ที่เห็นและเป็นไป : คุณภาพการบริหาร โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

กรณีครูโรงเรียนเทศบาลแห่งหนึ่งในเมืองเพชรบูรณ์ เขียนติดหน้าอกลูกศิษย์คนหนึ่งว่า “ยังไม่ชำระค่าเทอม 700 บาท” จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันหนัก โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์

แน่นอนว่าเรื่องนี้ “ครู” ซึ่งไปทำแบบนั้นย่อมถูกถล่มเละ ด้วยสะท้อนทั้งไม่มีความรู้ในงานของตัวเอง ไม่รู้กระทั่งว่านักเรียนระดับนี้อยู่ในนโยบาย “เรียนฟรี” ไม่ต้องจ่ายค่าเทอม และในเชิงสำนึกทางด้านจิตใจ ที่ไร้เมตตาอันเป็นคุณสมบัติอันควรมีของครู

ขณะที่โรงเรียนเองที่ชี้แจงว่าเป็น “ความเข้าใจผิดของครู” เพราะเงินที่เด็กยังไม่ได้ชำระนั้น “ไม่ใช่ค่าเทอม” แต่เป็นเงินเรียกเก็บตามโครงการพิเศษต่างๆ เช่น “ค่าประกันชีวิต-ค่าบริการสอนพิเศษโดยครูต่างชาติ”

เป็นการสื่อสารที่ผิดพลาด

Advertisement

วิธีการที่จะทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จบคือ หาคนมาช่วยจ่าย ซึ่งก็คงหาไม่ยาก เงินแค่ 700 บาทกับกระแสแรงๆ อย่างนี้ มีคนพร้อมจะช่วยอย่างเต็มอกเต็มใจโดยไม่หวังอะไรตอบแทนอยู่แล้ว

ส่วนครูที่ทำอย่างนี้ก็ตั้งกรรมการสอบกันไป ผลจะเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น เพราะหากกระแสจางแล้ว เรื่องก็จะถูกลืมๆ ไป เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้น

ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่า “สมควรจะปล่อยให้จบลงแค่นั้นหรือไม่”

เนื่องจากหากพิจารณาให้ลึกลงไป มีหลายประเด็นที่น่าคิด

หนึ่ง “นโยบายเรียนฟรี” ที่ประกาศเป็นผลงานกันครึกโครมนั้น “ไม่เป็นจริง”

อย่าแต่คนอื่นเลย กระทั่งครูในโรงเรียนยังไม่รู้ว่ามีนโยบายนี้อยู่

สอง “ค่าใช้จ่ายตามโครงการพิเศษต่างๆ” เป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ เป็นภาระที่เกินจำเป็นของผู้ปกครองหรือไม่

การบริหารจัดการเรื่องนี้ทำอย่างไร ที่บอกว่าเป็นโครงการที่ไม่บังคับให้ต้องจ่าย ถ้าผู้ปกครองหรือนักเรียนไม่พร้อม ไม่ต้องเข้าร่วมโครงการก็ได้นั้น ในวิถีชีวิตตามความเป็นจริง ผู้ปกครองปฏิเสธโดยไม่รู้สึกผิดกับลูกหลานได้หรือไม่

หรือผู้บริหารโรงเรียนย่อมรู้อยู่แล้วว่าถึงอย่างไร ผู้ปกครองก็ต้องดิ้นรนเข้าร่วมโครงการนี้ให้ได้

ที่สำคัญคือโครงการที่เพิ่มภาระให้ผู้ปกครองแบบนี้ มีประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษาแค่ไหน

ที่ผ่านมาการศึกษาไทยยังอยู่ในวังวนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ไร้คุณภาพ ไม่เพียงทำให้เยาวชนไทยต้องเสียเวลาไปในชั้นเรียนอย่างไม่มีประโยชน์อะไรมากนักกับการเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตที่ถูกต้องในอนาคต

การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นภารกิจที่ถูกเรียกร้องเป็นอันดับแรกๆ ในทุกยุคทุกสมัย

คุณภาพของครูที่อ่อนด้อย เพราะชีวิตเต็มไปด้วยหนี้สิน ต้องดิ้นรนหารายได้เสริมในทุกวิถีทาง จะแก้ไขกันอย่างไร

รวมทั้งอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ได้แค่รอการบริหารจากคนที่มีความสามารถ เห็นปัญหาและคิดมาตรการแก้ไข พร้อมควบคุมให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ก่อประสิทธิผลได้

แต่ดูเหมือนว่า การศึกษาไทย ที่ครูใช้วิธีแบบมักง่ายติดป้ายบนหน้าอกลูกศิษย์แล้วไม่มีสำนึกรู้ว่านั่นเป็นเจตนาประจานให้เด็กเกิดปมน้อยเนื้อต่ำใจยังเกิดขึ้น เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่สะท้อนความไร้วุฒิภาวะของคนมีหน้าที่สร้างวุฒิภาวะให้เยาวชนของชาติ

และความจริงก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ที่คนมีหน้าที่แต่ไร้ความตระหนักรู้ถึงสภาวะที่ต้องมีในหน้าที่ของตัว

ในช่วงหลังนี้มีเรื่องราวที่สะท้อนสภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมากมาย

หลายเรื่องลามจากการไม่รู้หน้าที่ไปเป็นการใช้หน้าที่ก่อทุจริตอย่างไร้จิตสำนึกต่อความเดือดร้อนของระดับล่างที่เดือดร้อนเป็นปกติอยู่แล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ย่อมสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ

มีปัญหากันทีก็ใช้อำนาจลงโทษกันที แล้วทุกอย่างก็ผ่านเลยไป

ทั้งที่ต้นทางของปัญหานั้นเอาเข้าจริงแล้วต้องการความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ประเมินและวางแผนเพื่อแก้ไขอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่เมื่อมีปัญหาขึ้นมาก็ใช้อำนาจจัดการผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้เรื่องจบ ไม่โยงมาถึงตัวเอง จนการเอาตัวรอด กลายเป็นแบบอย่างให้ลอกเลียนกันทุกระดับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image