รวมศูนย์ในเรื่องเล็ก ปลดจากศูนย์ในเรื่องใหญ่

กรณีความขัดแย้งเรื่องฮิญาบที่ปัตตานี สะท้อนให้เห็นความน่าเป็นห่วง 2 อย่าง คือ อนาคตของรัฐไทยอย่างหนึ่ง กับอนาคตของพุทธศาสนาไทยอีกอย่างหนึ่ง

เราจะบริหารรัฐและศาสนากันอย่างไร้หลักเกณฑ์เช่นนี้ต่อไปไม่สิ้นสุดกระนั้นหรือ นั่นคือรวมศูนย์อย่างขาดเอกภาพ โดยเฉพาะเอกภาพด้านหลักการที่ควรยึดถือร่วมกัน

ผมไม่ทราบว่านักเรียนมุสลิมหญิงของโรงเรียนเทศบาล 4 เมืองปัตตานี ซึ่งอาศัยที่วัดนพวงศารามเป็นที่ตั้ง ได้สวมฮิญาบมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เด็กเหล่านั้นมีสิทธิจะสวมได้นับตั้งแต่ 2551 แล้ว เพราะมีระเบียบการแต่งกายนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งออกในปีนั้น อนุญาตให้สถานศึกษาอาจกำหนดการแต่งกายของนักเรียนมุสลิมให้ยืดหยุ่นได้

ผมเข้าไปดูภาพถ่ายของนักเรียนและโรงเรียน พบว่ามีนักเรียนหญิงสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมผมเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะสำนักข่าว BernarNews ของมาเลเซียรายงานว่าโรงเรียนนี้มีนักเรียนมุสลิมประมาณ 40% แต่ไม่ทราบว่าภาพเหล่านั้นถ่ายไว้ตั้งแต่เมื่อไร ตามระเบียบ 2551 หากโรงเรียนไม่ได้อนุญาตให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา นักเรียนก็คงไม่ได้แต่ง ผมไม่ทราบว่าโรงเรียนเพิ่งอนุญาตเมื่อไร

Advertisement

อาจเพิ่งอนุญาตไม่นานมานี้ก็ได้ จึงทำให้ผู้ปกครองชาวพุทธเพิ่งรู้สึกขัดตา

ไม่ว่าจะอนุญาตไว้ตั้งแต่เมื่อไร ก็ต้องถือว่าโรงเรียนตัดสินใจได้ถูก ผู้ปกครองของเด็กถึง 40% อาจเรียกร้อง และโรงเรียนก็ควรตอบสนอง ศาสนบัญญัติเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตของคนที่มีศรัทธาแรงกล้า ซึ่งไม่ควรถูกขัดขวางห้ามปราม ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามไม่เป็นอันตรายต่อใครหรือต่อส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม ระเบียบกระทรวงศึกษาฯในปี 2551 แม้ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ก็ไปไม่สุด เพราะเป็นสิทธิพิเศษที่ยกให้แก่นักเรียนมุสลิมเพียงฝ่ายเดียว ที่จริงแล้วควรให้สิทธิแก่คนทุกศาสนา (รวมคนที่ไม่มีศาสนาด้วย) นั่นคือใครอยากแต่งเครื่องแบบของโรงเรียนก็ได้ หรือไม่อยากแต่งก็ได้เหมือนกัน โดยไม่ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้วินิจฉัยเอง สิทธิดังกล่าวก็จะไม่เป็นสิทธิพิเศษแก่ศาสนิกของศาสนาใดอีกต่อไป อันจะเป็นชนวนให้เกิดอาการ “ขัดตา” ของผู้ปกครองที่ไม่ได้สิทธิอันเดียวกัน

Advertisement

แต่ผมก็ยอมรับนะครับว่า ในเมืองไทย เดินมาได้แค่นี้ แม้ไม่สุดทาง ก็ต้องถือว่าดีกว่าไม่คิดจะเดินหรือแก้ไขปัญหาอะไรเลย อย่างน้อยศาสนิกอื่นก็ไม่ได้มีบัญญัติด้านการแต่งกายเคร่งครัดเท่าอิสลาม เครื่องแบบนักเรียนจึงไม่สร้างปัญหาให้พวกเขาเหมือนมุสลิม

