ผู้เขียน | ปราปต์ บุนปาน |
---|
ฟุตบอลโลก 2018 อาจไม่ “ฮิต” (ดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง) ในเมืองไทย ด้วยเหตุ ปัจจัย เงื่อนไขหลายประการ
แต่อย่างไรเสีย การแข่งขันกีฬาระดับโลกรายการนี้กับคนไทยนั้นมี “ระยะห่าง” ระหว่างกันอยู่แน่ๆ
เพราะอย่างน้อยที่สุด ทีมฟุตบอลทั้ง 32 ทีม ซึ่งลงแข่งขันอยู่ในจอโทรทัศน์/คอมพิวเตอร์/โทรศัพท์ ก็เป็นทีมชาติ ที่ไม่ใช่ “ชาติ” ของเรา
ระหว่างที่การแข่งขันฟุตบอลโลกกำลังดำเนินไป กลับมีข่าวคราวเกี่ยวกับ “ทีมฟุตบอล” อีกทีมหนึ่ง ที่คนไทยให้ความสนใจมากกว่า
ข่าวคราวที่ว่าไม่ได้ข้องเกี่ยวกับมหกรรมกีฬาอันรื่นเริงบันเทิงใจ ตรงกันข้าม นี่เป็นข่าวคราวซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้คนในสังคม
นั่นคือข่าวของนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีม “หมูป่าอะคาเดมี่” รวมทั้งสิ้น 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ใน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” จังหวัดเชียงราย
กระบวนการเร่งช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิต ดำเนินไปอย่างจริงจัง ท่ามกลางปรากฏการณ์แวดล้อมน่าสนใจ ที่ขยายวงกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ
เบื้องต้นสุด การเอาใจช่วย-การแสดงความห่วงใยต่อ “สมาชิกทีมหมูป่าฯ” ของบุคคลทั่วไป การพยายามรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างละเอียดครบถ้วนของสื่อมวลชน และการเร่งระดมความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานหลากภาคส่วน
ย่อมเป็นการสำแดงตนออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอีกหนของ “ชุมชนชาติไทย” ร่วมสมัย
“ชาติ” ที่สมาชิกทุกคนไม่จำเป็นจะต้องรู้จักมักคุ้นหรือเคยพบหน้าค่าตากัน แต่เขาเหล่านั้นต่างรู้สึกว่าพวกตนกำลังยึดโยงเข้าหากันด้วยคุณค่าร่วมบางประการ
จนสามารถทุกข์ร้อนต่อชะตากรรมของสมาชิกร่วมชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้
เวลาผ่านไปราวหนึ่งสัปดาห์ กรณี “ทีมหมูป่าฯ ในถ้ำหลวง” จึงกลายเป็น “เรื่องของทุกคน” พร้อมรายละเอียดยิบย่อยที่เพิ่มเติมขึ้นเป็นทวีคูณ
เช่นเดียวกับ “ชาติ” ที่มิอาจหลีกเลี่ยงความหลากหลายไปได้พ้น
บริเวณถ้ำหลวง มีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ผู้ชำนาญการด้านต่างๆ เข้าไปทำงานในพื้นที่ อย่างเสียสละ และน่าชื่นชม
ขณะเดียวกัน ก็มีบรรดา “ผู้ใหญ่” ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ด้วยท่าที วิธีการเฉพาะตน ที่แตกต่างกันไป ซึ่งบางคนก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือได้รับปฏิกิริยาด้านลบจากประชาสังคมอยู่ไม่น้อย
ภารกิจช่วยเหลือ “13 ชีวิตในถ้ำ” ยังดำเนินไปพร้อมกับการนำเสนอความเห็น/วิธีแก้ปัญหาของผู้หวังดีจำนวนมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าบางเสียงเป็นความรู้ที่ควรรับฟังและนำมาลงมือทำ แต่บางความคิดเห็นก็อาจนำมาปฏิบัติจริงได้ยาก
บริเวณ “ถ้ำหลวง” ยังกลายเป็นพื้นที่แห่งการปะทะกันของความเชื่อ
แรกๆ ดูเหมือนว่าภาครัฐจะประเมินค่าพิธีกรรมเชิงไสยศาสตร์ (โดยบรรดาคนทรง) เป็นเรื่องเหลวไหลไม่มีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
ทว่าเมื่อระยะเวลาที่ใช้ค้นหาผู้ประสบภัยต้องทอดยาวออกไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธดูแคลนว่ามิติเรื่องจิตวิญญาณ นั้นคือส่วนสำคัญ ซึ่งช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้คนที่เกี่ยวข้อง
การตอบรับที่สังคมมีต่อพิธีกรรมของพระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่าง “ครูบาบุญชุ่ม” คือปรากฏการณ์สำคัญอีกด้าน ซึ่งหลายคนมิอาจละเลยเพิกเฉย
ท้ายสุด หากสถานการณ์ที่ “ถ้ำหลวง” คลี่คลายลงไป “บทเรียน” สำคัญ คงจะเกิดขึ้นกับแทบทุกฝ่าย
ทั้งในส่วนนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น หรือภาครัฐ ที่คงต้องทบทวนถึงเรื่องกำลังบุคลากร องค์ความรู้ และหน่วยงานรับผิดชอบ ที่จะสามารถรับมือกับปัญหาลักษณะนี้ได้ทันท่วงทีและถูกต้องเหมาะสม
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญสูงสุดจากกรณี “13 ชีวิต ในถ้ำหลวง” อาจอยู่ที่การมีฉันทามติของเพื่อนสมาชิกร่วมชาติ ซึ่งต่างมองเห็นว่าชีวิตมนุษย์นั้นมีคุณค่า และไม่ควรต้องสูญเสียหรือถูกพรากไป ด้วยสาเหตุอันไม่สมควร
ปราปต์ บุนปาน