เมื่ออีกศพหนึ่งเคลื่อนผ่านตะแลงแกง

ทันทีที่กรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่าได้มีการบังคับโทษตามคำพิพากษาประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดในคดีฆ่าโดยทารุณโหดร้ายและชิงทรัพย์ ไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากที่ประเทศไทยว่างเว้นช่วงการบังคับโทษดังกล่าว

เรื่องของ “โทษประหารชีวิต” ก็กลับมาเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้ง พร้อมกับอุณหภูมิทางอารมณ์ของสังคมที่รุนแรงที่สุดด้วย

เพราะหากผู้ถูกประหารเป็นผู้กระทำความผิดตัวจริง เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดี คือการฆ่าเด็กนักเรียน ม.5 วัย 17 ปี อย่างทารุณโหดร้ายด้วยการแทงถึงยี่สิบสี่แผล โดยที่ผู้ตายวิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึงสองร้อยเมตร รวมทั้งมีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมแก๊งรีดไถและจี้ชิงทรัพย์มาตลอดแล้ว

แม้ว่าการเรียกร้องเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะเป็นการต่อสู้เชิงหลักการ ไม่ใช่เพื่อปกป้องตัวบุคคล แต่คงต้องยอมรับว่า การเรียกร้องสิทธิในการที่จะมีชีวิตอยู่ให้กับบุคคลลักษณะนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปจะเข้าใจยากพอสมควร

Advertisement

คำถามที่ฝ่ายให้คงโทษประหารโต้กลับมาว่า “แล้วคนที่ถูกฆ่าไม่มีสิทธิมนุษยชนหรือ?” จึงไม่ใช่เพียงคำถามพาโลที่จะเอาแต่ชนะคะคาน ถ้าฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนเปิดใจให้กว้าง มันเป็นประเด็นแรกๆ ที่สมควรจะตอบเสียด้วยซ้ำ

อาสาช่วยตอบให้ก็ได้ว่า โดยหลักการแล้ว สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน และสิทธิที่สำคัญที่สุด คือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่นอกจากจะไม่พรากสิทธิเช่นนี้ไปจากประชาชนแล้ว ยังจะต้องป้องกันไม่ให้ประชาชนด้วยกันไปละเมิดสิทธิการมีชีวิตอยู่ของผู้อื่นด้วย

เมื่อมีใครสักคนฆ่าคนอื่นตาย นั่นถือว่าสิทธิมนุษยชนของผู้ตายก็ได้ถูกละเมิดแล้วโดยผู้กระทำความผิด ดังนั้นเมื่อเขาถูกละเมิด คนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายก็ควรได้รับการชดเชยเยียวยาเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะด้วยการชดใช้เป็นตัวเงิน หรือการเยียวยาสภาพจิตใจ การชดใช้เป็นตัวเงินนั้นตามหลักจะต้องเรียกร้องจากผู้ก่อเหตุคือคนที่ลงมือฆ่าเขา แต่ปัญหาในเรื่องนี้อยู่หากผู้ก่อเหตุนั้นไม่มีความสามารถที่จะชดใช้เป็นทรัพย์สินได้ ก็เท่ากับสิทธินี้แม้จะมีแต่ก็ไม่อาจบังคับเรียกร้องได้จริง แม้ว่าจะมีกองทุนของทางรัฐเพื่อชดเชยเยียวยาให้เหยื่ออาชญากรรม แต่ก็ถือเป็นตัวเงินที่ไม่มากนัก ไม่อาจเทียบได้กับความสูญเสียที่พวกเขาได้รับ

Advertisement

ส่วนการชดเชยทางจิตใจนั้น นอกจากการช่วยบำบัดรักษาสุขภาพจิตของฝ่ายที่สูญเสียตามหลักวิชาการ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพหรือรับดูแลเหยื่ออาชญากรรมนี้อย่างเป็นระบบ

ข้อโต้แย้งสำคัญของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต คือว่า การประหารชีวิตจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อชีวิตของอาชญากรที่ถูกดับไปนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้คนที่ถูกฆ่าไปนั้นกลับฟื้นคืนชีวิต

แต่ข้อนี้ก็แหลมคมจนอาจจะถูกหันปลายอีกด้านเข้ามาทิ่มแทงตัวเองได้ หากฝ่ายผู้เสียหายยืนยันว่าการได้เห็นผู้ที่ก่อเหตุทำร้ายจิตใจด้วยการปลิดชีวิตคนที่พวกเขารักนั้นตายตกไปตามกัน เป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดเยียวยาทางจิตใจ และพวกเขาเรียกร้องต้องการเช่นนั้น เราจะพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร ?

