อาศรมมิวสิก : การนำวงทีพีโอไปแสดงที่เขมร โดย สุกรี เจริญสุข

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) เป็นวงออเคสตราอาชีพวงหนึ่งของไทย เรียกชื่อกันสั้นๆ ว่า วงทีพีโอ (TPO) มีนักดนตรีประจำ 93 คน เป็นวงออเคสตราที่ได้พัฒนาคุณภาพขึ้นมาจนเป็นวงดนตรีที่มีคุณภาพมาตรฐานในระดับนานาชาติ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ได้แสดงติดต่อกันมา 13 ปีแล้ว แต่ละปีมีการแสดงอย่างน้อย 60 ครั้ง ได้ปักหลักแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ความจริงในแต่ละปีนั้นได้งบประมาณ 60-70 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใหญ่เกินตัว แต่ก็ตั้งใจจะให้เป็นต้นแบบของการทำงานที่มีคุณภาพและมีทิศทางรับใช้สังคมไทยที่ชัดเจน

ทุกปีวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) จะเดินทางไปแสดงในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้เสียงดนตรี ใช้วงดนตรี เป็นสื่อเชื่อมจิตใจระหว่างกัน วงทีพีโอทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ใช้นโยบายชื่นชมและยกย่องซึ่งกันและกัน ยกย่องความเป็นไทยและยกย่องความเป็นเพื่อน ในการแสดงทุกครั้งจะเริ่มด้วยเพลงไทย และนโยบายของการออกไปแสดงในประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะต้องแสดงเพลงของเพื่อนบ้านด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีผ่านบทเพลง

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปแสดงในต่างประเทศมาแล้ว อาทิ ไปแสดงที่ประเทศลาว (2 ครั้ง) ที่พม่า (3 ครั้ง) ที่มาเลเซีย (ปีนัง) นอกจากนี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงที่ญี่ปุ่น 2 ครั้ง

และยังได้ไปแสดงในงานที่ระลึก 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสประเทศนิวซีแลนด์

Advertisement

สําหรับโครงการเชื่อมสัมพันธไมตรีในภูมิภาคอาเซียนด้วยบทเพลง ในปี 2561 นี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยได้เตรียมจะเดินทางไปแสดงที่เขมร ในวันที่ 31 สิงหาคม 2561 ที่โรงละครหลวงจตุมุข (Chaktomuk Theatre) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระบรมราชวังจตุมุข ที่กรุงพนมเปญ เขมรนั้นเป็นเพื่อนบ้าน มีพื้นที่ติดต่อกัน มีภาษาประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีวัฒนธรรมประเพณี มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อาหารการกินคล้ายคลึงกัน ที่สำคัญก็คือ การมีกรณีพิพาททะเลาะระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

หากจะวิเคราะห์ความเป็นอยู่โดยทั่วไปก็คือ เพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ประเทศไทย ไม่ค่อยมีใครรักคนไทยเท่าใดนัก เพราะเพื่อนบ้านมีความรู้สึกฝังลึกอยู่ในใจว่า
“คนไทยชอบดูถูกและเอาเปรียบ” เมื่อทัศนคติติดลบกับคนไทยถูกปลูกฝังสั่งสมไว้อย่างนั้น คนไทยเองก็ไม่ได้เป็นที่รักของเพื่อนบ้านแต่อย่างใด จะล้างภาพอย่างไรก็ยากและต้องใช้เวลา การเริ่มต้นใช้นโยบายความสัมพันธ์ทางการทูตหรือความสัมพันธ์ทางการค้า ก็จะทำได้ตามผลประโยชน์ที่ลงตัวเท่านั้น หากถูกเอาเปรียบก็ต้องเจรจากันไป

แต่ความรัก ความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน การใช้วัฒนธรรมเชื่อมต่อกัน การใช้วิถีชีวิตโดยเฉพาะดนตรีไปเชื่อมกับพี่น้องชาวเขมร ซึ่งจะทำได้อย่างนิ่มนวลและเข้าถึงกันได้มากกว่า วงดนตรีเล่นบทเพลงในทำนองที่มีรากเหง้าเหมือนกัน ก็จะชักจูงให้จิตใจของเพื่อนบ้านโน้มลงได้ทันที เพราะที่สุดแล้ว เราอยู่ร่วมกันมานานในภูมิภาคแห่งนี้ เทือกเถาเหล่ากอก็เป็นพวกเดียวกัน จึงมีชีวิตเหมือนๆ กัน

Advertisement

สำหรับดนตรีนั้น สามารถที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจคนได้ดีที่สุด เสียงดนตรีนั้นไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีศาสนา ไม่มีชนชั้น ไม่มีความยากจน ไม่มีความร่ำรวย และไม่มีพรมแดน ซึ่งความเกลียดชังที่มีระหว่างกันนั้น ทำให้มนุษย์มีจิตใจต่ำลง ในขณะเดียวกัน การใช้ดนตรีเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้มนุษย์เกิดความรักกัน รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ที่สำคัญก็คือ ความรักและความเมตตาทำให้มนุษย์มีจิตใจสูงขึ้น

การนำวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทยไปแสดงที่เขมรในครั้งนี้ เป็นการยื่นความรักและได้ยื่นไมตรีที่ดีต่อกันให้กลับคืนมา เพราะการแสดงดนตรีในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นหน้าที่หลักและเป็นบทบาทที่สำคัญของวง (ทีพีโอ) อย่างมาก เพราะเป็นการขยายความเจริญให้แก่เพื่อนบ้าน มอบดนตรีซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนชื่นชมและภูมิใจซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลายจะพยายามถีบตัวเองไปแสดงศิลปะในประเทศที่มีวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และมีอำนาจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น ไปจีน ญี่ปุ่น ยุโรป หรืออเมริกา ไปเพื่ออวดและแสดงว่าฉันไม่ได้ด้อยพัฒนาอีกต่อไป แต่ในละแวกประเทศด้อยพัฒนาด้วยกัน ไม่มีใครไปมาหาสู่หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสิ่งที่ดีๆ ต่อกันเท่าใดนัก เพราะมัวแต่ยกตนข่มท่าน เขมรก็ไปยุโรป ไปฝรั่งเศส ไทยก็ไปอังกฤษ และไปอเมริกา

