เมื่อยังเข้าไม่ถึงความจริง ตำนานจึงบังเกิด… โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องราวการหายไปของทีมหมูป่า และการพยายามช่วยชีวิตจากหลายฝ่ายกลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ของประเทศ รวมทั้งกลายเป็นข่าวระดับนานาชาติไปแล้ว

ท่ามกลางความเห็นผู้อยู่ในวงการสื่อและวิชาการด้านนิเทศศาสตร์บางท่านได้พยายามเตือนผู้ชมว่า ต้องระวังข่าวปลอม เช่น เจอแล้วตั้งแต่วันแรกๆ ไปจนถึงข่าวเรื่องอุบัติเหตุของทีมช่วยเหลือต่างๆ นานา ผู้รู้เหล่านี้เสนอว่า ควรจะติดตามจาก “สำนักข่าวกระแสหลัก” โดยให้หลีกเลี่ยงข่าวโซเชียลที่เลื่อนลอย และ ให้มุ่งเน้นติดตามประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น

คือ เจอพวกเขาหรือยัง และถ้ายังไม่เจอก็ให้ติดตามเรื่องราวว่าไปถึงไหนแล้ว

ผมกลับเห็นว่า เรื่องน่าสนใจก็คือ ข่าวการหายไปของทีมหมูป่า และข่าวการช่วยเหลือนั้นไม่ใช่ข่าวที่ถูกนำเสนอง่ายๆ ตามหลักการว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และเป็นเรื่องของความจริงในฐานะ “ข้อเท็จจริง” เท่านั้น

Advertisement

แต่ข่าวในฐานะ “ข้อเท็จจริง” นั้นคงไม่พอที่จะเติมเต็มความต้องการอยากรู้เรื่องราวของคน โดยเฉพาะเมื่อเวลาในการออกอากาศนั้นมีถึง 24 ชั่วโมง และในห้วงเวลาที่การถ่ายทอดมหกรรมบอลโลกนั้นมีช่องที่ได้สิทธิแค่ 3 ช่องเท่านั้น

การนำเสนอข่าวอย่างไรให้คนติดตามช่องของตัวเองตลอดเวลา บวกกับความห่วงใยในสถานการณ์เองของสื่อก็เลยทำให้เรื่องราวนั้นสลับซับซ้อน และทำให้การรายงานข่าวในฐานะการรายงานข้อเท็จจริง กำลังเดินเข้าสู่ปริมณฑลของการ “เล่าเรื่อง” ความจริงอีกชุดหนึ่ง

ความจริงชุดนี้คือ ความจริงที่เรียกว่า “ตำนาน” และเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ตำนาน” หรือ myth นี้ไม่ได้มีความหมายในแบบที่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนสมัยใหม่เชื่อว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และหลอกลวง

Advertisement

แต่ตำนานนั้นเป็นความจริงอีกชุดหนึ่งที่ถูกเล่า และถ้าตั้งข้อสังเกตให้ดี “ข่าวนั้นบางครั้งก็ทำหน้าที่เดียวกับตำนาน”

ไม่ใช่ในความหมายของการเล่าความเท็จ หรือเล่าเรื่องไม่จริง

แต่เป็นการเล่าเรื่องความจริงอีกชุดหนึ่ง เป็นความจริงชุดที่สังคมนั้นคุ้นเคย และถ้าข่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารมวลชน ข่าวก็คือตำนานของมวลชน อีกแบบหนึ่งเช่นกัน

สังคมไทยนั้นถือว่าโชคดี ที่มีเรื่องเล่าที่ซับซ้อน ดังนั้นวงการข่าวก็เลยได้อานิสงส์ของการเล่าเรื่องตำนานที่ซับซ้อนเช่นกัน หากเปรียบเทียบกับกรณีของการรายงานข่าวการก่อวินาศกรรม หรือวิกฤตอาชญากรรมต่างๆ อย่างในอเมริกา ด้วยธรรมชาติของโทรทัศน์ดาวเทียม 24 ชั่วโมง อย่างกรณีซีเอ็นเอ็น เราอาจจะเห็นว่าข่าวนั้นเล่าซ้ำๆ กันหลายครั้งในแต่ละวัน อาจด้วยว่าเขาเชื่อว่าไม่มีใครเปิดดูตลอดเวลา

แต่ในสังคมไทยที่ยัง “เปิดทีวีเป็นเพื่อน” หรือ “เปิดทีวีทิ้งไว้” ข้อสงสัยที่คนตั้งกันมาหลายปีว่าอนาคตของโทรทัศน์นั้นคงจะจบลงแล้ว ก็จะพบกับคำตอบง่ายๆ ว่า ทีวีหรือโทรทัศน์นั้นยังกลับมาทำหน้าที่ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตได้เสมอ และยังทำหน้าที่ตรวจสอบว่าข่าวในโซเชียลนั้นจริงหรือไม่ รวมทั้งเชื่อมโยงสอดประสานกับข่าวโซเชียลเป็นระยะ

