พระบิดากฎหมายไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

บุคคลที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดากฎหมายไทย” คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ปีจอ จุลศักราช 1236 ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2417 เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และทรงเป็นลำดับที่ 2 ของเจ้าจอมมารดาตลับ

ด้านการศึกษา
เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงเจริญวัยขึ้น ได้ทรงศึกษาอักขระภาษาไทยเบื้องต้นกับพระยาศรีสุนทรโวหาร จบแล้วทรงศึกษาภาษาอังกฤษชั้นต้นที่สำนักของครูบาบู รามซามี พ.ศ.2427 เข้าเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และ พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้พระราชโอรสไปศึกษาวิชาความรู้ยังต่างประเทศ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยมีพระยาชัยสุรินทร (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ และเจ้าพระยายมราช (ขุนวิจิตรวรสาส์น) เป็นผู้พาไปส่งยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ อัคราชทูตสยามประจำกรุงลอนดอน
การศึกษาที่ประเทศอังกฤษ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงศึกษาวิชาภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสได้ 2 ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2434 ขณะที่มีพระชันษาได้ 17 ปี ทรงสอบความรู้ผ่านเข้าเรียนวิชากฎหมายที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christchurch College) ทรงใช้เวลาศึกษาวิชากฎหมายเพียง 3 ปี ก็สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญา Bachelor of Arts.Hons. (B.A.) เกียรตินิยม
เสด็จกลับถึงประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2437 ได้เริ่มเข้ารับราชการที่กรมราชเลขานุการ และทรงค้นคว้ากฎหมายอย่างจริงจังจากตำรากฎหมายและคำพิพากษาฎีกา ทำให้มีความเชี่ยวชาญทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ

คุณูปการแก่วงการกฎหมายไทย

พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจให้กับวงการกฎหมายอย่างอเนกอนันต์ คือ โรงเรียนกฎหมาย และการปฏิรูปการศาล

Advertisement

โรงเรียนกฎหมาย
การตั้งโรงเรียนกฎหมายมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามหลังจากพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2440 โดยมีเจ้าพระยาอภัยราชา (มองซิเออร์ กุสตาฟ โรแลง ยัคแมงส์) เนติบัณฑิตชาวเบลเยียม เป็นผู้ให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือ โรงเรียนกฎหมายนี้ทรงเป็นอาจารย์สอนด้วยพระองค์เอง
สืบเนื่องจากโรงเรียนกฎหมายได้มีการจัดสอบเนติบัณฑิตในปีนั้น ปรากฏว่ามีผู้สอบได้เป็นเนติบัณฑิตชั้นหนึ่ง 4 คน และเนติบัณฑิตชั้นสอง 5 คน ซึ่งการสอบเป็นเนติบัณฑิตไทยยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้

การปฏิรูปการศาล
พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงปฏิรูปการศาลไทยที่สำคัญ คือ

1.ระบบศาลและเขตอำนาจศาล ทรงปรับปรุงประเภทและจำนวนศาลที่กระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับภารกิจจำนวน 14 ศาล และมีระบบศาลพิเศษอีก 2 ระบบ คือ ระบบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา และระบบศาลรับสั่งพิเศษ

Advertisement

2.ด้านการพิจารณาความ ทรงยกเลิกจารีตนครบาลที่ถือว่าใครเป็นผู้ต้องหาต้องเป็นผู้ร้าย มีการเฆี่ยนตีในการสืบพยาน และยกเลิกวิธีจับญาติพี่น้องผู้ต้องหามาเป็นตัวจำนำ

3.ความล่าช้าในการพิจารณาคดี ทรงปรับปรุงระบบการฎีกาให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน เรื่องใดควรฎีกาหรือไม่ควรฎีกา และเร่งรัดการพิจารณาคดีในศาลทุกระดับชั้นให้รวดเร็วขึ้น

4.ความทุจริตของคู่ความและผู้พิพากษา เนื่องจากข้าราชการในสมัยนั้นไม่มีเงินเดือน รับแต่เบี้ยหวัด ซึ่งจ่ายเพียงปีละครั้ง และมีจำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงตนเองกับครอบครัว ทรงปรับปรุงให้ข้าราชการและผู้พิพากษาได้รับเงินเดือน และสวัสดิการที่ดีขึ้น ทำให้แก้ไขปัญหาความทุจริตได้

5.ความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี แต่เดิมอำนาจตุลาการและอำนาจฝ่ายบริหารยังมิได้แยกกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นปัญหาความเป็นอิสระของการพิจารณาคดี โดยทรงปฏิรูปการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และการพิจารณาคดีมีความสะดวกยิ่งขึ้น

6.เอกราชทางการศาล จากข้อกล่าวหาของต่างชาติที่อ้างว่ารัฐบาลไทยใช้การกดขี่ ขาดความเที่ยงธรรมในการตัดสินคดี จึงไม่ยอมขึ้นศาลไทย เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต”