ส่วนไทยกับเขมรก็มัวแต่เบ่งใส่กัน ดูกรณีเขาพระวิหารเป็นตัวอย่าง

ในการเดินทางไปแสดงของวงทีพีโอครั้งนี้ ได้รับความเห็นชอบและให้การสนับสนุนจากคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ท่านปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ ได้ร่วมเป็นประธานจัดการแสดง ซึ่ง พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นายกสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่ข้างๆ และยังมี ดร.วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักในฝ่ายไทย

สำหรับฝ่ายเขมรนั้น มีสำนักงานศิลปะแขมร์อมตะ (Cambodian Living Arts) เป็นผู้ประสานงานในเขมร กลุ่มศิลปินนักดนตรี ทั้งนักประพันธ์เพลง (ดร.ฮึม โสภี) นักดนตรีชาวเขมร ก็อยู่ในเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเขมร ในส่วนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนดนตรีเขมรด้วย

วัตถุประสงค์หลักของการเดินทางไปแสดงในครั้งนี้ ก็เพื่อใช้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) เป็นสื่อส่งเสริมและเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับเขมร ใช้บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่โดยนักประพันธ์เพลงทั้ง 2 ประเทศ เพื่อสร้างจินตนาการใหม่ เปิดโอกาสให้นักประพันธ์เพลงทั้งชาวไทยและชาวเขมรได้ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกัน โดยใช้เนื้อเรื่องเดียวกัน คือ เพลงเขมรและเพลงไทย เพื่อร่วมกันเล่าเรื่องชีวิตผ่านเสียงดนตรี เพื่อที่จะกระชับความสัมพันธ์ผ่านบทเพลงที่มีความผูกพันกันทางวัฒนธรรม มีนักร้องและนักดนตรีทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันทำงาน ใช้ดนตรีเป็นสื่อสร้างความรู้สึกของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ให้รับรู้มรดกเรื่องเดียวกัน ใช้ความรู้มองข้ามผ่านพรมแดน ผ่านเชื้อชาติ ผ่านภาษา ผ่านอุปสรรคที่เป็นเครื่องขวางกั้นทั้งหลาย

เพลงที่ใช้ในการแสดงเป็นเพลงที่เรียบเรียงและประพันธ์ขึ้นใหม่ เพลงชาติกัมพูชา เพลงโหมโรง (Sihanouk Overture) เรียบเรียงโดย พ.อ.ประทีป สุพรรณโรจน์ ไฮเดินเชลโลคอนแชร์โต โดย ตปาลิน เจริญสุข ยังมีบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้วต่อด้วยเพลงร่วมชาติ “สร้อยแสงแดง” เดี่ยวขลุ่ยร่วมกับวง โดยศิลปินแห่งชาติ ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ในขณะเดียวกันก็จะมีศิลปินวาดภาพ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง วาดภาพบรรยากาศพระราชวังกัมพูชาตามเสียงขลุ่ย เพื่อนำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี

ทั้งนี้ วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ได้เตรียมเพลงแถมไว้ด้วย เป็นเพลงลูกทุ่งเขมร ขับร้องโดยนักร้องเขมร เพื่อเป็นการยกย่องซึ่งกันและกัน

การแสดงครั้งนี้ ฝ่ายประสานงานเขมรกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จฯ พร้อมด้วยพระวรราชมารดา พระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ (ปอล โมนิก) เพื่อทอดพระเนตรการแสดงของวงทีพีโอด้วย ในส่วนตัวแทนฝ่ายไทย นอกจากท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญแล้ว ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายวีระ โรจน์พจนรัตน์) เป็นประธานฝ่ายไทย

การเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาติอาเซียนเป็นภาระของรัฐโดยตรง หากได้ใช้เครื่องมือที่นุ่มนวล ใช้วัฒนธรรมร่วม ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน ศิลปะ และดนตรี ซึ่งดนตรีเป็นพลังที่อ่อนโยนและลึกซึ้งมาก แสดงความเป็นมาและเป็นอยู่ ร่วมกันอย่างยาวนาน ซึ่งอาจจะเป็นพลังทางดนตรีที่จะช่วยให้เขมรได้ฟื้นฟูบทเพลงและดนตรีได้เร็วขึ้น การที่ชาวเขมรถูกฆ่าตายร่วม 2 ล้านคนในระหว่างสงครามล้างเผ่าพันธุ์ ในนั้นนักดนตรีก็ถูกฆ่าไปด้วยเกือบหมดประเทศ

สำนักงานศิลปะแขมร์อมตะ เป็นหน่วยงานที่ต้องการฟื้นฟูศิลปะดนตรีเขมร หากบทเพลงไทยที่ยังรักษาสำเนียงอยู่ อาทิ เขมรปากท่อ เขมรราชบุรี เขมรพวง เขมรโพธิสัตว์ เขมรลออองค์ สร้อยแสงแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของเพลงเขมรอยู่แล้ว รวมทั้งเครื่องดนตรีไทยก็เหมือนกับเครื่องดนตรีเขมรอยู่ นักดนตรีไทยอาจจะช่วยให้เขมรได้ฟื้นฟูบทเพลงของตัวเองผ่านเพลงเขมรในไทยได้เร็วขึ้น ใครจะไปรู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image