บทนำประจำวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 : ปราบโกง อปท.

การเสวนา “ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น” นายโกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2558 มีจำนวนการร้องเรียนทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. 1,318 เรื่อง
ปี พ.ศ.2559 มีการร้องเรียน 1,250 เรื่อง และในปี พ.ศ.2560 จำนวน 553 เรื่อง ที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นร้อยละ 30 การทุจริตเกิดจากขาดการมีส่วนร่วมและไม่สามารถตรวจสอบเอกสารโครงการได้ แนวทางการป้องกันการทุจริตคือ “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” เพราะท้องถิ่นจะรู้ข้อมูลในพื้นที่ตนเองและมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม และสภาท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่กำกับดูแลท้องถิ่น

นายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การตรวจสอบ อปท. ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่กระทบการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท.เกินไป จนจัดทำบริการสาธารณะไม่ได้เต็มที่เพราะกลัวโดนตรวจสอบ พร้อมกับระบุว่าการตรวจสอบ อปท.โดย สตง.ที่ผ่านมา มีปัญหาหลายประการ อาทิ ตีความหน้าที่และอำนาจการใช้เงินไม่ตรงกัน ตีความการดำเนินการของ อปท.เคร่งครัดเกินไป ไม่ยืดหยุ่นในเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น อาทิ การจัดงานในวันสำคัญต้องจัดให้ตรงกับวันตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ฯลฯ ส่วนนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า อปท.ประสบปัญหา “ธุรกิจการเมือง” โดยใช้งบแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ผ่านการดำเนินงานประชานิยม อาทิ แจกเสื้อผ้า ผ้าห่ม พาประชาชนไปท่องเที่ยว ฯลฯ

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 อปท. นอกจากต้องหยุดชะงักแล้ว ยังตกเป็นเป้าการตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมทุจริต ใช้อำนาจใช้งบประมาณในทางที่ผิด เหมือนกับสภาผู้แทนฯ กิจกรรมหลายอย่างของ อปท.ต้องหยุดชะงัก ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า มีส่วนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นมาอีกครั้ง แน่นอนว่า การปราบปรามทุจริตเป็นเรื่องต้องกระทำ แต่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่มีอคติ และไม่ให้กระทบต่อประชาชน ขณะนี้รัฐบาลและ คสช.ยืนยันแล้ว ว่าเตรียมจะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากหยุดไป 4 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ส่วนความห่วงใยต่างๆ นั้น แก้ไขได้ด้วยกลไกและกฎหมายที่มีอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image