ภราดรภาพนิยม ในยุค 30 บาทรักษาทุกโรค : โดย เอกชัย ไชยนุวัติ

“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” คือหลักแนวคิด 3 ประการ ที่กลุ่มบุคคลสามัญชนที่เรียกว่าคณะราษฎร ได้ทำการอภิวัฒน์สยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ในวาระรำลึก 86 ปี วันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้เขียนขอนำเสนอความคิดต่อยอดในหัวข้อ ภราดรภาพนิยม (Solidarism) แนวคิดที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ผ่านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ดร.ปรีดี พนมยงค์) ได้เขียนในหนังสือคำอธิบายกฎหมายปกครอง (2474) ว่า “มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันดั่งกล่าวแล้ว มนุษย์จำต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในประเทศหนึ่ง ถ้ามนุษย์คนหนึ่งต้องรับทุกข์ เพื่อนมนุษย์คนอื่นก็รับทุกข์ด้วย จะเป็นโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม เหตุฉะนั้นเพียงแต่มนุษย์มีความอิสระและมีความเสมอภาค จึงยังไม่เพียงพอคือจำต้องมีการช่วยเหลือฉันพี่น้องด้วย”

หนังสือ “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์” โดย ดร.ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล หน้า 36 ได้อธิบาย ภราดรภาพนิยมว่า “ภราดรภาพนิยม ในฐานะที่เป็นกฎธรรมชาติ ได้แสดงให้เราเห็นว่า การกระทำของเราแต่ละคนนั้นมีผลกระทบทั้งในแง่ดีและแง่ร้ายต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ความรับผิดชอบความเสี่ยงภัยทั้งปวงของเราจึงเพิ่มมากขึ้น หากจะมีคนตกทุกข์ได้ยาก เราจำเป็นต้องช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น… หน้าที่ของเราก็คือต้องขจัดปัดเป่าสิ่งเหล่านั้นด้วย”

ภราดรภาพนิยมเป็นแนวคิดที่เริ่มต้นที่ว่า มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้เกิดมาด้วยสถานะที่เป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ต่อกัน แม้จะไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวก็ตาม แต่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ในชุมชนใหญ่ ความร่ำรวยของคนกลุ่มหนึ่ง อาจอยู่บนความทุกข์ยากของคนอีกกลุ่มหนึ่ง แนวคิดนี้เชื่อมประสานหน้าที่ระหว่างกัน (solidarité) กับภารกิจของรัฐ ที่ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร ในทางเศรษฐกิจ อันเป็นหลักประการที่ 3 ของคณะราษฎร ซึ่งผู้เขียนเสนอว่า หลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคมีรากฐานมาจากภราดรภาพนิยม

Advertisement

ลัทธิโซลิดาริสม์ หรือภราดรภาพนิยม รัฐจะเข้ามาเป็นผู้มีบทบาทในการประกันสังคม (หน้า 370 ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ โดย ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล) เมื่อรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ได้นำนโยบายนี้มาหาเสียงและเมื่อได้รับการเลือกตั้งก็ได้ทำให้เกิดขึ้นจริง โดยทุกคนมีสิทธิบัตรทองที่สามารถรับการรักษาได้ในสถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ เช่นนี้ รัฐสมัยใหม่จึงได้เข้ามาแทรกแซงประกันสิทธิทางสุขภาพของพลเมือง ให้ไม่ล้มละลายทางสุขภาพ ก่อนที่สิทธิบัตรทองนี้จะเกิดขึ้น ผู้ยากจนในต่างจังหวัดจำนวนมาก เมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่มีค่ารักษาสูงก็ถึงขนาดต้องขายที่ดิน ทรัพย์สินต่างๆ จนยากจน หรือล้มละลายทางสุขภาพนั่นเอง

แนวคิดเรื่องภราดรภาพนิยมนี้มีอิทธิพลสำคัญต่อท่าน ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเกียรติประวัติท่านมากมาย เช่น หัวหน้าผู้ร่วมก่อการฝ่ายพลเรือน คณะราษฎร ผู้ร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ฉบับ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เจรจายกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่ทำให้สยามไม่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 (โมฆะสงคราม) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่องไว้ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส” ซึ่งแนวคิดภราดรภาพนิยมเป็นพื้นฐานสำคัญในเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้เสนอไว้ใน พ.ศ.2476 ที่เสนอหลักการประกันซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลมีบทบาทประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) (หน้า 372 ปฐมทรรศน์ทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ โดย ทิพวรรณ เจียมธีรสกุล)

แม้ 86 ปีของการอภิวัฒน์สยามให้เป็นประชาธิปไตยสากลจะผ่านไป แม้เสรีภาพ ความเสมอภาค จะถูกบั่นทอนไปมากมาย แต่ภราดรภาพนิยมในแนวทางของหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ยังคงหลักประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรได้ให้ไม่ล้มละลายทางสุขภาพ ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าเราราษฎรไทย (สยาม) เห็นว่าเรามีภาระหน้าที่ทางศีลธรรมและทางกฎหมายที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการประกันสิทธิทางสุขภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคซึ่งไม่ใช่เรื่อง หลักอนาถา แนวคิดภราดรภาพนิยมในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็จะดำรงสืบต่อไป

Advertisement

เอกชัย ไชยนุวัติ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image