จิตวิวัฒน์ : Convergent Facilitation นวัตกรรมสำหรับขบวนการประชาธิปไตย โดยไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์

ในบรรดาผู้คนหัวก้าวหน้าที่อยากเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้จริงๆ ในทุกระดับของสังคม สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ กระบวนการหาข้อตกลงร่วมกัน จะทำอย่างไรที่เสียงของทุกคนได้รับการรับฟังและพิจารณาร่วมกันอย่างแท้จริง ไม่ว่าแต่ละเสียงจะมีความแตกต่างหรือขัดแย้งกันมากเพียงใดก็ตาม แล้วท้ายที่สุด จะทำอย่างไรให้เกิดข้อตกลงร่วมกันที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ หรือ วิน-วิน ด้วยกันทุกฝ่าย

หลายองค์กรที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ไม่สามารถหากระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการหาข้อตกลงร่วมกันได้ กว่าจะได้ฉันทามติในแต่ละเรื่อง ต้องถกกันแล้วถกกันอีก ใช้เวลานานมากจนคนเบื่อ แม้จะรับฟังได้ทุกเสียง แต่ก็สูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน บางองค์กรใช้กระบวนการโหวต และยึดเสียงข้างมากเป็นหลักในการตัดสินใจ เหมือนการเลือกตั้ง แต่ก็ทำให้เสียงข้างน้อยไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งในบางกรณี เสียงข้างน้อยนั่นเองที่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่าเสียงส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

นี่เป็นโจทย์หลักที่สำคัญ เพราะหากขบวนการประชาธิปไตยไม่สามารถนำเสนอนวัตกรรมของกระบวนการหาข้อตกลงร่วมที่มีประสิทธิภาพและทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้แล้ว คนในสังคมก็จะไม่สามารถมองเห็นทางเลือกอื่นที่ไปพ้นจากเผด็จการได้

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน จะหาข้อตกลงที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ แต่ก็น่ายินดีที่มีคนพยายามคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์สำคัญนี้ ในบทความนี้ดิฉันจะนำเสนอนวัตกรรมหนึ่งที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งคือ Convergent Facilitation

Advertisement

นวัตกรรมนี้คิดค้นขึ้นมาโดยมิกิ คาชตาน (Miki Kashtan) ผู้ฝึกอบรม Nonviolent Communication (NVC) หรือ การสื่อสารอย่างสันติ และผู้ร่วมก่อตั้ง Center for Efficient Collaboration และ Bay Area Nonviolent Communication ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ดิฉันได้ฟังมิกิพูดถึง Convergent Facilitation ครั้งแรกทางยูทูบ ซึ่งทำให้ดิฉันสนใจมาก เพราะวิธีนี้ตอบโจทย์การหาข้อตกลงร่วมที่ยากเย็นแสนเข็ญได้ Convergent Facilitation โด่งดังเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมก็เพราะรัฐมินนิโซตาใช้วิธีนี้คลี่คลายความขัดแย้งในการออกกฎหมายเลี้ยงดูบุตร เมื่อพ่อแม่หย่าร้างกัน จากความขัดแย้งอย่างหนักของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำให้กฎหมายไม่สามารถผ่านออกมาได้ และแต่ละฝ่ายแทบไม่อยากจะมองหน้ากัน หลังจากมิกิใช้กระบวนการนี้ทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอยู่ 2 ปี รัฐมินนิโซตาสามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ แบบเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเสียงคัดค้าน เป็นประวัติการณ์ของการออกกฎหมายในสหรัฐเลยทีเดียว

พอดิฉันได้ข่าวว่ามิกิจะมาสอนเรื่องนี้ที่อินเดีย จึงไม่รอช้ารีบชักชวนเพื่อนๆ ไปเรียนวิธีที่น่าทึ่งนี้กับเธอเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในที่นี้ดิฉันขอนำเสนอให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า Convergent Facilitation ทำงานอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีการนี้มีรายละเอียดอีกมากและต้องอาศัยทักษะของกระบวนกร (Facilitator) ในการนำพากลุ่มเป็นอย่างยิ่ง

วิธีนี้มี 3 ขั้นตอน ที่ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นความร่วมมือคือ

1) การหาชุดความต้องการร่วม (Criteria Gathering) ขั้นตอนนี้คือการระบุกรอบของปัญหาและขอบเขตของการทำงาน รวมทั้งสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือ ในความขัดแย้ง คนจะพูดถึงจุดยืนหรือความคิดเห็นที่ดูแล้วแตกต่างกัน แต่มิกิบอกว่าจากความแตกต่างนั้น พวกเขาสามารถเห็นร่วมกันได้ในระดับความต้องการร่วม นี่คือทักษะการมองเห็นความเหมือนในความต่าง เราจะฟังลึกลงไปว่าแต่ละฝ่ายมีความต้องการหรือมีหลักการอะไรที่มีร่วมกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการออกกฎหมายเลี้ยงดูบุตรของรัฐมินนิโซตา ฝ่ายหนึ่งต้องการให้พ่อแม่ที่หย่าร้างกันได้มีเวลาอยู่กับลูกเท่าๆ กัน แต่อีกฝ่ายแย้งว่าความคิดเช่นนี้ง่ายเกินไป ไม่ได้คำนึงถึงความขัดแย้งของครอบครัวที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ดูเผินๆ ทั้งสองฝ่ายมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน แต่หากมองลึกลงไปสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันก็คือ ความต้องการให้เด็กได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

