การปรับเปลี่ยนกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มุ่งสู่ ไทยแลนด์ 4.0 โดย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายเรื่องการปฏิรูปการอุดมศึกษากับการวิจัยเพื่อไปสู่เป้าหมายประเทศไทย 4.0 ว่า “การพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมและการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งระบบการวิจัยและกลไกการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของประเทศไทย ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก โดยการพัฒนาต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นต้องมีการจัดภารกิจด้านการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของประเทศใหม่ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของระบบวิจัยให้เกิดความเชื่อมโยงถึงกันหมดของหน่วยงานวิจัยและหน่วยส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงต้องมีการปรับระบบและกลไกการทำงานให้สามารถดำเนินกิจการอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ โดยในการจัดระบบนี้ ให้ศึกษาจากนานาประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด”

จึงเป็นที่มาของแนวทางการดำเนินการจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา ระบบวิจัย และนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว

กระทรวงใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นกระทรวงที่ว่าด้วยอนาคตของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมฐานนวัตกรรม และเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษ 21 โดยได้ออกแบบโครงสร้างกระทรวงใหม่ที่ไม่ใช่โครงสร้างเชิงอำนาจ แต่เป็นโครงสร้างการทำงานแบบเสริมพลังหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการอุดมศึกษาให้ใช้ทรัพยากรทุกส่วน เพื่อตอบโจทย์ประเทศแบบมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0

กระทรวงใหม่จึงเป็นความจำเป็นของประเทศไทยในวันนี้ เพราะประเทศที่มีความก้าวหน้าต่างมีการจัดระบบการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมให้มีขีดความสามารถหลัก ซึ่งต้องประกอบด้วย

Advertisement

1.การเชื่อมปัจจุบันกับอนาคต (Future Setting) ที่เป็นความสามารถในการคาดการณ์อนาคต (Foresight) มีการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเชิงลึกถึงแนวโน้มและปัจจัยแรงผลักดันต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถออกแบบนโยบายและกลไกการบริหารจัดการที่ปฏิบัติได้ในปัจจุบันและเชื่อมโยงไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการทดลองและทดสอบใน “Sandbox” (การกำหนดขอบเขตในการทดลองและทดสอบโดยไม่มีตัวแปรอื่นเข้ามากระทบ) ทั้งเชิงกฎ กติกา และเชิงเทคนิครวมถึงการสร้าง Big Science ในกระทรวงใหม่นี้ เช่น เทคโนโลยีฟิวชั่น เทคโนโลยีซินโครตรอน เทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ เทคโนโลยีด้านอวกาศ เป็นต้น

2.การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโมเดลขับเคลื่อนประเทศ (Game Changing) เป็นการคิดนอกกรอบการปฏิบัติในรูปแบบเดิมๆ เพื่อให้ก้าวข้ามกับดักปัญหาของประเทศที่เรื้อรังมานาน โดยสามารถสร้างโมเดลใหม่ของการพัฒนาด้วยการออกแบบเงื่อนไข แรงจูงใจ กลไก วิธีการทำงาน และผู้เล่นกลุ่มใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการงบประมาณแบบใหม่ อาทิ งบประมาณต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-Year Budgeting)

3.การสร้างสมรรถนะเชิงนวัตกรรมให้กับประเทศ (Innovative Capacity Building) โดยสร้างความเข้มแข็งทั้งการวิจัยพื้นฐาน ประยุกต์ และการวิจัยขั้นสูง-ขั้นแนวหน้า รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และสาธารณประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง (Talent) อย่างเพียงพอ โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพและมาตรฐาน รวมไปถึงการจัดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม เช่น กระบวนการสนับสนุนการวิจัย กฎหมาย กฎระเบียบ การสร้างตลาดสำหรับนวัตกรรม การจัดหาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น

Advertisement

ภาพของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมจะเป็นการขมวดองค์ประกอบทั้ง 3 ข้อนี้เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังเป็นแม่ข่ายการบูรณาการการวิจัยกับกระทรวงอื่นๆ สร้างกระบวนการทำงานให้ใกล้ชิดกับภาคเอกชน เช่น เป็นกิจการร่วมค้ากับภาคเอกชน และกระตุ้นการวิจัยให้เกิดในชุมชน ในเบื้องต้นโครงสร้างกระทรวงใหม่จะมี 4 คือ กลุ่มที่
1.กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กลุ่มที่ 2.กลุ่มงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มที่ 3.กลุ่มงานวิจัยสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ และกลุ่มที่ 4.กลุ่มงานอุดมศึกษา

การตั้งกระทรวงใหม่ ไม่ใช่การยุบรวมหรือควบรวม แต่เป็นการปฏิรูปเพื่อ (1) ปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และ (2) เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

งานในกระทรวงนี้จะไปเสริมสร้างงานวิจัยในหน่วยงานอื่นๆ และเอกชน ในขณะที่ภายในเองจะไม่ใช่จะเป็นการทำงานแบบแยกส่วน แต่จะเป็นคลัสเตอร์ของหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันตามแนวทาง คือ การเชื่อมปัจจุบันกับอนาคต การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโมเดลขับเคลื่อนประเทศ และการสร้างสมรรถนะเชิงนวัตกรรมให้กับประเทศ โดยต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมภายในกระทรวงและการกำกับดูแล โดยจะต้องปลอดจากการเมืองและมีบอร์ดหรือคณะกรรมการที่กำกับดูแลได้แบบเต็มเวลา เพื่อกำกับทิศทางการวิจัยโดยใช้หลักการเบิกจ่ายงบประมาณตามภาระหน้าที่ (Performance-based Budgeting)

ทั้งนี้ กระทรวงใหม่นี้ได้ออกแบบให้มีคณะกรรมการระดับชาติหรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกฯ เป็นประธาน และรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องอีก 4-5 กระทรวง และมีปลัดกระทรวงใหม่ หรือเลขาธิการฯ เป็นฝ่ายเลขาฯ

ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มกระบวนการปรับและปฏิรูปในเชิงความคิดมาเป็นระยะ ๆ พอสมควร โดยเฉพาะการปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเข้าสู่กลุ่มที่ 2 ซึ่งภายใต้กลุ่ม 2 จะมีหลายแพลตฟอร์ม ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา (R&D) , โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพนวัตกรรม (Innovation Quality Infrastructure), การบริหารจัดการและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Management and Transfer), การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง (Talent Development), และงานอุทยานวิทยาศาสตร์และย่านนวัตกรรม (Science Park and Area of Innovation)

ในกลุ่มที่ 2 จะขึ้นรูปโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไม่ใช่บริหารโดย สวทช. แต่ สวทช.จะเป็นหน่วยแรกของกระทรวงที่ปฏิรูปก่อนเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มต่างๆ ที่วางไว้ในกลุ่ม 2 นอกจากนี้ หน่วยงานที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 2 จะมีสถานะเป็นองค์การมหาชนทั้งหมด

ที่สำคัญ ในกลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 จะให้มีการเคลื่อนย้าย (free flow) ของบุคลากร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมให้มีคณะกรรมการหรือบอร์ดที่กำกับดูแลแบบเต็มเวลา

การดำเนินงานของกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรมจะมีภาคเอกชนเป็นผู้ชี้นำและลงทุนในงานวิจัยให้มากขึ้น มีการทำงานเชื่อมโยงกับส่วนงานวิจัยของสถาบันการศึกษาและส่วนราชการ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของประเทศ อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจและสังคมด้วยฐานนวัตกรรม

เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image