เดินไปในเงาฝัน : ประติมากรที่คนไทยไม่รู้จัก โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

“เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์” นักประพันธ์ชาวอเมริกัน และนักเขียนรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมเคยพูดบอกว่า…แร่ย่อมไหลไปตามสายแร่ คนพันธุ์เดียวกัน ย่อมไหลมาเจอกัน
ซึ่งเป็นเรื่องจริง

เพราะตลอดชีวิตผ่านมา ผมเจอคนมากมายที่คุยด้วย รู้จักด้วยแล้วรู้สึกว่าคนคนนั้นเป็นคนพันธุ์เดียวกับผม โดยไม่ต้องพูดอะไรให้มากมาย

แม้คนคนนั้นจะเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง หรือรุ่นเดียวกันก็ตาม ถ้าเคมีภายในร่างกายตรงกัน จริตคล้ายๆ กัน เราจะรู้สึกว่าคนคนนี้น่าจะเป็นเพื่อนของเราต่อไปได้

ซึ่งเหมือนกับ บรรเจิด เหล็กคง ประติมากรเหล็กหนึ่งเดียวของประเทศไทย และของโลก ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยรู้จักเขามาก่อน แต่เมื่อ พี่นัทธี นิยมาภา ช่างภาพแถวหน้าระดับประเทศแนะนำให้รู้จักในวันเกิดหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ครบรอบ 42 ปี เราจึงคุยกันถูกคอ

Advertisement

ผมพึ่งรู้ว่าพื้นเพเขาจบสถาปัตย์มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลนีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา และที่บ้านของเขาเปิดอู่ซ่อมรถมาก่อน ดังนั้น เมื่อเขาเรียนจบจึงใช้วิชาชีพสถาปนิกรับจ้างออกแบบ และตกแต่งภายในให้กับผับ คลับ บาร์ต่างๆ แถวภาคอีสาน

เขาทำงานอยู่ระยะหนึ่ง

Advertisement

จนเริ่มคิดว่างานที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวตนของตน เขาจึงออกแสวงหาไปในที่ต่างๆ เพื่อค้นหาตัวเองว่าชอบอะไรกันแน่ แต่แล้วด้วยคำพูดของเพื่อนคนหนึ่งที่บอกเขาว่า…ทำไมไม่ทำศิลปะเหล็กล่ะ

“เหล็ก” เขาเริ่มคิด และมองย้อนกลับไปหาตัวเองในวัยเด็ก ซึ่งเขาเคยช่วย “พ่อ” อ๊อกเหล็กมาตั้งแต่เด็กๆ ดังนั้น ถ้าจะกลับไปทำงานศิลปะเหล็ก เขาก็น่าจะทำได้

เพียงแต่ “เหล็ก” มันแข็งแรง แต่การที่จะทำให้ “เหล็ก” อ่อนช้อยจนเกิดเป็นงานศิลปะ เขาจะต้องเข้าใจมันมากกว่านี้ เพราะพื้นเพเขาสั่งสมประสบการณ์มาจากงานสถาปัตย์

แต่ถ้าจะสร้างงานประติมากรรมเขาจะไปทางไหน ?

“บรรเจิด” จึงลงมือศึกษาข้อมูลทุกอย่าง หัดลองผิดลองถูกอยู่บ่อยครั้ง จนพ่อ ญาติพี่น้อง รวมถึงคนใกล้ชิดต่างมองเขาด้วยสายตาไม่เข้าใจว่า…มันจะทำอะไร ?

มันบ้าไปแล้วมั้ง ?

แต่เขากลับมุ่งมั่นต่อ กระทั่งงานชิ้นแรกปรากฏขึ้นคือ “องค์พระพิฆเนศ” เพราะเขาต้องการบูชาครูในวงการศิลปะเสียก่อน อีกทั้งเขายังคิดในใจว่าเมื่อเขาสามารถสร้างองค์พระพิฆเนศขึ้นมาได้
งานอื่นๆ ต่อไป เขาก็ต้องทำได้ด้วย

เป็นดั่งที่เขาคิดทุกประการ

ต่อจากนั้นงานอื่นๆ ก็ตามมา เขาเริ่มรู้แล้วว่าสิ่งที่เขาทำมาถูกทาง เพียงแต่งานของเขายังไม่เป็นที่ยอมรับ ยังไม่ถูกรับรู้ในวงกว้าง ที่สุดเขาจึงหอบงานประมาณ 10 กว่าชิ้นไปออกรายการทไวไลท์โชว์
โดยเฉพาะช่วงโชว์ออฟ ทั้งนั้นเพื่อต้องการให้ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ สัมภาษณ์ออกทีวี

“ไตรภพ” ชื่นชอบงานของเขา และบอกเขาในตอนท้ายว่าขอให้คุณประสบความสำเร็จในระดับโลกอย่างที่คุณคาดหวัง เพราะคุณคือหน้าตาของประเทศไทย

