหร่ก็ตาม คนออกมาใช้สิทธิน้อย ฝ่ายที่มีกลไก เครือข่าย คะแนนจัดตั้งมากกว่าก็ยิ่งได้เปรียบ

จากการมีคะแนนรองก้นหีบระดับหนึ่ง

การ เพิ่มคำถามพ่วงอย่างชนิด ไม่เกรงใจประชาชน ไม่เกรงใจ กรธ.ที่ปฏิเสธคำร้องขอมาแล้ว ด้านหนึ่งสะท้อนว่าฝ่ายกุมอำนาจมั่นใจเสียงสนับสนุน

แต่ความไม่แน่นอน คือความแน่นอนเสมอ

สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ มีความเหมือน-ความต่างจากปี 50

ดีกรีการใช้อำนาจก็ต่างกันมาก

อาจปลุกคนชอบและไม่ชอบ ตื่นตัวออกมาแสดงท่าที อย่างใดอย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

แต่ที่แน่นอนยิ่งก็คือ ฝ่ายนิยมชมชอบ คสช. ต้องการับถึง 2 ช่อง เพื่อการสืบทอด กระชับอำนาจที่สมบูรณ์

ขณะที่อีกฝ่าย กาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญบัตรเดียว

คำถามพ่วงตายตกตามกันทันที

เนื้อหาที่ สนช.บรรจุเข้าไป เพิ่มเงื่อนไข ช่วยอีกฝ่ายหยิบมาปลุกล้มได้เป็นอย่างดี ด้วยวิธีง่ายๆ กาทิ้งร่าง ฝังทั้งพวง

ทำไมรัฐไม่กล้า เปิดให้รณรงค์ได้อย่างเสรี

คำตอบของคำถามนี้ น่าจะอยู่ที่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงร้อนๆ เป็นตัวเรียกแขก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image