เหยี่ยวถลาลม : 2 ลัทธิ

อาจกล่าวได้ว่า แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ในปี 2475 จะเป็นไปด้วยความราบรื่นไม่สูญเสียเลือดเนื้อชีวิตแก่ฝ่ายใด

แต่ในปี พ.ศ.2476 “สิ่งที่เก็บกด” อยู่ภายในก็ค่อยๆ ปะทุออกมาเป็นเหตุการณ์ทางการเมือง กระทั่งเกิด “กบฏบวรเดช” ในวันที่ 11 ตุลาคมที่นับว่า “หนักสุด”

“นายพลเอก” พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นแม่ทัพฝ่ายกบฏ บัญชาการเคลื่อนพลเข้าสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลที่มี “นายพันโท” หลวงพิบูลสงคราม ทำหน้าที่เป็น “ผู้บัญชาการปราบกบฏ”

จบลงด้วยความพ่ายแพ้และสูญเสียอย่างยับเยินของฝ่าย “นายพลเอก” พระองค์เจ้าบวรเดช จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในดินแดนอาณานิคมฝรั่งเศส

Advertisement

ทหารที่ตายซึ่งเป็นฝ่ายชนะได้บรรจุอัฐิเอาไว้ในอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่ ส่วนทหารฝ่ายแพ้ จัดฌาปนกิจศพที่นครราชสีมา ส่วนที่เหลือติดคุกกับหนี

เดือนพฤศจิกายน รัฐบาลออกกฎหมาย “ป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ”

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาจึงแน่นปึ้กเป็นปึกแผ่นตั้งแต่นั้นมาโดยมี “หลวงพิบูลสงคราม” เป็น “ขุนพล” เคียงข้างบัลลังก์ และเคียงข้างไปกับแนวความคิดที่ว่า “กองทัพ” มีหน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญ

Advertisement

ที่จริง เครือข่ายนายทหารได้ก่อตัวเป็นอุดมการณ์ชาตินิยมแบบ “ลัทธิทหาร” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2454 หรือในยุคของคณะ ร.ศ.130 แต่มาหยั่งรากลงดินเมื่อการปฏิวัติ 2475 สำเร็จ

การเปลี่ยนแปลง 2475 ก่อเกิด 2 ลัทธิใหม่ จนกลายเป็น “แฝดทางการเมือง” นั่นคือ ลัทธิรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยกับลัทธิทหารนิยม

หากแต่ “ลัทธิทหารนิยม” สมัยก่อนนั้นต่างกับสมัยนี้ชนิดกลับหัวกลับหาง !

86 ปีก่อนนั้นเมื่อเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ตอบโจทย์ ล้าหลัง อาจจะไม่พ้นจากภัยจักรวรรดินิยม ทหารกลุ่มหนึ่งจึงเข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ลัทธิทหารนิยม” มีความมุ่งมั่นทำหน้าที่ค้ำยัน “ลัทธิรัฐธรรมนูญ” ให้มั่นคง แข็งแรง มีเสถียรภาพ

เมื่อก่อน “ลัทธิทหารนิยม” มุ่งพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ แต่มาในภายหลัง กลับกลายเป็นพลังที่ล้าหลัง และล้มล้างรัฐธรรมนูญ !

80 กว่าปีที่ผ่านมานี้ สังคมไทยจึงยังคงวนเวียนอยู่กับ “ทางสองแพร่ง” อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือ เราจะไปในทางไหน

จะพัฒนาลัทธิรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าสืบไป หรือจะย่ำอยู่กับ “ลัทธิทหารนิยม” !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image