ผู้ปกครองชาวพุทธซึ่ง “ขัดตา” กับฮิญาบ พากันประท้วง เรียกร้องให้นักเรียนทุกคนต้องสวมเครื่องแบบเหมือนกัน และด้วยวิธีใดก็ไม่ทราบ เจ้าอาวาสวัดนพวงศารามก็ออกมาให้เหตุผลสนับสนุนว่า เพราะโรงเรียนอาศัยที่วัด นักเรียนจึงต้องไม่แต่งกายแสดงตนเป็นศาสนิกอื่น

ท่านอาจจะลืมไปแล้วว่า วัดที่อนุญาตให้ใช้สถานที่เป็นโรงเรียนเทศบาล (หรือประชาบาลในสมัยก่อน) นั้น ได้หลุดออกไปจากการบริหารโรงเรียนมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 5 แล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงและผู้บริหารการศึกษาระดับสูงสมัยนั้น พบว่านโยบายที่จะเอาพระภิกษุและวัดเป็นผู้นำการศึกษาแผนใหม่มาสู่สังคม ไม่ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องจัดการดูแลเองโดยฝ่ายฆราวาส เพียงแต่ขอใช้พื้นที่วัดเท่านั้น

ผมไม่ทราบว่ามุสลิมในปัตตานีมีส่วนช่วยสร้างวัดนั้นหรือไม่เพียงไร ถึงมีก็ไม่แปลกอะไร เพราะวัดหลายแห่งในภาคใต้ก็เกิดขึ้นได้จากการร่วมบริจาคที่ดินของชาวมุสลิม จนบางรายถึงกับบริจาคทุนทรัพย์ด้วยก็ไม่น้อย เพราะมุสลิมก็ใช้ประโยชน์วัดในการประชุมร่วมกับคนพุทธในชุมชนเดียวกันมาแต่โบราณ

นอกจากนี้ผมยังคิดถึงหลวงพ่อโตวัดระฆังฯ ดังที่เล่ากันในประวัติว่าท่านอนุญาตให้ “แขก” นำแพะมาเลี้ยงในวัด จนแพะไปกัดกินต้นโพธิ์ (อย่าลืมว่าต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวพุทธนับถือมากกว่าต้นไม้ทั่วไป) ท่านก็ไม่ได้ไล่ “แขก” ออกไป แต่เรียกมาสั่งให้คอยดูแลอย่าให้แพะไปกัดกินใบโพธิ์อีก

ภาพคนนอกศาสนาเดินเข้าวัดคือความงาม เพราะวัดควรเป็นที่พึ่งแก่มนุษยชาติ (รวมทั้งยักษ์, พรหม, เทวดา, และสรรพสัตว์ทั้งปวงด้วย) อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงเป็น ดังที่เราสวดสรรเสริญพระพุทธคุณกันอยู่นั่นแล

และนี่ควรเป็นหลักการที่มีเอกภาพของผู้บริหารคณะสงฆ์ในเมืองไทย คือวัดทุกวัดต้องเปิดให้แก่คนทุกความเชื่อ ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ได้เข้ามาขัดขวางการบวชเรียนและเผยแผ่พระธรรมของวัด แต่องค์กรปกครองคณะสงฆ์ซึ่งมีโครงสร้างรวมศูนย์อย่างยิ่ง กลับไม่มีเอกภาพในหลักการร่วมกันบางอย่างเอาเลย

อันที่จริงคงไม่ใช่ผู้ปกครองชาวพุทธทั้งหมดหรือไม่ใช่แม้แต่ส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่ร่วมประท้วง รายงานข่าวใน BenarNews ระบุว่าโรงเรียนเทศบาล 4 มีนักเรียน 1,838 คน ตัดนักเรียนมุสลิมออก 40% ก็จะเหลือประมาณ 1,100 คน แต่มีผู้ปกครองชาวพุทธที่ประท้วงเรียกร้องให้นักเรียนทุกคนต้องแต่งเครื่องแบบเหมือนกันให้หมดเพียง 300 คนเท่านั้น ผมไม่ได้นั่งนับเลขเพื่อจะคำนวณหาเสียงส่วนใหญ่ส่วนน้อย แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนก็ตาม, เทศบาลเมืองปัตตานีซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนก็ตาม, กระทรวงศึกษาฯก็ตาม มีฐานมวลชนเพียงพอที่จะทำความเข้าใจกันกับผู้ปกครองชาวพุทธได้ไม่ยาก

