ภาพเก่า..เล่าตำนาน : ยอดนักรบจากภูเขาในเนปาล…ทหารกูรข่า โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

 

นักรบเผ่ากูรข่า จากดินแดน “หลังคาโลก” ประเทศเนปาล สร้างชื่อเสียงมาจากการเป็นคู่ต่อสู้ที่แสนทรหด กล้าหาญ เคยสู้รบกับกองทัพอังกฤษ ชนเผ่ากูรข่า เก่ง ทรหดอดทน กล้าตาย เป็นเลิศ อังกฤษเอาชนะไม่ได้ จนในที่สุดอังกฤษต้องขอเอาชนกลุ่มนี้มาเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ

Advertisement

“ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างขี้ขลาด” (Better to die than live a coward) คือคำขวัญของเหล่าทหารกูรข่า นักรบจากดินแดนภูเขาสูงหิมาลัย เนปาล ที่ได้รับการยกย่องจากนักรบทั่วโลกในความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ เก่ง กล้า และไม่กลัวตาย อังกฤษคัดเลือกชนเผ่าทรหดนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษ เคยใช้พวกเขาทำการรบแบบหฤโหดในหลายสมรภูมิมามากกว่า 200 ปี

ในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ประเทศ
สิงคโปร์ เกาะขนาดเล็ก คือ ประเทศที่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐและเกาหลีเหนือในความไว้เนื้อเชื่อใจ มั่นใจ รัฐบาลสิงคโปร์เอง จะต้องจัดการรักษาความปลอดภัยระดับสูงสุด เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลสิงคโปร์เลือกใช้ “ทหารกูรข่า”เป็นกำลังหลักในการรักษาความปลอดภัย

ทหารกูรข่าเป็นที่โด่งดัง สร้างเกียรติภูมิมากว่า 200 ปี พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน คัดมาอย่างไร ?

Advertisement

ชาวกุรข่า (Gurkhas) เป็นชนเผ่าบนภูเขาสูงในดินแดนโกข่า (Gorkha) ของประเทศเนปาล บรรดาชนเผ่าบนเขาสูงแห่งนี้รวมตัวกันในศตวรรษที่ 18 เพื่อสู้รบกับอังกฤษ โดยมีเผ่าพันธุ์ กูรุง เชตรี ข่า ทาคูริ มาการ์ รวม 5 เผ่า มีเผ่ากูรข่า เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

ในยุคที่ “อังกฤษเป็นนักล่าอาณานิคมตัวพ่อ” อังกฤษใช้กำลังเข้ายึดและปกครองอินเดีย อังกฤษยังรุกคืบไปยึดดินแดนรอบๆ อินเดีย เกิดการสู้รบ กองทัพอังกฤษสามารถปราบได้ราบคาบทั้งหมด

แต่เมื่ออังกฤษรุกต่อมาถึงดินแดนบริเวณตีนเขาหิมาลัย กองทัพอังกฤษประสบการต้านทานจาก “คนภูเขา” แบบสู้ยิบตา ชนเผ่าแห่งนี้ไม่กลัวตาย ในการรบชิงแผ่นดินบริเวณนี้ รบนานยืดเยื้อเกือบ 2 ปี

ทหารอังกฤษผวาสุดขีด เมื่อเห็นนักรบเผ่ากุรข่า คนภูเขาที่ไม่มีปืน ทุกคนมือถือ “มีดคูกริ” (Kukri knives) พุ่งเข้าหาทหารอังกฤษแบบไม่กลัวคมกระสุน พวกเขาเป็นนักรบโคตรทรหด โหดร้ายที่อังกฤษยกนิ้วให้

วิธีคิดแบบมหาอำนาจ คือ ชื่นชมในความเก่ง กล้าหาญของนักรบภูเขา กองทัพอังกฤษวางแผนหาทางจะเอานักรบภูเขาจอมทรหดเหล่านี้มาเป็นนักรบในกองทัพอังกฤษให้จงได้ คนดี คนเก่ง ต้องเอามาใช้งานให้เกิดประโยชน์แก่อังกฤษ จะต้องมาทำหน้าที่สร้างผลประโยชน์ให้อังกฤษ

พ.ศ.2358 อังกฤษส่งคนไปเกลี้ยกล่อมขอเจรจากับกษัตริย์ของเนปาล เพื่อทำข้อตกลงจะนำเด็กหนุ่มจากชนเผ่านี้ไปฝึกเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ นี่คือจุดเริ่มต้นของ “ทหาร
กูรข่าในกองทัพอังกฤษ”