ทีวีหลายช่องนั้นหันมาจัดรายการพิเศษ และนี่คือความน่าสนใจที่วิธีการเล่าเรื่องของข่าวไทยนั้นจะไม่ได้มีแต่เรื่องของการเล่าซ้ำและอัพเดตสถานการณ์เท่านั้น แต่ยังแตกเรื่องราวไปยังเรื่องราวอื่นๆ และเปิดพื้นที่ให้คนทั้งประเทศให้ทรรศนะและส่งคลิปกิจกรรมต่างๆ ที่แสดงความห่วงใยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

โดยหลักวิชาด้านการสื่อสารมวลชน ว่ากันว่าบทบาทของข่าวในสังคมนั้นประกอบด้วยบทบาทหลักๆ 5 บทบาท

1.บทบาทในการตรวจสอบรัฐบาล

2.บทบาทในการธำรงรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์หลักของสังคม บทบาทนี้อาจจะต่างจากบทบาทแรก กล่าวคือ สื่ออาจทำหน้าที่เป็นกลไกในการผลิตอุดมการณ์หลักในสังคม และอาจถูกอิทธิพลจากรัฐเข้าครอบงำในระดับที่ไม่ได้สงสัยว่าสิ่งที่ตนรายงานนั้นทำหน้าที่ให้คนเชื่อและไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่

3.บทบาทในการชี้ประเด็นและตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นไปในสังคม

4.บทบาทในการให้ความรู้กับสาธารณะ

5.บทบาทในการชักชวนให้เกิดการปรึกษาหารือกันในสังคม เนื่องจากในบางเรื่องอาจจะยังไม่เป็นที่ตกลงกันได้ และยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง

ทีนี้นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเติม “บทบาทที่ 6” ของข่าวต่อสังคมก็คือ “ข่าวทำหน้าที่เชื่อมโยงสิ่งที่เกิดขึ้นเข้ากับเรื่องเล่าที่สังคมเข้าใจ เรื่องเล่าที่กล่าวถึงนี้มีลักษณะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับความหมาย อารมณ์ ความรู้สึก และการตัดสินคุณค่าด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าในเชิงข้อเท็จจริงเท่านั้น” ที่กล่าวมานี้ฝรั่งเขาเรียกว่า drama ซึ่งคำนี้ไม่ได้แปลง่ายๆ ว่าละครเท่านั้น

เรื่องราวที่เต็มไปด้วยข้อมูลและอารมณ์ความรู้สึกทางสังคม (social drama) ที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับข่าว หรือ กลายเป็นเนื้อหาหลักของข่าวนี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าการพิจารณาเนื้อหาของข่าวนั้น ไม่ใช่เรื่องของข้อเท็จจริงเท่านั้น หรือไม่ใช่การแยก อคติกับข้อเท็จจริงออกจากกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเส้นแบ่งที่บาง-เบลอระหว่าง “ข่าวในฐานะข้อเท็จจริง” กับ “ข่าวในฐานะเรื่องเล่าของข้อมูลและอารมณ์-ความรู้สึกของสังคม” ที่เราเรียกง่ายๆ ว่าตำนานนั่นแหละครับ

คำว่าตำนานในแง่นี้ไม่ใช่เรื่องเท็จ เพราะคนที่เล่าก็แบ่งใจเชื่อไว้ส่วนหนึ่ง และก็เป็นเรื่องที่มีความหมายทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ ตราบเท่าที่หาคำอธิบายในแง่อื่นไม่ได้ หรือเมื่อเรายังเข้าไม่ถึงข้อเท็จจริง ตำนานก็จะถูกนำมาบอกเล่าต่อ

มาจนถึงวันนี้ต่อให้เจอข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องราวตำนานของเรื่องก็ยังคงดำเนินไป

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า ผมจะอธิบายเรื่องนี้ง่ายๆ ว่า เรื่องการหายไปของหมูป่านั้นในช่วงที่เราหาไม่เจอเราจึงพยายามเล่าเรื่องอื่น แต่พอเจอแล้วเราจะละทิ้งเรื่องราวของตำนาน เมื่อมาถึงวันนี้เราจะเห็นแล้วว่า เรื่องราวของข้อเท็จจริงและเรื่องราวของตำนานนั้นเชื่อมโยงกันเสมอ เพราะเหตุผลในเชิงตำนานก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยละทิ้ง