แต่กระทรวงกลับออกคำสั่งแก้ระเบียบเดิม กำหนดให้โรงเรียนที่ตั้งบนพื้นที่วัดหรือธรณีสงฆ์ ต้องแต่งกายตามข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา ฉะนั้นในกรณีโรงเรียนอนุบาล 4 วัดนพวงศารามนี้ นักเรียนมุสลิมก็ต้องสวมเครื่องแบบของทางโรงเรียนเท่านั้น เพราะเจ้าอาวาสท่านได้แสดงความเห็นไปแล้ว

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระทรวงศึกษาฯได้ยกให้วัดเป็นผู้ตัดสินใจเอง วัดกลายเป็นผู้บริหารโรงเรียนไปตั้งแต่เมื่อไร? และจะเอาอย่างนี้แน่หรือ? หากจะเอาตามนี้จริง เหตุใดจึงต้องไปเริ่มที่ปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่ของประชากรไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ

อันที่จริงขันติธรรมทางศาสนาเป็นความรู้ที่ขาดไม่ได้แก่เด็กไทย (หรือคนไทยทุกคน) เพราะเราจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลากหลายด้านศาสนามากขึ้นทุกที ไม่เฉพาะแต่ขันติธรรมด้านศาสนา ขันติธรรมต่อความแตกต่างอื่นๆ อีกมากก็เป็นความจำเป็นที่ต้องอยู่ในเป้าหมายสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการจัดการศึกษาในประเทศไทย

แต่การรวมศูนย์จัดการศึกษาในประเทศไทย ถึงจะเที่ยวกำกับทั้งครูและนักเรียนไปแทบจะทุกขุมขนอย่างไร แต่ไม่มีการกำกับหลักการใดๆ ไม่ว่าหลักการนั้นจะสำคัญสักเพียงไร กลายเป็นเรื่องกระจายอำนาจไป ท้องถิ่น, โรงเรียน และวัดอยากทำอย่างไรก็สุดแล้วแต่จะตกลงกันเอง

แล้วจะมีกระทรวงศึกษาฯไปทำไม

ผู้ปกครองชาวพุทธที่ออกมาประท้วงให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า หากปล่อยให้เด็กมุสลิมสวมฮิญาบ ก็เกรงว่าพวกมุสลิม “ได้คืบแล้วจะเอาศอก”

สำนวนเดียวกันนี้ หากชาวมุสลิมในปัตตานีจะใช้กับชาวพุทธบ้าง ก็จะมีความหมายไปในทางที่น่าตระหนกเสียยิ่งกว่า เพราะมุสลิมคือคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ จะยอมให้ชาวพุทธปฏิบัติศาสนกิจใดๆ ถึงคืบไม่ได้ เพราะเกรงว่าชาวพุทธ “ได้คืบแล้วจะเอาศอก”

ถ้ามุสลิมในปัตตานีตั้งข้อห้ามเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดหลักการของประเทศไทย เพราะเราไม่ควรปล่อยให้คนส่วนใหญ่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพอันรัฐได้ให้หลักประกันไว้แล้วได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ประเทศไทยเราก็ไม่ควรปล่อยให้คนส่วนน้อยลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ได้เช่นกัน เพราะสิทธิในการแต่งกายของผู้นับถือศาสนาอิสลาม ไม่ใช่การเลือกตามใจชอบของบุคคล แต่เป็นศาสนบัญญัติ

ตราบเท่าความต้องการของชาวมุสลิม ยังเป็นสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนา ซึ่งรัฐไทยให้การรับรองมานานแล้ว ถึงเขาจะเรียกร้องเกินคืบไปสักกี่ศอก ก็เป็นสิ่งที่รัฐไทยต้องปกป้องสิทธิของเขาเสมอ

เรามีทั้งรัฐและองค์กรศาสนาที่รวมศูนย์ หวงอำนาจไว้กำกับดูแลเรื่องที่ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของคนในท้องถิ่น แต่กลับปล่อยให้หลักการสำคัญของความเป็นชาติก็ตาม ความเป็นพุทธก็ตาม ถูกตีความและนำไปปฏิบัติกันตามใจชอบของหน่วยงานย่อยและของท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image