หรือแม้แต่ข้อที่ว่า การประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่ถ้าเกิดความผิดพลาดแล้วจะไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตมักจะยกอ้างถึงกระบวนยุติธรรมที่มีปัญหาของไทย ว่ามีการจับแพะลงโทษคนผิดมานักต่อนัก ข้อต่อสู้นี้ก็อาจจะถูกสวนกลับได้เช่นกันว่า ในยุคที่มีประจักษ์พยาน ดิจิทัลอยู่ในทุกหนแห่ง ด้วยเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด คลิปโทรศัพท์มือถือ ประกอบกับกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้า ในกรณีที่ชัดเจนเห็นชัดว่าผู้กระทำความผิดนั้นกระทำลงไปจริงๆ โดยสิ้นสงสัยไม่ผิดตัวเช่นนี้เล่าจะชอบที่จะประหารชีวิตได้หรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ยากทีเดียวของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตในการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องนี้ บนสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีคำถามให้แก่ฝ่ายที่นิยมหรือต้องการคงโทษประหารชีวิตว่า การที่ท่านทั้งหลายเห็นว่า เราอาจจะมอบความตายให้แก่คนอื่นได้หากมีเหตุอันสมควรหรือเพื่อประโยชน์บางอย่างก็ได้แล้ว เช่นนี้ท่านจะแตกต่างอะไรกับฆาตกร ที่ก็คงจะเลือกฆ่าผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของเขาเหมือนกัน

จริงอยู่ว่าฝ่ายท่านอาจจะมีเหตุผลที่สมควรกว่า เพราะว่าผู้ที่ถูกประหารนั้นละเมิด หรือกระทำผิดต่อผู้อื่นก่อน จึงสมควรได้รับสิ่งเหล่านั้นกลับคืนในรูปแบบเดียวกัน แต่วิธีคิดแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการมอบความชอบธรรมให้แก่กรณีการฆ่าล้างแค้นว่าผู้ที่ก่อเหตุเช่นนั้นก็มีเหตุผลดีแล้ว เช่นนี้วงจรการฆ่าล้างแค้นกันนี้จะสิ้นสุดลงได้อย่างไร

การอยากเห็นอาชญากรโดนประหารชีวิต หรือถูกฆ่าโดยอำนาจรัฐนั้นเสมือนว่าท่านอยู่บนที่สูงอันได้เปรียบ นั่นก็คือกลไกของกฎหมายและอำนาจรัฐทำให้ท่านไม่ต้องลงมือฆ่าเอง จึงไม่ต้องแบกรับความรู้สึกผิดใดๆ ว่าได้มีส่วนในการปลิดชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งลงไป ด้วยการให้ความเห็นชอบต่อการลงโทษเช่นนั้น (ผู้ที่จะต้องรับแรงความรู้สึกนั้นแทนคือ เพชฌฆาตผู้ทำหน้าที่เดินยามรณะ) ก็เหมือนกับการไปซื้อปลาแบบไม่เลือกตัว แล้วสั่งให้คนขายทุบหัวขอดเกล็ดแล่ใส่ถุงให้นั่นแหละ

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่เห็นด้วยกับโทษประหารที่ไม่ได้เห็นด้วยเพราะอยากเห็นความตายของคนอื่น แต่เพราะคำนึงถึงความปลอดภัยในสังคม และหวาดกลัวว่าหากอาชญากรกลับเข้าสู่สังคมโดยไม่ได้รับการเยียวยา หรือกักขังอยู่ในเวลาอันสั้นเกินกว่าที่จะปรับปรุงตัวหรือสำนึกผิด ความหวาดกลัวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องคาดการณ์ล่วงหน้าอันเกินเลย บทเรียนจากอาชญากรรมร้ายแรงต่อผู้บริสุทธิ์หรือบางทีก็เป็นเด็กๆ ที่ไม่มีทางสู้ เกิดจากบุคคลที่ผ่านการกระบวนการลงโทษที่ไม่อาจกล่อมเกลาอะไรได้เลยมาก่อเหตุซ้ำ