ต่อมาพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบการพิจารณาของศาลให้เป็นสากล สามารถแก้ไขและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในที่สุด

อนุสรณ์ร่วมรำลึก

ด้วยความทุ่มเทให้กับวงการกฎหมายไทยดังกล่าว ทำให้ประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส เมื่อวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2463 พระชนมายุ 46 พรรษา (ย่างเข้าปีที่ 47) โดยได้เชิญพระอัฐิและพระอังคาร (เถ้ากระดูก) คืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2497 สำหรับพระอังคาร (เถ้ากระดูก) ได้เชิญมาเก็บไว้ในสุสานหลวง

สุสานหลวงตั้งอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก (ราชวรมหาวิหาร) ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี สำหรับสุสานหลวงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงจัดตั้งขึ้นบนที่ดินติดกับกำแพงวัดด้านตะวันตก ภายในบริเวณสุสานเป็นที่สงบเงียบ มีถนนและอนุสาวรีย์ต่างๆ สร้างไว้อย่างงดงามและเป็นระเบียบ ซึ่งอนุสาวรีย์เหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้บ้าง พระบรมวงศานุวงศ์สร้างขึ้นในชั้นหลังบ้าง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นแม่กองจัดทำ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ.2440 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้านิลวรรณ เป็นแม่กองจัดทำอนุสาวรีย์สืบต่อมา อนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นไว้นั้นนับว่าเป็นส่วนพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส และพระราชธิดาในพระองค์ เป็นรูปพระเจดีย์บ้าง รูปปรางค์บ้าง เป็นวิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโคธิก

อนุสรณ์สถานในสุสานหลวงได้จัดทำแผนผังไว้ 34 หมายเลข โดยที่เก็บพระอังคารพระบิดาแห่งกฎหมายไทย คือ หมายเลข 14 ซึ่งหาได้ไม่ยาก เพราะมีลักษณะแตกต่างจากอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์อื่น

กล่าวคือ จัดสร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงซ้อนกันเป็นสามชั้น โดยใช้หินอ่อนทั้งหมด ตรงกลางมีช่องว่างสำหรับบรรจุและตั้งเครื่องสักการะ ภายในบรรจุสรีรางคาร (อัฐิ) ของเจ้าจอมมารดาตลับ เกตุทัต พระโอรสและพระธิดา รวมทั้งสายราชสกุลรพีพัฒน์

การเข้าไปสักการะ
เดินทางไปที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ติดกับกระทรวงมหาดไทย ริมคลองหลอด กรุงเทพมหานคร วัดนี้มีบริเวณไม่มาก แต่ประกอบด้วยอนุสาวรีย์ที่สร้างเป็นเจดีย์ และสถาปัตยกรรมอันงดงาม อนุสรณ์สถานหมายเลข 14 เป็นของสกุลซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าจอมมารดาตลับ

ถ้าเข้าประตูหน้าวัดเดินมาขวามือจะเห็นอนุสาวรีย์รูปสี่เหลี่ยมไม่สูง ด้านบนมีอักษรป้ายชื่อชัดเจนกว่า “รพีพัฒนศักดิ์” ตัวอักษรเหมือนลายพระหัตถ์ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ที่ปรากฏในหนังสือและบทความต่างๆ ตรงกลางมีช่องว่างเครื่องสักการะ และที่ไม่เหมือนอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์อื่น คือ มีตัวบทกฎหมายนำมาเป็นเครื่องสักการะจำนวนมาก

ด้านหน้าข้างล่างมีตัว (ไทย) คือ “๑๔” เป็นการบอกที่ตั้งในแผนผังของอนุสรณ์สถาน ซึ่งมีทั้งหมด ๓๔ หมายเลข หากหาไม่พบ ควรเดินออกมาหน้าวัด เลาะไปตามรั้วเหล็ก (ทาสีแดงอิฐ) มองเข้าไปจะเห็นอนุสาวรีย์ทรงสี่เหลี่ยมไม่เหมือนอนุสาวรีย์อื่นที่สร้างเป็นเจดีย์ ด้านบนมีป้ายชื่อรพีพัฒนศักดิ์ เห็นได้อย่างชัดเจน

ในกรุงเทพมหานคร นอกจากอนุสรณ์สถาน ณ สุสานหลวงแล้ว ยังมีรูปหล่อขนาดใหญ่ลักษณะประทับเก้าอี้ (หน้าศาลฎีกา สนามหลวง) และรูปหล่อขนาดเล็กที่เนติบัณฑิตยสภา

โดยถือวันที่ 7 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันร่วมรำลึกถึงคุณูปการของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” หรือที่นักศึกษากฎหมายและนักกฎหมายเรียกกันทั่วไปว่า “วันรพี”

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image