อังกฤษไม่เคยผิดหวังกับบรรดาชนเผ่ากูรข่า ในทุกสมรภูมิ กองทหารกูรข่า สร้างวีรกรรมโดดเด่นในความกล้าหาญ ซื่อสัตย์ จงรักภักดี ประการสำคัญที่สุด คือ “ไว้ใจได้”

ในช่วงปี พ.ศ.2360 ในช่วงแรก อังกฤษบรรจุชนเผ่ากูรข่าเป็นทหารรับจ้างในบริษัทอีสต์อินเดีย เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐบาลอังกฤษที่มาทำการค้าในทวีปเอเชีย เมื่อได้พิสูจน์แล้วว่าทหารเหล่านี้ มีประสิทธิภาพสูงและค่าใช้จ่ายไม่แพงจึงเริ่มบรรจุเป็นทหารประจำการในปี พ.ศ.2401

อังกฤษนำทหารกูรข่าไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อปกป้องอังกฤษ นักรบจากภูเขาเหล่านี้บาดเจ็บเสียชีวิตราว 20,000 นาย และได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดราว 2,000 นาย

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษ นำทหารกูรข่าไปรบกับทหารเยอรมันในอิตาลี และส่งกูรข่าไปรบกับทหารญี่ปุ่นในพม่า

การเป็นนักรบชั้นยอดของทหารกูรข่า คือเหตุผลที่ทำให้อังกฤษต้องนำนักรบกูรข่ามาเป็นทหาร โดยจัดค่าตอบแทนให้แบบพองาม แต่ก็นับว่าราคาถูกกว่าการจ้างคนอังกฤษ

การเข้าไปเป็นทหารกูรข่าในกองทัพอังกฤษ การได้สวมเครื่องแบบทหาร การได้ไปฝึกอบรมในประเทศอังกฤษ การได้เห็นโลกกว้าง และการมีรายได้เลี้ยงครอบครัว กลายเป็นสิ่งที่เด็กหนุ่มทั้งหลายในประเทศเนปาลใฝ่ฝัน ถึงแม้จะต้องผ่านการทดสอบอย่างหฤโหด ในด้านความรู้ทางวิชาการ สภาพร่างกายต้องบึกบึน อยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด

อังกฤษมิได้เรียกเกณฑ์ชาวเผ่ากูรข่าแต่อย่างใด หากแต่เด็กหนุ่มเหล่านี้แย่ง แข่งขันกัน ซึ่งจะมีการสอบคัดเลือกแบบฝีมือล้วนๆ เป็นประจำทุกๆ ต้นปีในประเทศเนปาล

เด็กหนุ่มที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นทหารในกองทัพอังกฤษจะพลิกผันให้ชีวิตของพวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งโดยปกติชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศเนปาลอาชีพหลักคือเกษตรกรที่แสนจะลำเค็ญ ทหารกูรข่าทั้งหมดจะส่งรายได้กลับมาเลี้ยงดูพ่อแม่ ญาติพี่น้อง จนทำให้กลายเป็นรายได้หลักของประเทศ การรับราชการทหารจะยังเป็นการขยับสถานะจากครอบครัวชาวนาให้มีสถานะในสังคมสูงขึ้น

หลักการที่จะเข้าไปเป็นทหารกูรข่าในกองทัพอังกฤษ

ช่วงต้นปีของทุกๆ ปี กองทัพอังกฤษจะจัดให้มีการสอบคัดเลือกในประเทศเนปาล เด็กหนุ่มราว 5,000 คน จะมาชุมนุมกันที่เมือง “โพคารา” (Pokhara) เพื่อเข้าโรงเรียน เตรียมตัวจะเข้าสอบคัดเลือก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ คือ มาเข้าโรงเรียนกวดวิชาราว 8 เดือน เพื่อจะไปทดสอบจริงราวปลายปี

ในโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งในเมือง เด็กหนุ่มจะต้องทดสอบร่างกาย ดึงข้อ ลุกนั่ง วิ่ง และด่านที่หินที่สุด คือ การแบกตะกร้าบรรจุทรายหนัก 25 กก. ขึ้นทางลาดชันยาว 4.2 กม. ภายใน 46 นาที ที่เรียกว่า โดโค เรซ (Doko race)