ในที่สุดก็ต้องยอมรับความจริงอันน่าเศร้าที่ว่า ระบบทุกอย่างรวมๆ กัน มันบีบให้เหลือทางเลือกในการจัดการกับอาชญากรที่เป็นอันตรายเพียงสองทาง คือ ฆ่าเขาเสีย หรือไม่ก็ปล่อยออกมาลุ้นว่าเขาจะฆ่าใครอีกไหมในอีกไม่เกินสิบปีข้างหน้า

หากทำให้คนกลุ่มหลังนี้มั่นใจว่า กระบวนการลงโทษที่ไม่ต้องประหารชีวิต สามารถรับรองความปลอดภัยให้แก่สังคมได้แล้ว ก็เชื่อว่าเขาอาจจะไม่เลือกหนทางที่ต้องตัดชีวิตอาชญากรก็ได้

เป็นคำถามกลับมาว่า นักสิทธิมนุษยชนทั้งหลายได้สร้างหรือส่งเสริมทางเลือกเช่นนี้เพียงไร หากได้ทำไปแล้ว ได้เคยมีการสื่อสารกับสังคมอย่างเพียงพอหรือไม่ การเรียกร้องต่อสังคมโดยไม่มีตัวเลือกหรือวิธีการแก้ไขอื่นที่ดีกว่า ก็เหมือนการขายของราคาสูงโดยไม่มีสินค้ามาแสดง

ท่าทีในการตอบโต้ฉับพลันอย่างขาดกลยุทธ์ ด้วยการไปใส่หน้ากากจุดเทียนกันหน้าเรือนจำในโมงยามที่อารมณ์ของสังคมคุกรุ่น ก็เหมือนไปเร้าให้โกรธแค้นของสังคมนั้นโหมกระพือขึ้นโดยไม่จำเป็น จนกระทั่งไม่มีใครอยากรับฟังเหตุผลเข้าไปใหญ่ พวกท่านต้องเรียนรู้ว่าในการต่อสู้ครั้งนี้อยู่บนสนามของอารมณ์และความรู้สึกเกินกว่าครึ่ง จึงต้อง “รบให้เป็น” และฉลาดกว่านี้

ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกับโทษประหารก็เช่นกัน จำเป็นด้วยหรือที่ต้องโต้ตอบคนที่คิดต่างด้วยท่าทีก้าวร้าวรุนแรง มีผู้รายงานว่าอาสาสมัครที่ร่วมรณรงค์กับ Amnesty International ถูกคุกคามข้อมูลส่วนบุคคล หรือบางท่านถูกนำภาพมาตัดต่อใส่ร้ายอย่างหยาบคายไร้สติ มันจำเป็นหรือที่จะต้องแสดงความเถื่อนถ่อยต่อกันขนาดนี้ ทั้งๆ ที่เขาเพียงเสนอความเห็นในมุมมองของเขา ยังไม่ได้ไปละเมิดล่วงเกินอะไรคุณเลย

สุดท้ายคงจะต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยคือการตัดสินใจของเสียงข้างมาก และเสียงข้างมากของเรื่องนี้ก็ได้แก่การเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนหนึ่งก็ยังคงโทษประหารไว้ ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับโทษประหารที่เป็นเสียงข้างน้อยต้องพยายามโน้มน้าวเสียงส่วนใหญ่ และในอีกทางหนึ่งที่เสียงส่วนใหญ่ที่ยังต้องการให้คงโทษประหารไว้ ก็ต้องเปิดใจเคารพรับฟังเหตุผลของฝ่ายเสียงข้างน้อยบ้าง

แน่นอนว่าฝ่ายที่หวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมส่วนใหญ่นั้นคงต้องทำงานหนัก และระวังรักษาตัวรักษาใจมากกว่า ผู้เขียนทำได้เพียงแต่ขออวยพรให้พวกท่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image