“ความซับซ้อนของการเลือกตั้งในระยะเปลี่ยนผ่าน” โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ข้อกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มีมากกว่าคำถามที่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะในคำอธิบายของผู้มีอำนาจเองก็มีคำอธิบายแบบที่ได้ยินได้ฟังเรื่อยๆ ได้แก่การตั้งระยะคร่าวๆ เอาไว้ อาทิ กุมภาฯ ปีหน้า แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ที่พยายามสื่อสารกับประชาชนก็เป็นเรื่องระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายที่จะไปให้ถึงวันนั้นยังไม่เรียบร้อยดี

ซ้ำยังเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาเรื่อยๆ ว่า ระเบียบขั้นตอนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นได้จริงไหม และการเดินทางไปสู่การเลือกตั้งนั้นจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายและประกาศต่างๆ หรือยกเว้นกฎเกณฑ์ใดบ้าง เพื่อให้การเลือกตั้งนั้นเกิดได้จริง อาทิ เรื่องของการจะมีไพรมารีนั้นเป็นไปได้จริงหรือไม่ในเวลาจำกัด และการประกาศเขตเลือกตั้งจะมีเมื่อไหร่ เพราะมีผลต่อการทำไพรมารี

ในอีกด้านหนึ่งนั้นก็คือ กระแสสังคมในเรื่องของภาวะ “อยากเลือกตั้ง” นั้นก็ดูจะเริ่มมีขึ้นทุกหย่อมหญ้า แม้จะมีการพยายามใช้เงื่อนไขในการฟ้องร้องคดีความกับคนที่ออกมาแสดงความเห็นและเคลื่อนไหวในพื้นที่สาธารณะมาโดยตลอด จนดูราวกับว่าต้องการจะลดอาการอยากเลือกตั้งลงให้ได้ด้วยการปิดปากกันด้วยเงื่อนไขทางคดีความ

สิ่งที่น่ากังวลในกระแสการอยากเลือกตั้งก็คือ หากการคงอยู่ของระบอบการเมืองปัจจุบันนั้นยังคงดำเนินต่อไป และตัวผู้มีอำนาจยังแสดงท่าทีไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่ากังวลก็คือ แนวร่วมของคนจำนวนมากอาจจะเกิดขึ้นถ้าไม่ในแบบที่เห็นบนท้องถนน ก็จะเห็นตามสื่อโซเชียลต่างๆ ในแง่ที่ว่า อยากจะไปให้พ้นๆ จากสิ่งนี้ และอาจจะเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงแต่ยังไม่มาถึงสักทีนั้นคือทางออกในทุกๆ เรื่อง

Advertisement

อย่าลืมว่าสี่ปีผ่านมานั้น มีคนจำนวนมากที่ยังไม่เคยมีโอกาสเลือกตั้ง และคนที่อาจไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเลือกตั้งในรอบที่แล้ว ก็อาจจะเริ่มรู้สึกว่าบางทีการเลือกตั้งอาจจะคือทางออกก็อาจเป็นได้

สิ่งที่ผมอยากเรียนเสนอก็คือ นอกจากความรู้สึกสองด้านคือ การเลือกตั้งมีไม่มีขึ้นกับ “ขั้นตอน” และ “การลัดขั้นตอน” ทางกฎหมายในด้านหนึ่ง กับการเลือกตั้งคือ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ที่จะไปให้พ้นจากสภาวะที่เป็นอยู่นั้น สิ่งที่การศึกษาการเมืองเปรียบเทียบตั้งคำถามก็คือ ทำไมเผด็จการยอมให้มีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งจะทำให้การธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจของพวกเขาดำรงอยู่ได้อย่างไร

Advertisement

เรื่องการปกครองและการรักษาอำนาจของเผด็จการไม่ใช่เรื่องเดียวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเสียทีเดียว เพราะในวิธีการมองเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยนั้น เราอาจจะมีสมมุติฐานว่า เผด็จการยินยอมพร้อมใจ หรือถูกบีบให้ลงจากอำนาจ และประชาธิปไตยนั้นจะกลับมา

การศึกษาในทางเผด็จการวิทยาทำให้เรามองเห็นว่า เผด็จการไม่ได้โง่ หรืออ่อนแอ แต่เผด็จการเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีตรรกะ และมีการคาดคำนวณอย่างมีเหตุผล และอาจเป็นไปได้ว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านอำนาจ หรือแม้กระทั่งมีการเลือกตั้งนั้น ก็คือ การที่เขาจะอยู่ต่อในอำนาจ หรือธำรงรักษาความเหนือกว่าทางอำนาจได้อย่างไร

ความสำคัญของการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของการเปลี่ยนผ่าน (transition) เพราะการเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่เราคาดหวัง แต่ในมุมมองของเผด็จการ เขาอาจจะมองว่าเราจะทำให้ระบอบการเมืองของเขาอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร (regime survival)