“บรรเจิด” ยอมรับว่าเขามีกำลังใจอย่างมากที่จะเดินหน้าทำงานศิลปะต่อไป ทั้งเขายังคาดหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะต้องนำงานประติมากรรมเหล็กที่เขารังสรรค์ขึ้นไปแสดงงานในระดับโลกให้ได้

เมื่อไหร่เขาไม่รู้

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เขาอยากแสดงงานในประเทศไทยเสียก่อน อยากสร้างชื่อให้ถูกการยอมรับเสียก่อน เพื่อที่เขาจะได้ขายงาน หรือมีสปอนเซอร์สักรายสองรายมองเห็นคุณค่าในงานประติมากรรมเหล็กของเขา

หลายปีผ่านมาไม่มีหอศิลป์สักแห่งตอบรับเลย

และหลายปีผ่านมาไม่มีสปอนเซอร์สักรายสนับสนุนงานของเขา แม้งานบางชิ้นจะถูกนำไปมอบให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง และเจ้าของห้างสรรพสินค้าอยู่บ้าง เนื่องในโอกาสที่เขาให้ใช้สถานที่แห่งนั้นแสดงงาน และมีนักการเมืองผู้หญิงคนหนึ่งมาเป็นประธานในพิธี

บุคคล 2 คนนี้จึงได้ประติมากรรม “กินรี” และ “หนุมาน” เป็นน้ำใจตอบแทนจากเขา แต่พวกเขากลับไม่เห็นคุณค่าในงานศิลปะเลย เพราะหลังจากนั้นอีกหลายปี “บรรเจิด” ตามหางานที่เคยให้ เพื่อจะนำไปแสดงงานที่ต่างประเทศ แต่กลับพบงานของตัวเอง (หนุมาน) กองอยู่หน้าห้องเก็บของราวกับเศษเหล็กที่ไร้คุณค่า

ส่วน “กินรี” หาไม่พบ และไม่รู้ด้วยว่าไปอยู่ที่ไหน กระทั่งผ่านมาไม่นานนี้เอง “พี่นัทธี” กลับไปพบงานชิ้นนี้กองอยู่ที่ร้านขายของเก่า

ช่างเป็นตลกร้ายเสียจริง

แต่กระนั้น ความตั้งใจจริงของเขาคงยังเดินหน้าต่อไป เพื่อต้องการงานที่เขารังสรรค์ขึ้นไปแสดงงาน ณ หอศิลป์ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ เขาเขียนอีเมล์ไปหาผู้อำนวยการหอศิลป์ในหลายๆ ประเทศ

พร้อมๆ กับเขียนอีเมล์ จดหมายลงทะเบียน และเดินเข้าหาสปอนเซอร์แต่ละราย เพื่อขอให้เขาสนับสนุนการเดินทางไปแสดงงาน จนวันหนึ่งหอศิลป์ Agora Gallery เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอบรับ

ขาดแต่สปอนเซอร์

“บรรเจิด” จึงเดินเข้าไปที่บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด อีกครั้งเพื่ออยากทราบว่าอีเมล์ และจดหมายลงทะเบียนที่เขาส่งไปได้รับหรือไม่ เขาไม่ตั้งความหวังว่าจะได้ เพียงแค่อยากรู้ว่าข้อความที่ส่งไปตกหล่นที่ไหนหรือไม่

แต่โชคกลับเข้าข้างเขา

เพราะมีโอกาสเจอกับ สันติ ภิรมย์ภักดี และผู้บริหารอีกหลายคนกำลังพิจารณางานของเขาอยู่พอดี ใครคนหนึ่งในนั้น ถาม “บรรเจิด” ว่า…ถ้าคุณได้ไป มันจะมีประโยชน์อะไรที่เกี่ยวข้องกับคนไทย หรือเด็กรุ่นหลังๆ บ้าง

เขาจึงตอบว่า…ถ้าผมเป็นนักวิ่งที่วิ่งเก่งระดับอำเภอ ผมจะต้องไปแข่งระดับจังหวัด ถ้าผมเก่งระดับจังหวัด ผมจะไปแข่งระดับประเทศ และถ้าผมเก่งระดับประเทศ ผมจะไประดับโลกครับ

“สันติ” ที่นั่งฟังคำตอบอยู่ด้วย จึงบอกเขาไปว่า…ให้เขาไประดับโลกอย่างที่เขาต้องการ คนระดับโลก ต้องไประดับโลก

“บรรเจิด” จำคำพูดของ “สันติ” อย่างขึ้นใจ

เพราะถ้าไม่มี “สันติ” เขาคงไม่มีโอกาสไปแสดงประติมากรรมเหล็กในหอศิลป์ Agora Gallery เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

จนทำให้คนทั่วโลกรู้จักเขาในวันนี้

ในวันที่เขายังคงมุ่งมั่นสร้างประติมากรรมเหล็กต่อไปจนถึงปัจจุบัน

แต่คนไทยกลับรู้จักเขาน้อยเหลือเกิน ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image