นอกจากนี้ ยังจะต้องกวดวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ทัศนคติและไหวพริบปฏิภาณ ซึ่งทหารในสมัยปัจจุบันต้องมีทักษะ ความฉลาดเฉลียว เด็กหนุ่มทุกคนมุ่งมั่นกับอาชีพที่มีเกียรติ ชื่อเสียง และรายได้ ที่ไม่สามารถหาได้ในเนปาล ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนประเทศหนึ่งของโลก

ในช่วงปลายปี หลังจากการติวเข้มกันมาแบบทรหดอดทนประมาณ 8 เดือน ที่อดีตนายทหารของอังกฤษจะทำหน้าที่เป็นผู้ติวเข้ม จะเป็นการสมัครสอบ นักสู้จากภูเขาสูงทั้งหลายจะไปยื่นเอกสารใบสมัคร ทะเบียนบ้าน ณ ค่ายทหารอังกฤษ

กองทัพอังกฤษจะคัดเด็กที่แข็งแกร่งที่สุดอายุ 18-19 ปี มีความรู้มากที่สุด มีบุคลิกภาพดี เพียง 200-230 คน ไปทำการฝึกในอังกฤษ แล้วเข้าประจำการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอังกฤษที่จะส่งไปรบที่ไหน ไปตายที่ไหนก็ได้

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารกูรข่าราว 120,000 นาย ถูกนำไปฝึกก่อนเข้าสู่สนามรบภายใต้การบังคับบัญชาของทหารอังกฤษ เสียชีวิตไปราว 43,000 นาย สร้างวีรกรรมจนได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดของอังกฤษถึง 26 นาย

จุดแข็ง คุณสมบัติที่ยอดเยี่ยมประการหนึ่งของกูรข่า คือ การเป็นชนเผ่าที่อยู่บนภูเขาสูงมาตั้งแต่เกิด เผชิญกับความยากลำบากมามาก ทนต่อสภาพอากาศ เป็นนักรบ นักสู้โดยสายโลหิต ประการสำคัญ คือ พูดภาษาอังกฤษได้ดีเกือบทุกคน

การคัดเลือกจะมี 2 ขั้นตอน ขั้นแรกเลือกจากการทดสอบคนภูเขา (hill selection) คนที่สอบผ่านจะต้องเข้าสอบรอบ 2 ที่สนามกลาง (central selection) หนุ่มฉกรรจ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เดินเท้าจากภูเขาเข้าเมือง 1-3 วัน เกือบทุกรายมาจากที่ราบสูงเสียดฟ้า ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า การใช้ชีวิตในที่ราบสูงมาตั้งแต่เกิด ทำให้ร่างกายปรับตัวได้ดี ร่างกายสามารถเพิ่มความเข้มเม็ดเลือดแดง เพื่อให้นำออกซิเจนได้ดีเมื่อเวลาออกกำลัง

การสอบคัดเลือกเป็นแบบ “แพ้-คัดออก” ถ้าสอบไม่ผ่านไม่ว่าจะขั้นตอนใดก็ถือว่าสอบตก คนที่สอบไม่ผ่าน ก็จะไปเรียนต่อโดยมิได้โกรธแค้นอะไร เพราะทุกคนแข่งกับตัวเอง
สำหรับผู้ที่สอบผ่าน จะต้องเดินทางไปฝึกที่ประเทศอังกฤษ ทางครอบครัวจะจัดพิธีอำลาอย่างยิ่งใหญ่ ต้องรับการแสดงความยินดีจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงแบบอลังการ จะต้องไปเข้าฝึกนาน 9 เดือนที่ Infantry Training Centre เมือง Catterick ในเมืองยอร์คไชร์ เหนือ (North Yorkshire) ที่แสนจะหนาวเหน็บสุดขั้วหัวใจ ซึ่งมีทั้งการฝึกภาคสนาม การใช้อาวุธ เทคนิคสงครามรูปแบบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนเด็กหนุ่มจากภูเขาให้เป็นนักรบ เรียนรู้ชีวิตแบบอังกฤษ ได้ท่องเที่ยว และจะได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต

เมื่อพูดถึงรายได้… มีข้อมูลว่า ถ้าได้รับการคัดเลือกเป็นทหารจะได้เงินเดือนขั้นต้น 1,000 ปอนด์/เดือน พร้อมทั้งมีงานทำต่อเนื่อง 15 ปีเป็นอย่างน้อย