กระบวนกรจะคอยรับฟังทุกความคิดเห็นและสกัดเป็นชุดความต้องการร่วมที่คนทั้งกลุ่มไม่เห็นแย้ง สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือภายใน 1 วัน มิกินำกระบวนการให้กลุ่มคนที่แทบจะไม่อยากมาอยู่ในห้องเดียวกัน สามารถยอมรับความต้องการร่วมเช่นที่ว่านี้ได้ทั้งหมด 25 ข้อ การได้รับการรับฟังอย่างแท้จริงเปลี่ยนบรรยากาศของความแตกแยกให้กลายเป็นความไว้วางใจและจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ

ชุดความต้องการร่วมนี้เป็นเหมือนหมุดหมายของกลุ่ม การทำงานของขั้นต่อๆ ไปจะพยายามตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ให้ได้

2) การสร้างข้อเสนอ (Proposal Creation) หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะเพื่อเขียนข้อเสนอที่พยายามตอบโจทย์ชุดความต้องการร่วมของคนทั้งกลุ่ม ซึ่งกลุ่มอาจจะแต่งตั้งแค่คณะเดียว หรือมีหลายคณะเขียนหลายข้อเสนอขึ้นมาพร้อมๆ กันก็ได้ หลักการสำคัญในการเลือกคนคือ ให้มีความหลากหลายและความแตกต่าง ให้มากที่สุด แต่ละคณะจำเป็นต้องมีตัวแทนของทุกกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างสุดขั้วอยู่ด้วยกัน เพื่อให้ทำงานหาข้อเสนอที่ดีที่สุดร่วมกันออกมา เพราะฉะนั้น แล้วความต่างไม่ใช่สิ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยง แต่สามารถนำมารวมกันเพื่อให้เกิดความสร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด

แต่ละคณะจะประกอบไปด้วยคนประมาณ 6-8 คนเท่านั้น เพราะกลุ่มคนจำนวนเท่านี้จะสามารถเสนอความคิดเห็นและรับฟังกันได้อย่างทั่วถึง ตัวแทนเหล่านี้จะมาสร้างข้อเสนอ ที่ลงรายละเอียดร่วมกัน โดยตอบโจทย์ของชุดความต้องการร่วมในขั้นตอนที่ 1 ให้ได้ กระบวนกรจะเป็นผู้สร้างพื้นที่ที่ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และช่วยติดตามว่า ข้อเสนอของคณะตอบทุกโจทย์ของคนในกลุ่มใหญ่แล้วหรือยัง

3) การตัดสินใจร่วมกัน (Decision Making) ในขั้นตอนนี้ทุกคนในกลุ่มจะพิจารณาข้อเสนอของแต่ละคณะ โดยประเมินว่าตอบโจทย์ชุดความต้องการร่วมในขั้นที่ 1 หรือไม่อย่างไร กระบวนกรจะทำหน้าที่รับฟังความไม่เห็นด้วยและทำงานกับความเห็นต่างนั้น วิธีการบรรลุข้อตกลงของ Convergent Facilitation คือการทำงานกับความไม่เห็นด้วยทั้งหลาย เมื่อทำงานร่วมกันมาถึงจุดนี้ ทักษะของกระบวนกรจะช่วยให้แต่ละฝ่ายมีความไว้วางใจว่า เสียงของตนจะได้รับการรับฟังและใส่ใจจริงๆ ความคิดเห็นเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนข้อเสนอ อาจทำให้บางฝ่ายเปลี่ยนความคิดหรือจุดยืนใหม่ อาจมีการรับข้อเสนอหนึ่ง แล้วข้อเสนอที่เหลือก็ตกไป หรืออาจมีการนำข้อเสนอที่ตอบโจทย์ของหลายๆ ข้อเสนอมาผสมกัน

กระบวนกรจะทำงานกับความเห็นต่างไปเรื่อยๆ จนเมื่อไม่มีใครเห็นแย้งแล้ว นั่นคือจุดที่กลุ่มบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ตัวอย่างจากรัฐมินนิโซตา กลุ่มทำงานบรรลุข้อตกลงออกมาเป็นร่างกฎหมายที่ใส่ใจต่อความต้องการของเด็กทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ วัฒนธรรม จิตวิญญาณ ฯลฯ รวมทั้งมีกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งของครอบครัว และให้ความสำคัญกับทั้งพ่อและแม่ในชีวิตของเด็ก ร่างกฎหมายที่ตอบโจทย์ทุกฝ่ายได้อย่างละเอียดลออเช่นนี้ จึงผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้โดยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลาม

ด้วยการรับฟังทุกเสียงของกระบวนกร ด้วยความพยายามและมุ่งมั่นของทุกฝ่ายที่จะทำงานร่วมกันแม้จะขัดแย้งกัน ทางออกที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ก็สามารถปรากฏออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ นี่เป็นนวัตกรรมหนึ่งของวิถีแห่งประชาธิปไตย ที่เชื่อมั่นในศักยภาพอันไร้ขีดจำกัดในการสร้างสรรค์สันติของมนุษย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image