ดังนั้นแรงตึงเครียดในการเลือกข่าวมานำเสนอ หรือเล่าเรื่องนั้น จะพบว่าจะมีเรื่องของการรายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ และรายงานว่ามีหน่วยงานอะไรเข้ามาร่วมบ้าง เรื่องราวอีกส่วนหนึ่งก็คือ เรื่องราวของจิตอาสาในหลายรูปแบบ เรื่องราวของการส่งกำลังใจจากทั่วประเทศทั้งคลิปเพลง การสวดมนต์และพิธีกรรมอื่นๆ ข้อความส่งกำลังใจของคนทั่วประเทศและบุคคลสำคัญ ไปจนถึงเรื่องราวที่เราคิดว่าเหนือจริงต่างๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับช่องว่าช่องไหนจะเล่นเรื่องไหนมากกว่ากัน

แต่เรื่องราวจะสนุกขึ้นไปอีก ถ้าเราไม่ด่วนเอาคำว่าตำนานไปใส่ไว้เฉพาะเรื่องราวของเจ้าแม่นางนอน แต่มองว่า ในข่าวสมัยใหม่ และในความเห็นทั้งในทีวีและในโซเชียล ก็มีมิติของ “ตำนาน” อีกแบบหนึ่งอยู่ในนั้น

ผมหมายถึงตำนานในความหมายที่เป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึก (แต่ไม่ใช่เรื่องความเท็จ และ อคติในการเล่าเรื่องโดยตรง) แต่เป็นเรื่องที่เร้าอารมณ์คนฟัง และทำให้วิธีการเข้าใจเรื่องราวที่เราคุ้นชินมาในสังคมนั้นๆ กลับมาทำงาน และกำหนดการรับรู้ของเรามากขึ้น

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์บางท่านย้ำเน้นให้เห็นว่า ตำนานนั้นเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าจริง เป็นเรื่องที่เราเล่าซ้ำๆ และเป็นเรื่องราวสาธารณะ อีกทั้งทำหน้าที่ทั้งชี้แจงและแนะนำให้เราและสังคมประพฤติตัว ซึ่งหน้าที่นี้ไม่ได้ต่างจากการรายงานข่าวสักเท่าไหร่ ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอว่าในสังคมอย่างอเมริกานั้น มีตำนานอยู่ 7 เรื่องที่มักจะเป็นแกนหลักของการเล่าเรื่องในรายงานข่าวโดยที่ผู้เล่านั้นจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐอเมริกา

1.ว่าด้วยเรื่องเหยื่อ: การเล่าเรื่องเหยื่อมักจะออกมาในแนวของผู้บริสุทธิ์ที่โชคร้ายเข้าไปอยู่ในโศกนาฏกรรมต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นเมื่อเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ พวกเขาจะเป็นที่ระลึกถึงและน่าสงสาร เพราะเขาพลาดโอกาสที่จะมีชีวิตต่อ หรือมีชีวิตต่อในแบบเดิม

2.ว่าด้วยเรื่องของผู้ที่รับเคราะห์แทนคนอื่น: ในความหมายที่ว่า สังคมจะต้องมีใครสักคนที่จะต้องถูกกล่าวหา เพื่อให้สังคมมีความสมานฉันท์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแนบแน่นกัน ดังนั้นในการเล่าเรื่องราวของข่าวจะต้องมีการเล่าว่าใครกันแน่ที่สมควรที่จะเป็นคนผิด ซึ่งอาจจะเล่าอย่างอ้อมๆ หรือเล่าผ่านปากของคนกลุ่มต่างๆ

3.วีรบุรุษและความยิ่งใหญ่: การเล่าเรื่องนั้นมักจะหาคนที่มีความกล้าหาญ คนที่เสียสละเสี่ยงชีวิต และการให้คำนิยามว่าอะไรคือความสำเร็จ และความยิ่งใหญ่น่าจดจำของเรื่อง

4.บุพการีผู้อ่อนโยน: ในอเมริกา มักจะมองว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ หรือคนที่ห่วงใยดูแลเรา หรือคนที่ออกมาช่วยเหลือดูแลห่วงใยเรา รวมทั้งการสงเคราะห์และกิจกรรมประเภทจิตอาสา

5.เจ้าตัวร้ายจอมเล่ห์เหลี่ยมและเล่ห์โกง: หมายถึงเจ้าวายร้ายที่พร้อมจะมาหลอกเรา บางเรื่องราวก็จะดูเป็นพวกไร้การศึกษา หรือปราศจากความยับยั้งชั่งใจ เรื่องราวนี้จะต่างจากตำนานประเภท 2 เพราะในนี้จะมีความชัดเจนของเรื่อง เช่น พวกอาชญากร

