ที่เห็นและเป็นไป : ที่เหลือเป็นหน้าที่ประชาชน โดยสุชาติ ศรีสุวรรณ

ที่เหลือเป็นหน้าที่ประชาชน

แม้ยาวนานออกไปอีกเกือบปี กว่า “การเลือกตั้ง” จะเกิดขึ้น ตามที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เปิดเผยไว้ว่า “เร็วที่สุด 24 ก.พ. และช้าสุด 5 พ.ค.2562” และยังไว้ใจไม่ได้ว่าจะมีเหตุอะไรทำให้ต้องยืดไปอีกหรือไม่ เนื่องจาก ท่านผู้นำ-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำให้รับรู้กันไว้อยู่เป็นระยะๆ ว่า “ขึ้นอยู่กับความสงบ”

แต่ถึงวันนี้มีความชัดเจนอย่างยิ่งว่าเป็นการต่อสู้ระหว่าง “พรรคที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย” กับ “พรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.”

แม้ว่าจะพรรคการเมืองเก่าแก่และถือเป็นพรรคใหญ่อย่าง “ประชาธิปัตย์” ในยุคสมัยที่มี “ท่านหัวหน้า” เป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เล่นแบบเข้าใจยากอยู่เหมือนเดิมทำนอง “ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย แต่ไม่พร้อมร่วมกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย” แต่น่าจะไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก เพราะที่สุดแล้วแม่งานที่จะจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ไม่น่าจะใช่ “ประชาธิปัตย์”

Advertisement

จะลงคะแนนเลือก เพื่อให้การเมืองไทยกลับสู่ประชาธิปไตย มุ่งไปสู่การพัฒนาให้เกิดสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชน มีรัฐบาลที่จะทำอะไรต้องฟังเสียงประชาชน

หรือจะลงคะแนนด้วยความหวั่นวิตกว่า จะเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองขึ้นอีก เพราะปฏิเสธความจริงไม่ได้ โครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศเป็น 2 ระบบที่ซ้อนกันอยู่ และระบบที่เชื่อมั่นในอำนาจประชาชนอ่อนแอเกินกว่าจะอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพในระดับที่รักษาสงบไว้ได้หากถูกโจมตี

ในยุคสมัยที่พรรคการเมืองแข่งขันกันเอง ทุกคนที่ลงสู่สนามเลือกตั้งต่างประกาศตัวเอ่ยอ้างความเป็นนักการเมืองที่เคารพในอำนาจประชาชน เชื่อมั่นในสิทธิที่เท่าเทียม และอาสาที่จะมารับใช้ประชาชน ทำให้การตัดสินใจว่าจะกาบัตรให้ใครเป็นไปในทางให้ปัจจัยอื่นมากกว่าที่จะมองแค่ใครเคารพในสิทธิประชาชนมากกว่ากัน

แต่ครั้งนั้นความชัดเจนในความคิดที่มีต่อสิทธิประชาชนของนักการเมืองแต่ละคน ถูกเปลือยให้เห็นชัดเจนก่อนวันเลือกตั้ง

ในยืนหยัดที่จะยืนอยู่ข้างสิทธิเสรีภาพประชาชน ใครยืนหยัดที่สนับสนุนอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน

และที่สำคัญ ใครที่พร้อมจะโอนเอนไปตามกระแสที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง

พร้อมที่ถูกพัดพาไปทางไหนก็ได้ หากประเมินแล้วว่านั่นจะเป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่า

ก่อนหน้านั้น แม้จะมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ในจิตใจนักการเมืองเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เพราะความรู้สึกนั้นถูกซ่อน หรือบดบังไว้ด้วย “พรรคการเมืองที่สังกัด” หรือเป็น “พันธมิตร” ทำให้การตัดสินใจมีรายละเอียดอื่นที่จะต้องพิจารณาว่าจะเอาอย่างไร

แต่ครั้งนี้ความทับซ้อนที่บดบังความเป็นตัวตนจริงๆ ของนักการเมืองแต่ละคนถูกทำให้หายไป

เงื่อนไขความชัดเจนของ “นักการเมือง” ว่าใครเป็นพวกใคร ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีอีกแล้ว หรือมีก็ไม่น่าจะเป็นปัจจัยทำให้ต้องลังเล

ด้วยความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ใครเป็นอย่างไร

การเมืองไทยจะเป็นอย่างไรหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ย่อมเป็นภาระที่ประชาชนต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกให้เป็นแบบไหน

จุดยืนที่ชัดเจนของนักการเมืองแต่ละคน ที่ดูได้จากพรรคที่สังกัดว่ามีทิศทางของอุดมการณ์ไปทางไหน จะทำให้ประชาชนทุกคนตระหนักรู้ได้ว่า การตัดสินใจเลือกใคร จะส่งผลให้การเมืองของประเทศเป็นไปอย่างไร

อนาคตของประเทศที่จะส่งผลต่อชีวิตของประชาชนทุกคน

เป็นเรื่องที่ประชาชนแต่ละคนจะต้องตัดสินใจ

จะเลือกอนาคตแบบไหนให้ประเทศ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image