กล่าวอีกอย่างว่า แทนที่เราจะสนใจการเปลี่ยนผ่านโดยเอาประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง หรือพยายามค้นหาลักษณะ หัวมังกุท้ายมังกร (hybridity) ของระบอบหลังเปลี่ยนผ่าน เราอาจจะต้องย้ายมุมมองมาพิจารณาว่า เผด็จการคิดอย่างไรถึงจะให้มีการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งนั้นจะทำให้เผด็จการนั้นมีอำนาจต่อไปได้อย่างไร

เรื่องการคาดคำนวณอย่างมีเหตุผลของเผด็จการนี้ ทำให้เราต้องพิจารณาว่า ในท้ายที่สุดนั้นไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัวว่าเผด็จการจะถูกไล่ลงหลังจากมีการเลือกตั้ง หรือจะอยู่ต่อได้ในทุกครั้ง คำถามก็คือ มันมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่ทำให้เผด็จการหันไปใช้เงื่อนไขการเลือกตั้งเพื่ออยู่รอดและอยู่ต่อ (ไม่ใช่มองว่าการเลือกตั้งเป็นการลงจากอำนาจ หรือเปลี่ยนผ่าน)

งานศึกษาร่วมสมัยทางการเมืองเปรียบเทียบชี้ให้เราเห็นว่า แม้เราจะเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งประชาธิปไตย และเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในอีกหลายๆ แห่งก็คือ เผด็จการกลุ่มใหญ่ในโลกนี้ก็เลือกที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง และมักจะใช้ลีลาและเทคนิควิธีการต่างๆ ในการที่จะทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามของตนไม่มีโอกาสได้ชัยชนะ หรือเสียเปรียบในการแข่งขัน

ดังนั้นคำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมเผด็จการจัดการเลือกตั้ง และเผด็จการมีวิธีการอย่างไรให้การเลือกตั้งนั้นทำให้เขาครองอำนาจต่อไป ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงการโกงแบบทุเรศๆ ก็ได้

ในข้อเท็จจริงนั้น การเลือกตั้งในสังคมเผด็จการอาจจะมีทั้งผลที่ทำให้เผด็จการมีความมั่นคงขึ้น และในหลายกรณีก็อาจจะทำให้เผด็จการเกิดความไม่มั่นคงได้เช่นกัน

สิ่งที่สำคัญก็คือ การเลือกตั้งไม่จำเป็นจะต้องแปลว่าเผด็จการนั้นถอย (เว้นแต่ว่าเจอแรงกดดันจากประชาชน) การเลือกตั้งนั้นอาจทำให้เผด็จการสามารถสร้างพันธมิตรและฮั้วกับฝ่ายที่เป็นคู่แข่งมาก่อน หรืออาจจะทำให้เผด็จการได้รับความชอบธรรมเพิ่มขึ้นจากโลกและ ประชาชน นอกจากนั้นการเลือกตั้งอาจทำให้เผด็จการทำให้การต่อต้านลดพลังลง เพราะเมื่อขอให้มีการเลือกตั้งแล้วก็จัดให้ แม้ว่าอาจจะไม่ได้เป็นไปตามที่คาดฝัน

การเลือกตั้งที่จัดโดยเผด็จการอาจจะทำให้เผด็จการนั้นเรียนรู้และประเมินความเข้มแข็งของระบอบตนเอง และความเข้มแข็งของฝ่ายต่อต้านว่ามีมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งรู้ว่าทั้งฝ่ายต่อต้านและตัวเผด็จการเองได้รับความสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้เพราะโดยธรรมชาติของระบอบเผด็จการ การไม่ปล่อยให้เกิดเสรีภาพในการไหลเวียนของข่าวสารอาจไม่เป็นคุณกับฝ่ายเผด็จการเองด้วย จนทำให้อ่านสังคมไม่ถูกก็เป็นไปได้

แม้ว่าเผด็จการจะเป็นผู้ตัดสินใจเสียในหลายกรณีในการที่จะเปิดให้มีการเลือกตั้ง แต่เอาเข้าจริงผลการเลือกตั้งนั้นอาจจะไม่สามารถกำหนดได้ในทุกๆ ครั้งว่าเผด็จการจะรอดกลับมาได้ เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ หรือเกิดความวุ่นวายที่ทำให้เกิดการรัฐประหารซ้อนก็อาจเป็นไปได้

แถมอีกแบบก็คือ เกิดการเลือกตั้งมีผลทำให้ฝ่ายตรงข้ามระบอบรวมตัวกันได้ ฝ่ายผู้มีอำนาจเองอาจหาเงื่่อนไขในการรัฐประหารซ้ำก็อาจเป็นไปได้

เหตุผลที่ทำให้ระบอบเผด็จการไปไม่รอดนั้น เรื่องสำคัญก็คือ เมื่อเราพูดถึงฝ่ายต่อต้าน ความสำคัญไม่ได้หมายถึง “จำนวน” เท่านั้น แต่ต้องหมายถึงอำนาจในการรวมตัว การสร้างเครือข่าย และการประสานงานและร่วมมือกัน อย่าลืมว่าเผด็จการมักใช้เงื่อนไขห้ามมีการรวมตัว และเน้นการห้ามทำกิจกรรมของฝ่ายตรงข้ามเสียเป็นส่วนใหญ่

อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะเงื่อนไขที่เผด็จการสามารถคุมสถานการณ์ได้ในระยะยาวก็คือ ความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งเผด็จการจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษในการปกครอง

อย่าลืมว่าการเลือกตั้งในสังคมเผด็จการ ไม่ว่าในนามของการปฏิบัติกันเป็นกิจวัตร หรือในนามของการเปลี่ยนผ่านนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องของการยอม หรือคำสัญญา แต่เป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจว่าไม่มีเผด็จการใดที่จะอยู่รอดได้โดยการกดขี่ (repression) แต่ถ่ายเดียว สิ่งที่จะต้องมีควบคู่กันก็คือ การพยายามนำเสนอในเรื่องของการสร้างแนวร่วม และการทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามยอมรับและเข้ามาเป็นพวก (co-optation) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกเยี่ยมประชาชน พัฒนาพื้นที่เพื่อสร้างฐานเสียง

และรวมไปถึงการดูดนักการเมือง และ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเข้ามาเป็นพวก

งานวิจัยที่สำรวจการอยู่รอดของเผด็จการทั่วโลกนั้นพบว่า การตัดสินใจก้าวสู่การเลือกตั้งของเผด็จการนั้นเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความเสี่ยงและความไม่มั่นคงของเผด็จการในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วการตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งของเผด็จการนั้นเป็นคุณกับระบอบเผด็จการมากกว่า หากเผด็จการนั้นต้องการที่จะอยู่รอด

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะต้องเข้าใจเรื่องของการเลือกตั้งก็คือ การแบ่งมิติความเข้าใจการเลือกตั้งออกเป็นสองมิติ มิติแรกคือ มิติที่มองว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างที่เราอยากให้มีและเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นตัวชี้วัดการมาถึงของประชาธิปไตยในสังคมเหล่านั้น

ขณะที่ปัจจัยที่จะทำให้เผด็จการอยู่รอดนั้น อยู่ที่มิติที่สองของการเลือกตั้้ง นั่นก็คือการเลือกตั้งที่จะต้องพิจารณาในระดับสถาบัน หรือหมายถึงการจัดการและโครงสร้างของระบบเลือกตั้งที่จะสร้างหลักประกันให้ระบอบเผด็จการนั้นอยู่ในอำนาจได้ในระยะยาว (institution of elections) เนื่องด้วยระบบการเลือกตั้งต่างๆ นั้นจะเป็นคุณทำให้ระบอบเผด็จการอยู่ในอำนาจต่อไป

แม้ว่าตัวการเลือกตั้งในฐานะปรากฏการณ์ หรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาหนึ่งนั้น อาจทำให้เรา
รู้สึกว่าเผด็จการนั้นยอมถอย หรือสัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเราเข้าใจไปเอง (หรือเผด็จการต้องการทำให้เราเข้าใจ) ว่าเป็นการตั้งต้นการเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตยก็ตาม แต่ถ้าพิจารณาโครงสร้างของระบบเลือกตั้งเองอาจจะเห็นแล้วว่า เผด็จการนั้นค่อนข้างแน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านที่เราพยายามคาดหวังให้เกิดขึ้นไปสู่ประชาธิปไตย แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงการแปรสภาพสู่ระบอบเผด็จการที่ซับซ้อนขึ้น และการอยู่รอดของเผด็จการต่างหาก

กล่าวโดยสรุปก็คือ เผด็จการนั้นไม่ได้กลัวการเลือกตั้ง แต่เงื่อนไขที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเขาแน่ใจว่าเขาจะรอด ทั้งในแง่ของการรอดกลับมาหลังการเลือกตั้งในแง่ของการกลับมาอยู่ในอำนาจต่อ หรือแม้กระทั่งรอดออกไปจากวิกฤตโดยไม่มีใครทำอะไรเขาได้ด้วยความคุ้มครองจากกรอบกฎหมายบางอย่างนั่นแหละครับ

 

ดังนั้นก็อย่าได้ดีใจไปว่าการเลือกตั้งเท่ากับการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย และก็อย่าได้เพลิดเพลินกับคำอธิบายว่าสักวันการเลือกตั้งนั้นก็จะมาถึงตามโรดแมปในท้ายที่สุด

สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวหากอยากให้เผด็จการสิ้นสุดอำนาจลงก็คือ การไม่ปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นเพียง
เป้าหมายที่จะทำให้เกิดขึ้น หรือปล่อยให้เผด็จการกำหนดสถาบันการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราไม่สามารถกำหนดเนื้อหาของการเปลี่ยนผ่านและ คุณภาพของประชาธิปไตยได้ เราจึงต้องเริ่มสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงนั้นสร้างเนื้อหาประชาธิปไตยและกำหนดคุณภาพของประชาธิปไตยในระยะยาว

มากกว่าปล่อยให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงทำให้เผด็จการรู้จักพวกเรามากขึ้นและกลับมาอยู่ในอำนาจต่อไปได้อย่างเนียนๆ ครับ

(สามารถศึกษาเพิ่มเติมจาก C.H.Knutsen, H.Mokleiv, และ T.W. “Autocratic Elections: Stabilizing Tools or Force for Change?”. World Politics. 69:1. 2017, 98-143,)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image