6.โลกอื่น: ในความหมายของโลกที่แตกต่างจากเราคุ้นเคย จะเห็นได้จาก ข่าวประเภท “ข่าวแปลก” จากประเทศอื่น เรื่องราวที่ดูแปลกไปจากโลกที่เราอยู่ มักจะเป็นเรื่องของการเล่าแบบสงสัยว่าทำไมคนที่อื่นเขาถึงอยู่ได้ เช่น จากโลกตะวันตกก็จะมองโลกเผด็จการ

7.ภัยพิบัติ: ในสังคมตะวันตก ภัยพิบัติที่ถูกเล่าบ่อยๆ คือ น้ำท่วม แผ่นดินไหว การปะทุของภูเขาไฟ หรือ พายุ โดยจะมองว่าภัยพิบัตินั้นเกิดจากพลังธรรมชาติและเหนือธรรมชาติ และอาจเกิดจากการที่เกิดบางสิ่งบางอย่างที่เบี่ยงเบนไปจากความถูกต้อง ภัยพิบัติเหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดและควบคุมทุกอย่างได้

ส่วนในสังคมไทยคงต้องรอฟังผู้รู้ล่ะครับว่า ตำนานหลักๆ หรือเรื่องราวที่เราคุ้นชินนั้นถูกนำมาเล่าในข่าวอย่างไรบ้าง

แต่ที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตเพิ่มก็คือ บรรยากาศของสังคม ทั้งจากระบอบการปกครอง และจากความรู้สึกโหยหาหลักยึดเหนี่ยวร่วมกัน ทำให้เกิดบรรยากาศการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของสื่อกับรัฐบาลเป็นอย่างมาก การรายงานของสื่อเป็นการพยายามเล่าเรื่องเพิ่มเติมไปจากข่าวของรัฐ และเต็มไปด้วยการรายงานให้เกิดความหวังให้ทีมหมูป่ามีชีวิตรอด

การเล่าเรื่องความเป็นชุมชนร่วมที่เรียกว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ส่งใจให้กัน (ทั้งที่บางคนเป็นลูกหลานของชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งไม่แน่ใจสถานะบุคคลและสถานะทางสังคม) ช่วยกันเป็นจิตอาสา

การเล่าเรื่องความรู้สึกของผู้ปกครองที่มีต่อลูกหลานของตน ทำให้ไม่เกิดการตั้งคำถามเชิงวิพากษ์ในประเด็น อาทิ ทำไมผ่านไปหนึ่งสัปดาห์แล้ว ระบบการแถลงข่าวของภาครัฐยังไม่เป็นลักษณะที่เป็นทางการและบูรณาการข้อมูลแบบศูนย์บัญชาการ แผนที่หลักที่ราชการใช้ก็ไม่ได้ขึ้นกระดาน

ข่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรายงานภารกิจของหน่วยงานต่างๆ และความช่วยเหลือจากต่างประเทศแต่ไม่ได้ถามว่าหน่วยงานต่างๆ ทำงานสอดประสานกันอย่างไร เครื่องมือที่มีนั้นทำอะไรได้บ้าง และขาดอะไรบ้าง อะไรคือข้อสันนิษฐานที่รองรับด้วยหลักฐานว่าทีมหมูป่าติดอยู่ในพื้นที่นั้นเท่านั้น (เครื่องตรวจสัญญาณชีพที่พูดถึงในวันแรกๆ ตกลงใช้ได้-ได้ใช้หรือไม่) ข่าวเริ่มลามไปถึงเรื่องที่อธิบายด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และเริ่มไปถึงอาชญากรรมในพื้นที่ในช่วงที่คนเข้าไปช่วยกัน และเรื่องของคนหลายคนที่เข้าไปในพื้นที่โดยไม่จำเป็น (แถมน่ารำคาญ)

บ้านเมืองไทยอาจจะโชคดีที่สื่อในช่วงนี้อยู่ในโหมดปรองดองกับรัฐบาล หากพิจารณาจากช่องหนึ่งที่เคยตั้งคำถามกับทุกๆ เรื่องของรัฐบาลตอนนี้กลายเป็นช่องที่รายงานภารกิจของหน่วยงานต่างๆ สลับกับข่าวจิตอาสา ขณะที่อีกช่องหนึ่งหันไปเล่าเรื่องตำนานพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งอาจจะชี้ให้เห็นสถานการณ์ว่าคำอธิบายอีกแบบหนึ่งน่าจะเป็นที่น่าสนใจกว่า

ทั้งที่ทุกช่องก็เล่าเรื่อง “ตำนานในรูปแบบอื่นๆ” อยู่ในข่าวกันทั้งสิ้นนั่นแหละครับ

หมายเหตุอ่านเพิ่มเติมได้จาก Jack Lule. Daily News, Eternal Stories: The Mythological Role of Journalism. New York: Guilford. 2001 ขอบคุณ อาจารย์เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้อ่าน ส่วนการตีความเป็นความรับผิดของผมเองครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image