กองทัพอังกฤษจะให้รับราชการนาน 15-30 ปี จึงปลดประจำการ อดีตทหารเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะกลับไปใช้ชีวิตในถิ่นฐานบ้านเกิดในเนปาล บรรดาอดีตทหารกูรข่าจะได้รับเงินบำนาญเพียงแค่ 2,500 บาท/เดือน นับว่าโหดร้ายมากเมื่อเทียบกับทหารอังกฤษที่รับราชการมาด้วยกันและเกษียณอายุราชการพร้อมกัน

เคยมีการร้องเรียนโดยทหารอังกฤษที่ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้เพื่อนทหารกูรข่า โดยขอให้เพิ่มเงินบำนาญให้อีก แต่รัฐบาลอังกฤษแถลงว่า เงินจำนวนนี้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตแบบพอเพียงในเนปาลแล้ว แต่รัฐบาลอังกฤษช่วยเหลือโดยไปจัดตั้งกองทุนสวัสดิการ Gurkha Welfare Trust และการรักษาพยาบาลให้อดีตทหารและครอบครัวในเนปาล

เรื่องของเงินบำนาญและสวัสดิการอันน้อยนิดสำหรับทหารกูรข่าที่สมัครมาทำงาน ยอมตายเพื่อปกป้องอังกฤษ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากในอังกฤษ ในลักษณะการเลือกปฏิบัติ

สถานการณ์พลิกผันแบบฟ้าผ่า เมื่อเจ้าชายแฮร์รีสมัครเข้าไปขอฝึกร่วมกับกองกำลังทหารกูรข่าก่อนเข้าสงครามในอิรัก เจ้าชายแฮร์รีเสด็จไปร่วมฝึกกับกองพันที่ 3 (3rd Battalion, Royal Gurkha Rifles) ที่จะเข้าร่วมรบในสงครามอิรักและทรงร่วมปฏิบัติภารกิจในฐานปฏิบัติการทหารกูรข่าในสงครามอิรัก-อัฟกานิสถาน 10 สัปดาห์

เจ้าชายแฮร์รีทรงรับทราบและเข้าพระทัยเป็นอย่างดีในความแตกต่าง เหลื่อมล้ำของทหารกูรข่ากับทหารอังกฤษ ทำให้สังคมอังกฤษแสดงความเห็นใจ รับทราบประเด็นปัญหามากขึ้น

ในปี พ.ศ.2552 ศาลสูงของอังกฤษมีคำพิพากษาอนุญาตให้อดีตทหารกูรข่าที่รับราชการในกองทัพอังกฤษในระหว่าง พ.ศ.2491-2540 สามารถตั้งรกรากในประเทศอังกฤษได้ แต่อดีตทหารผู้มีวินัยส่วนใหญ่ขอ
กลับไปใช้ชีวิตที่ถิ่นฐานบ้านเกิดในเนปาล กลับไปเป็นผู้นำชุมชน ช่วยเหลือชุมชน ญาติพี่น้องที่ยังลำบากยากแค้นในชนบท

ที่กล่าวมานี้ ใช่ว่าชาวกูรข่าจะเป็นคนโหดร้าย ใจอำมหิต หยาบช้า ในทางตรงข้าม ชาวกูรข่าเป็นชนเผ่าที่ใจดี มีเมตตา โอบอ้อมอารี อดทน สุภาพ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจเป็นเลิศ แต่เมื่อเข้าสู่สนามรบแล้ว เขาคือ เสือร้ายในสนามรบ ที่ไม่เคยไว้ชีวิตข้าศึก

ย้อนกลับไปในช่วงที่สิงคโปร์แยกตัวออกมาจากมาเลเซีย ซึ่งจะต้องมี “ตำรวจ” ในช่วงแรกสิงคโปร์ใช้แขกซิกข์ (แขกโพกหัว) ทำหน้าที่ตำรวจ

เมื่อใช้ตำรวจกูรข่า ทำหน้าที่แทนตำรวจซิกข์ หน่วยตำรวจกูรข่าทำงานแบบ “เป็นกลาง” อย่างยอดเยี่ยม ในเหตุจลาจลครั้งใหญ่จากปัญหาเชื้อชาติมาเลย์-จีนใน พ.ศ.2507 ต่างกับตำรวจท้องที่ซึ่งในเหตุการณ์มักจะเข้าข้างเชื้อชาติ

