คอลัมน์เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย

เขยิบเข้ามาใกล้ขึ้น จากปีเป็นเดือน จากเดือนเป็นสัปดาห์ แล้วจากสัปดาห์เป็นวัน เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 วันอาทิตย์ใดวันอาทิตย์หนึ่งของเดือนนั้น น่าจะไม่ผิดที่เป็นวันกำหนดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ พรรคการเมืองเริ่มเดินหน้าจัดกระบวนท่าของพรรค ทั้งด้านนโยบาย ทั้งด้วยการสนับสนุนตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งด้านเตรียมการเป็นฝ่ายค้านและจัดตั้งรัฐบาล

ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองในชื่อเดิมยังมีเวลากลับเข้าพรรคเดิม และเปลี่ยนใจเข้าพรรคใหม่ ทั้งที่เป็นพรรคใหม่เอี่ยม เป็นพรรคกลางเก่ากลางใหม่ เป็นพรรคที่เปิดตัวว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง เป็นพรรคที่คัดค้านและชูประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ประกาศออกมาชัดแจ้งถึงการเลือกตั้ง แต่ยังยืนยันไม่เปลี่ยน “คำสัญญา” หรือ “โรดแมป” ที่จะให้มีเลือกตั้งหลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือการมีสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสมาชิกประกาศในราชกิจจานุบกษา

Advertisement

วันนี้ การเตรียมการไม่เพียงแต่พรรคการเมืองสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งเท่านั้น ฝ่ายที่ต้องการเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเดินเครื่องมานับเดือนแล้ว ตั้งแต่ออกเยี่ยมราษฎรในแต่ละจังหวัด แสดงความเป็นทั้งผู้นำและนักการเมืองพร้อมไปในคนเดียวกัน พยายามลดบทบาทการเป็นแม่ทัพที่สั่งการแบบทหารลง

จะเห็นว่าการพูดจาปราศรัยค่ำวันศุกร์น้ำเสียงอ่อนโยนลง ไม่เกรี้ยวกราดดุดันเหมือนเมื่อแรกทั้งการออกเยี่ยมราษฎร ที่อ้างว่าเพื่อสำรวจทุกข์สุขของชาวบ้าน เมื่อยามอยู่กับเด็กเล็ก และผู้เฒ่าจะแสดงออกซึ่งความอ่อนโยน มีเมตตา และให้ความใกล้ชิดกับผู้เฒ่าทั้งหลายเสมอ

ทั้งปวงขณะนายกรัฐมนตรีเปิดตัวเดินหาประชาชน บรรดากลุ่มผู้ที่ออกไปดูแลชาวบ้านตามชนบทของกองบัญชาการกองทัพไทย วันนี้กระจายออกไปช่วยเหลือประชาชนกว่า 7 พันหมู่บ้าน พร้อมกันทั่วประเทศ

Advertisement

พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ต่างอะไรไปกับเมื่อครั้งก่อนที่ “พรรคทหาร” พยายามเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยจากเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ได้เสียงในหีบบัตรจากมือของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่น

แต่ประวัติศาสตร์ยังไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้ง นับแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามนำประชาธิปไตยมาจากต่างบ้านต่างเมืองจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แล้วกลายเป็นการเลือกตั้งสกปรก นำไปสู่การปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ปีเดียวกันนั้นเอง

หรือแม้แต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2522 ยุคของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งผลสุดท้ายต้องปฏิวัติตัวเอง นำไปสู่การเดินขบวนครั้งแรกที่ล้มล้างรัฐบาลเผด็จการ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

การเลือกตั้งครั้งนี้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แนวทางความคิด 2-3 ประการซึ่งเกิดขึ้นขณะนี้ คือการเลือก 2 ฝ่าย “เอา พล.อ. ประยุทธ์” ฝ่ายหนึ่ง กับ “ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” ฝ่ายหนึ่ง และเลือกฝ่ายพรรคการเมืองเดิมคือ “เพื่อไทย” และ “ประชาธิปัตย์” กับบางพรรคที่พร้อมจะร่วมเป็นรัฐบาล หรือเลือกพรรคการเมืองใหม่คือ “อนาคตใหม่” กับ “ประชาชนปฏิรูป” “รวมพลังประชาชาติไทย” “พลังประชารัฐ” ซึ่ง 3 พรรคหลังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจน

ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง ต้องเดินหน้าให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ทหารแม้จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเป็นกลางทางการเมือง

เพราะการเลือกตั้งคือวิธีการที่เป็นไปตามหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในทุกระบบประชาธิปไตยต้องมาจากเสียงของประชาชน

เสียงของประชาชนคือเสียงชี้ขาดว่า “ใคร” “นักการเมือง” หรือ “พรรคการเมือง” ใดจะมาทำหน้าที่บริหารกิจการบ้านเมืองซึ่งมีวาระกำหนด 4 ปี/ครั้ง ไม่ว่าจะกี่วาระ ต้อง 4 ปี/ครั้งเท่านั้น จำไว้ให้แม่นนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image