สิงคโปร์ตัดสินใจแบบต่อยอด โดยไปคัดเลือกตำรวจจากอดีตทหารกูรข่าที่ปลดประจำการจากกองทัพอังกฤษมาเป็นตำรวจ สิงค์โปร์สถาปนาหน่วยตำรวจเมื่อ 9 เมษายน 2492 เรียกว่า หน่วยตำรวจกูรข่าสิงคโปร์ (Gurkha Contingent of the Singapore Police Force)

อดีตทหารเหล่านี้ ผ่านการฝึกมาอย่างดีแล้ว เสียสละ มีวินัย เข้าทำงานในสิงคโปร์มาตั้งแต่ก่อนเป็นเอกราช ซึ่งมีเหตุจลาจลบ่อยครั้ง กองกำลังตำรวจกูรข่าสิงคโปร์นี้ ถูกมอบภารกิจให้ควบคุมฝูงชน มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ตลอดมา

การประชุมระดับโลกของ 2 ผู้นำ คือ ประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีคิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา กองกำลังทหารกูรข่าจึงเป็นหน่วยที่ถูกเลือกมาปฏิบัติภารกิจอันสำคัญแบบพลาดไม่ได้

ไม่น่าเชื่อที่ชนเผ่ากูรข่า ดังไปทั่วโลกสร้างชื่อเสียงมาจากการเป็นคู่ต่อสู้ที่อำมหิตของทหารอังกฤษ อังกฤษเอาชนะไม่ได้จนกองทัพอังกฤษต้องขอให้มาเป็นพวกเดียวกัน

เป็นวิธีคิดแบบสร้างสรรค์ เอาประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แทนที่จะหาทางไปกำจัดทิ้ง

เครื่องแบบของทหารกูรข่าที่คุ้นตา คือ หมวกปีก (slouch hat) และมีดพกรูปโค้ง “คูกรี” (kukri knive)

ทหารกูรข่าไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพออสเตรเลียในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ไปร่วมรบกับทหารอังกฤษในสงครามฟอล์กแลนด์ และสงครามในอัฟกานิสถาน

รัฐบาลอังกฤษประหยัดงบประมาณได้มากในการใช้ทหารกูรข่า เพราะเป็น “ของดี ราคาถูก” แทนที่จะใช้เด็กหนุ่มชาวอังกฤษแท้ๆ การดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษทั่วโลก ทหารกูรข่าจะเป็นตัวเลือกเสมอ เช่น ในฮ่องกง บอร์เนียว ไซปรัส เซียร์ราลีโอน ติมอร์ตะวันออก บอสเนีย โคโซโว และอิรัก

ชื่อเสียง เกียรติคุณ ของทหารกูรข่าที่สร้างสมกันมา ระบบการคัดเลือกที่ดี ทำให้กองทัพอังกฤษประหยัดงบประมาณ และแก้ปัญหาที่คนอังกฤษไม่ปลื้มการเป็นทหาร

เซอร์ ราล์ฟ เทอร์เนอร์ (Sir Ralph Turner MC , 3rd Queen Alexandra’s Own Gurkha Rifles, 1931) ยกย่องทาหรกูรข่าว่า “เป็นที่สุดของความกล้าหาญ มีน้ำใจที่สุดของความมีน้ำใจ ไม่เคยพบเพื่อนที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าพวกคุณ”

มีดโค้ง คูกรี เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องยกติดตัวและประดับเมื่อสวมเครื่องแบบในพิธีการเสมอ มีคำกล่าวว่า เมื่อชักออกมาจากฝัก คมมีดนี้จะต้องได้ดื่มเลือดเสมอ

หน่วยทหารกูรข่าในสิงคโปร์ถูกกำหนดให้พักอาศัยในค่ายทหาร เมาต์ เวอร์นอน (Mount Vernon) มีร้านค้าอำนวยความสะดวกพร้อม มีกฎเหล็กคือ ห้ามแต่งงานกับชาวสิงคโปร์เด็ดขาด

ปัจจุบันหน่วยทหารกูรข่าประจำอยู่ในกองทัพอังกฤษราว 3,500 นาย มีความเป็นทหารอาชีพ นักรบกูรข่าเป็นทหารที่ได้รับการยกย่องให้เป็นทหารที่มีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ ทรหด อดทน ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ และจงรักภักดี เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

แปลและเรียบเรียง โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image